ยานวอยเอเจอร์ 2 เดินทางพ้นขอบเขตลมสุริยะแล้ว

© สนับสนุนโดย Bangkok Media and Broadcasting Company Limited(ขอบคุณภาพจากpptv36)      

NASA/JPL  
ขณะนี้ยานวอยเอเจอร์ 1 และ 2 ต่างอยู่นอกเขตอิทธิพลลมสุริยะ (Heliosphere) ซึ่งเป็นขอบเขตที่ดวงอาทิตย์แผ่สนามแม่เหล็กและกระแสลมสุริยะไปถึง

ยานสำรวจอวกาศ "วอยเอเจอร์ 2" (Voyager 2) ซึ่งออกเดินทางจากโลกเมื่อปี 1977 หรือเมื่อ 41 ปีก่อน ขณะนี้ได้ออกพ้นจากเขตอิทธิพลลมสุริยะ (Heliosphere) และเคลื่อนเข้าสู่บริเวณห้วงอวกาศระหว่างดวงดาว ซึ่งเป็นทิศทางมุ่งสู่สุดขอบเขตของระบบสุริยะต่อไป

ยานลำนี้ถือเป็นวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นชิ้นที่ 2 ที่เดินทางถึงตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งอยู่ห่างจากโลกราว 18,000 ล้านกิโลเมตร หลังจากที่ยานวอยเอเจอร์ 1 ได้เดินทางไปถึงก่อนหน้าแล้ว เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2012


ศ. เอ็ดเวิร์ด สโตน หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซา ซึ่งรับผิดชอบดูแลภารกิจยานวอยเอเจอร์ 2 กล่าวยืนยันว่ายานได้เข้าสู่บริเวณห้วงอวกาศที่เรียกกันว่า "ตัวกลางระหว่างดวงดาว" (Interstellar medium) ซึ่งเป็นที่ว่างที่ประกอบด้วยกลุ่มก๊าซ ฝุ่นละออง รวมทั้งอนุภาคและรังสีต่าง ๆ ในภาวะสุญญากาศแล้ว ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา


NASA
ยานวอยเอเจอร์ 2 ถูกปล่อยขึ้นสู่ห้วงอวกาศก่อนยานวอยเอเจอร์ 1 เป็นเวลา 16 วัน

แม้ยานวอยเอเจอร์ 2 จะถูกปล่อยขึ้นสู่ห้วงอวกาศก่อนยานวอยเอเจอร์ 1 เป็นเวลา 16 วัน แต่วิถีการเคลื่อนที่ของวอยเอเจอร์ 1 ที่เดินทางได้รวดเร็วกว่ากันมาก ส่งผลให้ยานวอยเอเจอร์ 2 ที่เดินทางด้วยความเร็ว 54,000 กม./ชม.ไปถึงจุดสิ้นสุดอิทธิพลลมสุริยะ (Heliopause) ช้ากว่าถึง 6 ปี

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา เครื่องมือตรวจจับกระแสอนุภาคที่ส่งออกมาจากดวงอาทิตย์ ซึ่งติดตั้งอยู่กับยานวอยเอเจอร์ 2 ชี้ว่า ค่าของกระแสอนุภาคดังกล่าวตกลงอย่างมากเป็นครั้งแรก อันเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ายานได้ข้ามพ้นเขตอิทธิพลลมสุริยะหรือ Heliosphere ซึ่งเป็นขอบเขตที่ดวงอาทิตย์สามารถแผ่สนามแม่เหล็กและกระแสลมสุริยะไปถึงได้

อย่างไรก็ตาม ยังไม่อาจกล่าวได้ว่ายานวอยเอเจอร์ 2 ได้เดินทางออกพ้นขอบเขตของระบบสุริยะแล้ว เนื่องจากยังไปไม่ถึงกลุ่มเมฆออร์ต (Oort cloud) ซึ่งประกอบไปด้วยวัตถุอวกาศและดาวหางจำนวนมากที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของแรงดึงดูดจากดวงอาทิตย์ ทำให้ในทางเทคนิคแล้วนักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยถือว่ากลุ่มเมฆนี้เป็นเส้นขอบเขตที่แท้จริงของระบบสุริยะ


NASA
นาซาแถลงว่าอุปกรณ์หลายชิ้นของยานยังคงใช้งานได้ดีอยู่ และจะทำหน้าที่สำรวจห้วงอวกาศระหว่างดวงดาวต่อไป

แม้ยานวอยเอเจอร์ 2 จะมีอายุการใช้งานนานมากแล้ว โดยได้ผ่านภารกิจสำรวจดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน ซึ่งสิ้นสุดลงในปี 1989 แต่ปัจจุบันองค์การนาซาแถลงว่า อุปกรณ์สำรวจต่าง ๆ หลายชิ้นยังคงใช้งานได้ดีอยู่ และยานจะทำหน้าที่สำรวจห้วงอวกาศระหว่างดวงดาวนี้ต่อไป จนกว่าแหล่งพลังงานพลูโตเนียมที่ผลิตไฟฟ้าขับเคลื่อนยานจะหมดลง

ส่วนยานวอยเอเจอร์ 1 นั้น ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจะเดินทางไปถึงกลุ่มเมฆออร์ตในอีกหลายร้อยปีข้างหน้า ก่อนจะไปถึงดาวดวงแรกนอกระบบสุริยะในอีก 40,000 ปีนับจากนี้ และจะล่องลอยอยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือกต่อไปเป็นเวลาหลายพันล้านปี
BBC/NEWS/ไทย
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 8
เหตุผลสำคัญ ที่วอยเอเจอร์ ถูกปล่อยใน ช่วง พ.ศ.นั่น  และเดินทางได้ไกล มากๆโดยที่แทบไม่ใช้พลังงานขับเคลื่อน ภายในตัวยานเลย เพราะว่า
nasaได้ใช้ โอกาศอันสำคัญยิ่ง  ที่จะเกิดขึ้นได้ 1ในทุกๆ187ปี  คือ ดวงดาวชั้นนอก เรื่องตัวเหมาะสม  ที่จะใช้ การบินแบบสลิงชอต  คือการบินเฉียด ชั้นบรรยากาศ ของดาวเคราะ ในแต่ละดวง ที่เรียงกัน เพื่อ สร้างความเร็วในการขับเคลื่อน
จึงเป็นความสำเร็จสำคัญ  ในหลายๆอย่างที่nasaได้ทดลอง  ทำให้รู้ว่าการขับเคลื่อนโดยอาศัยแรงดึงดูดของดาว สามารถทำได้จริง  ครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่