9 หนังที่ตีแผ่ด้านมืด (ความจริง)ของประเทศเกาหลี

ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี วัฒนธรรมของ ‘ประเทศเกาหลีใต้’ ก็ยังคงอยู่ในกระแสและได้รับความสนใจจากผู้คนอยู่เสมอ ทั้งเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว วงการบันเทิง อาหารการกิน หรือแม้กระทั่งแฟชัน ซึ่งสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมานั้น ก็ล้วนเป็นภาพจำสวยงามที่เรามักได้เห็นอยู่เสมอ แต่ภายใต้ความสวยงามก็ย่อมมีบาดแผลที่ปกปิดเอาไว้เช่นกัน เกาหลีใต้ก็คงเหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่มีเรื่องราวปัญหาต่างๆอีกมากมายที่ยังคงปิดบังไว้และน้อยคนนักที่จะรู้

ชมคลิป


คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


1.Norigae


เวลาพูดถึงประเทศเกาหลีใต้ หลายคนก็น่าจะนึกถึงเรื่องของวงการบันเทิงเป็นอย่างแรก เพราะอย่างที่เรารู้ๆ กันว่า อุตสหกรรมการผลิตของที่นี่มีคุณภาพมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากรบุคคลหรือในแง่ของโปรดักชัน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การแข่งขันในวงการบันเทิงของเกาหลีก็มีอัตราที่สูงมาก และอย่างที่เราเห็นกันในทุกๆ ปี มักจะมีนักแสดงหรือนักร้องเกาหลีฆ่าตัวตายอยู่เสมอ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่คนในวงการหลายคนเลือกจบชีวิตก็มาจาก ‘ความกดดัน’

‘Norigae’ (노리개) เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อตีแผ่ด้านมืดของวงการบันเทิงเกาหลี ซึ่งสร้างมาจากเรื่องจริงของคดีการฆ่าตัวตายของ
‘จางจายอน’ นักแสดงสาวจากซีรีส์ชื่อดัง Boys Over Flowers เรื่องราวการตายของจางจายอน ถือว่าเป็นคดีที่ดังมากๆ ในประวัติศาสตร์วงการบันเทิงเกาหลี ซึ่งสาเหตุที่นำพาเธอไปสู่การฆ่าตัวตายเป็นเพราะว่า เธอถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์กับผู้อำนวยการสร้าง และคนใหญ่คนโตของวงการบันเทิงเกาหลีมากกว่าร้อยคน เพื่อแลกกับงานในวงการ และถูกข่มขู่จากบริษัทต้นสังกัด ไม่ให้เธอเปิดเผยเรื่องนี้ออกไป ซึ่งก่อนตายเธอได้เขียนจดหมายและระบุชื่อคนที่ข่มขืนเธอไว้อีกด้วย

     เรื่องนี้ถือว่าเป็นการสร้างจุดเปลี่ยนของวงการ และทำให้คนหันมาสนใจประเด็นความเลวร้ายของคนในวงการบันเทิงมากขึ้น เพราะว่าความจริงแล้วไม่ใช่แค่จางจายอนที่โดนกระทำแบบนี้แค่คนเดียว ยังมีนักแสดงและนักร้องไอดอลทั้งชายและหญิงอีกหลายคน ที่เป็นเหยื่อของความต่ำตมในการกดขี่และเอาเปรียบเหยื่อในวงการนี้เช่นกัน แต่แค่ไม่มีใครออกมาพูด หรือเป็นประเด็นร้ายแรงเท่าจางจายอน

2.The Bacchus Lady (죽여주는 여자)


   ถัดมาที่ภาพยนตร์เรื่อง ‘The Bacchus Lady’ (เดอะแบคคัสเลดี้) ก็เป็นอีกเรื่องที่สร้างมาจากเรื่องจริงของกลุ่มโสเภณีวัยสูงอายุทีขายตัวอยู่ในสวนสาธารณะ
จองมโย ใจกลางกรุงโซลของเกาหลี คนส่วนใหญ่จะเรียกพวกเธอว่า ‘แบคคัสเลดี้’ ซึ่งเรียกตามเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อ ‘แบคคัส’ ที่พวกเธอเอามาขายให้กับชายสูงวัยที่มาเที่ยวเล่นในสวนสาธารณะ และการขายเครื่องดื่มก็เหมือนเป็นแค่งานที่ใช้ปกปิดอาชีพแท้จริงของพวกเธอซึ่งก็คือ ‘การขายตัว’ นั่นเอง

     เรื่องราวของแบคคัสเลดี้ ถือว่าเป็นอีกปัญหาสังคมของเกาหลี ที่หลายคนแกล้งเมินเฉยไม่รับรู้ มิหนำซ้ำยังประณามว่าพวกเธอเป็นตัวทำลายวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศ  ทั้งที่จริงแล้ว ปัญหาเหล่านี้คือปัญหาของคนยากจนที่รัฐบาลควรเร่งแก้ไขมากกว่า เพราะว่าครึ่งนึงของคนชราในประเทศเกาหลีใต้มีฐานะยากจนกันทั้งนั้น และบางทีอาจกล่าวได้ว่าแบคคัสเลดี้ ก็คือ “คนแก่ที่ตกการสำรวจสวัสดิการจากรัฐบาล ไม่ใช่ผู้ทำลายขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของประเทศอย่างที่หลายคนประณาม” (อ่านเรื่องราวของ 'แบคคัสเลดี้')


3.Silenced (도가니)


  ประเทศเกาหลีใต้ถือว่าเป็นอีกประเทศที่มีระบบการศึกษาดีจนติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่ภายใต้ระบบการศึกษาดีๆ นั้น ก็ได้แอบมีปัญหาสังคมแฝงอยู่ และคงจะเหมือนกับหลายๆประเทศ) ที่มีข่าว ‘ครูข่มขืนนักเรียน’ เกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง ‘Silenced (도가니)’ หรือในชื่อภาษาไทย ‘เสียงจากหัวใจ...ที่ไม่มีใครได้ยิน’ ก็เป็นอีกเรื่องที่สะท้อนปัญหาอีกด้านของสังคมเกาหลีได้เป็นอย่างดี

  Silenced เป็นภาพยนตร์ที่สร้างมาจากเรื่องจริงเมื่อสิบกว่าปีก่อน เหตุการณ์เกิดที่โรงเรียนสำหรับเด็กหูหนวกตาบอด ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นโรงเรียนดีเด่น แต่ใครเล่าจะรู้ว่าภายใต้ความดีงามเหล่านั้น กลับซ่อนเรื่องราวน่าหดหู่ใจ เมื่อเด็กนักเรียนผู้พิการไม่ว่าจะชายหรือหญิงในโรงเรียน ถูกบรรดาครูใหญ่ล่วงละเมิดทางเพศและถูกทำร้ายร่างกายและสภาพจิตใจ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นมานาน และหลายคนก็รับรู้ แต่ทุกคนแกล้งเมินเฉยและทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นราวกับว่านี่คือเรื่องปกติ ส่วนเด็กๆ ที่ตกเป็นเหยื่อก็ไม่สามารถพูดออกมาได้ เพราะว่าพวกเค้าเป็นใบ้ และถึงแม้ว่าต่อให้สามารถพูดได้ ก็คงต้องพ่ายอำนาจเงินของเหล่าคนใหญ่คนโต เรื่องนี้นอกจากจะตีแผ่วงการศึกษาของเกาหลีแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ยุติธรรมในกระบวนการราชการของเกาหลีอีกด้วย

4.Reach for the SKY (공부의 나라)


เมื่อพูดถึงเรื่องระบบการศึกษาของประเทศเกาหลีใต้ เราจะข้ามเรื่องระบบการสอบแอดมิชชันของที่นี่ไปไม่ได้เลย ที่นี่มีระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ชื่อว่า College Scholastic Ability Test (CSAT) หรือที่หลายคนรู้จักว่า “ซูนึง (수능)” โดยผลสอบซูนึงสามารถนำไปยื่นสอบเข้าได้ทั้งมหาวิทยาลัยรัฐบาลและเอกชน และใน 1 ปีจะจัดสอบแค่เพียงครั้งเดียว และจัดสอบทุกวิชาแค่เพียงวันเดียวเท่านั้น
  ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘Reach for the SKY’ ถือว่าเป็นเรื่องที่ตีแผ่สังคมเกาหลีที่มีต่อมุมมองเรื่องการศึกษาได้เป็นอย่างดี ซึ่งภาพยนตร์จะเน้นไปที่เรื่องการสอบซูนึง ซึ่งเด็กเกาหลีหลายคนมองว่านี่คือโอกาสเดียวในชีวิตของพวกเค้า หลายคนจึงตั้งใจและพยายามที่เข้า มหา’ลัยที่ดีที่สุดของประเทศทั้ง 3 แห่ง คือ Seoul National University (มหาวิทยาลัยแห่งชาติกรุงโซล), Korea University (มหาวิทยาลัยโคเรีย หรือโคแด), และ Yonsei University (มหาวิทยาลัยยอนเช) ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า SKY ในชื่อเรื่องนั่นเอง  

ประเด็นที่น่าสนใจของสารคดีเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของการสอบซูนึงที่น่าสนใจ แต่ยังเผยให้เห็นถึงสังคมรอบข้างที่เกี่ยวข้องกับการสอบซูนึง ทั้งครอบครัว ศาสนาและความเชื่อ ค่านิยม บรรทัดฐานสังคม ความกดดันของสังคมเกาหลี หรือแม้กระทั่งโรงเรียนติวเตอร์และภาคเอกชนที่เข้ามากอบโกยจากระบบการสอบนี้ แต่ที่เห็นแล้วตกใจมากที่สุด ก็คงจะเป็นเรื่องโรงเรียนกวดวิชาสำหรับการสอบซูนึง ซึ่งเป็นเหมือนค่ายที่มีคนคอยบังคับให้เด็กๆ ปฏิบัติเพื่อเตรียมตัวสอบซูนึงอย่างเคร่งครัด ซึ่งบรรยากาศในค่ายนั้นไม่ได้ต่างจากค่ายทหารโหดๆ เลยครับ จะโหดแค่ไหน คุณต้องลองไปหาหนังเรื่องนี้มารับชมกันเองแล้วล่ะครับ



5.Children (아이들)

  เปลี่ยนฟีลมาที่หนังสารคดีแนวอาชญากรรมกันบ้าง สำหรับภาพยนตร์เรื่อง ‘Children’ ก็เป็นอีกเรื่องที่สร้างมาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในปี 1991 เมื่อเด็กชาย 5 คนที่ไปวิ่งเล่นและจับกบบนภูเขาวอร์ยอง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของพวกเขามากนัก แต่แล้วเด็กๆ เหล่านั้นก็ไม่ได้กลับมาอีกเลย คดีนี้ถือว่าเป็นคดีที่ใหญ่เป็นวาระดับชาติเลยก็ว่าได้ ซึ่งประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ในยุคนั้นได้ระดมคนช่วยกันหามากกว่า 3 แสนคน แต่ก็หาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ จนสุดท้ายเรื่องราวผ่านไป 10 ปี ก็มีคนพบโครงกระดูกของเด็กๆ ทั้ง 5 คนอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่บนภูเขาที่เด็กๆ หายตัวไป ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของเด็กๆ แค่เพียง 3 กิโลเมตรเพียงเท่านั้น และสภาพท่าทางจากโครงกระดูกที่เจอก็สันนิษฐานได้ว่า เด็กกำลังกอดกันอยู่ ทางตำรวจก็คาดว่า เด็กๆ อาจหนาวตาย แต่ถึงอย่างไรก็ตามพ่อแม่ของเด็กๆ ก็ไม่ปักใจเชื่อ เพราะว่าสภาพที่เจอคือ เด็กๆ ถอดเสื้อผ้า ถ้าหนาวจริง จะถอดทำไม อีกทั้งยังเจอร่องรอยที่ชวนหดหู่ใจ เพราะพบว่าบริเวณกระโหลกศีรษะของเด็กๆ หลายคนมีรอยกระสุนอยู่ และกระโหลกยังมีรอยบุบอีกด้วย

  สุดท้ายแล้วคดีนี้ก็หมดอายุความไปเมื่อปี 2006 แต่ก็ยังหาตัวคนร้ายไม่เจออยู่ดี นับว่าเป็นอีกหนึ่งคดีที่ร้ายแรงและชวนหดหู่มากที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลี และหลายคนยังก็ยังไม่ลืม และได้ถูกหยิบยกมาทำภาพยนตร์ถึง 2 ครั้ง ซึ่งเมื่อปี 1992 ก็มีภาพยนตร์ที่สร้างมาจากเรื่องนี้ มีชื่อเรื่องว่า ‘Come Back, Frog Boys’

6.The Chaser (추격자)


    ภาพยนตร์เรื่อง ‘The Chaser’ เป็นหนังแนวอาชญากรรมที่ดัดแปลงมาจากเรื่องจริงคดีฆาตกรต่อเนื่องชื่อดัง ‘ยูยังซอล’ ในช่วงปี 2003-2004 ซึ่งเขาได้ฆ่าคนไปมากกว่า 20 รายภายในช่วงเวลาแค่เพียง 11 เดือน และหนึ่งแรงจูงใจที่ทำให้เขาก้าวเข้าสู่ด้านมืดจนกู่ไม่กลับขนาดนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า ‘สังคมที่กดดันของเกาหลี’ ตั้งแต่เรื่องการเลี้ยงดูและการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งเขาเองก็เก็บรวมหลายๆ เรื่องและทำให้เขาเป็นโรคซึมเศร้าและเคียดแค้น นำไปสู่เหตุการณ์ชวนสะเทือนขวัญแดนโสม

     ในตอนแรกเริ่มเขาเลือกฆ่าแค่เฉพาะคนรวยเท่านั้น โดยใช้ค้อนใหญ่ทุบหัว หรือไม่ก็มีดแทงคอ จากนั้นก็หั่นศพเป็นชิ้นๆ และนำไปทิ้งตามที่ต่างๆ และระหว่างที่เขาฆ่าคนอื่น ยูยังซอลใช้ชีวิตอย่างสุขสบายในคอนโดหรูหราที่เค้าหาเงินมาได้จากการปลอมตัวเป็นตำรวจและไปรีดไถเงินบรรดาแมงดาและโสเภณีตามซ่อง และถึงชีวิตจะสุขสบาย เขาก็ยังไม่เลิกทำชั่วและยังตามฆ่าคนรวยไปเรื่อยๆ แต่หลังจากที่เขาอกหักและถูกภรรยาทิ้งไป ยูยังซอลก็ได้เปลี่ยนมาฆ่าพวกบรรดาโสเภณีแทน และที่ชวนสะอิดสะเอียนไปมากกว่านั้นคือ เขาบอกว่าเขาได้กินตับของบรรดาศพที่เขาฆ่าอีกด้วย  

    คดีของยูยังซอลเป็นคดีที่ดังมากกกก! ดังชนิดที่ว่าหยิบยกมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างซีรีส์และภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น ซีรีส์เรื่อง Voice เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมคดีนี้ถึงมักถูกหยิบยกนำมาพูดถึงเสมอๆ เมื่อมีข่าวเกี่ยวกับฆาตกรต่อเนื่อง และถึงแม้ว่าในตอนนี้เขาจะถูกจับตัวได้ แต่ก็ไม่ได้มีการประหารชีวิตแต่อย่างไร เพราะว่าที่เกาหลีใต้ไม่มีกฎหมายตัดสินให้ประหารชีวิต
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่