จะทำหลังคาบ้าน แบบไหน ประหยัด และทนทานสุดครับ

จะทำหลังคาบ้าน แบบไหน ประหยัด และทนทานสุดครับ

คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 3
เป็นกระทู้คำถามที่สั้น  "ประหยัด และทนทานสุด" และจะให้ คคห.ได้กว้าง เพราะหลังคาจะรวมหมายถึงรูปทรง/รูปแบบ, ชนิดของแผ่นปูหลังคา และวัสดุโครงสร้างหลังคา

   >>>  กรณีรูปทรงหรือรูปแบบหลังคา "ทรงหมาแหงน หรือ Lean-to Roof" จะเป็นรูปทรงที่ก่อสร้างได้ง่ายที่สุด, สิ้นเปลืองวัสดุ & เศษวัสดุเหลือทิ้งน้อยที่สุด  และที่ประหยัดรองลงมาก็ทรงหน้าจั่ว หรือ Gable Roof  แต่ก็จะมีข้อด้อยในการปกป้องความร้อน บังแดดกันฝนน้อยกว่ารูปทรงอื่นๆ

    

   >>>  กรณีแผ่นวัสดุมังหลังคา ในแง่ประหยัดก็จะเป็น "แผ่นเมทัลชีท (Metal Sheet)" จะประหยัดในค่าวัสดุ, ใช้เวลา & แรงงาน และมีน้ำหนักน้อยที่สุด และที่ประหยัดรองลงมาก็คือ "กระเบื้องคอนกรีตหรือกระเบื้องซีเมนต์" หรือที่เรียกๆกันว่า กระเบื้องลอนคู่ ซึ่งทั้ง 2 ชนิดจะให้อายุการใช้งานนานเป็นสิบๆปี  แต่ทั้ง 2 ชนิดก็มีหลากหลายรุ่นหลายหลายความหนา แนะนำว่าให้เลือกชนิดที่มีมาตรฐาน มอก. ในราคาที่ถูกที่สุด  . . . . แม้แผ่นเมทัลชีทจะประหยัดที่สุด ก็จะมีข้อด้อยในเรื่อง ความร้อนที่ส่งผ่านลงมาด้านล่าง ทำให้บ้านร้อนอบอ้าว (แม้จะมีรุ่นที่บุฉนวนก็ตาม ก็บรรเทาไปไปไม่ได้มากนัก) และจะมีเสียงดังรบกวนขณะฝนตกมาก รวมทั้งมักพบว่าขณะติดตั้ง ช่างขาดความปราณีตในการติดตั้ง ทำให้ผิวเคลือบกันสนิมและสีเคลือบขูดขีด ถลอก อันทำให้เกิดสนิม และค่อยๆรุกลามไปเรื่อยๆ จึงต้องพิถีพิถันในเรื่องนี้กับช่างด้วย

   >>>  โครงสร้างหลังคาหลังคา  แน่นอนปัจจุบันโครงสร้างเหล็กจะเป็นโครงสร้างที่ประหยัด และสะดวกกับช่างปัจจุบัน ทำงานได้เร็ว แต่ความแข็งแรงก็ไม่แตกต่างกับโครงสร้างไม้ (ที่ขึ้นกับชนิดของไม้)  ที่สำคัญอยู่ที่ต้องพิถีพิถันในเรื่องการยึด การต่อชิ้นส่วนเหล็กหรือไม้ให้ถูกต้อง & แข็งแรง  จึงจะพบเห็นว่างานก่อสร้างส่วนใหญ่ในปัจจุบันโครงสร้างหลังคาแทบจะใช้เหล็กกันทั้งหมดแล้ว . . . . ในส่วนโครงสร้างเหล็กก็เช่นกัน นอกจากใช้ขนาดและความหนาให้เหมาะสมกับช่วงพาดแล้ว (ที่ต้องให้สถาปนิก หรือวิศวกรเป็นผู้กำหนด) ควรกำหนดหรือเลือกซื้อเหล็กรูปพรรณที่ได้รับมาตรฐาน มอก.ด้วย  ส่วนการเชื่อมเหล็กต้องเชื่อมเป็นเส้นยาวรอบรอยต่อชิ้นงานเสมอ (มักพบว่าช่างจะมักง่าย เชื่อมแค่แต้มจุด) และต้องทำการป้องกันละอองไฟเชื่อมไปล่วงหล่นบนแผ่นเมทัลชีท อันทำให้สีเคลือบแผ่นเสียหายเป็นจุดๆตามละอองไฟด้วย (ปัญหาสนิมก็จะตามมา)
               

     อนึ่งการทาสีรองพื้นกันสนิมนั้น ควรมีการกำหนดขั้นตอนกับช่างไว้ ดังนี้  

     :-  เมื่อนำเหล็กรูปพรรณเข้ามาที่ก่อสร้าง ให้ทำความสะอาดทันที โดยเช็ดถูคราบน้ำมันด้วยทินเนอร์ น้ำมันสน หรือ แอลกอฮอลล์  ที่ผู้ผลิต/ร้านจำหน่ายทาเคลือบป้องกันเหล็กไว้  (ป้องกันเหล็กทำปฏิกริยากับอากาศ & ความชื้น เป็นการป้องกันสนิมระหว่างการขนส่ง) แล้วให้ทาสีรองพื้นกันสนิมไว้ก่อน 1 เที่ยว จึงค่อยจัดเก็บให้เรียบร้อย
     :- กรณีเหล็กรูปพรรณบางชนิด บางรูปทรง ที่ไม่สามารถทาสีรองพื้นกันสนิมได้ทั่วทุกพื้นผิว อาทิ เหล็กกล่อง เหล็กท่อ ก็ควรกำหนดให้ใช้การชุบจุ่มแทน . . . . เรื่องนี้ช่างทั่วไปจะอิดออด แต่ปัจจุบันช่างมืออาชีพเขาจะมีรางชุบจุ่มของเขาอยู่แล้ว หรือหากไม่มีก็สามารถไปหยิบยืมในหมู่ช่างเหล็กได้ไม่ยาก อันนี้ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของบ้านจะยึดเอาความคงทนเป็นหลักหรือไม่?
               

     :- เมื่อช่างนำเหล็กไปตัด ต่อ เชื่อม ขึ้นรูปโครงสร้าง  ซึ่งการเชื่อมจะมีความร้อน และจะทำให้สีรองพื้นกันสนิมจุดนั้นๆและบริเวณรอบๆจะเสียหาย & เสื่อมประสิทธิภาพ ต้องให้ทำการขัดลอกฟิล์มสีรองพื้นบริเวณนั้นออก แล้วทาสีรองพื้นกันสนิมซ่อมแซมทันที (อย่าทิ้งข้ามวันข้ามคืน) และการกองเก็บเหล็กที่ขึ้นรูปแล้ว หากสามารถกองเก็บไว้ในที่ร่มได้ก็จะดี (ไม่ควรทิ้งตากแดด ตากฝน เกิน 1 สัปดาห์)

     :- เมื่อยกขึ้นทำการติดตั้งเรียบร้อยเข้าที่ดีแล้ว แนะนำว่าควรทาสีรองพื้นกันสนิมทั้งชิ้นงานอีก 1 เที่ยว (อนึ่งหากโครงสร้างไม่ถูกแดดและฝน จะไม่ทาสีทับหน้าก็ได้)  แต่ควรเลือกใช้ยี่ห้อที่คุ้นหู & น่าเชื่อถือด้วย (ส่วนตัวแนะนำว่าทารองพื้นเที่ยวแรกด้วย "สีรองพื้นแดง/Red Oxide Primer" และทารองพื้นเที่ยวที่สองด้วย "สีรองพื้นเทา / Grey Primer" เพื่อจะมีเฉดสีแตกต่างกัน จะได้ไม่ถูกช่างหลอกว่าทาเที่ยวที่สองครบถ้วนดีแล้ว)
     
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่