ชุดนักเรียน - ความจริงจากเด็กบ้านนอก

สมัยประถมผมเรียนที่ รร.แห่งหนึ่งในต่างจังหวัด ทั้งโรงเรียนมีเด็กไม่เกิน 140-150 คน ส่วนใหญ่ก็เป็นลูกชาวบ้านแถวนั้นที่ไม่ได้มีฐานะดีอะไร เอาง่ายๆ ก็ค่อนข้างยากจนนั่นแหละ

พ่อแม่ของเพื่อนส่วนใหญ่ก็ทำไร่ทำนา สมัยก่อนถ้าเลือกได้พ่อแม่อยากให้ลูกช่วยงานที่บ้านมากกว่า แต่เพราะเป็นการศึกษาภาคบังคับ จึงต้องยอมให้ลูกเข้ารับการศึกษาตามระบบ ชุดนักเรียนจึงถือว่าเป็นภาระของบางครอบครัว บรรดาเพื่อนร่วมชั้นของผมมีหลายคนที่มีชุดนักเรียนชุดเดียว หรือสองชุด ใส่วนกันนั่นแหละ ซักบ้างไม่ซักบ้างตามเรื่อง ตามความขยันของแต่ละคน

ชุดลูกเสือเหรอ รู้สึกว่าจะต้องเรียน ป.5-6 ก็จะออกไปในแนวลูกเสืออินดี้ ที่บ้านมีอะไรแค่ไหนก็ใส่แค่นั้น หมวกหายบ้าง ไม่มีบั้งบ้าง อาศัยว่าถ้าเป็นเสื้อสีกากีก็ถือว่าเป็นชุดลูกเสือแล้ว

เรื่องรองเท้านี่ไม่ต้องพูดถึง ทั้งชุดลูกเสือหรือชุดนักเรียนปกติ 99.99% ไม่ลากแตะก็เดินเท้าเปล่ามาโรงเรียน บางคนไม่มีเข็มขัดก็เชือกฟางนี่แหละ รัดเอาโชคดีนะบรรดาครูที่โรงเรียนไม่บ้าจี้ บอกว่าเด็กแต่งตัวผิดระเบียบ

บางคราวที่พวกเราได้เข้าเมือง ไปแข่งวิชาการประกวดโน่นนี่นั่น หรือมีงานที่โรงเรียนพาไป แล้วต้องไปประชันกับเด็กในเมืองนี่ ไม่ต้องสืบว่าใครเด็กในเมืองใครโรงเรียนรอบนอก ดูรองเท้าดูสีเสื้อก็รู้แล้ว

ที่หลายๆ คนออกมาบอกว่า ชุดนักเรียนมันช่วยลดความเหลื่อมล้ำน่ะ ลองอ่านจากข้างบนที่ผมเขียนไว้คุณเห็นอะไรหรือเปล่า ?? ประเทศเราน่ะ มันเหลื่อมล้ำตั้งแต่ชื่อโรงเรียน ที่ตั้งของโรงเรียนแล้ว เด็กโรงเรียนวัดจรเข้เผือกอย่างผม กับโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน มันต่างกันตั้งแต่เห็นชุดนักเรียนกับเครื่องหมายบนอกเสื้อแล้ว

เลิกบ้าจี้กับเรื่องบ้าๆ บอๆ ที่ว่าเหลื่อมล้ำเพราะอีแค่เครื่องแบบนี้เสียเถอะ ที่มันจะเหลื่อมล้ำน่ะเพราะเรามองคนไม่เท่ากัน เราไม่ให้โอกาสและความเท่าเทียมในด้านการศึกษา การกระจายรายได้และทรัพยากรกับคนทุกคนอย่างเท่าเทียม

ชุดนักเรียนที่เหมือนกันไม่ได้ทำให้คนที่เขาถูกเอาเปรียบ คนที่ด้อยโอกาส รู้สึกดีขึ้นมากเท่าไรนักหรอก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่