กรมศิลปากรจัดนิทรรศการพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๓๐ ปี ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น “วิถีแห่งศรัทธาจากศิลปทัศน์ญี่ปุ่น”

กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กำหนดจัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “วิถีแห่งศรัทธาจากศิลปทัศน์ญี่ปุ่น” (The History of Japanese Art: Life and Faith) ในโอกาสครบรอบ ๑๓๐ ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – ญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๐ – ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ฝ่ายญี่ปุ่นได้คัดเลือกนำมาจัดแสดงนิทรรศการพิเศษครั้งนี้ ประกอบด้วยโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยโจมน จนถึงยุคประวัติศาสตร์ สมัยเอโดะ ประกอบด้วยหลักฐานที่ได้จาการขุดค้นทางโบราณคดี ประติมากรรม จิตรกรรม และประณีตศิลป์ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมญี่ปุ่น เพื่อนำเสนอเรื่องการเริ่มต้นของศิลปะญี่ปุ่น ความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ตระกูลขุนนาง และนักรบ นิกายเซนกับพิธีชงชา และความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสมัยเอโดะ รวมจำนวน ๑๐๖ รายการ (๑๓๐ ชิ้น) โดยมีโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกชาติ ๓ รายการ และมรดกวัฒนธรรมสำคัญ ๒๕ รายการรวมอยู่ด้วย เพื่อช่วยส่งเสริมให้ชาวไทยสนใจในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการเพิ่มพูนสัมพันธภาพของทั้งสองประเทศให้มั่นคงยั่งยืน

       จากหลักฐานการบันทึกในเอกสารประวัติศาสตร์นั้นพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นนั้น มีมายาวนานมากกว่า ๖๐๐ ปีแล้ว แม้จะมีเหตุการณ์ต่างๆ เกี่ยวพันในด้านความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักในสมัยอยุธยามาแล้วก็ตาม บทบาทอื่นในด้านเศรษฐกิจการค้า การเมือง ทางสังคม ตลอดจนการช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตลอดตามยุคสมัยนั้นทำให้ทั้งสองประเทศมีเรื่องราวเกี่ยวกันหลายเรื่องในอดีต เช่นเส้นทางการค้า เครื่องเคลือบ ออกญาเสนาภิมุข (ยามาด้า)กองอาสาญี่ปุ่น การส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและโรงทอไหม สงครามมหาเอเชียบูรพา การสร้างเส้นทางรถไฟสายมรณะ อีกทั้งยังมีนวนิยายผ่านเรื่อง ระย้า,คู่กรรม, บุญผ่อง เป็นต้น จนรู้จักพระเอกโกโบริ และนายบุญผ่องกันทั่วไป

       ครั้งหลังสุดทั้งสองประเทศนั้นได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการโดยการลงนามในปฏิญญาทางไมตรี และการพาณิชย์ เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๔๓๐ นั้นทำให้ทั้งสองประเทศได้เริ่มความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นอย่างมากทำให้ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีจำนวนบริษัทเอกชนของญี่ปุ่นเข้ามาตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีชาวญี่ปุ่นพำนักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากแห่งหนึ่งในโลก จนชาวญี่ปุ่นต่างมีความรู้สึกใกล้ชิดกับไทยเป็นอย่างดี

     การเสด็จฯทรงเยี่ยมเยือนซึ่งกันและกันหลายครั้งระหว่างพระราชวงศ์ไทยกับพระราชวงศ์ญี่ปุ่นนั้นได้แสดงถึงสัมพันธภาพอันแน่นแฟ้นยาวนานของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะการเสด็จฯของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เสด็จฯทรงเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๖ นั้น ได้ยิ่งทำให้สองประเทศมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นมากขึ้นซึ่งในปีต่อมานั้นสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ เมื่อยังดำรงพระราชอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารเจ้าชายอากิฮิโต และเจ้าหญิงมิชิโกะ นั้นได้เสด็จฯทรงเยือนประเทศไทย ในฐานะผู้แทนพระองค์สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต ทำให้ความร่วมมือของทั้งสองประเทศนั้นมีบทบาทต่างๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยได้มุ่งกระชับความสัมพันธ์ และความร่วมมือกับญี่ปุ่นให้พัฒนาไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ (Strategic and Economic Partnership)เป็นอย่างดี การเยือนสำคัญทั้งระดับพระราชวงศ์และผู้นำประเทศได้กระชับความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและประเทศไทยจนต่างมีความน่าเชื่อถือและมีความสนิทสนมอย่างมาก ทำให้ชาวไทยชาวญี่ปุ่นนิยมเดินทางท่องเที่ยวต่อกันมากที่สุด ทำให้ต่างได้เรียนรู้และเข้าใจศิลปวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ผ่านชิ้นงานสำคัญจากญี่ปุ่นที่นำมาแสดง โดยไม่ต้องเดินทางไปชมที่นั่น เป็นการเปิดโลกการเรียนรู้ด้านทัศนศิลป์ และได้ติดตามความสัมพันธ์อันยาวนานผ่านงานศิลปกรรมชิ้นเอกของแต่ละประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นภูมิการเรียนรู้เกิดขึ้นกับทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังส่งเสริมความเข้าใจจากมิติวัฒนธรรมให้ต่อยอดความรู้เดิมมากขึ้นด้วย
(http://www.finearts.go.th/promotion/ข่าวประชาสัมพันธ์/ข่าวประชาสัมพันธ์/item/นิทรรศการพิเศษเนื่องในโอกาสครบ-๑๓๐-ปี-ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น-วิถีแห่งศรัทธาจากศิลปทัศน์ญี่ปุ่น.html และ http://www.naewna.com/lady/312704)

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่