กรมท่า การค้า และบทบาททางทะเล สมัยอยุธยา ธนบุรี

ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘
พ่อขุนศรีนาวนำถม รวบรวมผู้คนสถาปนาสุโขทัย และเมืองโดยรอบ ที่ราบลุ่มแม่น้ำยมขึ้นเป็นอาณาจักร
ขณะนั้นไทยทางภาคกลางและเหนือ มีการติดต่อค้าขายกับชาวจีนและแขก ได้แก่

แขกอินเดีย แขกเปอร์เซีย แขกอาหรับ และแขกมัวร์ อยู่ก่อนแล้ว
ได้มีการเก็บภาษีโดยหน่วยงานที่เรียกว่า เจ้าภาษี หรือ นายด่าน หรือ นายขนอนตลาด
ขึ้นตรงกับกรมพระคลัง ทำหน้าที่ควบคุมการทอดสมอเรือ ค้าขายเก็บค่าธรรมเนียมเรือค้าขายที่เข้าและออกราชอาณาจักร

คำว่า ขนอน หมายถึง ด่านเก็บ

ภาษีอากร หรือจังกอบ หรือจกอบ ในสมัยนั้นมีทั้ง ขนอนน้ำ และขนอนบก
หมายความว่า มีการจัดเก็บภาษีอากร กับเรือที่เดินทางเข้ามาค้าขายในราชอาณาจักร

ต่อมาสมัยพ่อขุนรามคำแหง ได้ยกเลิกการเก็บจังกอบ ปรากฏศิลาจารึกหลักที่ ๑ ความว่า

เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง     เมืองสุโขทัยนี้ดี
ในน้ำมีปลาในนามีข้าว       เจ้าเมืองบ่เอาจังกอบในไพร่ลู่ทาง
เพื่อนจองวัวไปค้า         ขี่ม้าไปขาย
ใครจักค้าช้างค้า         ใครจักค้าม้าค้า


เพื่อส่งเสริมการค้าเสรี สนับสนุนให้ประชาชนทำเกษตรกรรมเพื่อนำผลผลิตไปขายทำกำไร
ช่วยให้ไพร่ฟ้าอยู่ดีกินดี ส่งผลให้มีเรือล่องมาค้าขายในสุโขทัยเป็นจำนวนมาก

ลุถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔
กรมพระคลัง เปลี่ยนชื่อเป็น กรมพระคลังสินค้า
มีพระยาโกษาธิบดี เป็นใหญ่ ควบคุมการคลังและการค้าสำเภาระหว่างประเทศ
ตลอดจนจัดการดูแลปกครองชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในพระราชอาณาจักร

กรมพระคลังสินค้า แบ่งการดูแลการค้าและชาวต่างประเทศ ออกเป็นสองฝ่าย
โดยใช้คาบสมุทรมลายูแบ่งประเทศคู่ค้า ออกเป็นสองฝั่ง คือ


กรมท่าซ้าย ขึ้นกับ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี
ปกครองดูแลชาวจีน และชาวตะวันออก ได้แก่
มลายู ชวา ฟิลิปปินส์ พะโค กัมพูชา จามปา เวียดนาม เกาหลี ริวกิว และญี่ปุ่น

กรมท่าขวา ขึ้นกับ พระยาจุฬาราชมนตรี ดูแลชาวแขก และชาวตะวันตก ได้แก่
อินเดีย ลังกา มากัสซาร์ อาหรับ เปอร์เซีย โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ สเปน และฝรั่งเศส เป็นต้น

การค้าในสมัยอยุธยา ชาวกรุงเก่ามักจัดเรือสำเภาไปค้ากับจีนมากที่สุด
จากหลักฐานแหล่งเรือจมที่ค้นพบในไทย เรือสำเภามีที่เป็นสำเภาจีน และสำเภาไทยลักษณะคล้ายเรือสำเภาจีน
บางลำเป็นลูกผสม สังเกตได้จากวิธีต่อเรือ

สำเภาจีน ใช้ไม้สนเป็นไม้มีมากที่จีนในการต่อเรือ และนิยมใช้ตะปูเหล็กตอกแผ่นไม้เปลือกตัวเรือให้ยึดติดด้วยกัน
สำเภาไทย ใช้ไม้ตะเคียน ไม้สัก ไม้เคี่ยม ไม้เต็ง และไม้อื่นๆ ที่มีอยู่ทั่วไปในไทย

ใช้ลูกประสัก(ไม้หมุด)ยึดตรึงเปลือกเรือแทนตะปู เนื่องจากไม้นั้นหาง่ายกว่าเหล็ก

นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างกันที่ ใบเรือ หางเสือ และการวาดลวดลายบนลำเรือ


สำหรับสำเภาของชาวอาหรับนั้น มีการค้นพบอยู่บ้างที่จังหวัดพังงา จันทบุรี และสมุทรสาคร

เรือสำเภาอาหรับ เส้นทางโอมาน-กว่างโจว ต้าถัง ระวางบรรทุก 200 ตัน

แต่เป็นสำเภาที่มีอายุเก่ากว่าสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ ยุคทวารวดี ศรีวิชัย
จุดเรือจมนั้นมีตลอดแนวตั้งแต่ จังหวัดน่าน ในลำน้ำเจ้าพระยา มาถึงพระนครศรีอยุธยาที่มีจุดสำเภาล่ม
จนถูกนำมาตั้งเป็นชื่อตำบล สำเภาล่ม ตลอดไปจนถึงเมืองจันทบูรและตราด
ทางภาคใต้ยาวไปจรดมะละกาทั้งสองฟากฝั่งมหาสมุทร

สินค้าที่นำไปค้าขายนั้นมีมากมายที่นิยมของชาวจีน ได้แก่

ไม้ฝาง นำไปทำสีแดงย้อมผ้า เครื่องประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และอื่นๆ ชาวจีนนั้นโปรดปรานสีแดงมาก
ไม้จันทน์ ไม้กฤษณา กระวาน กานพลู ทำเครื่องหอม
ของป่า ได้แก่ งาช้าง หนัง และเขากวาง
สินค้าเกษตรที่นิยมมาแต่โบราณ ได้แก่ ข้าว พริกไทย น้ำตาล หมาก มะพร้าว
วัตถุดิบที่มีค่าอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ พลอย ทองแดง ดีบุก และตะกั่ว


มีการค้นพบ ก้อนตะกั่วทำเป็นรูปกรวยฐานกลมเรียกว่า ตะกั่วนม รูปขนมเทียนในเรือสำเภาล่มเป็นจำนวนมาก

ที่ทำเป็นรูปลักษณ์นี้เพื่อต่อการวางซ้อนกันได้สะดวก ในระวางสินค้าเรือสำเภา
นอกจากนี้ยังมี ก้อนดีบุก แท่งทองแดง พบปริมาณมาก
สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีบนบก และเอกสารโบราณว่า

ไทยมี เหมืองแร่ ตะกั่ว ทองแดง และดีบุก และเป็นแหล่งส่งออกแร่โลหะที่สำคัญ
ทองแดง และดีบุกนี้ เป็นส่วนผสมในการทำสำริดเป็นโลหะที่นิยมมากในราชสำนักจีน
ใช้ทำเครื่องประดับ ส่วนประกอบของอาวุธ และของตกแต่งบ้านของบรรดาขุนนาง และวัดวาอารามทั้งหลาย


นอกจากสินค้าเกษตรและของป่าแล้ว ยังมีสินค้าส่งออกที่สำคัญคือ เครื่องปั้นดินเผา หรือเครื่องถ้วยชามสังคโลก
เป็นเครื่องดินเผาเนื้อแกร่ง มีความละเอียดประณีต เคลือบสีและลงน้ำยามีความเงางาม

มีทั้งแบบเคลือบสีเขียว เขียวไข่กา มีชื่อเฉพาะว่า เซลาดอน(Celadon) สีขาวน้ำนม
ทั้งแบบเขียนลายและไม่เขียนลายใต้เคลือบ เป็นที่นิยมทั้งในและนอกราชอาณาจักร


โดยเฉพาะญี่ปุ่นนิยมนำไปใช้ประกอบในชุดชงชา ภาษาญี่ปุ่นว่า ซังโกโรกุ
แหล่งผลิตที่ แหล่งเตาทุเรียง สุโขทัย เตาบ้านป่ายาง และเตาบ้านเกาะน้อย เมืองศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน
สำหรับเครื่องถ้วยชามสังคโลกในปัจจุบัน สามารถหาชมและศึกษาได้ตามพิพิธภัณฑสถานต่างๆ แหล่งใหญ่ได้แก่

พิพิธภัณฑ์สังคโลก จังหวัดสุโขทัย
พิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต จังหวัดปทุมธานี
มีเครื่องถ้วยชามสังคโลก และจากวัฒนธรรมอื่นๆ ทั้งของไทยและจีน จัดแสดงอยู่กว่า ๑,๐๐๐ ชิ้น

ส่วนเครื่องปั้นดินเผาอีกประเภทหนึ่งไม่จัดเป็นสินค้าส่งออก แต่เป็นบรรจุภัณฑ์ใช้บรรจุสินค้าส่งออกอีกทีหนึ่ง

ไห ๔ หู ทรงสูงกระปุกหรือตลับเป็นเครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่ง มีทั้งแบบที่เคลือบด้วยน้ำ เคลือบสีดำ และแบบที่ไม่เคลือบ
ผลิตจากเตาแม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี และเตาบ้านบางปูน จังหวัดสุพรรณบุรี

เครื่องปั้นดินเผาประเภทนี้นิยม ใช้บรรจุอาหาร สิ่งของประจำเรือ และสินค้าส่งออกประเภทสินค้าเกษตร
เช่น ข้าวสาร ข้าวเปลือก หมาก พริกไทย และสินค้าเกษตรแปรรูป เช่น น้ำปลา ปลาร้า ปูดอง ปูเค็ม ไข่เค็ม
ทั้งไข่เป็ดและไข่ไก่ มะขามเปียกเมล็ดแตงโม ฯลฯ

ยังมีโอ่งขนาดใหญ่บรรจุน้ำจืด เครื่องถ้วยชามเหล่านี้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ขายพร้อมสินค้า
พอเรือถึงเมืองท่าก็ยกขายไปทั้งไห เป็นความสะดวกสบายที่กระทำมาแต่กาลก่อน

เครื่องถ้วยชามสังคโลก และเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นบรรจุภัณฑ์นี้ ได้มีการขุดค้นพบทั้งในแหล่งเรือจมและ
แหล่งโบราณคดีบนบกในประเทศรอบๆ ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนาม และญี่ปุ่น
โดยเฉพาะมาเลเซียพบเป็นจำนวนมากที่สุด แต่เครื่องถ้วยชามที่พบในแหล่งเรือจมมีเป็นจำนวนมากกว่าบนบกหลายเท่าตัว
เช่น แหล่งเรือจมเกาะคราม พบเครื่องถ้วยชามสังคโลกชนิดเคลือบเขียวไข่กา จากกลุ่มเตาบ้านเกาะน้อย เมืองศรีสัชนาลัย
มากถึง ๔,๐๐๐ ใบ แสดงให้เห็นว่าเครื่องถ้วยเหล่านี้ เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย

ส่วนสินค้าที่นำกลับมาขายยังไทยหรือส่งต่อไป ยังดินแดนอื่นคือเครื่องถ้วยชามจีนมีลวดลายงดงาม
เป็นที่ต้องการของชาวกรุงศรีอยุธยา เห็นได้ว่ามีการค้นพบเครื่องถ้วยชามเหล่านี้แทบจะทุกจุดของเรือสำเภาล่มในไทย

สินค้าอีกชนิด คือ ผ้าไหม ซึ่งแม้ไม่พบเศษผ้าไหมในเรือสำเภาล่ม เนื่องจากเป็นอินทรียวัตถุที่ย่อยสลายง่าย
จึงถูกย่อยสลายไปตามกาลเวลาจนไม่เหลือหลักฐานใดๆแล้ว แต่จากบันทึกต่างๆ พบว่าจีนนั้นส่งออก
ผ้าไหมเป็นสินค้าหลักอยู่แล้ว ดังนั้นผ้าไหมน่าจะเป็นสินค้าหนึ่งที่บรรจุอยู่ในระวางของเรือสำเภาใน
ฐานะสินค้าส่งออก และเครื่องตอบแทนบรรณาการจากฮ่องเต้ มอบให้กับเจ้าแคว้นไทย

สินค้าขาเข้านี้ ต้องถูกเก็บ จังกอบเรือสินค้า หรือ ค่าปากเรือ โดยเก็บตามขนาดความกว้างของปากเรือ
ไม่เกี่ยวกับความยาวของเรือ เช่น ปากเรือกว้าง ๖ ศอก เก็บค่าปากเรือลำละ ๖ บาท เป็นต้น

นอกจากนี้ยังต้องเสียจังกอบสินค้าเป็น ค่านำสินค้าเข้า และออกจากเมือง ในลักษณะการเก็บเป็นเงินหรือสินค้า
เช่น สินค้า ๑๐ ชิ้น ต้องจ่ายจังกอบสินค้า ๑ ชิ้น เรียกสั้นๆว่า ๑๐ หยิบ ๑ หรือ ๑๐ ชัก ๑ (ร้อยละ10)

สำหรับเมืองที่ค้าขายกันประจำอัตรา สิบชักหนึ่ง  เก็บเฉพาะเรือที่มีปากเรือกว้าง ๔ วา ขึ้นไป
วาละ ๑๒ บาท และเก็บจังกอบสินค้า ๑๐๐ ชัก ๓

สำหรับเมืองที่ไม่ได้ค้าขายกันประจำเก็บค่าปากเรือ วาละ ๒๐ บาท และเก็บจังกอบสินค้า ๑๐๐ ชัก ๕
จังกอบเรือสินค้า และจังกอบสินค้า เทียบได้กับภาษีศุลกากรในสมัยปัจจุบัน
เจ้าพนักงานจัดเก็บจังกอบในสมัยอยุธยา ยังคงตำแหน่งนายขนอน เช่นเดียวกับสมัยสุโขทัย
แต่อยู่ในบังคับบัญชาของเจ้าพระยาพระคลัง ผู้กำกับดูแลกรมท่า

ในส่วนของการจัดเก็บจังกอบตามหัวเมืองต่างๆ นั้เป็นหน้าที่ของเจ้าเมืองในแต่ละหัวเมือง
อยู่ในการบังคับของสมุหนายก สมุหพระกลาโหม และกรมท่า

บรรดาพ่อค้ามุสลิมมีบทบาททางการค้าขายในสมัยอยุธยา ไม่น้อยหน้าชาวจีน
เนื่องจากทำการค้าในดินแดนแถบนี้ มาตั้งแต่ต้นยุคประวัติศาสตร์
บทบาทของพ่อค้าเหล่านี้ในสมัยอยุธยา นอกจากเป็นพ่อค้าสำเภาแล้ว ยังแผ่ขยายมาถึงการเมืองอีกด้วย

สมัยพระเจ้าทรงธรรม ออกญาเฉกฮะหมัด รัตนราชเศรษฐี เป็นเจ้ากรมท่าขวา
สมัยพระนารายณ์ อากอมูฮัมหมัดอัครเสนาบดี และออกญาพระศรีเนาวรัตน์สมุหนายก เป็นชาวมุสลิม
โดยพระองค์ทรงเป็นผู้สนับสนุนให้ชาวมุสลิม เป็นเจ้าเมืองชายฝั่งทะเลของไทย
ตั้งแต่เมืองตะนาวศรี มะริด สงขลา ขึ้นมาจนถึงเมืองปราณบุรี และเพชรบุรี

ทำให้ชาวมุสลิม กุมอำนาจทางการค้าขายไม่แพ้ชาวจีน แต่อิทธิพลของชาวมุสลิมลดน้อยถอยลง
เมื่อฝรั่งจากตะวันตกเข้ามาค้าขายกับไทย และได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพ่อยู่หัวมากกว่า
ยิ่งหลังเกิดกบฏแขกมักกะสัน สมัยพระนารายณ์ อิทธิของพ่อค้ามุสลิมทางการเมืองได้หมดลง

นับแต่แผ่นดิน พระเพทราชา เป็นต้นมา จน พ.ศ. ๒๓๑๐ การค้าขายของกรุงศรีอยุธยาตกต่ำมาก ทั้งนี้
เพราะพระองค์ไม่มีพระประสงค์จะเกี่ยวข้องกับชาวยุโรป และพระเจ้าแผ่นดินองค์ต่อๆมา
ไม่ทรงขวนขวายที่จะหาทางบำรุงการค้าขายกับฝรั่งอีก การค้า การเงินของอาณาจักรจึงฝืดเคืองลง
พวกราษฎรพลเมืองพากันบ่นว่า

ได้รับความเดือดร้อนจากรัฐบาลมากและพากันบ่นถึงความยากจน โดยมากออกจะเสียใจที่พวกฝรั่งเศสได้ไปเสียจากเมืองไทย
เพราะเมื่อฝรั่งเศสอยู่ในเมืองไทย เงินทองไหลมาเทมา และมาในบัดนี้ไม่ใคร่จะได้เห็นเงินกันเสียแล้ว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่