อันเป็นมงคลยิ่งแห่งชีวิต
วรพล นิมิปาล
เมื่อผมได้อ่าน พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่องเหตุใดข้าพเจ้าจึงชอบดนตรีไทย ใน ต่วยตูน ฉบับขึ้นรอบปีที่ ๓๑ แล้ว ผมจึงเกิดความบันดาลใจที่จะเขียน ประสบการณ์แห่งชีวิตของผม มาให้ท่านได้อ่านทันที เรื่องที่ผมจะขออนุญาตเล่าให้ฟังต่อไปนี้ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อยี่สิบเอ็ดปีที่แล้ว…….ยี่สิบเอ็ดปีพอดี แต่ผมยังจำได้ และจักจาฤกไว้ในหัวใจ ชีวิตและจิตวิญญาณ ราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ทีเดียว
เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เมื่อผมกำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ตามหลักสูตรเก่า ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และกิจกรรมที่ผมกำลังทำอยู่ที่โรงเรียนในขณะนั้น ก็คือกิจกรรมดนตรีไทย
ผมเองและเพื่อนพ้องสมาชิกชมรมดนตรีไทย นับว่ามีโอกาสอันดียิ่ง ที่ได้เรียนดนตรีไทย เพราะในสมัยนั้นยังไม่มากนักที่จะปรากฎว่า มีวงมโหรีปี่พาทย์ในโรงเรียนฝรั่งเช่นนี้ และนับว่าเป็นความกรุณาอย่างยิ่ง ของท่านผู้ใหญ่ผู้บริหารโรงเรียน ที่ได้ดำริจัดตั้งวงมโหรีเครื่องใหญ่ของโรงเรียนขึ้นมา ผมจึงได้ศึกษาลูกฆ้องลูกแรก จากเครื่องมโหรีลายทองใหม่เอี่ยมเป็นรุ่นประเดิมเริ่มแรก เมื่อ เดือนมีนาคม ๒๕๒๑ อันเป็นเวลาปิดภาคเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗ และกำลังจะขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ โดยทางโรงเรียนได้เชิญคุณครูผู้ใหญ่แห่งวงการดนตรีไทยปัจจุบันนี้ท่านหนึ่ง มาเป็นผู้ฝึกสอนกันตั้งแต่จับมือทีเดียว ผมขอกราบคารวะและขออนุญาตเอ่ยนามของท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย ท่านคือ คุณครูอุทัย แก้วละเอียด ศิษย์เอกของ คุณครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ปรมาจารย์ดนตรีไทยผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นั่นเอง
ตั้งแต่ชั้น ม.ศ.๑ เป็นต้นมา ผมและเพื่อน ๆ ก็ได้ศึกษา ฝึกซ้อม และทำความรู้จักกับดนตรีไทยเรื่อยมาตั้งแต่บัดนั้น จนกระทั่งถึงขั้นที่เรียกว่า ทุ่มเทและมอบชีวิตให้แก่ ระนาด ฆ้องวง รวมถึงซออู้ ซอด้วง และเครื่องดนตรีไทยชนิดอื่น ๆ ทั้งวงมโหรีเครื่องใหญ่นั้น
จนคุณครูเห็นว่าพอจะออกงานได้บ้าง นอกจากงานของโรงเรียนแล้ว พวกเราจึงได้มีโอกาสไปแสดงทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๙ อ.ส.ม.ท. ซึ่งขณะนั้นยังมีห้องส่งอยู่ที่ตึกแถวย่านบางลำพู ในรายการดนตรีไทยของ ท่าน อาจารย์ชวน อยู่สุวรรณ แต่ต้องขออภัยที่จำชื่อรายการไม่ได้ ส่วนอีกรายการหนึ่งได้รับเชิญถึงสองครั้งสองครา ก็คือรายการทิพวาทิต แห่ง ททบ.๕ ซึ่งจำได้ว่าคุณพี่ ศิริวรรณ ทองแสง เป็นพิธีกร จนกระทั่งถึงปีการศึกษา ๒๕๒๓ ผมก็ได้รับความไว้วางใจ และได้รับมอบหมายให้เป็นประธานชมรมดนตรีไทยของโรงเรียน
และนี่เองที่เป็นโอกาสให้เกิดเหตุการณ์ อันเป็นมงคลยิ่งแห่งชีวิต และจิตวิญญาณ ของผม
กลางเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๓ คุณครูอุทัย แก้วละเอียด ก็ได้พาพวกเราไปร่วมงานในพิธีไหว้ครูดนตรีไทยประจำปี ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจเป็นเพราะว่าขณะนั้นคุณครูท่านก็กำลังสอนอยู่ในวงมโหรี ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกเหนือไปจากที่ท่านสอนอยู่ในโรงเรียนของเราก็เป็นได้
พวกเราถือพานดอกไม้ธูปเทียนแพ ก้าวเข้าไปในห้องประชุมใหญ่ในวันนั้น อย่างที่เรียกได้ว่า ขาสั่นกันทีเดียว เพราะนักดนตรีเด็กหัดใหม่อย่างพวกเรา ไม่เคยได้สัมผัสกับบรรยากาศที่ เคร่งขรึม ศักดิ์สิทธิ์ ทรงพลัง และอลังการ เช่นนั้นมาก่อนเลยในชีวิต
และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ในงานไหว้ครูครั้งนั้น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาเป็นองค์ประธานด้วยพระองค์เอง
เมื่อพิธีการไหว้ครูอันศักดิ์สิทธิ์ผ่านพ้นไป ถึงเวลาที่ศิษย์ทั้งหลายจะได้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมา ถวายมือ นั่นก็หมายถึงการผลัดกันขึ้นมา ประเลง เพลงที่คิดว่าไพเราะงดงามที่สุด จากการฝึกซ้อมกับวงของตน เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที แด่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายทั้งปวง นั่นเอง
ในครั้งนั้น สมเด็จพระเทพ ฯ ได้ทรงซอด้วงร่วมกับวงมโหรีของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันเป็นสถาบันที่พระองค์ท่านเคยทรงศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี เมื่อวงมโหรีของคณะอักษร ฯ ขึ้นประเลงถวายมือแล้ว หลังจากนั้นวงดนตรีไทยทั้งปี่พาทย์ และมโหรีจากสถาบันต่าง ๆ ที่เข้าร่วมงานไหว้ครูในวันนั้น ก็ผลัดเปลี่ยนเวียนกันขึ้นไปแสดงถวายมือบนเวที จนกระทั่งเด็กเล็ก ๆ อย่างพวกเราถึงกับรู้สึก มึน ไปกับฝีมือหลากหลาย ที่แสนงดงามของพี่ ๆ ทั้งหลายวงเหล่านั้น
ผมสะดุ้งตื่นจากภวังค์ ที่กำลังเคลิบเคลิ้มดื่มด่ำในหาสยรสแห่งดนตรีการ ของวงมโหรีปี่พาทย์ระดับ เซียนเหยียบเมฆ เหล่านั้น เมื่อคุณพี่ผู้เป็นโฆษกของงาน ได้ประกาศขึ้นว่า
“ ขอเชิญวงมโหรีของโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ขึ้นมาประเลงถวายมือ ค่ะ “
วินาทีนั้น พวกเราทุกคนต่างมองหน้ากัน ด้วยความรู้สึกอันยากที่จะอธิบาย เพราะนักดนตรีในวงของเรา ที่ได้มีโอกาสไปร่วมงานไหว้ครูครั้งนั้น มีจำนวนเพียงประมาณครึ่งเดียว ของวงมโหรีเครื่องใหญ่ เท่านั้น
อีกประการหนึ่งก็คือ ดูเหมือนกับว่าพวกเราที่กำลังถูกเชิญในตอนนั้น รู้ตัวเองดีด้วยกันทุกผู้ทุกนาม ว่ายังอยู่ในประเภท มือใหม่หัดขับ ด้วยกันทั้งสิ้น แล้วจะกล้าเผยอขึ้นไป ประเลง ประลอง กับพี่ ๆ ทั้งหลายได้อย่างไรกัน แต่คุณพี่โฆษกท่านก็คงจะรู้ความในใจของพวกเราอยู่พอสมควร ท่านจึงปลอบใจและให้กำลังใจว่า
“ ไม่ครบก็ไม่เป็นไรค่ะ ที่เหลือพวกพี่ ๆ จะช่วยน้องเอง “
แต่ถึงกระนั้นพวกเราก็คงยังอยู่ในภาวะงงงัน พูดไม่ออก บอกไม่ถูก ก้าวขาไม่ได้อยู่อย่างนั้น มิใช่ว่าเกรงฝีมือที่จะต้องบังอาจไปผสมวง กับท่านพี่ชาวอักษรศาสตร์เท่านั้นดอก แต่เป็นเพราะว่าพวกเรามองเห็นอยู่โดยถ้วนทั่วทุกตัวคน ว่าสมเด็จ ฯ องค์ประธานยังคงทรงประทับอยู่ในตำแหน่งของซอด้วง ในลักษณการนั้น !
“ ช่วยเร็วหน่อยค่ะน้อง อย่าให้สมเด็จ ฯ ทรงรอ “
เสียงคุณพี่โฆษกสำทับมาอย่างนั้น
“ ตายเป็นตาย “ ผมนึกอยู่กับตัวเองในวินาทีนั้น จะพร้อมหรือไม่พร้อม จะเป็นจะตายกันอย่างไรก็ตามทีเถิด ขอให้ไปรู้ไปเห็นกันในดาบหน้า ก็แล้วกัน เพราะการที่จะให้สมเด็จพระเทพฯ ซึ่งพวกเราทุกคนในฐานะพสกนิกร เคารพเทอดทูนพระองค์ท่านไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม จะต้องทรงรำคาญหรือระคายเคือง แม้แต่เบื้องพระยุคลบาท พวกเราทนไม่ได้ !
ว่าแล้วก็พยักหน้ากับพวกพ้อง แล้วหันไปจบไหว้คุณครูอุทัย ซึ่งกรุณานั่งให้กำลังใจพวกเรา อยู่ในหอประชุมนั้นทีหนึ่ง แล้วผมก็เดินนำหน้านักดนตรีเด็กของวงมโหรีโรงเรียน เซนต์คาเบรียล ก้าวขึ้นไปบนเวที
เมื่อค่อย ๆ ก้มตัว ทยอยกันเคลื่อนเข้าไปประจำที่ทาง ตามตำแหน่งของเครื่องดนตรีแต่ละคน และผมเองนั้นประจำอยู่กับฆ้องวงเล็ก ซึ่งบังเอิญอยู่ในตำแหน่งที่เยื้องซ้ายแห่งพระปฤษฎางค์ขององค์ประธานแล้ว โดยมิได้นัดหมาย พวกเราทุกคนก็ก้มลงกราบแทบพระบาททูลกระหม่อม โดยพร้อมเพรียงกัน พอเงยหน้าขึ้นคุณพี่โฆษกก็ถามว่า
“ พวกเราชาวเซนต์คาเบรียล จะถวายมือเพลงอะไรดีคะ “
ครานั้นชาวมโหรีเด็กก็มองหน้ากันอยู่ไปมา จนกระทั่งทุกสายตาพุ่งมาโฟกัสอยู่ที่ผม ผู้ซึ่งเป็นประธานชมรม ราวกับจะรอคำตอบฉะนั้น ผมอึ้งไปวิบหนึ่ง แล้วก็ตัดสินใจโพล่งออกไปว่า
“ แสนคำนึงเถา ครับ “
ที่ผมตกลงใจดังนั้น เหตุผลก็คือว่า เพลงแสนคำนึงเถา จากการประพันธ์ของคุณครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ นั้น เป็นเพลงที่พวกเราแม่นยำที่สุด จำได้ทุกตัว ทุกเม็ด ทุกโน้ต และทุกอารมณ์ เรียกว่าเป็นเพลงที่พวกเราชำนาญที่สุด พอที่จะมาขยายความในชั่วโมงนั้นได้
พวกพี่ ๆ ท่านได้ยินดังนั้นแล้ว ก็พยักเพยิดกันเล็กน้อย บางท่านที่เป็นเครื่องสาย ก็หยิบสมุดโน้ตขึ้นมาขมุบขมิบทบทวน บางท่านก็ไถ่ถามกันเบา ๆ ว่า เพลงนี้ได้ไหม แต่ก็ถูกตัดสินด้วยกระแสพระราชดำรัสของทูลกระหม่อมองค์ประธาน ที่โปรดเกล้า ฯ พระราชทานมาว่า
“ ถ้าน้องเล่นได้ แล้วพี่จะเล่นไม่ได้อย่างไร เริ่มเลย “
ท่านผู้อ่านที่เคารพทั้งหลายครับ ท่านก็คงจะพอเข้าใจถึงความรู้สึกของผม และเพื่อนพ้องชาวชมรมดนตรีไทย โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ในขณะนั้นได้เป็นอย่างดีว่า เพลงแสนคำนึง (เถา) จากนิพนธ์ของคุณครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ที่ได้รับการสั่งสอนถ่ายทอดมาจาก คุณครูอุทัย แก้วละเอียด ที่วงมโหรีของเราได้บรรเลงร่วมกับวงดนตรีไทยแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพิธีไหว้ครูประจำปี ๒๕๒๓ อันมี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานนั้น จะเป็นสิ่ง อันเป็นมงคลยิ่งแห่งชีวิต และจิตวิญญาณของพวกเราขนาดไหน
และในครั้งนั้น พวกเราทั้งหลาย ก็ได้สำแดงกันอย่างสุดฝีมือ โดยทุกกระบวนความที่พวกเราได้ประลงไปบนเครื่องดนตรีนั้น ได้ถ่ายทอดออกมาจากดวงใจ เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายแด่ทูลกระหม่อม ผู้ทรงเป็นมิ่งขวัญแห่งชาวดนตรีไทยทั้งหลายทั้งปวง ดุจดังที่ได้กล่าวไว้ในบทกวี อันจะขออนุญาตยกมา เพื่อเป็นตัวแทนความรู้สึกในใจ ของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน แม้จะมีโอกาสฤาไม่มีโอกาส อันเป็นมงคลแห่งชีวิตและจิตวิญญาณนั้นว่า
“ การดนตรีไทยไม่สิ้นแล้ว เพราะทูลกระหม่อมแก้วทรงรักษา “
และเหตุการณ์ในครั้งนั้น จึงประทับอยู่ในความทรงจำของพวกเราทุกคน นับตั้งแต่บัดนั้น ตราบจนกระทั่งทุกวันนี้ และตลอดไป.
#############
มงคลชีวิต ๔ ก.พ.๖๑
วรพล นิมิปาล
เมื่อผมได้อ่าน พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่องเหตุใดข้าพเจ้าจึงชอบดนตรีไทย ใน ต่วยตูน ฉบับขึ้นรอบปีที่ ๓๑ แล้ว ผมจึงเกิดความบันดาลใจที่จะเขียน ประสบการณ์แห่งชีวิตของผม มาให้ท่านได้อ่านทันที เรื่องที่ผมจะขออนุญาตเล่าให้ฟังต่อไปนี้ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อยี่สิบเอ็ดปีที่แล้ว…….ยี่สิบเอ็ดปีพอดี แต่ผมยังจำได้ และจักจาฤกไว้ในหัวใจ ชีวิตและจิตวิญญาณ ราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ทีเดียว
เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เมื่อผมกำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ตามหลักสูตรเก่า ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และกิจกรรมที่ผมกำลังทำอยู่ที่โรงเรียนในขณะนั้น ก็คือกิจกรรมดนตรีไทย
ผมเองและเพื่อนพ้องสมาชิกชมรมดนตรีไทย นับว่ามีโอกาสอันดียิ่ง ที่ได้เรียนดนตรีไทย เพราะในสมัยนั้นยังไม่มากนักที่จะปรากฎว่า มีวงมโหรีปี่พาทย์ในโรงเรียนฝรั่งเช่นนี้ และนับว่าเป็นความกรุณาอย่างยิ่ง ของท่านผู้ใหญ่ผู้บริหารโรงเรียน ที่ได้ดำริจัดตั้งวงมโหรีเครื่องใหญ่ของโรงเรียนขึ้นมา ผมจึงได้ศึกษาลูกฆ้องลูกแรก จากเครื่องมโหรีลายทองใหม่เอี่ยมเป็นรุ่นประเดิมเริ่มแรก เมื่อ เดือนมีนาคม ๒๕๒๑ อันเป็นเวลาปิดภาคเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗ และกำลังจะขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ โดยทางโรงเรียนได้เชิญคุณครูผู้ใหญ่แห่งวงการดนตรีไทยปัจจุบันนี้ท่านหนึ่ง มาเป็นผู้ฝึกสอนกันตั้งแต่จับมือทีเดียว ผมขอกราบคารวะและขออนุญาตเอ่ยนามของท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย ท่านคือ คุณครูอุทัย แก้วละเอียด ศิษย์เอกของ คุณครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ปรมาจารย์ดนตรีไทยผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นั่นเอง
ตั้งแต่ชั้น ม.ศ.๑ เป็นต้นมา ผมและเพื่อน ๆ ก็ได้ศึกษา ฝึกซ้อม และทำความรู้จักกับดนตรีไทยเรื่อยมาตั้งแต่บัดนั้น จนกระทั่งถึงขั้นที่เรียกว่า ทุ่มเทและมอบชีวิตให้แก่ ระนาด ฆ้องวง รวมถึงซออู้ ซอด้วง และเครื่องดนตรีไทยชนิดอื่น ๆ ทั้งวงมโหรีเครื่องใหญ่นั้น
จนคุณครูเห็นว่าพอจะออกงานได้บ้าง นอกจากงานของโรงเรียนแล้ว พวกเราจึงได้มีโอกาสไปแสดงทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๙ อ.ส.ม.ท. ซึ่งขณะนั้นยังมีห้องส่งอยู่ที่ตึกแถวย่านบางลำพู ในรายการดนตรีไทยของ ท่าน อาจารย์ชวน อยู่สุวรรณ แต่ต้องขออภัยที่จำชื่อรายการไม่ได้ ส่วนอีกรายการหนึ่งได้รับเชิญถึงสองครั้งสองครา ก็คือรายการทิพวาทิต แห่ง ททบ.๕ ซึ่งจำได้ว่าคุณพี่ ศิริวรรณ ทองแสง เป็นพิธีกร จนกระทั่งถึงปีการศึกษา ๒๕๒๓ ผมก็ได้รับความไว้วางใจ และได้รับมอบหมายให้เป็นประธานชมรมดนตรีไทยของโรงเรียน
และนี่เองที่เป็นโอกาสให้เกิดเหตุการณ์ อันเป็นมงคลยิ่งแห่งชีวิต และจิตวิญญาณ ของผม
กลางเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๓ คุณครูอุทัย แก้วละเอียด ก็ได้พาพวกเราไปร่วมงานในพิธีไหว้ครูดนตรีไทยประจำปี ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจเป็นเพราะว่าขณะนั้นคุณครูท่านก็กำลังสอนอยู่ในวงมโหรี ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกเหนือไปจากที่ท่านสอนอยู่ในโรงเรียนของเราก็เป็นได้
พวกเราถือพานดอกไม้ธูปเทียนแพ ก้าวเข้าไปในห้องประชุมใหญ่ในวันนั้น อย่างที่เรียกได้ว่า ขาสั่นกันทีเดียว เพราะนักดนตรีเด็กหัดใหม่อย่างพวกเรา ไม่เคยได้สัมผัสกับบรรยากาศที่ เคร่งขรึม ศักดิ์สิทธิ์ ทรงพลัง และอลังการ เช่นนั้นมาก่อนเลยในชีวิต
และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ในงานไหว้ครูครั้งนั้น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาเป็นองค์ประธานด้วยพระองค์เอง
เมื่อพิธีการไหว้ครูอันศักดิ์สิทธิ์ผ่านพ้นไป ถึงเวลาที่ศิษย์ทั้งหลายจะได้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมา ถวายมือ นั่นก็หมายถึงการผลัดกันขึ้นมา ประเลง เพลงที่คิดว่าไพเราะงดงามที่สุด จากการฝึกซ้อมกับวงของตน เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที แด่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายทั้งปวง นั่นเอง
ในครั้งนั้น สมเด็จพระเทพ ฯ ได้ทรงซอด้วงร่วมกับวงมโหรีของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันเป็นสถาบันที่พระองค์ท่านเคยทรงศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี เมื่อวงมโหรีของคณะอักษร ฯ ขึ้นประเลงถวายมือแล้ว หลังจากนั้นวงดนตรีไทยทั้งปี่พาทย์ และมโหรีจากสถาบันต่าง ๆ ที่เข้าร่วมงานไหว้ครูในวันนั้น ก็ผลัดเปลี่ยนเวียนกันขึ้นไปแสดงถวายมือบนเวที จนกระทั่งเด็กเล็ก ๆ อย่างพวกเราถึงกับรู้สึก มึน ไปกับฝีมือหลากหลาย ที่แสนงดงามของพี่ ๆ ทั้งหลายวงเหล่านั้น
ผมสะดุ้งตื่นจากภวังค์ ที่กำลังเคลิบเคลิ้มดื่มด่ำในหาสยรสแห่งดนตรีการ ของวงมโหรีปี่พาทย์ระดับ เซียนเหยียบเมฆ เหล่านั้น เมื่อคุณพี่ผู้เป็นโฆษกของงาน ได้ประกาศขึ้นว่า
“ ขอเชิญวงมโหรีของโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ขึ้นมาประเลงถวายมือ ค่ะ “
วินาทีนั้น พวกเราทุกคนต่างมองหน้ากัน ด้วยความรู้สึกอันยากที่จะอธิบาย เพราะนักดนตรีในวงของเรา ที่ได้มีโอกาสไปร่วมงานไหว้ครูครั้งนั้น มีจำนวนเพียงประมาณครึ่งเดียว ของวงมโหรีเครื่องใหญ่ เท่านั้น
อีกประการหนึ่งก็คือ ดูเหมือนกับว่าพวกเราที่กำลังถูกเชิญในตอนนั้น รู้ตัวเองดีด้วยกันทุกผู้ทุกนาม ว่ายังอยู่ในประเภท มือใหม่หัดขับ ด้วยกันทั้งสิ้น แล้วจะกล้าเผยอขึ้นไป ประเลง ประลอง กับพี่ ๆ ทั้งหลายได้อย่างไรกัน แต่คุณพี่โฆษกท่านก็คงจะรู้ความในใจของพวกเราอยู่พอสมควร ท่านจึงปลอบใจและให้กำลังใจว่า
“ ไม่ครบก็ไม่เป็นไรค่ะ ที่เหลือพวกพี่ ๆ จะช่วยน้องเอง “
แต่ถึงกระนั้นพวกเราก็คงยังอยู่ในภาวะงงงัน พูดไม่ออก บอกไม่ถูก ก้าวขาไม่ได้อยู่อย่างนั้น มิใช่ว่าเกรงฝีมือที่จะต้องบังอาจไปผสมวง กับท่านพี่ชาวอักษรศาสตร์เท่านั้นดอก แต่เป็นเพราะว่าพวกเรามองเห็นอยู่โดยถ้วนทั่วทุกตัวคน ว่าสมเด็จ ฯ องค์ประธานยังคงทรงประทับอยู่ในตำแหน่งของซอด้วง ในลักษณการนั้น !
“ ช่วยเร็วหน่อยค่ะน้อง อย่าให้สมเด็จ ฯ ทรงรอ “
เสียงคุณพี่โฆษกสำทับมาอย่างนั้น
“ ตายเป็นตาย “ ผมนึกอยู่กับตัวเองในวินาทีนั้น จะพร้อมหรือไม่พร้อม จะเป็นจะตายกันอย่างไรก็ตามทีเถิด ขอให้ไปรู้ไปเห็นกันในดาบหน้า ก็แล้วกัน เพราะการที่จะให้สมเด็จพระเทพฯ ซึ่งพวกเราทุกคนในฐานะพสกนิกร เคารพเทอดทูนพระองค์ท่านไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม จะต้องทรงรำคาญหรือระคายเคือง แม้แต่เบื้องพระยุคลบาท พวกเราทนไม่ได้ !
ว่าแล้วก็พยักหน้ากับพวกพ้อง แล้วหันไปจบไหว้คุณครูอุทัย ซึ่งกรุณานั่งให้กำลังใจพวกเรา อยู่ในหอประชุมนั้นทีหนึ่ง แล้วผมก็เดินนำหน้านักดนตรีเด็กของวงมโหรีโรงเรียน เซนต์คาเบรียล ก้าวขึ้นไปบนเวที
เมื่อค่อย ๆ ก้มตัว ทยอยกันเคลื่อนเข้าไปประจำที่ทาง ตามตำแหน่งของเครื่องดนตรีแต่ละคน และผมเองนั้นประจำอยู่กับฆ้องวงเล็ก ซึ่งบังเอิญอยู่ในตำแหน่งที่เยื้องซ้ายแห่งพระปฤษฎางค์ขององค์ประธานแล้ว โดยมิได้นัดหมาย พวกเราทุกคนก็ก้มลงกราบแทบพระบาททูลกระหม่อม โดยพร้อมเพรียงกัน พอเงยหน้าขึ้นคุณพี่โฆษกก็ถามว่า
“ พวกเราชาวเซนต์คาเบรียล จะถวายมือเพลงอะไรดีคะ “
ครานั้นชาวมโหรีเด็กก็มองหน้ากันอยู่ไปมา จนกระทั่งทุกสายตาพุ่งมาโฟกัสอยู่ที่ผม ผู้ซึ่งเป็นประธานชมรม ราวกับจะรอคำตอบฉะนั้น ผมอึ้งไปวิบหนึ่ง แล้วก็ตัดสินใจโพล่งออกไปว่า
“ แสนคำนึงเถา ครับ “
ที่ผมตกลงใจดังนั้น เหตุผลก็คือว่า เพลงแสนคำนึงเถา จากการประพันธ์ของคุณครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ นั้น เป็นเพลงที่พวกเราแม่นยำที่สุด จำได้ทุกตัว ทุกเม็ด ทุกโน้ต และทุกอารมณ์ เรียกว่าเป็นเพลงที่พวกเราชำนาญที่สุด พอที่จะมาขยายความในชั่วโมงนั้นได้
พวกพี่ ๆ ท่านได้ยินดังนั้นแล้ว ก็พยักเพยิดกันเล็กน้อย บางท่านที่เป็นเครื่องสาย ก็หยิบสมุดโน้ตขึ้นมาขมุบขมิบทบทวน บางท่านก็ไถ่ถามกันเบา ๆ ว่า เพลงนี้ได้ไหม แต่ก็ถูกตัดสินด้วยกระแสพระราชดำรัสของทูลกระหม่อมองค์ประธาน ที่โปรดเกล้า ฯ พระราชทานมาว่า
“ ถ้าน้องเล่นได้ แล้วพี่จะเล่นไม่ได้อย่างไร เริ่มเลย “
ท่านผู้อ่านที่เคารพทั้งหลายครับ ท่านก็คงจะพอเข้าใจถึงความรู้สึกของผม และเพื่อนพ้องชาวชมรมดนตรีไทย โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ในขณะนั้นได้เป็นอย่างดีว่า เพลงแสนคำนึง (เถา) จากนิพนธ์ของคุณครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ที่ได้รับการสั่งสอนถ่ายทอดมาจาก คุณครูอุทัย แก้วละเอียด ที่วงมโหรีของเราได้บรรเลงร่วมกับวงดนตรีไทยแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพิธีไหว้ครูประจำปี ๒๕๒๓ อันมี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานนั้น จะเป็นสิ่ง อันเป็นมงคลยิ่งแห่งชีวิต และจิตวิญญาณของพวกเราขนาดไหน
และในครั้งนั้น พวกเราทั้งหลาย ก็ได้สำแดงกันอย่างสุดฝีมือ โดยทุกกระบวนความที่พวกเราได้ประลงไปบนเครื่องดนตรีนั้น ได้ถ่ายทอดออกมาจากดวงใจ เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายแด่ทูลกระหม่อม ผู้ทรงเป็นมิ่งขวัญแห่งชาวดนตรีไทยทั้งหลายทั้งปวง ดุจดังที่ได้กล่าวไว้ในบทกวี อันจะขออนุญาตยกมา เพื่อเป็นตัวแทนความรู้สึกในใจ ของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน แม้จะมีโอกาสฤาไม่มีโอกาส อันเป็นมงคลแห่งชีวิตและจิตวิญญาณนั้นว่า
“ การดนตรีไทยไม่สิ้นแล้ว เพราะทูลกระหม่อมแก้วทรงรักษา “
และเหตุการณ์ในครั้งนั้น จึงประทับอยู่ในความทรงจำของพวกเราทุกคน นับตั้งแต่บัดนั้น ตราบจนกระทั่งทุกวันนี้ และตลอดไป.
#############