แชร์ข้อมูลของการเรียน มสธ. ที่หลายท่านต้องการทราบ

เกรดวิชาประสบการณ์วิชาชีพทางกฎหมาย ของภาคการศึกษษ 2/59 พึ่งออกวันที่ 13 กันยนยน 2560 เวลาประมาณห้าโมงกว่า ๆ ส่วนตัวก็เรียนจบนิติศาสตร์จาก มสธ. แล้วเพราะรอเกรดวิชานี้วิชาสุดท้าย และก่อนหน้านี้ได้ไปอบรมวิชาประสบการณ์วิชาชีพทางกฎหมาย ตาม URL นี้ เล่าสู่กันฟัง ไปอบรมวิชาประสบการณ์วิชาชีพกฎหมายที่ มสธ. วันที่ 18-20 มิถุนายน 2560 มา https://pantip.com/topic/36623455

และที่สำคัญนักศึกษาแทบทุกท่านต้องไปอบรมวิชาประสบการณ์วิชาชีพของสาขาตนเองที่ มสธ. นนทบุรี 5 วัน 4 คืน เป็นความหวังของ นศ. มสธ. ที่จะได้ไปเร็ว ๆ ครับ แบบว่ากลับมาแล้วถ้าไม่ติดวิชาก่อนหน้าหรือต้องลุ้นวิชาปกติที่สอบในเทอมนั้นด้วย
ขอให้ตอนไปอบรมทำตัวดี ๆ มีส่วนร่วมกับกิจกรรมกลุ่มและเข้าสอบปลายภาคแล้วทำข้อสอบได้สักหน่อย ก็แทบจะจบ 99% แล้ว

ณ ตอนนี้ก็เรียนจบ มสธ. เกือบเป็นทางการแล้วรอแค่วันอนุมัติสำเร็จการศึกษา ก็ขอแชร์ข้อมูลที่น่ารู้เกี่ยวกับ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มสธ. (ข้อมูล ณ ตอนนี้)

- การสมัครเรียน ซื้อใบสมัครได้ที่ 7-11 และที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ แต่ไม่ได้มีทุกสาขา หรือจะดาวน์โหลดระเบียบการสมัครจากหน้าเว็บ มสธ. www.stou.ac.th ได้ หลัง ๆ นี่มีใบสมัครในเล่มให้แล้ว ใช้สมัครได้เลย รุ่นผมสมัคร (ปี57) ไม่มีให้ คือดาวน์โหลดมาอ่านข้อมูลได้อย่างเดียว ถ้าจะสมัครต้องไปซื้อเป็นเล่มแล้วตัดหน้าใบสมัครมาใช้หรือ ถ้าสะดวกไปสมัครที่ มสธ. เลยก็ได้ ทั้งที่นนทบุรีและศูนย์วิทยพัฒนา 10 แห่ง ทั่วประเทศ

- เลือกสาขาที่เรียนสนใจและอ่านข้อมูลในเล่มระเบียบการ จะมีรายละเอียดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นมีกี่สาขาวิชา แต่ละสาขาใช้วุฒิใดสมัครแล้วต้องเรียนกี่ปีกี่ชุดวิชา ค่าลงทะเบียนแต่ละชุดวิชา กำหนดการต่าง ๆ ในปีการศึกษานั้น ครอบคลุมทั้งภาคการศึกษา 1 2 และพิเศษ

- จำนวนชุดวิชาและปี ที่ต้องเรียน อยู่ที่วุฒิที่เราใช้สมัคร ถ้า ม.ปลาย ปวช.หรือเทียบเท่า จะใช้เวลา 4-4.5 ปี (บางสาขาเรียน 9 เทอมครับ 10 ก็มีนะ) ถ้า ปวส. จะลดมาบ้าง ถ้า ป.ตรี โดยมากจะไม่ต้องเรียนวิชาพื้นฐาน อย่างของนิติศาสตร์ เริ่มเรียนวิชากฎหมายตั้งแต่ภาคการศึกษาแรก เวลาตามหลักสูตร 3 ปี อย่างของอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ถ้า ป.ตรี สายวิศวะ ใช้เวลาเรียน 2 ปี (4 ภาคการศึกษา)

- ค่าลงทะเบียนวิชาปกติ 1000-1300 บาท/ชุดวิชาและมีค่าบำรุง 500 บาท/ภาคการศึกษา
- ชุดวิชาปฏิบัติและประสบการณ์วิชาชีพก็อีกราคา
- ถ้าต้องการรักษาสภาพนักศึกษา ตอนเขียนใบลงทะเบียนจะมีแนวทางให้เลือกอยู่ เสียแต่ค่าบำรุง 500 บาท ไม่เสียค่าชุดวิชา

- เมื่อทำการสมัครแล้ว รอประมาณ 1 เดือนจะได้บัตรนักศึกษา จากนั้นอีกประมาณ 1 เดือนจะได้หนังสือ
- 1 ชุดวิชาของ มสธ. เท่ากับ 6 หน่วยกิต จะรวมหลาย ๆ วิชาย่อย ของมหาวิทยาลัยอื่นมาไว้ด้วยกัน เช่น แพ่ง1 บุคคล นิติกรรม สัญญา
- และเนื่องจาก มสธ. จะดูวุฒิที่ใช้สมัครเป็นหลักในการกำหนดชุดวิชาเรียน ดังนั้นลืมเรื่องโอนวิชาได้เลย เพราะถือว่าได้ลดไปโดยอัตโนมัติถ้าใช้ ป.ตรีมาสมัคร แต่เคยอ่านผ่านตามาว่าเคยมี นศ. ขอเทียบโอน ทำเรื่องเทียบไป โดยอ้างจากวิชา ป.ตรี ที่ใช้สมัคร 6-7 วิชา ใช้เวลาปีกว่า สรุปเทียบได้วิชาเดียวและเสียเวลารอนานมาก คือถ้าลงเรียนแล้วสอบก็ผ่านแล้ว ส่วนวิชาจาก ปวส. นี่น่าจะไม่รับครับ เพราะถือว่าเป็นคนละระดับการศึกษา

- จะมีการปฐมนิเทศในเทอม1 ที่ สถานที่ต่าง ๆ ที่ มสธ. กำหนดไว้ โดยมากจะเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด จะไปก็ได้ไม่ไปก็ได้ ส่วนเทอม2 เป็นการปฐมนิเทศผ่านสื่อ เช่น ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV 8

- จะมีการสอนเสริมแล้วแต่วิชา ตามจำนวนเล่มหนังสือ เช่น ถ้า 2 เล่ม ก็ 2 ครั้ง และจะเป็นวิชาที่เรียกได้ว่ายาก ๆ หน่อย เช่น สถิติและการวิจัยของแต่ละสาขา (ถ้ามี) ส่วนนิติศาสตร์มีเกือบทุกวิชาเว้นวิชาปรนัยล้วน การสอนเสริมนี้เราจะไปหรือไม่ไปก็ได้ ถ้าไปก็อาจจะได้รู้จักเพื่อน ๆ เพิ่ม ถ้าไม่ไปก็อ่านทำความเข้าใจเองแล้วก็ไปสอบ

- บางวิชาจะมี * เอาไว้ในคู่มือลงทะเบียนว่ามีการปฏิบัติ คือ ต้องไปปฏิบัติที่ มสธ. 1-2 ครั้ง แล้วแต่วิชา และจะเป็นวัน ส-อา ครับ ตอนเลือกลงวิชาเรียนก็ดูดี ๆ นะ ว่าในภาคการศึกษานั้นเราสะดวกที่จะไปไหม

- ลงเรียนได้ภาคการศึกษาละสูงสุด 3 วิชา เว้นภาคการศึกษาพิเศษจะลงได้ 1 วิชาเอาไว้เก็บล่วงหน้าหรือเก็บวิชาที่ซ่อมไม่ผ่าน ภาคการศึกษาพิเศษไม่มีสอนเสริมลงแบบเวลาสอบชนกับเวลาสอบซ่อมได้ แต่ถ้าตกของภาคการศึกษา2 มาก็ต้องเลือกว่าจะสอบซ่อมหรือสอบวิชาที่ลงไว้ของภาคการศึกษาพิเศษ

- การลงเรียน ถ้าไม่ติดอะไรก็ควรจะลงตามแนวทางการศึกษาของแต่ละสาขา/วุฒิที่ใช้สมัคร แต่ถ้าอยากเปลี่ยนเองก็ได้เลือกวิชาเองดูว่าวัน/เวลาสอบตรงกันไหม ถ้าไม่ตรงก็ได้เลยครับ ไม่มีวิชาที่ต้องผ่านก่อนเหมือนมหาวิทยาลัยอื่น เพียงแต่ว่าจะมีคำแนะนำว่าควรจะเรียนวิชานี้ก่อนวิชานั้นเท่านั้น

- การสอบปลายภาค มสธ. จะเป็นวันเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น แล้วแต่ว่าจะเป็น เสาร์เช้า/บ่าย หรืออาทิตย์ เช้า/บ่าย และจะกำหนดช่วงเวลาไว้ชัดเจนเหมือนกันในแต่ละปี คือ ภาคการศึกษา1 ปลายเดือนมกราคม สอบซ่อมต้นเดือนพฤษภาคม ภาคการศึกษา2 ปลายเดือนกรกฎาคม สอบซ่อมและภาคการศึกษาพิเศษต้นเดือนพฤศจิกายน และแต่ละวิชาจะกำหนดไว้เลย เช่น เช้าวันเสาร์ ก็จะเป็นแบบนี้ทุกรอบที่เปิดให้ลงเรียน

- เลือกสนามสอบได้ตั้งแต่ตอนสมัครแล้วใช้สนามสอบนั้นยาวไปจนกว่าจะทำเรื่องเปลี่ยน บางจังหวัดมีสนามสอบหลายแห่ง เช่น เชียงใหม่ หลาย ๆ จังหวัดจะมีสนามสอบเดียวคือโรงเรียนประจำจังหวัด

- ถ้าเกิดเหตุไม่สามารถไปสอบที่สนามสอบที่เลือกไว้ สามารถเข้าสอบสนามสอบอื่นได้ ต้องไปเช้า ๆ ไปที่ศูนย์ประสานงาน มสธ. ของสนมสอบนั้น แล้วทำเรื่องขอสอบ ถ้าบัตร นศ. ไม่พร้อม ณ วันสอบก็เช่นกันครับ ไปเช้า ๆ ติดต่อศูนย์ มสธ. ของสนามสอบนั้น ใช้รูป 1 นิ้ว 2 ใบ ต่อการสอบ 1 วันครับ

- เกรด มสธ. มี U น้อยกว่า 60, S ระหว่าง 60 ถึง 75  และ H ตั้งแต่ 76 ขึ้นไป ถ้าเคยสอบวิชาใดไม่ผ่านจะมี * บอกเอาไว้ เช่น สอบปกติตก แล้วซ่อมผ่านก็จะมี * ถ้าซ่อมไม่ผ่านแล้วไปลงใหม่ผ่านก็จะมี * เช่นกัน

- การได้เกียรตินิยมอันดับ2 ต้องได้ H อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของชุดวิชาทั้งหมด ถ้าอันดับ1 ต้องได้ H 3 จาก 4 ของชุดวิชาทั้งหมด ไม่เกี่ยวว่าใช้วุฒิใดสมัคร

- การลงทะเบียนภาคการศึกษาต่อไปจะอยู่ในช่วงกลางของภาคศึกษาปัจจุบัน เราต้องไม่ลืมและต้องวางแผนว่าภาคการศึกษาต่อไปจะลงวิชาอะไรบ้าง(ถ้าไม่ลงตามแนวทางการลงที่สาขามีให้ หรือตกวิชาอื่นมา)

- ถ้าลงเรียนแล้วพลาดเวลาสอบชนกันหรือตั้งใจลงเพราะจะจบแล้วไม่อยากเสียเวลาไปลงเทอมต่อไป สามารถทำได้ โดยเข้าสอบปกติ 1 วิชาแล้วอีกวิชาใช้สิทธิในการสอบซ่อม แต่ถ้าตกวิชาที่สอบปกติก็ต้องเลือกเอาว่าจะสอบซ่อมหรือใช้สิทธิสอบซ่อมในวิชาที่ไม่ได้สอบปกติ

- ค่าสอบซ่อมวิชาละ 200 บาท

- การลงทะเบียนเรียนใหม่ ไม่ต้องซื้อเอกสารการเรียนใหม่ ค่าลงจะอยู่ที่ 300 บาท/ชุดวิชา (ณ ตอนนี้) เว้นแต่ชุดวิชาทีมีการปรับปรุงเสร็จพอดี ต้องซื้อเอกสารการเรียนใหม่ครับ

- *** คำถามยอดนิยม จะลงวิชาประสบการณ์ได้เมื่อไร? คือ เมื่อเรียนผ่านไปเรื่อย ๆ ก็จะมีพูดคุยกันมากขึ้นละ เพื่อนคนนั้นที่เรียนก่อนหน้าไปมาแล้วก็จะมาเล่าให้ฟัง ดูน่าสนุกมากมาย การที่จะลงได้ มสธ. กำหนดเงื่อนไขว่า ในภาคการศึกษาที่จะลงนั้น เหลือ 3 วิชารวมวิชาประสบการณ์ อีกความหมายนึงก็คือ วิชาปกติ 2 วิชาและวิชาประสบการณ์ โดยไม่ต้องรอผลสอบภาคการศึกษาปัจจุบัน ***

- จากข้างบนทำให้ นศ. หลายท่าน เมื่อสอบผ่านวิชาประสบการณ์แล้วแต่ยังไม่จบ เพราะว่าตกแล้วซ่อมไม่ผ่านวิชาของภาคการศึกษาก่อนหน้าที่จะไปประสบการณ์ และ ตกวิชาของภาคการศึกษาเดียวกับที่ไปประสบการณ์มาแล้วซ่อมไม่ผ่าน (นับรวมได้สูงสุดถึง 5 วิชาเลยนะ) ก็ต้องมาลงทะเบียนเรียนเก็บกันใหม่

- หลังไปวิชาประสบการณ์มาแล้ว จะได้รับเอกสาร มสธ. 10 ให้เราตรวจสอบข้อมูลวิชาเรียนและข้อมูลทั่วไปของเรา เก็บเอาไว้ก่อน รอเกรดวิชาสุดท้ายออกก่อนค่อยส่งกลับไป มสธ. นะ

- การลงทะเบียนของผม ผมใช้ วุฒิ ป.ตรี สมัคร มีวิชาต้องเรียน 18 วิชา ตามแนวทางการศึกษา 3 ปีหรือ6 เทอม ลงเรียนภาคการศึกษาละ 3 วิชา แต่ผมเอาวิชาปกติของเทอมสุดท้าย 2 วิชา มาลงในภาคการศึกษาพิเศษ 2 ครั้ง ทำให้ภาคการศึกษาที่6 ของผม เหลือวิชาประสบการณ์วิชาชีพทางกฎหมายวิชาเดียว อาจจะดูสบายก็จริงแต่ก็ไม่หรอกครับเพราะได้ลงเรียนไปก่อนเหนื่อยไปก่อนครับ

- เพื่อนบางท่านลงภาคการศึกษาปกติไป 3+2 วิชา แล้ว มาเก็บภาคการศึกษาพิเศษอีก 1 จบปีก็ 6 วิชาตามแนวทางการลงทะเบียนครับ

- *** คำถามยอดนิยม สัมฤทธิ์บัตร คืออะไร ทำใจบเร็วใช่ไหม คำตอบคือใช่ครับ สัมฤทธิ์บัตรคือ การลงเรียนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ของผู้ที่สนใจในวิชานั้น ๆ แล้วทีนี้ มสธ. รับโอนสัมฤทธิ์มาด้วย ถ้ามาเป็น นศ. ปกติ หลายท่านลองเรียนสัมฤทธิ์ก่อนพอเป็น นศ.ปกติ ก็โอนมา หลายท่านก็ลงสัมฤทธิ์ควบคู่ไปด้วย โดยสัมฤทธิ์บัตรนั้น 1 ปี เปิด 4 รุ่น (ณ ตอนนี้) ก็สมัครเรียนสัมฤทธิ์บัตรแล้วเลือกวิชาเรียน โดยเวลาสอบของสัมฤทธิ์นั้น จะตรงกับ สอบปกติและสอบซ่อมของทั้ง 2 ภาคการศึกษา ถ้าเป็น นศ. ปกติ ก็เลือกลงในการสอบปกติได้ 1 วิชา (เวลาสอบต้องไม่ชน) และลงรุ่นที่เวลาสอบตรงกับสอบซ่อมได้ 3 วิชา ถ้าสอบผ่านหมดก็สอบสัมฤทธิ์ได้ 3 วิชา ถ้าสอบตกปกติก็เลือกเอาว่าจะสอบซ่อมหรือสอบสัมฤทธิ์ ถ้าสอบสัมฤทธิ์ผ่านก็ทำเรื่องโอนชุดวิชามาได้ ทำให้จบเร็วขึ้น แต่ก็อ่านหนังสือหนักขึ้นมาก เพราะช่วงเว้นระหว่างผลสอบออกแล้วสอบสัมฤทธิ์นั้นจะประมาณ 2 เดือนเท่านั้น ***

- สัมฤทธิ์ไม่มีสอบซ่อมนะครับ ตกแล้วตกเลย ถ้าจะลงใหม่ก็ลงแบบไม่ซื้อเอกสารการเรียนได้ ลงแบบนี้วิชาละ 300 บาท

- เคยมีเพื่อนท่านนึงลงนิติศาสตร์ 3 ปี แต่จบได้ใน 2 ปีครับ ลงสัมฤทธิ์ควบคู่กันไปด้วย

- การเปลี่ยนที่อยู่การจัดส่งเอกสารอาจจะส่งผลให้เอกสารไปที่ ที่อยู่ใหม่ช้ากว่าเดิมในภาคการศึกษาถัดไป
- การเปลี่ยนสนามสอบจะมีกำหนดเวลาอยู่ว่า ต้องเปลี่ยนก่อนเมื่อไรในภาคการศึกษานั้นถึงจะได้สอบสนามใหม่ ถ้าไม่ทันก็ต้องสอบสนามเดิมไปก่อน

- คำแนะนำวันสอบ ควรไปเช้า ๆ จะได้ที่จอด ไม่แนะนำให้ไปทบทวนที่สนามสอบเพระาจากที่เคยสอบมาสองแห่ง เสียงรอบข้างจะดังและมีประกาศเป็นระยะ ควรทำใจให้สบาย ๆ ให้พร้อมสอบ เตรียมดินสอ ปากกา ยางลบ บัตรประจำตัวประชาชนและบัตรนักศึกษาให้พร้อม ไม่อนุญาตให้เข้าห้องน้ำนะครับ เตรียมตัวดี ๆ

- ณ ตอนนี้มีกลุ่มในเฟซหรือในไลน์เยอะมาก เลือกเข้าไปแชร์ความรู้กันได้ตามแต่ละวิชา/สาขา

- หากมีปัญหาการลงทะเบียน ติดต่อ ศูนย์ข้อมูลทะเบียนและบริการนักศึกษา โทร.025047231

- การลงเรียน มสธ. จะให้เวลาประมาณ 12 ปี ถ้าไม่จบ แล้วกลับมาสมัครใหม่ก็โอนชุดวิชาที่เคยผ่านมาแล้วกลับมาได้หมดเลย หรือถ้าสมัคร ป.ตรี ใบต่อไป แล้วหลักสูตรนั้นมีวิชาที่เราเคยเรียนมาแล้วในรอบที่แล้ว ก็ทำเรื่องขอโอนมาได้ครับ หรือโอนเพิ่มจากสัมฤทธิ์มาอีกก็เรียนน้อยลงไปอีก เคยมีท่านนึงแชร์ประสบการณ์คือ 1 ปีจบ เพราะโอนจาก ป.ตรีใบก่อน ๆ และสัมฤทธิ์มา จริง ๆ วิชาเรียนเหลือ 3 วิชารวมวิชาประสบการณ์ ภาคการศึกษาแรกลงได้ 2 วิชาและวิชาประสบการณ์ลงภาคการศึกษาที่2 เพราะว่า มสธ. ไม่อนุญาตให้ลงวิชาประสบการณ์ในภาคการศึกษาแรกครับ แน่นอนว่าถ้าลงได้ก็คือ 1 เทอมจบ!!!

ส่วนตัวกำลังดูอยู่ว่าจะลอง ป.ตรีใบต่อไปกับ มสธ. สาขาอะไรดี ขอพักสักนิดแล้วจะไปต่อครับ
หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับหลาย ๆ ท่านที่สนใจจะเรียน มสธ. สอบถามเพิ่มได้ที่กระทู้นี้หรือหลังไมค์ก็ได้ครับ ยินดีครับ

สุดท้ายนี้ ขอฝากเอาไว้ว่า "การเรียน มสธ. ไม่มีคำว่าล้มเหลว มีแต่ล้มเลิก" ครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่