“บิทคอยน์” สร้าง...ความร่ำรวย ได้หรือไม่?


คอลัมน์:  คุยให้... “คิด”
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  
“บิทคอยน์” สร้าง...ความร่ำรวย ได้หรือไม่?  
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม  มหาวิทยาลัยรังสิต
www.CsiSociety.com
Add Line:  @CsiSociety

“บิทคอยน์” คำๆนี้คุณผู้อ่านหลายท่านคงคุ้นเคยดี บิทคอยน์เป็นเงินสกุลดิจิตอล บิทคอยน์กำเนิดขึ้นในปี 2552  และพบว่าอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงแรกอยู่ที่ 1,309 บิทคอยน์แลกได้ 1 ดอลลาร์เท่านั้น (1 บิทคอยน์แลกได้ 2.67 สตางค์)  ปัจจุบันนี้ราคาบิทคอยน์อยู่ที่ประมาณ 3,500 ดอลลาร์ หรือประมาณ 120,000 บาทต่อหนึ่งบิทคอยน์  คิดเป็นเพิ่มขึ้นประมาณ 4.5 ล้านเท่าภายในระยะเวลาเพียง 9 ปี พูดถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านคงพอเห็นความสามารถของบิทคอยน์ในการสร้างความร่ำรวยได้บ้าง ผมจึงอยากขอคุยต่อถึงเหตุผลอื่นๆที่มันจะสร้างความร่ำรวยให้เราได้ ดังนี้ครับ

หนึ่ง  เกือบทุกประเทศมักจะแก้ปัญหาด้วยการ... “พิมพ์แบงก์”
คุณผู้อ่านหลายท่านคงพอจำกันได้ว่า เมื่อคราวที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐอเมริกานั้น สหรัฐอเมริกาเลือกใช้วิธีพิมพ์แบงก์และอัดเงินเข้าไปในระบบหรือที่เรามักจะคุ้นกันในชื่อของ QE (Quantitative Easing) ซึ่งรวมเป็นเงินในการอัดฉีดเงินในครั้งนั้นสูงกว่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์
พอมาถึงฟากฝั่งยุโรปก็ใช้วิธีพิมพ์แบงก์แล้วอัดเงินเข้าสู่ระบบเหมือนกัน เดือนมกราคม 2558 ธนาคารกลางยุโรปประกาศอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเดือนละ 60,000 ล้านยูโร พอมาเดือนมีนาคม 2559 ก็ประกาศเพิ่มวงเงินในการอัดฉีดสูงขึ้นไปอีกเป็น 80,000 ล้านยูโร  เหตุการณ์พิมพ์แบงก์ยังเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นอีกด้วย เริ่มต้นจากเดือนตุลาคม 2554 เริ่มต้นจากการอัดฉีดเงินเดือนละ 5 ล้านล้านเยนเข้าสู่ระบบ  จากนั้นมาก็เพิ่มเป็น 40 ล้านล้านเยนต่อเดือน จนสูงถึง 80 ล้านล้านเยนต่อเดือน
คุณผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า ปริมาณเงินที่แต่ละประเทศพิมพ์แบงก์ออกมานั้นมันมากก่ายกองขนาดไหน? ซึ่งทำให้ค่าเงินของประเทศต่างๆที่ทำ QE เกิดเงินเฟ้อ และทำให้ค่าเงินของบรรดาประเทศเหล่านี้มีค่าลดลง ในขณะที่บิทคอยน์ถูกกำหนดให้มีปริมาณสูงสุดได้ไม่เกิน 21 ล้านบิทคอยน์เท่านั้น ราคาของบิทคอยน์จึงมีแต่แนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น...เพิ่มขึ้น

สอง  บิทคอยน์ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ...การโอนเงิน
แตกต่างจากเงินสกุลดิจิตอลอื่นๆอย่างสิ้นเชิง บิทคอยน์ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการสะสมความร่ำรวย แต่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการโอนเงิน ระบบการโอนเงินของบิทคอยน์ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในระบบการโอนเงินที่มีความปลอดภัยสูง ซึ่งสามารถตรวจเช็คได้ว่า ธุรกรรมนั้นๆเกิดขึ้นจริง และสิ่งที่ดีที่สุดก็คือ ระบบการโอนเงินของบิทคอยน์ จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า มีการโอนเงินมาจากใคร? และไปถึงใคร? ซึ่งเป็นสิ่งที่คนร่ำรวยจำนวนมากต้องการให้เก็บไว้เป็นความลับ
ด้วยคุณสมบัตดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจว่า บรรดาคนร่ำรวยจึงหันมาให้ความสนใจกับบิทคอยน์ ผมเชื่อว่า คนยิ่งรวยก็จะยิ่งมีความลับมากขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้นการลงทุนหรือการสะสมความร่ำรวยในรูปแบบของบิทคอยน์ ด้วยความสามารถที่เก่งกาจในการเก็บความลับของบิทคอยน์ จึงตอบโจทย์ของบรรดาคนรวยทั่วโลก

สาม  ความน่าเชื่อถือของ “บิทคอยน์”
ในปี 2557  บริษัท เมาท์ก๊อกซ์ (Mt.Gox) บริษัทในกรุงโตเกียวที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์ที่รับแลกเปลี่ยนบิทคอยน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ประกาศปิดเว็บไซต์และหยุดให้บริการแลกเปลี่ยนบิทคอยน์ โดยมีปัญหามาจากเว็บไซต์ของ Mt.Gox  ถูกคนใช้คอมพิวเตอร์แฮ็คเข้าไปได้ และพบว่ามีบิทคอยน์ถูกขโมยไปสูงถึง 850,000 บิทคอยน์ คิดเป็นเงินสูงกว่า 1.5 หมื่นล้านบาททีเดียว เหตุการณ์นี้ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่สั่นคลอนความน่าเชื่อถือของบิทคอยน์ครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา และหลายต่อหลายคนก็ต่างพากันคิดว่า   งานนี้...เงินสกุลดิจิตอล “บิทคอยน์” ต้องสูญหายตายจากไปแน่
ภายหลังพบว่า ระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทได้ถูกคนใช้คอมพิวเตอร์แฮ็คเข้าไปในระบบของบริษัทเอง และขโมยเงินบิทคอยน์ไปได้ และยังพบเพิ่มเติมอีกว่า เกิดการฉ้อโกงภายในบริษัทเองอีกด้วย ไม่ได้เกี่ยวกับระบบของบิทคอยน์แต่ประการใด ดังนั้นความน่าเชื่อถือของบิทคอยน์จึงยังมั่นคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ และเหตุการณ์ที่บริษัทโกงก็ยังคงเกิดขึ้นต่อไป ในขณะที่เงินและระบบบิทคอยน์ก็ยังไม่มีผู้ใดสามารถจะเจาะเข้าไปโกงได้

สี่  การยอมรับบิทคอยน์ในเวทีโลก
ปัจจุบันนี้ การยอมรับบิทคอยน์ในฐานะเงินสกุลหนึ่งที่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินอีกสกุลหนึ่ง หรือสามารถชำระค่าสินค้าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้นเป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่ก็ยังมีความเคลื่อนไหวมาโดยตลอด เช่น  สหรัฐอเมริกา ในปี 2556 กระทรวงการคลังประกาศว่า บิทคอยน์เป็นสกุลเงินที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้  ปี 2557 ศาลที่มลรัฐเท็กซัสประกาศว่า บิทคอยน์เป็นเงินสกุลหนึ่ง  
จีน  ปี 2556 ธนาคารกลางจีนสั่งห้ามทุกธนาคารห้ามทำธุรกรรมด้วยบิทคอยน์  ปี 2557 ธนาคารกลางสั่งปิดบัญชีทุกบัญชีที่ธุรกรรมเกี่ยวกับบิทคอยน์  ปีนี้ 2560 ธนาคารกลางสั่งปิดบริษัทหรือสั่งให้หยุดดำเนินงานสำหรับบริษัทที่ทำธุรกิจแลกเปลี่ยนบิทคอยน์

ทุกวันนี้ มีบริษัทใหญ่ทั่วโลกรับบิทคอยน์ในการซื้อขายสินค้ากันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Amazon, Microsoft, Dell และอื่นๆ ประกอบกับความแพร่หลายในการใช้บิทคอยน์ที่เพิ่มขึ้นอยู่ทุกวันนี้
ท้ายนี้ขอฝากคำพูดให้คุณผู้อ่านที่จะลงทุนใน “บิทคอยน์” ด้วยนะครับ  “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนโปรดศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน”

อ่านบทความเรื่อง  เงิน 1,000 บาท กับการลงทุนใน “บิทคอยน์”  ได้ที่นี่
http://www.doctorwe.com/bangkokbiznews/20171215/6809

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่