ช่วงพระนารายณ์จะสวรรคต

เอามาจาก เพจ เม้าท์คนดังลับหลังประวัติศาสตร์ สนุกอ่านง่ายค่ะ คนเขียนรวบรวมจากบันทึกบาทหลวงและชาวต่างชาติค่ะ  
ฟังความหลายๆข้างดู
เล่าเรื่อง “ฟอลคอน” ep.56  กลสุดท้ายของพระนารายณ์
.....
เมื่อพระเพทราชาสามารถสังหารฟอลคอนได้แล้ว ก็ได้มีคำสั่งให้ทหารล้อมพระที่นั่งสุธาสวรรย์ให้แน่นหนายิ่งขึ้นไปอีกอย่าให้ผู้ใดเข้าออกได้เป็นอันขาด เพราะนี่คือปฏิบัติการ “ขัง” พระนารายณ์เจ้าเอาไว้ภายในพระที่นั่งนั่นเอง เพราะพระเพทราชานั้นตระหนักดีว่า มือของเขานั้นไม่จำเป็นต้องเปื้อนเลือดของสมเด็จพระนารายณ์ เนื่องจากเวลาของพระองค์นั้นเหลืออีกไม่มากแล้ว สิ่งเดียวที่เขาต้องกระทำก็คือ “รอคอย” เท่านั้น
.....
กล่าวฝ่ายพระปีย์นั้น ก็รู้ตัวแล้วว่าครานี้เพศภัยได้มาถึงตัวเองเสียแล้ว  เพราะบรรดาขุนนางต่าง ๆ ที่เคยล้อมหน้าล้อมหลัง บัดนี้ ถ้าไม่ไปเข้าเสียกับพระเพทราชาแล้ว ก็ล้วนหนีไปซ่อนตัวกันเสียสิ้น
.....
พระปีย์เอง คิดเอาสมเด็จพระนารายณ์คุ้มเกล้า จึงเข้าไปหลบเกาะแข้งเกาะขาสมเด็จพระนารายณ์อยู่ยังที่บรรทม ฝ่ายพระนารายณ์เป็นเจ้าเองนั้น ก็ประชวรหนักจนเสวยพระกะยาหารแทบจะไม่ได้อยู่แล้ว ประกอบกับเหตุที่เกิดขึ้นสร้างความสะเทือนพระทัยอย่างรุนแรง จึงได้แต่บรรทมหายใจอย่างแผ่วเบา
.....
ในห้องพระบรรทมนั้น นอกจากพระปีย์แล้วก็ยังมีข้าราชบริพาร ที่จงรักภักดีต่อสมเด็จพระนารายณ์คอยเฝ้าแหนอยู่อีกร่วม 15 คน สมเด็จพระนารายณ์ให้สงสารข้าทูลละอองเหล่านี้ยิ่งนัก จึงมีพระทัยเมตตาหาทางช่วยรักษาชีวิตเอาไว้ให้จงได้
.....
พระองค์จึงมีรับสั่งให้ไปเบิกเอาผ้าไตรจีวรจากพระคลังศุภรัต มาให้ครบตัวคนที่เฝ้าแหนอยู่นั้น แล้วขอร้องให้คนไปอาราธนาพระสงฆ์ราชาคณะแห่งเมืองละโว้มาเข้าเฝ้าถึง 20 รูป
.....
บรรดากองกำลังที่ล้อมพระที่นั่งสุธาสวรรย์ เมื่อได้รับการร้องขอให้นิมนต์พระสงฆ์เข้า ก็ได้รับอนุญาตจากพระเพทราชาให้ยอมดำเนินการตามนั้นได้ ทั้งนี้ ก็เนื่องจาก คงจะเห็นว่า ในวาระสุดท้ายก็คงมีพระราชประสงค์จะฟังเทศน์ฟังธรรม ให้ได้ยินเสียงสวดมนต์ก่อนจะดับขันธ์ลงไป
.....
เมื่อพระสงฆ์ราชาคณะมาพร้อมกันอยู่ ณ พระที่นั่งสุธาสวรรย์แห่งนี้แล้ว สมเด็จพระนารายณ์ก็ได้พระราชดำรัสให้นำพาเอาตัวข้าราชบริพารเหล่านี้ไปทำการอุปสมบทเสีย เพื่อให้ธงชัยแห่งพระอรหันต์นี้เป็นเกราะคุ้มภัยให้สืบไป แต่บรรดาพระทั้งหลายได้กราบทูลว่า คงไม่สามารถทำได้แล้วเพราะบรรดาทหารที่ล้อมพระที่นั่งแห่งนี้แน่นหนานัก คงไม่มีทางเล็ดลอดออกไปได้ ครั้งจะให้เจรจากันก็คงไม่มีใครยอม
.....
ครานั้น พระนารายณ์เป็นเจ้าให้โทมนัสน้อยพระทัยยิ่งนัก แต่ก็พลันมีพระราชดำรัสว่า อย่างเช่นนั้น ก็ให้พวกมันบวชกันเสียที่พระที่นั่งสุธาสวรรย์นี้แหละ
.....
บรรดาพระราชาคณะก็เร่งกราบทูลว่าไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะพระที่นั่งนี้มิใช่พระอุโบสถ
.....
คือ ติดปัญหาทางเทคนิคล่ะครับงานนี้
.....
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ท่านจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ว่า ถ้าเช่นนั้นโยมขอถวายอุทิศพระที่นั่งสุธาสวรรย์ และ พระที่นั่งธัญญมหาปราสาท รวมทั้งพระราชวังแห่งนี้ให้เป็นวิสุงคามสีมาแก่พระพุทธศาสนา และมีพระราชดำรัสให้ดำเนินการอุปสมบทข้าราชบริพารทั้งปวงในทันที
.....
การนี้ก็สำเร็จสมดังพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนารายณ์เจ้า เมื่อข้าราชบริพารทั้ง 15 คน เว้นแต่พระปีย์ที่ไม่ยอมบวชแล้ว อุปสมบทเสร็จสิ้น ใก็โอวาทโดยสมณกิจตามพิธีเรียบร้อยแล้ว พระราชาคณะทั้งนั้น พร้อมภิกษุบวชใหม่ทั้งหลายก็ก็ถวายพระพรลากลับไปยังพระอาราม โดยปราศจากการขัดขวางใดๆ
.....
นับแต่วันนั้น บริเวณพระราชวังแห่งเมืองละโว้นี้ จึงมีฐานะเป็นวัดแห่งหนึ่ง ต่อเมื่อมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ต้องการบูรณะฟื้นฟูพระราชวังของสมเด็จพระนารายณ์เจ้าแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ โดยทรงพระราชทานนามให้ว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” ดังที่เราเรียกกันสืบมาจนปัจจุบัน แต่ด้วยการที่จะเอาวัดกลับมาทำเป็นวังอีกครั้งนั้น เพื่อเป็นการ “ไถ่ถอน” มิให้เป็นบาปว่าพระองค์ได้เอาของสงฆ์มานั้น จึงทรงกระทำผาติกรรม กล่าวคือ ทำการตอบแทนให้มีค่าควรกันตามพระวินัย ดังนี้
1. ให้พระราชวงศ์เธอกรมหมื่นรังษีสุริยพันธ์ เป็นประธานที่ประชุมสงฆ์ แล้วให้พร้อมใจกันถวายพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์และหมู่พระที่นั่งแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
2. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับและพระราชทานพระราชทรัพย์จำนวนมากให้ไปดำเนินการซื้อที่ดินเนื้อที่ 40 ไร่ 2 งาน เท่าจำนวนเนื้อที่บริเวณพระนารายณ์ราชนิเวศน์ แล้วทรงพระราชอุทิศถวายเป็นธรณีสงฆ์ แต่จะถวายสงฆ์วัดใดไม่ปรากฏ
3. สถาปนาวัดสำคัญที่ทรุดโทรม 3 วัด เพื่อเป็นผาติกรรม โดยมีพระประสงค์จะให้เป็นที่อยู่ของพระรามัญวัดหนึ่ง เป็นที่อยู่วัดมหานิกายวัดหนึ่ง และเป็นที่อยู่ของวัดธรรมยุตวัดหนึ่ง คือ
(1) ปฏิสังขรณ์วัดขวิด ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ถวายเป็นพระอารามหลวงฝ่ารามัญนิกาย พระราชทานนามว่า “วัดกวิศราราม” ปัจจุบันชาวบ้านออกเสียงเรียกกันว่า “วัด-กระ-หวิด”
(2) ปฏิสังขรณ์วัดชุมพลนิกายาราม ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถวายเป็นพระอารามหลวงฝ่ายมหานิกาย
(3) ปฏิสังขรณ์วัดเสื่อ ซึ่งร้างอยู่ท้ายพระราชวังจันทรเกษม ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถวายเป็นพระอารามหลวงฝ่ายธรรมยุตนิกาย พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร” เรียกสั้นๆว่า “วันเสนาสน์”
การปฏิสังขรณ์วัดทั้งหลายในครั้งนี้ แล้วเสร็จใน พ.ศ.2406 สิ้นพระราชทรัพย์ไป 300 ชั่งเศษ ก็ราวๆ ไม่น้อยกว่า 25,000 บาท (อัตราเงินในสมัยรัชกาลที่ 4 นะครับ อย่าลืม แล้วก็ช่วงเวลานั้น เงินบาทมีค่าสูงกว่าหรืออย่างน้อยก็เท่ากับเงินปอนด์สเตอริงของอังกฤษทีเดียวนะครับ)
.....
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่