ทำความรู้จักกับการแข่งขัน Super GT การแข่งรถยนต์ที่ดังที่สุดในญี่ปุ่น และเป็นการแข่งที่เร็วที่สุดในสนามช้างฯ

ในสุดสัปดาห์นี้ ได้มีการแข่งขัน Chang Super GT 2018 ขึ้นที่สนามช้างฯ บุรีรัมย์ ในประเทศไทย
ซึ่งการแข่งขันในปีนี้เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน นอกจากนี้ Super GT ยังถือเป็นการแข่งขันที่เร็วที่สุดในสนามช้างฯ อีกด้วย (รุ่น GT500 เวลาเร็วกว่า MotoGP) ทางทีมงาน Pantip Garage เราจึงขอพาเพื่อน มาทำความรู้จักกับรายการ Super GT นี้กันครับ


Super GT ถือเป็นการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบระดับแนวหน้าของประเทศญี่ปุ่น เริ่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2536 โดยใช้ชื่อว่า Japanese Grand Touring Car Championship หรือ JGTC ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ก่อนเปลี่ยนชื่อมาเป็น Super GT เพื่อเพิ่มความเป็นสากล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548


ในแต่ละฤดูกาลจะมีการแข่งขันทั้งหมด 8 สนาม โดยแบ่งเป็น 7 สนามในประเทศญี่ปุ่น และอีก 1 สนามนอกประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้จัดขึ้นที่สนามเซปัง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ประเทศมาเลเซีย


ตั้งแต่ฤดูกาลการแข่งขันปี 2014  สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ ก็ได้เข้ามาเป็น 1 ใน 8 สนามที่ใช้ในการแข่งขันแทนที่ สนามเซปังฯ


สนามสุดท้ายที่ใช้ในการแข่งขันในทุกปี จะถูกกำหนดให้เป็น สนาม Twin Ring Motegi ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดโทชิกิ ประเทศญี่ปุ่น (สนามที่ใช้ในการแข่งขัน MotoGP รอบ JapaneseGP)


•    การแข่งขันซูเปอร์ จีที เรซ 2018 ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน -  1 กรกฎาคม 2561 ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ นับเป็นสนามที่ 4 ในฤดูกาลการแข่งขันปี 2018 และนับเป็นปีที่ 5 ของการแข่งขัน ช้าง ซูเปอร์ จีที เรซ

Super GT แบ่งคลาสการแข่งออกเป็น 2 รุ่น ได้แก่ GT500 และ GT300 โดยตัวเลขนี้หมายถึงกำลังแรงม้าสูงสุดในแต่ละรุ่น ซึ่งทั้งสองรุ่นจะทำการแข่งไปพร้อมกัน และแต่ละเรซจะมีระยะทางรวมทั้งหมดประมาณ 300 กิโลเมตร ใช้เวลาแข่งขันประมาณ 2 ชั่วโมง


• การแข่งขันในรุ่น GT500 ประกอบไปด้วย รถยนต์จาก 3 ค่ายรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่น ได้แก่ Honda, Nissan, Toyota (Lexus)


• การแข่งขันในรุ่น GT300 ประกอบไปด้วยรถยนต์จากค่ายรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่น ได้แก่ Toyota (lexus), Nissan, Subaru และ Honda ที่กลับมาเข้าร่วมการแข่งรุ่นนี้ในปี 2018 ขณะที่แบรนด์ยุโรป ได้แก่ Porsche, BMW, Mercedes-Benz, Audi, Bentley

• สำหรับไฟ LED ที่ติดอยู่หน้ากระจกรถ สีแดงและสีน้ำเงิน มีไว้เพื่อบอกผู้ชมว่า นักแข่งคนไหนที่กำลังขับอยู่
จากกติกาการแข่งขัน ที่กำหนดไว้ว่า ในการแข่งขัน 1 เรซ จะต้องมีนักแข่งอย่างน้อย 2 คน โดยไฟ LED
สีแดง หมายถึง นักแข่งหมายเลข 1 กำลังขับอยู่ ส่วนสีน้ำเงินหมายถึง นักแข่งหมายเลข 2 กำลังขับอยู่


• จุดสังเกตในการแยกความแตกต่างระหว่างรุ่นจีที 500 และรุ่นจีที 300 เมื่ออยู่ในสนามการแข่งขัน ได้แก่
- ไฟหน้า รถแข่ง รุ่นจีที 500 ไฟหน้าจะเป็นสีขาว  แต่รุ่นจีที 300 ไฟหน้าจะเป็นสีเหลือง  
- สติกเกอร์ที่ติดกับตัวรถ รุ่นจีที 500 จะมีพื้นหลังสีขาวและตัวเลขสีดำ  แต่รุ่นจีที 300 จะมีพื้นหลัง
สีเหลืองและตัวเลขสีดำ
- สติกเกอร์คาดกระจกหน้ารถ รุ่นจีที 500 เป็นแถบสีขาว แต่รุ่นจีที 300 เป็นแถบสีเหลือง
- กราฟฟิคในการถ่ายทอดสด รุ่นจีที 500 จะเป็นพื้นสีขาว ตัวเลขสีดำ และมีไฟหน้าสีขาว
แต่รุ่นจีที 300 จะเป็นพื้นสีเหลือง ตัวเลขสีดำ และมีไฟหน้าสีเหลือง


นอกจากนี้ ยังมีกฎกติกา ที่จะมาสร้างความเร้าใจให้กับการรับชมการแข่งขันได้สนุกยิ่งขึ้น กับ การถ่วงน้ำหนัก (Weight Handicaps) คือ ระบบถ่วงน้ำหนัก ซึ่งรถแข่งที่ทำผลงานได้ดีจะถูกบวกน้ำหนักเพิ่มขึ้นในทุกสนาม ทำให้รถสามารถถวิ่งได้ช้าลงและมีระยะเบรกที่ยาวขึ้น ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้รถแข่งคันอื่นๆ สามารถเร่งแซงและทำคะแนนตีตื้นได้

อีกทั้งทำให้ผู้ชมได้ร่วมลุ้นกับการแข่งขันในทุกสนาม โดยจะมีสติกเกอร์รูปตุ้มน้ำหนักพร้อมตัวเลขบอกน้ำหนักติดอยู่ข้างรถ เพื่อบอกว่ารถคันนี้ถูกถ่วงน้ำหนักที่เท่าไร โดยน้ำหนักถ่วงสูงสุดคือ 100 กิโลกรัม ทั้งนี้ การแข่งขันสนามสุดท้าย น้ำหนักถ่วงทั้งหมดจะถูกเอาออก เพื่อให้รถแข่งได้แสดงสมรรถนะอย่างเต็มที่และขับเคี่ยวกันอย่างสนุกสนาน

สำหรับบรรยากาศสดๆ จากสนามแข่ง เพื่อนๆ สามารถติดตามได้ทาง
https://www.facebook.com/pantipgarage/ ครับ ทางทีมงานเราจะมาอัพเดทบรรยากาศการแข่งขันสุดสัปดาห์นี้กันต่อครับ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่