Mercedes-Benz พัฒนาระบบขับขี่ออโต้ โดยเรียนรู้จริงบนถนน 5 ทวีปทั่วโลก เนื่องจากความพฤติกรรม และกฎที่ต่างกันในแต่ละประเทศ

ระบบขับขี่อัตโนมัติ หรือ Autopilot ถือเป็นระบบ ที่จะช่วยให้ผู้ขับขี่ไม่ต้องมาเหนื่อยกับการต้องมานั่งขับเอง รวมถึงสภาพการจราจร ที่สุดแสนจะน่าเบื่อ

ล่าสุดค่าย เมอร์เซเดส-เบนซ์ ได้มองว่าการพัฒนาระบบการขับขี่อัตโนมัติ มีประสิทธิภาพ ควรเกิดจาก กระบวนการเรียนรู้เชิงลึกบนท้องถนนจริงของแต่ละประเทศนั้น จึงได้เริ่มต้นโครงการ Mercedes-Benz Intelligent World Drive ใช้เวลา 5 เดือนใน 5 ทวีปทั่วโลก ในประเทศเยอรมนี จีน ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ และสหรัฐอเมริกา โดยโครงการดังกล่าวสิ้นสุดอย่างเป็นทางการในงาน CES ณ นครลาส เวกัส     


สำหรับรถที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ พัฒนาขึ้นสำหรับโครงการระบบการขับขี่แบบกึ่งอัตโนมัตินี้ แน่นอนว่าเป็นรถยนต์หรู ที่ผู้บริหารส่วนมากมักจะใช้บริการผู้ขับรถ นั่นก็คือรถตระกูล S-Class

เนื่องจากความแตกต่างด้านการสัญจรของแต่ละประเทศ จะมีโครงสร้างพื้นฐาน กฎจราจร และระเบียบปฏิบัติระหว่างผู้ขับขี่กับผู้ใช้ถนนที่แตกต่างกันอย่างมาก จึงจำเป็นที่จะต้องเริ่มโครงการเรียนรู้นี้ เพื่อให้การปรับตั้งเซนเซอร์ หรือ อัลกอริทึ่มของระบบการขับขี่อัตโนมัติมีความเหมาะสมกับแต่ละประเทศนั้นๆ


ในสหรัฐอเมริกา
ป้ายจำกัดความเร็วจะมีรูปร่างต่างจากป้ายจำกัดความเร็วในจีนหรือในทวีปยุโรปที่เป็นป้ายโลหะรูปวงกลม ในขณะที่ป้ายจำกัดความเร็วในประเทศออสเตรเลียจะเป็นแบบหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนตัวเลขความเร็วสูงสุดได้ตามความเหมาะสม รวมถึงใช้แสดงสัญลักษณ์ง่ายๆ หรือตัวอักษรได้ในบางครั้ง ป้ายอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้จะติดตั้งอยู่ติดกัน และอาจเปลี่ยนการแสดงผลได้ในเวลาไม่กี่วินาที  ซึ่งป้ายจราจรที่แตกต่างและอาจเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้แบบเรียลไทม์นี้ส่งผลให้การติดตั้งกล้องจับภาพอเนกประสงค์ (Multi Purpose Camera - MPC) และแผนที่ดิจิทัลที่มีคุณภาพเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งข้อมูลของการจำกัดความเร็วในจุดต่างๆ หรือการเปลี่ยนแปลงกฎการจำกัดความเร็วในแต่ละช่วงเวลาก็เป็นข้อมูลที่สำคัญยิ่งต่อผู้ผลิตรถยนต์

ในออสเตรเลีย
มีตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ ป้ายและกฎการเลี้ยวขวาจากช่องเดินรถซ้ายสุด (Hook Turn) ในเขตใจกลางนครเมลเบิร์นซึ่งใช้ระบบจราจรแบบซ้ายมือ กฏนี้เป็นกฎสำหรับจัดระเบียบการเลี้ยวขวาของรถบนถนนที่มีทางวิ่งของรถรางร่วมอยู่ด้วย หากผู้ขับขี่ต้องการเลี้ยวขวาข้ามทางรถราง ผู้ขับขี่ต้องเปลี่ยนช่องทางไปยังช่องซ้ายสุดและหยุดรอให้รถรางหรือรถอื่นใดที่อยู่ในทางสัญจรด้านหน้าผ่านไปก่อน จึงจะเลี้ยวขวาได้ ทั้งนี้ ผู้ขับขี่จะเลี้ยวขวาได้เมื่อสัญญาณไฟจราจรในทางที่ผู้ขับขี่จะเลี้ยวขวาไปเป็นไฟเขียวและสัญญาณไฟจราจรของถนนในจุดที่ผู้ขับขี่จอดรออยู่เป็นไฟแดงเท่านั้น การเลี้ยวที่มีกฎและขั้นตอนซับซ้อนนี้จำต้องอาศัยเซนเซอร์และอัลกอริทึ่มที่สามารถตรวจจับถนนและป้ายที่บังคับให้รถต้องเลี้ยวขวาจากช่องเดินรถซ้ายสุดเท่านั้นได้ เพื่อพัฒนาระบบไปอีกขั้น ระบบจะต้องเข้าใจขั้นตอนการเลี้ยวและคำนึงถึงผู้สัญจรอื่นด้วย


ในจีน
เครื่องหมายจราจรมีความแตกต่างกันออกไป สัญลักษณ์ทางม้าลายจะมี 2 ความหมาย ในเขตเมือง เส้นทางม้าลายจะหมายถึงจุดที่คนเดินเท้าสามารถข้ามถนนได้ แต่บนทางด่วน เส้นนี้จะเป็นเส้นกำกับระยะห่างระหว่างรถแต่ละคันเพื่อความปลอดภัย หรือบนทางพิเศษระหว่างรัฐและฟรีเวย์ของสหรัฐอเมริกา บางเส้นทางจะมีช่องทางวิ่งเฉพาะสำหรับรถที่มีผู้โดยสารตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ซึ่งช่องทางวิ่งนี้จะมีเส้นทึบสีเหลือง 2 เส้นหรือราวโลหะเป็นสัญลักษณ์บนพื้นทาง ซึ่งเซนเซอร์ของรถยนต์อาจจะตรวจจับช่องทางพิเศษเหล่านี้ได้ยาก นอกจากนี้ ถนนของสหรัฐอเมริกา ยังมี “จุดของบอตต์ส - Botts' Dots” หรือการใช้พลาสติกหรือเซรามิกหล่อเป็นทรงกลมและฝังลงบนพื้นถนนเพื่อเป็นเส้นแบ่งช่องทางวิ่งแทนการตีเส้นบนพื้นถนน ซึ่งระบบการขับขี่อัตโนมัติในปัจจุบันยังไม่สามารถตรวจจับช่องทางวิ่งแบบนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งในขณะนี้ รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นรัฐแรกของสหรัฐอเมริกา ที่วางแผนจะเลิกใช้จุดของบอตต์ส และใช้มาตรฐานหลักมาตรฐานเดียวสำหรับการสร้างเครื่องหมายจราจรบนพื้นถนนในเขตรัฐ อันจะส่งผลดีอย่างยิ่งต่อกระบวนการพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติในอนาคต


อีกหนึ่งสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับระบบการขับขี่อัตโนมัติคือข้อเท็จจริงที่ว่าป้ายจราจรหรือเครื่องหมายจราจรบนพื้นถนนมักจะหายไป ซึ่งแม้แต่ผู้ขับขี่ที่มีประสบการณ์ยังรู้สึกลำบากในการขับขี่ในหลายๆ พื้นที่ เช่น สี่แยกที่จอแจหรือวงเวียนที่มีหลายช่องทางเดินรถป้ายหยุดหรือป้ายเตือน ลูกระนาดที่หายไป ซึ่งส่งผลอย่างยิ่งต่อการทำงานของเซนเซอร์และระบบแผนที่ดิจิทัล

การศึกษาและทำความเข้าใจกฎจราจรเฉพาะของแต่ละประเทศรวมถึงสถานการณ์แวดล้อมบนท้องถนน
กฎจราจรเกี่ยวกับรถโรงเรียนในสหรัฐอเมริกา ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจของกฎจราจรเฉพาะของแต่ละประเทศ กล่าวคือ กฎจราจรของสหรัฐอเมริกา ระบุว่าหากรถโรงเรียนหยุดรับส่งนักเรียน ยานพาหนะทุกชนิดที่อยู่ใกล้เคียงจะต้องหยุดด้วย ซึ่งรวมถึงรถที่สัญจรในทางที่สวนมาเช่นกัน ดังนั้น ระบบการขับขี่อัตโนมัติและรถยนต์ที่มีระบบการขับขี่อัตโนมัติจะต้องสามารถตรวจจับและแยกแยะรถโรงเรียนได้ และจะต้องสามารถหยุดรถได้โดยอัตโนมัติหากตรวจจับได้ว่ารถโรงเรียนกำลังหยุดรับส่งนักเรียน

อีกหนึ่งความท้าทายของการพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติโดยเมอร์เซเดส-เบนซ์นั้นปรากฎที่ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งผู้สัญจรบนทางเท้ามีหลากหลายประเภทมาก แตกต่างจากทวีปยุโรป ออสเตรเลีย หรือในสหรัฐอเมริกาอย่างสิ้นเชิง ผู้สัญจรบนบาทวิถีในแอฟริกาใต้มีจำนวนมาก บางครั้งพวกเขาก็ลงมาเดินบนถนนและข้ามถนนในจังหวะที่ผู้ขับขี่คาดเดาไม่ได้ ดังนั้น ระบบการขับขี่อัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพในอนาคตจำต้องตรวจจับพฤติกรรมของคนเดินเท้าได้อย่างแม่นยำมากขึ้นแม้ในขณะที่รถกำลังใช้ความเร็วสูง


ในแอฟริกาใต้
การแซงโดยใช้ช่องทางรถสวนเป็นเรื่องธรรมดา ผู้ขับขี่รถยนต์บนถนนช่องทางวิ่งแบบช่องเดียวที่ขับขี่ช้ากว่ารถคันหลัง จะถูกผู้ขับขี่รถที่เร็วกว่าและตามมาข้างหลังแซงบ่อยครั้ง โดยผู้ขับขี่รถที่เร็วกว่าจะต้องกะระยะแซงให้แม่นยำแม้ว่าเส้นแบ่งถนนจะขาดหายไปก็ตาม ในกรณีนี้ ระบบการขับขี่อัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพจะต้องตัดสินใจได้ว่าจังหวะไหนที่ควรจะแซงหรือควรจะขับตามรถคันหน้า การจะแซงโดยใช้ช่องทางรถสวนนั้น ระบบการขับขี่อัตโนมัติจะต้องสามารถตรวจจับได้ว่าช่องทางรถสวนปลอดภัยสำหรับการใช้แซง อีกทั้งยังต้องวิเคราะห์ได้ว่าจุดนั้นเป็นทางตรงที่สามารถแซงได้โดยปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยให้ผู้ผลิตรถยนต์สามารถปรับปรุงระบบการขับขี่อัตโนมัติได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสภาพการใช้ถนนจริง

นอกเหนือจากคนและยานพาหนะแล้ว สัตว์ป่าก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ให้ความสำคัญ ในโครงการนี้ บริษัทฯ ต้องศึกษาพฤติกรรมการข้ามถนนของจิงโจ้ในประเทศออสเตรเลียและตัวสปริงบอกซ์ในแอฟริกาใต้ สัตว์ป่าแต่ละตัวมีรูปร่างและท่าทางแตกต่างกัน ทำให้ระบบการขับขี่อัตโนมัติตรวจจับสัตว์เหล่านี้ได้ยาก สถิติจากบริษัทประกันภัย แห่งหนึ่งในประเทศออสเตรเลียชี้ให้เห็นว่าจิงโจ้เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศออสเตรเลียมากถึง 9 ใน 10 ครั้ง


จากที่ว่ามาถือเป็นเรื่องสำคัญ อย่างยิ่ง หากที่จะต้องพัฒนาระบบกับขับแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะยึดตามหลักสากลไม่ได้ เนื่องจาก ความแตกต่างของสภาพการจราจร พฤติกรรมผู้ขับ รวมถึง ผู้ใช้ถนน และสัญญาณจราจรที่แตกต่างกัน
ดังนั้น การพัฒนาโครงการเมอร์เซเดส-เบนซ์ อินเทลลิเจนท์ เวิร์ล ไดรฟ์ ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ ให้ทุกภาคส่วนเล็งเห็นถึงความสำคัญของการร่างกฎหมาย หรือระเบียบปฏิบัติที่เป็นสากลในอนาคต สำหรับระบบการขับขี่อัตโนมัติและรถยนต์ที่มีระบบนี้
ซึ่งอนาคต เราอาจจะได้เห็นการศึกษาระบบ Autopilot กับการจราจรในประเทศไทยบ้างก็เป็นได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่