ไขข้อสงสัย การยกเว้นเข้ารับราชการทหาร ของพระภิกษุสามเณร


**มาตรา ๑๓ บุคคลดังต่อไปนี้ ยกเว้นไม่ต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำคือ
(๑) พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ หรือที่เป็นเปรียญ และนักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนหรือญวนที่มีสมณศักดิ์
(๒) คนพิการทุพพลภาพ ซึ่งไม่สามารถเป็นทหารได้
(๓) บุคคลซึ่งไม่มีคุณวุฒิที่จะเป็นทหารได้เฉพาะบางท้องที่ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

**มาตรา ๑๔   ๑๐ บุคคลดังต่อไปนี้ เมื่อลงบัญชีทหารกองเกินแล้วไม่เรียกมาตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการในยามปกติ คือ
(๑) พระภิกษุ สามเณร และนักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนหรือญวน ซึ่งเป็นนักธรรมตามที่กระทรวงศึกษาธิการรับรอง
(๒) นักบวชศาสนาอื่นซึ่งมีหน้าที่ประจำในกิจของศาสนาตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและผู้ว่าราชการจังหวัดออกใบสำคัญให้ไว้
(๓) บุคคลซึ่งอยู่ในระหว่างกาฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรที่กระทรวงกลาโหมกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร
(๔) นักเรียนโรงเรียนเตรียมทหารของกระทรวงกลาโหม
(๕) ครูซึ่งประจำทำการสอนหนังสือหรือวิชาการต่างๆ ที่อยู่ในความควบคุมของกระทรวง ทบวง กรม หรือราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และผู้ว่าราชการจังหวัด ออกใบสำคัญให้ไว้
(๖) นักศึกษาของศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ
(๗) นักศึกษาของศูนย์ฝึกการบินพลเรือนของกระทรวงคมนาคม
(๘) บุคคลซึ่งได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ
(๙) บุคคลซึ่งได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกครั้งเดียวตั้งแต่สิบปีขึ้นไปหรือเคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหลายครั้งรวมกันตั้งแต่สิบปีขึ้นไปหรือเคยถูกศาลพิพากษาให้กักกัน การไม่เรียกมาตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการในยามปกติ และการออกใบสำคัญตาม (๒) และ (๕) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง
ที่มาจาก https://th.wikisource.org/wiki/พระราชบัญญัติรับราชการทหาร_พ.ศ._๒๔๙๗


**การยกเว้นเข้ารับราชการทหารของพระภิกษุสามเณร มี ๒ ประเภท คือ

๑. ยกเว้นไม่ต้องเข้ารับราชการกองประจำการ (ยกเว้นให้ตลอดไป) คือ
        ๑.๑ พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ หรือที่เป็นเปรียญ และนักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนหรือ ญวนที่มีสมณศักดิ์
พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ หมายถึง ยศของพระ เช่น เป็นพระครู พระชั้นเทพหรือชั้นธรรม เป็นต้น
ส่วนตำแหน่งของพระ เช่น เป็นเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ อย่างนี้เป็นตำแหน่ง ไม่ใช่สมณศักดิ์ จึงไม่ได้รับการยกเว้น
พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์อาจไม่มีตำแหน่งก็ได้
พระภิกษุที่เป็นเปรียญ หมายถึง การศึกษาของพระ เช่น เป็นเปรียญตั้งแต่ ๓ ประโยค ถึง ๙ ประโยค
นักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนหรือญวนที่มีสมณศักดิ์นั้น หมายถึง ผู้ที่บวชในพระพุทธศาสนาเหมือนกัน ต่างกันที่ถือตามนิกายของจีนกับของญวน
นักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนหรือญวน ต้องมีสมณศักดิ์ด้วย จึงจะได้รับการยกเว้น
        ๑.๒ คนพิการทุพพลภาพซึ่งไม่สามารถเป็นทหารได้

๒. ยกเว้นไม่เรียกมาเข้ารับการตรวจเลือกในยามปกติ คือ
        ๒.๑ พระภิกษุสามเณรซึ่งเป็นนักธรรม
พระภิกษุสามเณรซึ่งเป็นนักธรรม หมายถึง ผู้ที่จบนักธรรมตรี นักธรรมโท และนักธรรมเอก เมื่อยื่นเรื่องขอยกเว้นและได้รับการยกเว้นแล้ว ไม่ต้องไปแสดงตนเข้ารับการตรวจเลือกฯ ถ้ายื่นไม่ทันก่อนการตรวจเลือก จะนำหลักฐานไปยื่นขอรับการยกเว้นต่อคณะกรรมการตรวจเลือกในวันทำการตรวจเลือกก็ได้ หลักฐานที่ต้องนำไปยื่นต่อนายอำเภอเพื่อขอยกเว้น ได้แก่
- ประกาศนียบัตรจบนักธรรม
- ใบสำคัญ(แบบ สด.๙)
- หมายเรียก(แบบ สด.๓๕)
- หนังสือรับรองของเจ้าอาวาส
- หนังสือสุทธิ

ที่มาจาก : มาตรการการควบคุมกำกับดูแลการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารประจำ ,หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน,กองการสัสดี ,กองทับบก

***หมายเหตุ
1. พระภิกษุที่ใช้เปรียญเพื่อยกเว้นการตรวจเลือก เมื่อยื่นหลักฐานประกาศนียบัตรเปรียญธรรมแล้ว จะทำให้ยกเลิกการลงบัญชีทหาร และไม่ต้องไปรายงานตัวตลอดระยะเวลาที่ยังบวชอยู่
2. พระภิกษุที่ใช้นักธรรมเพื่อยกเว้นการตรวจเลือก เมื่อยื่นเอกสารตามที่ระบุทางด้านบนครบแล้ว จะยื่นเพียงครั้งเดียวหลังจากนั้นจะได้รับการยกเว้น และไม่ต้องไปรายงานตัวทุกปีตลอดระยะเวลาที่ยังบวชอยู่
3. พระภิกษุที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับการตรวจเลือก แต่ถ้าลาสิกขาให้แจ้งด้วยตนเองต่อนายอำเภอท้องที่ที่ตนเองอยู่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ลาสิกขา หากแจ้งเกินกำหนดนี้จะถูกดำเนินคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 200 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ  และถ้าสึกออกมาแล้วอายุยังไม่ถึง 30 ปีบริบูรณ์ ก็ต้องไปเข้ารับการตรวจเลือกด้วย ไม่สามารถนำ นักธรรม หรือ เปรียญธรรม มาอ้างได้แล้ว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่