รีวิว การฟ้องคดีผู้บริโภคด้วยตัวเอง ด้วยความรู้บ้านๆ ไม่ต้องใช้ทนาย ขั้นตอนสะดวก ใช้เวลาไม่นาน และไม่เสียค่าธรรมเนียมเลย

รีวิว การฟ้องคดีผู้บริโภคด้วยตัวเอง ด้วยความรู้คนธรรมดาบ้านๆ ไม่ใช่นักกฏหมาย ไม่ต้องใช้ทนาย ขั้นตอนสะดวก ใช้เวลาไม่นาน และไม่เสียค่าธรรมเนียมเลย

เป็นประสบการณ์ครั้งแรกในการขึ้นศาลวันพิจารณาคดีในฐานะโจทก์ (ไม่นับวันนัดไกล่เกลี่ยก่อนหน้านี้)

ขอไม่เปิดเผยชื่อบริษัทจำเลยก็แล้วกัน ให้โอกาสเขาในการปรับปรุงตัวให้มีธรรมาภิบาลมากขึ้น (ไม่อยากให้แค่บริษัทที่ถูกฟ้องร้อนตัวบริษัทเดียว อยากให้บริษัทอื่นๆ ที่ทำผิดแบบเดียวกันร้อนตัวไปด้วย)

เรื่องที่ฟ้อง เป็นการฟ้องเอาเงินคืน ค่าดำเนินการเปลี่ยนสัญญาจะซื้อจะขายคอนโด จำนวน 6 หมื่นบาท ซึ่งตามกฏหมายไม่ให้ผู้ประกอบการเรียกเก็บเงินส่วนนี้

ทำไมเราถึงได้โง่ หลงเสียเงินส่วนนี้ไป
(ตั้งแต่สองสามปีที่แล้ว ยังดีทียังเก็บหลักฐานไว้)
ก็เพราะว่ามีผู้ประกอบการคอนโดหลายเจ้าเรียกเก็บเงินแบบนี้เหมือนกัน จนเหมือนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว (ไม่รู้ว่าปัจจุบันยังเหลือเจ้าไหนบ้างที่ยังทำอยู่)
ถ้าเราไม่จ่ายเงินส่วนนี้ให้ผู้ประกอบการคอนโด เค้าก็จะไม่ดำเนินการให้
โดยเค้าอ้างข้อความในสัญญาว่า ถ้ามีการขายดาวน์ ก็จะคิดค่าปรับ 6 หมื่นบาท เราก็ได้แต่คิดว่ามันไม่เป็นธรรม แต่ก็ไม่รู้ทำไง

เวลาผ่านไป เราอ่านกระทู้พันทิปผ่านๆ เจอคนเม้นบอกว่า ค่าเปลี่ยนสัญญาคอนโด ผู้ประกอบการห้ามเก็บ ผิดกฏหมายนะ แล้วสัญญาจะซื้อจะขายคอนโด กฏหมายบังคับผู้ประกอบการให้ทำตามแบบฟอร์มป้องกันข้อความที่เอาเปรียบผู้บริโภค ถ้าทำผิดจากแบบฟอร์มจะมีโทษทางอาญาปรับ 1 แสน เราถึงได้รู้ว่าอ๋อ เราเสียค่าโง่ไปแล้วนี่หว่า

ทีนี้ เราก็ดำเนินการ ส่งจดหมายทวงตังคืนไปที่บริษัท เค้าก็นิ่งเงียบไปนาน จนเราได้มีโอกาสเจอคนของบริษัทที่ดูแลลูกค้า เราก็ฝากให้ตามเรื่องนี้ให้หน่อย เค้าก็ตอบกลับมาว่า ก็ยอมรับว่าสัญญาที่กฏหมายกำหนดแบบฟอร์ม เค้าไม่มีข้อความเรียกเก็บค่าเปลี่ยนสัญญาจริงๆ นั่นแหละ แต่ในเมื่อเราเซ็นต์สัญญาไปแล้วก็ตามนั้น แต่เค้าจะให้คืนครึ่งหนึ่งคือ 3 หมื่นบาท เหมือนเป็นการสมนาคุณ
เราก็เลยเถียงไปว่า สัญญาไหนๆมันก็ต้องเซ็นต์ร่วมกันอยู่แล้วสิ ส่วนไหนที่ผิดไปจากที่กฏหมายกำหนด มันใช้ไม่ได้ ไม่งั้นเค้าจะออกกฏหมายมาทำไม
แล้วเค้าก็เงียบหายไปนาน เจอกันก็ไม่มีการพูดเรื่องนี้อีก

พอเสริชหาข้อมูลกฏหมายเฉพาะเรื่องนี้ เราก็ค่อนข้างมั่นใจว่าเค้าผิดแน่ๆ ถ้าฟ้องก็ชนะแน่ๆ
แต่ก็ยังมีความคิดแบบคนทั่วไปว่า การฟ้องร้องจะใช้เวลานาน ค่าจ้างทนายก็ไม่คุ้มแล้ว แต่เราก็บังเอิญไปอ่านเจอในพันทิปอีกนั่นแหละ แนะนำให้รู้จักคดีผู้บริโภค ถึงได้รู้ว่า

กฏหมายและวิธีดำเนินการทางศาลบ้านเรา เค้าออกแบบไม่ให้มีปัญหาดังกล่าว เพื่อช่วยผู้บริโภคไว้อย่างดีแล้ว

- ประชาชนสามารถฟ้องร้องต่อศาลโดยตรงได้ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านตำรวจ อัยการ หรือ สคบ
- การฟ้องที่ศาล จะต้องมีการพิมพ์คำฟ้อง บัญชีพยานหลักฐาน คนที่ทำเป็นคงต้องเป็นนักกฏหมาย ซึ่งสำหรับคดีผู้บริโภค ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องทำเอง แค่เอาหลักฐานมาที่ศาล เล่าให้เจ้าพนักงานศาลฟัง และเจ้าพนักงานของศาลจะพิมพ์คำฟ้องและเอกสารประกอบให้ พร้อมกับแนะนำทุกอย่างที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค
- ไม่เสียค่าธรรมเนียมเลยสักบาท
- นัดวันไกล่เกลี่ย / พิจารณาคดี เร็ว ห่างจากวันฟ้องประมาณเดือนสองเดือน ฟ้องวันนี้ วันรุ่งขึ้นส่งหมายให้จำเลยเลย

เราก็ลองเอาหลักฐาน ซึ่งหลักๆ ก็มีแค่ ใบเสร็จจ่ายค่าเปลี่ยนสัญญา 6 หมื่นบาท สัญญาที่มีข้อความขัดกับที่กฏหมายกำหนด มาที่ศาล ให้เจ้าหน้าที่ช่วยพิมพ์ให้ (เคยอ่านเจอบางที่ต้องใช้สำเนาหนังสือรับรองจดทะเบียนนิติบุคคลของผู้ประกอบการด้วย แต่บางที่ไม่ต้องใช้) จริงๆ เราก็ลองหาตัวอย่างคำฟ้องคล้ายๆ กันในเน็ต แล้วพิมพ์คำฟ้องคร่าวๆ เองดู เอาไฟล์ใส่แฟลชไดรฟให้เจ้าพนักงานศาลช่วยปรับข้อความอีกที ช่วยเจ้าพนักงานศาลทำงานไวขึ้นได้อีกเยอะ (ไม่รู้ว่าช่วยจริงป่าว เพราะเค้าก็ปรับเรียบเรียงข้อความใหม่ให้เยอะอยู่ 555) ในคำขอท้ายฟ้อง นอกจากจะขอให้ศาลสั่งให้จำเลยคืนเงินแล้ว ยังขอให้ศาลลงโทษจำเลยให้ชดใช้ 2 เท่า เป็นการลงโทษด้วย ตาม พรบ วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค มาตรา 42 (ถ้าใครสนใจลองเสริชอ่านดู มาตรานี้เราคิดว่าเป็นพระเอกเลย)

มาถึงวันนัดไกล่เกลี่ย ฝ่ายจำเลยไม่มา

มาถึงวันนัดพิจารณาคดี
บริษัทผู้ประกอบการส่งตัวแทนมา
ศาลถามว่า สามารถตกลงกันได้ไหม ตัวแทนบริษัทบอกว่าเค้ายินยอมจ่ายเงินคืน 6 หมื่นบาท เท่านั้น
ศาลก็เลยตำหนิบริษัทยาวเลยครับ
ที่เราจำได้ก็ประมาณว่า เป็นถึงบริษัทมหาชน เอาเปรียบผู้บริโภคแบบนี้ได้ยังไง ทำผิดถูกจับได้ก็แค่คืนเงินแค่นั้นหรือ จริงๆ การลงโทษปรับ 2 เท่า ยังน้อยไปด้วยซ้ำ เพราะมีคนอื่นอีกเยอะที่ถูกเอาเปรียบแบบนี้ที่เค้าไม่ได้รู้วิธีฟ้องร้อง โดนปรับเท่านี้ยังกำไรเลย และจริงๆ นี่เป็นความผิดอาญาด้วย … (คดีผู้บริโภคเป็นความแพ่ง ถ้าจะฟ้องอาญาต้องฟ้องแยกต่างหาก) ตัวแทนบริษัทที่ถูกตำหนิก็หงอยไปเลย ได้แต่บอกว่า ผมเพิ่งเข้ามาทำงานได้ไม่กี่เดือนครับ (น่าสงสาร)
ศาลถามเราว่า ส่วนที่ชดใช้เป็นการลงโทษ เราพอใจที่เท่าไหร่ ถ้าตกลงกันได้ จะได้ไม่ต้องพิพากษา
เราก็คิดไม่ออกจริงๆ จึงบอกศาลไปว่า คิดว่าดุลพินิจของศาลเป็นธรรมที่สุดครับ
ศาลเลยโยนตัวเลขมาว่า ถ้าแสนสองหละเราจะตกลงกับเขาได้ไหม เราก็บอกว่าได้ครับ (ใจนึงก็อยากให้ศาลพิพากษาให้เป็นบรรทัดฐานไปเลย แต่อีกใจก็คิดว่าถ้าผู้ประกอบการอุธรณ์คำพิพากษาก็จะเสียเวลาเราอีก) ส่วนฝ่ายจำเลย ก็ขอโทรไปปรึกษาเจ้านายก่อน ซึ่งเค้าก็พยายามจะจ่ายให้น้อยที่สุดนั่นแหละ แต่ดูทรงถ้าทางจำเลยไม่ยอม ศาลก็น่าจะพิพากษาขั้นหนักสุดอยู่ดี จึงจบที่ตกลงกันได้ว่า ฝ่ายจำเลยบริษัทผู้ประกอบการ จ่ายเงิน คืนหกหมื่นให้เรา บวกกับค่าเสียหายเป็นการลงโทษอีกหกหมื่น รวมเป็นแสนสอง

เมื่อตกลงกันได้ ก็มีการทำสัญญายอมความ ซึ่งมีข้อความว่า จะชดใช้เท่าไร ภายในเวลากี่วัน ถ้าถึงกำหนดยังไม่ชำระ ยินยอมให้บังคับคดี
ทีนี้ ตัวแทนบริษัทก็จะใส่ข้อความประมาณว่า คู่สัญญาจะเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ เราก็เลยถามว่าต้องมีข้อความนี้ด้วยหรอ มีอะไรที่เป็นความเท็จหรือความลับอะไรที่ต้องปกปิด ตัวแทนบริษัทบอกว่าเป็นข้อความที่ทั่วไปเค้าใส่กันอยู่แล้ว (โกหก) เจ้าหน้าที่ศาลหน้าบัลลังค์ได้ยิน จึงบอกว่า ปกติไม่มีนะคะข้อความแบบนี้ ตัวแทนบริษัทจึงขอตัวออกไปโทรหาเจ้านาย เจ้าหน้าที่ศาลหน้าบัลลังค์จึงบอกว่า ทีตอนทำผิดทำไมไม่คิด ทีตอนนี้มาอาย (ด่าได้กินใจเรามาก อิอิ)

สังเกตว่าสัญญาที่จัดทำโดยฝ่ายผู้ประกอบการ จะมีการเอาเปรียบผู้บริโภคตลอดเวลา ถึงต้องมีการควบคุม
แต่ด้วยความไม่รู้ ไม่สนใจของผู้บริโภคโดยทั่วไป ผู้ประกอบการจึงกล้าที่จะเอาเปรียบอยู่เสมอๆ เพราะคิดว่าคุ้ม
ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนให้ผู้บริโภคทุกคนคอยสอดส่อง เมื่อเค้าทำผิดเอาเปรียบเรา เราก็ต้องเอาผิด อย่าไปยอม ขั้นตอนไม่ยากอย่างที่คิด ไม่แค่เพื่อตัวเราเองเท่านั้น แต่เพื่อผู้บริโภคคนอื่นที่จะตกเป็นเหยื่ออีกในอนาคต
เพื่อให้ผู้ประกอบการรู้สึกไม่คุ้มที่จะทำผิด และการทำผิดก็จะได้ลดน้อยลงไป คุณภาพสินค้าบริการโดยรวมของประเทศมันจะได้ดีขึ้น การทุจริตคอรัปชั่นในประเทศจะได้ลดลง ฝากช่วยๆ กันครับ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่