น้ำมันเครื่องในปริมาณที่เหมาะสมจะถูกปั๊มจากอ่างน้ำมัน ผ่านกรองน้ำมันเครื่อง แล้วแยกไปยังชิ้นส่วนต่างๆของเครื่องยนต์ที่ต้องมีการหล่อลื่น ซึ่งแรงดันน้ำมันต้องเพียงพอที่จะทำให้เกิดการหล่อลื่นแบบฟิล์มของเหลว (Fluid Film Lubrication) ในชิ้นส่วนแบริ่งได้ น้ำมันเครื่องยังไหลไปตามกระบอกสูบโดยการเคลื่อนที่ของแหวนลูกสูบ ซึ่งหากพิจารณาสภาวะที่เกิดขึ้นภายในกระบอกสูบแล้ว จะพบว่ามีความหนักหน่วงและรุนแรงอย่างมาก จากการระเบิดของเชื้อเพลิงหลายต่อหลายครั้งในเสี้ยววินาที สร้างความร้อนและความดันที่สูงมาก อีกทั้งหากการเผาไหม้เชื้อเพลิงนั้นไม่สมบูรณ์ ยังทำให้เกิดสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนขึ้นมาอีกด้วย โดยความร้อนจากการเผาไหม้นั้นจะมีผลให้น้ำมันเครื่องบางส่วนเกิดการออกซิไดซ์กลายสภาพเป็นกรดอินทรีย์ อย่างไรก็ตาม ในน้ำมันเครื่องจะเติมสารต้านทานการเกิดออกซิเดชั่น (Antioxidant) ลงไปเพื่อยับยั้งไม่ให้น้ำมันเครื่องถูกออกซิไดซ์ตราบเท่าที่สารต้านทานการเกิดออกซิเดชั่นนี้ยังไม่เสื่อมสภาพไป แต่เมื่อถึงเวลาที่สารป้องกันตัวนี้เสื่อมสภาพแล้ว ก็ยังมีสารอีกชนิดเป็นปราการป้องกันด่านที่สอง เรียกว่า สารชะล้าง (Detergent) โดยสารชนิดนี้มีฤทธิ์เป็นด่าง จึงสามารถสะเทินกรดที่เกิดจากการออกซิไดซ์ของน้ำมัน (ภายใต้สภาวะที่มีออกซิเจน) ได้ ดังนั้น สารชะล้างจึงลดอัตราการสะสมของสารกลุ่มมีขั้วบนพื้นผิวเครื่องยนต์ ช่วยคงความสะอาดให้กับเครื่องยนต์ เมื่อเวลาผ่านไป สารชะล้างนี้จะเกิดการเสื่อมสภาพจากการใช้งานรถยนต์อย่างยาวนานโดยไม่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและไม่มีการเติมน้ำมันใหม่เข้าไป ทำให้เครื่องยนต์ถูกกัดกร่อนจากปฏิกิริยาของกรดมากขึ้น เกิดคราบโคลนและตะกอนปริมาณมากเกาะบนพื้นผิวเครื่องยนต์ นอกจากนี้แล้ว สารต้านทานการเกิดออกซิเดชั่นนั้น ยังทำหน้าที่อีกอย่างคือ เป็นสารต้านทานการสึกหรอ (Antiwear agent) ดังนั้นเมื่อสารต้านทานการเกิดออกซิเดชั่นเสื่อมสภาพไป จะส่งผลให้อัตราการสึกหรอของเครื่องยนต์นั้นถูกเร่งมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่รุนแรงเหล่านี้มักไม่พบในรถยนต์ที่ใช้งานทั่วไปบนท้องถนน หากผู้ใช้มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะทาง/ระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่ปล่อยทิ้งไว้นานเกินกว่าที่คู่มือจากทางผู้ผลิตรถยนต์แนะนำไว้ หรือเลือกใช้น้ำมันเครื่องที่มีคุณภาพสูง
ลำดับเหตุการณ์การเสื่อมสภาพของน้ำมันเครื่องสำหรับรถยนต์ที่ใช้บนท้องถนน