รายงานการพัฒนาเยาวชนตั้งแต่รากหญ้าจนถึงระดับสูง โดยสมาคมฯ และ เอคโคโน ในปี 2018

31 ธ.ค. 2018 10:50:00

สมาคมฯ เผยแนวทางการพัฒนาเยาวชน ที่ทำร่วมกับ เอคโคโน เมธอด ซอคเกอร์ เซอร์วิส ในรอบปี 2018

เป็นเวลากว่า 2 ปี ที่สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้เซ็นสัญญากับ บริษัท เอคโคโน เมธอด ซอคเกอร์ เซอร์วิส โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ในการยกระดับนักฟุตบอลระดับเยาวชนตั้งแต่รากหญ้าจนถึงระดับสูง เพื่อความยั่งยืนและต่อเนื่องในทุกระดับ

โดยมีผู้ฝึกสอนหลักทั้งหมด 4 คน อันประกอบไปด้วย ฆูเลียน มาริน บาซาโล, มาร์ค อลาเบดร้า ปาลาซิโอส, ซัลบาดอร์ บาเลโร การ์เซีย และ อูริโอล อัลกาซาร์ กอนซูเอโล

สำหรับในปี 2018 กับการปรับบทบาทของเอคโคโน หลังจากที่สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้ก่อตั้งศูนย์พัฒนาศักยภาพกีฬาฟุตบอล ที่ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ได้มี 5 โครงการสำคัญดังนี้

1. การพัฒนาทีมชาติไทยชุดเยาวชน รุ่นอายุไม่เกิน 14 ปี

ทีมได้มีการเก็บตัวอย่างต่อเนื่อง หลังเฟ้นหานักเตะมาตลอดในช่วงต้นปี ก่อนจะสามารถคว้าแชมป์มาครองได้ 2 รายการ ที่เมียนมา และที่จีน รวมถึงการเป็นรองแชมป์ 4 เส้าที่บุรีรัมย์ ซึ่งตลอดช่วงการแข่งขันได้มีการเก็บตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีคอนเซ็ปต์สำคัญคือ

- การแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าและการช่วยเหลือกัน
- การเล่นกับตัวที่ 3
- การกดดันฝ่ายตรงข้าม
- วิธีป้องกันในกรอบเขตโทษ
- การเคลื่อนบอลเมื่อเล่นเกมบุก

แผนงานในปี 2019
- เก็บตัวช่วงแรกในเดือนกุมภาพันธ์ และหาแมตช์ระดับนานาชาติอุ่นเครื่องภายในประเทศ
- เดินทางไปเก็บตัวที่สเปน ในช่วงเดือนเมษายน เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ พร้อมอุ่นเครื่องกับสโมสรในประเทศสเปน
- เดินทางไปประเทศเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่นเพื่อเก็บตัวฝึกซ้อมและทำการแข่งขัน
- เตรียมตัวแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียนรุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี ในช่วง 27 กรกฎาคม - 9 สิงหาคม 2562 ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศไทย
- เก็บตัวในช่วงกลางเดือนสิงหาคม เพื่อเตรียมตัวแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รอบคัดเลือก รุ่นอายุไม่เกิน 16 ปี

ซัลบาดอร์ บาเลโร การ์เซีย เฮดโค้ช ช้างศึก U14 กล่าวถึงทีมชุดนี้ว่า "เรามีทีมที่ดีในการครองบอล ทั้งการผ่านบอล การเปลี่ยนแกน และช่วยเหลือกัน นอกจากนี้เรายังกดดันคู่ต่อสู้ได้ดี แต่เรายังต้องปรับปรุงยามที่เจอทีมระดับเดียวกัน หรือระดับที่ต่ำกว่า ในการรักษาความเข้มข้น เราจะพยายามแก้ไขข้อผิดพลาดและรักษาข้อดีทั้งหมด เพื่อให้พร้อมที่สุดสำหรับการแข่งขันทุกรายการ เพื่อให้ผลลัพธ์เป็นไปตามเป้าหมายที่เราต้องการ"

2. การพัฒนาเยาวชนระดับรากหญ้า ในรุ่นอายุไม่เกิน 10 และ 12 ปี ในโครงการช้างเผือก

โครงการดังกล่าวเริ่มต้นในช่วงเดือนกันยายน 2561 โดยเป็นการนำนักเตะเยาวชนรุ่นอายุไม่เกิน 10 และ 12 ปี มาเข้าแคมป์ในช่วงวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ (จำนวน 15 คน ต่อสัปดาห์) เพื่อหานักเตะที่ดีมาพัฒนาความสามารถ เพื่อก้าวไปสู่ทีมชาติชุดเยาวชนต่อไปในอนาคต โดยหลังจากการเก็บตัวก็จะมีการทำรายงานเกี่ยวกับนักเตะทุกคน โดยเฉพาะเรื่องจุดแข็งที่มี และจุดอ่อนที่ยังต้องพัฒนา ซึ่งหลังจากนั้นจะมีการติดตามพัฒนาการของเด็กต่อเนื่อง

โดยในปีถัดไปโครงการช้างเผือกจะมีการจัดอย่างต่อเนื่อง และนำเอาเยาวชนรุ่นต่างๆ ก้าวขึ้นมาทดสอบในการแข่งขันฟุตบอลเด็กระดับนานาชาติ

3. การจัดโค้ชชิ่งคลินิค L2 เพื่ออบรมผู้ฝึกสอนเยาวชนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

เป็นความร่วมมือ ระหว่างสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ, บริษัท เอคโคโน เมธอด ซอคเกอร์ เซอร์วิส และสโมสรสมาชิกในระดับโตโยต้า ไทยลีก ในเรื่องการทำงานร่วมกัน เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาผู้ฝึกสอนฟุตบอลเยาวชน เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยได้จัดไปทั้งหมด 3 ครั้ง (ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด, ชลบุรี เอฟซี และ สุพรรณบุรี เอฟซี)

สำหรับในปีถัดไป จะมีการประสานร่วมกับสโมสรสมาชิกที่เหลือในระดับลีกสูงสุด เพื่อพัฒนาเยาวชนให้ได้ทั้งหมด

4. การจัดทำข้อมูล Elite Player หรือการพัฒนานักกีฬาที่มีความสามารถเป็นเลิศ

คือการเก็บข้อมูลจากการแข่งขันต่างๆ ทั้งกับสโมสร และทีมชาติ พร้อมเจาะลึกในข้อมูลต่างๆ โดยมีเป้าหมายในการทำให้นักเตะเหล่านี้ ก้าวขึ้นไปเป็นกำลังสำคัญของทีมชาติไทยชุดใหญ่ในอนาคต โดยเป็นการเพิ่มทักษะ พร้อมชี้ให้เห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของนักเตะร่วมกัน

กลุ่มนักเตะรุ่น U16 : สราวุฒิ เสาวรส, ฉัตรมงคล เรืองฐณโรจน์, ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา
กลุ่มนักเตะรุ่น U19 : เอกนิษฐ์ ปัญญา, สิทธิโชค ภาโส, ยุทธพิชัย เลิศล้ำ, กฤษดา กาแมน, กรวิชญ์ ทะสา
กลุ่มนักเตะรุ่น U21 : วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ, สุภโชค สารชาติ, ศุภชัย ใจเด็ด, รัตนากร ใหม่คามิ
กลุ่มนักเตะรุ่น U23 : พิธิวัต สุขจิตธรรมกุล, นพพล พลคำ

5. โครงการ Grassroots Football

ในปีที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรม Grassroots Football ทั้งหมด 1 ครั้งที่จัดโดย สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และ บริษัท เอคโคโน เมธอด ซอคเกอร์ เซอร์วิส ระหว่างวันที่ 22-24 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์พัฒนาศักยภาพกีฬาฟุตบอล ภายในมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี โดยมีเยาวชนกว่า 1,000 คน เข้าร่วมโครงการ และอาสาสมัคร กว่า 250 คน โดยกิจกรรมแบ่งเป็น 5 ฐาน ประกอบไปด้วย การยิงประตู, การส่งบอล, การเลี้ยงบอล, การขึ้นเกม และการตั้งรับ

โดยในปี 2019 จะมีการจัดโครงการ Grassroots Football อย่างต่อเนื่อง เป็น 12 ครั้ง ในจังหวัดที่แตกต่างกันออกไป โดยแบ่งเป็นเดือนละครั้ง พร้อมเพิ่มเติมในเรื่องการพัฒนาฟุตบอลหญิงรุ่นเยาวชน

พร้อมกันนี้ยังเตรียมจัดอบรมผู้ฝึกสอนฟุตบอลรากหญ้า และมีการมอบใบประกาศนียบัตรเพื่อรับรองการอบรม ซึ่งจะจัดขึ้นประมาณ 15 ครั้งอีกด้วย

ที่มา เพจ fathailand

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่