[Me Review] บทวิเคราะห์ App War เพราะโลกธุรกิจไม่สดใสเหมือนในเทพนิยาย (Spoil)


คำเตือน : บทความนี้เปิดเผยเนื้อเรื่องในหนังเรื่อง App War แอปชนแอป (สปอยล์แน่นอน)

1. Start Up โอกาสล้มเหลว 98% แต่คนสำเร็จโคตรรวย

ประโยคยอดฮิตของวงการ Start Up ที่ทุกคนต่างใฝ่ฝัน และต้องการเป็นยูนิคอร์น เพื่อจะร่ำรวย ใช้ชีวิตชิคๆชิวๆ
หรืออาจจะอยากเป็นผู้มีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ เหมือนมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก เหมือนสตีฟ จ็อบส์ และนักธุรกิจแวดวง IT ชื่อดังอีกหลายคน

ยูนิคอร์น = ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านเหรียญ

บอมบ์ และจูนเองก็เป็นตัวแทนของความฝันเหล่านั้น ทั้งสองพบกันโดยบังเอิญในการพรีเซนต์งานครั้งหนึ่ง
และต่างก็พบว่า อีกคนมีความชอบอะไรคล้ายๆกัน จึงเกิดไอเดียที่จะทำ App ขึ้นมาตอบโจทย์ตรงนี้

เหมือนในตัวอย่างหนัง คนเราชอบอะไรคล้ายๆกัน น่าจะคุยกันถูกคอ ถ้าชอบพอกันอาจจะได้เป็นแฟนกัน
แต่ในโลกธุรกิจการทำอะไรคล้ายๆกัน เหมือนๆกัน นั่นคือคู่แข่ง

และในโลกของ Start Up ที่โอกาสล้มเหลวสูงอยู่แล้ว
การทำอะไรเหมือนกันๆ นั่นคือจะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายนึงล้มหายตายจากไปจากตลาด


2. Inviter VS Amjoin

Inviter มีระบบหลังบ้านที่ดีกว่า เพราะมีบอมบ์ เป็นเทพ Programming ที่เขียนโค้ดได้สะอาดเอี่ยมไร้ Bug ทำระบบได้เร็วกว่า แต่หน้าตาตุ่นๆ ไม่มีใครอยากใช้งาน แผนธุรกิจก็ไม่ชัด เพราะเทพบอมบ์อินดี้อยากทำแค่นี้
Amjoin มีแผนธุรกิจที่ดีกว่า เข้าใจผู้บริโภคมากกว่า แต่ App ช้า เพราะคนเขียนโปรแกรมหลังบ้านไม่เก่งพอ

Bug = ข้อผิดพลาดในโปรแกรม

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นงานหน้าบ้าน หรือหลังบ้าน ก็สำคัญทั้งนั้น และนี่คือ 2 บริษัทที่ความสามารถต่างกันสุดขั้ว
ทุกคนรู้ว่าถ้ารวมทีมกัน คงได้ทุนจากคุณแทนไทไปเลย และ App ต้องดีมากๆ แต่ทำไมทั้งสองถึงรวมกันไม่ได้ นั่นก็เพราะกว่าจะมาถึงจุดที่มี App เวอร์ชั่นแรกออกมา

Inviter ก็มีนักลงทุนให้เงินทุนก้อนแรกมาก่อนแล้ว การจะไปรวมทีมต้องขอความคิดเห็น และนั่นคือส่วนแบ่งกำไรให้ทีมอื่น มันจึงไม่ง่าย

Amjoin เองก็มีนักลงทุนเหมือนกัน คือ คุณพ่อของจูน นอกจากนี้ การรวมบริษัทกัน จะทำให้ส่วนแบ่งรายได้และกำไรต้องเกลี่ยให้คนในอีกทีม

ถ้ามองในมุมธุรกิจจริงๆ เราอาจจะบอกได้ว่าทีมที่สมบูรณ์แบบในหนังเรื่องนี้คือ จูน บอมบ์ ไต๋
โดยให้จูนคิดโมเดลธุรกิจ บอมบ์เขียนโปรแกรม ไต๋ออกแบบหน้าตาของแอป

แต่โลกแห่งความจริงมันไม่ง่ายแบบนั้น จูนและบอมบ์ก็คงไม่ทิ้งเพื่อนที่ทำงานร่วมกันมา


3. การแทรกแซงการทำงาน

จุดหนึ่งที่ผมชอบในหนังเรื่องนี้มากๆคือ การสะท้อนภาพการทำงานจริงๆออกมา

ไต๋เป็น Designer ย่อมอยากได้รับการยอมรับในฐานะ Designer แต่บอมบ์กลับติติง และแทรกแซงการออกแบบของไต๋ จนสุดท้ายหน้าตาของ App ก็ออกมาไม่ดีเท่าที่ควร แม้จะผ่านมือของไต๋ แต่น่าจะเรียกว่าเป็นดีไซน์ที่ผ่านมุมมองของบอมบ์มากกว่า

เมื่องานที่ไม่ผ่านของไต๋ ไปอยู่ในมือของ Amjoin นอกจากจูนจะชื่นชมแล้ว ยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมลงไปอีก
จนเรียกได้ว่าเป็นเวอร์ชั่นที่สมบูรณ์ ถ้าสังเกตดีๆ คำแนะนำของจูนไม่ได้ไปก้าวก่ายในด้านการดีไซน์เลยด้วยซ้ำไป

จุดนี้เองเป็นบทเรียนในการทำงานนึงที่น่าสนใจ เพราะทุกคนมีความถนัดในสาขาวิชาชีพของตน
เราช่วยออกความคิดเห็นได้ แต่ไม่ใช่การอนุมัติว่าผ่านไม่ผ่าน

แม้ต้นกำเนิด Inviter จะมาจากความคิดของบอมบ์ และบอมบ์เขียนโค้ด
แต่ถ้าทุกดีไซน์ต้องผ่านมือบอมบ์ซึ่งไม่ใช่ Designer แล้วจะมี Designer ไว้ในทีมทำไม

จริงๆแล้วจากจุดเริ่มต้นทีม Inviter ค่อนข้างได้เปรียบ Amjoin ด้วยซ้ำที่มีทั้ง Programmer และ Designer ขั้นเทพอยู่ในทีม ส่วน Amjoin นั้น ก็รู้ว่าตัวเองไม่ถนัดอะไร จึงจ้าง Designer และ Programmer มาเพิ่ม

ทั้งนี้จะเห็นว่าในท้ายที่สุด Inviter ก็ผันตัวไปเป็น App ที่มี Feature หาคู่ด้วย เหมือนคำแนะนำของหรั่งที่พูดตั้งแต่แรกว่า ทำ App หาคู่ แม้ว่าชีวิตจริงจะยิ่งยากเพราะ App หาคู่มีเยอะมากและคงเกิดยาก แต่ถ้าตามในหนังแล้ว การทำตามนักการตลาดในทีม เป็นปัจจัยนึงที่ทำให้ สุดท้ายแล้ว Inviter ได้ทุนจากคุณแทนไท


4. แอปชนแอป ก๊อบชนก๊อบ

ประเด็นที่เหนือจริงไปหลายสเตปในหนังเรื่องนี้คือการให้มายด์ขโมย Notebook ของบอมบ์ไป
เพราะเรื่องมันเลยเถิดมาจากการส่งไส้ศึกเข้าไปในบริษัทอีกฝ่าย และดันทำ App ออกมาหน้าตาเหมือนกันเป๊ะๆ

ถ้าเป็นแบบนี้ Amjoin ซึ่งระบบหลังบ้านแย่กว่า น่าจะไปไม่รอด
การขโมยและลอกเลียนแบบโค้ดจึงเกิดขึ้น

เอาเข้าจริงในโลกจริงคงไม่ได้ดราม่าวิ่งหัวกระเซิงแบบนี้ เพราะแค่มองโมเดลธุรกิจกับสินค้าบางอย่างออก
ก็อาจจะจ้างคนเขียนโปรแกรมคนอื่นมาทำของหน้าตาแบบเดียวกันได้ (ถ้ามีเงินและฝีมือ)

ตัวอย่างบนโลกแห่งความจริงก็เช่น Snapchat ที่มี Feature ขายอย่าง การโพสรูปวันเดียวแล้วหายไป
ซึ่งต่อมา Instagram และ Facebook ก็มี Feature นี้เหมือนกัน และมีผู้ใช้เยอะกว่าด้วย

กลยุทธ์ Me too Product เป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว แม้จะเป็นโลกของ Startup หรือแวดวง IT
ก็ทำได้ไม่ต่างกัน อะไรที่เห็นคนอื่นทำแล้วดี ก็ทำตามๆกัน

นี่ยิ่งเป็นปัจจัยให้ Startup ล้มเหลว เพราะนอกจากจะต้องแข่งกับหน้าใหม่ด้วยกันเองแล้ว
ยังต้องแข่งกับหน้าเก่าที่มีฐานลูกค้าและชื่อเสียงมากกว่าด้วย


5. เพราะเป็นธุรกิจจึงจำเป็นต้องอยู่รอด

ในตัวอย่างหนังจะมีประโยคนึงที่คุณแทนไทบอกว่า ถ้า Amjoin มาก่อน คงเลือกของ Amjoin เพราะโมเดลธุรกิจดีกว่า สำหรับผมนี่เป็นคีย์เวิร์ดที่สำคัญเลยครับ จะเปลี่ยนโลกมั้ยมันอาจจะไม่สำคัญเท่า มันอยู่รอดได้มั้ย
เพราะถ้าไม่อยู่รอดแล้วจะเปลี่ยนโลกได้อย่างไร

บอมบ์นั้นเขียนโปรแกรมเก่งก็จริง แต่โฟกัสอยู่กับการทำแอพที่ให้คนมาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยไม่ได้คิดจะก้าวต่อไปยังตลาดใหม่ๆอย่างการเป็น App หาคู่ เพราะถือว่าบิดเบือนวัตถุประสงค์เดิม ทั้งที่แท้จริงแล้ว การทำ Startup แต่เดิมนั้นต้องรีบล้ม รีบลุก เพื่อจะมีเวลากลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองออกสู่ตลาดใหม่อีกครั้ง

ในความอยากเปลี่ยนโลกของบอมบ์และจูน ล้วนแต่ต้องใช้เงิน จะเป็นเงินจากนักลงทุน หรือเงินพ่อเงินแม่
แต่ท้ายที่สุดทุกคนล้วนต้องกินต้องใช้ ดังนั้นทั้งสองทีมจึงต้องทำธุรกิจให้อยู่รอดให้ได้

โลกแห่งความจริงมันโหดร้ายกว่าเทพนิยายที่ยูนิคอร์นจะเป็นม้ามีเขาสีขาวสวยงาม เพราะยูนิคอร์นในโลกธุรกิจนั้น ย่อมเต็มไปด้วยบาดแผลจากการฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนามมากมาย ก่อนจะไปถึงเป้าหมาย

*******************************

ขอบคุณที่อ่านมาจนจบนะครับ

ขออนุญาตฝากบล็อกและเว็บของผมไว้สักเล็กน้อย
เผื่อใครสนใจติดตามอ่านบทความรีวิวหนังเรื่องอื่นๆนะครับ

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่