มรัคอู หน้าประวัติศาสตร์ ยะไข่ ที่ถูกลืม..GO STRONG!

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนเลยว่า.... มา รัคไคน์ ครานี้ พี่ก็ไม่ได้มาเล่นๆ อีกตามเคย  ... และต้องขอเท้าความก่อนว่า กระทู้นี้เป็นการเดินทางต่อจากกระทู้ที่แล้ว และขอเน้นการถ่ายทอดบันทึกการเดินทาง ที่อาจจะละเอียดนิดนึง เพราะยังมีข้อมูลไม่มาก ในเส้นทางนี้  .... และยังขอย้ำเหมือนเดิมว่า รูปไม่สวย และนางแบบอาจจะเยอะหน่อย 5555  แต่กระทู้นี้ตั้งเพื่อเป็นการชี้เป้ามุมถ่ายรูปสวยๆและข้อมูลการเดินทาง ใครมีกล้องดีๆฝีมือเจ๋งๆ และเป็นขาลุยจะตามรอยหรือ  cover สถานที่มาก็จะดีใจมากค่ะ

(((ขอรีโพสต์ ถามผู้รู้ประวัติศาสตร์ยะไข่ ถ้ารู้อะไรช่วยเสริมให้ด้วยค่ะ อยากทราบประวัติศาสตร์ชาติรัคไคน์ให้ลึกขึ้น ... ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ)))

สำหรับการเดินทางในรัคไคน์นี้ เราลุยเดี่ยว ... FASHION SET อาจจะไม่เยอะเท่ากระทู้ก่อนหน้านี้ 555 แต่ก็ยังมี เซลฟี่ แบบ โพสอ่อน ให้เห็นบ้าง ยิ้ม


** เกริ่น **

โปรแกรมการเที่ยวในรัคไคน์ของเรา (ไม่นับวันเดินทาง) คือ
มรัคอู&หมู่บ้านฉิ่น - ซิตเว 4 วัน 4 คืน

ก่อนจะเล่าถึงการเดินทาง เรามาทำความรู้จักกับดินแดนอันแสนห่างไกลแห่งนี้กันหน่อยนะ

- ดินแดนนี้ถูกเรียกทั้ง ยะไข่ รัคไคน์ และ อาระกัน ... จากการลงพื้นที่กับไกด์หนุ่ม ได้ความว่า ผู้คนในดินแดนนี้เรียกดินแดนของพวกเค้าว่า "รัคไคน์" (Rakhine) แต่ชาวพม่ามักออกเสียง ร ไม่ได้ และมักจะออกเป็น ย แทน จึงเรียกว่า "ยะไข่" และไทยเราก็เรียกยะไข่ตามพม่า(ทั้งๆที่เราออกเสียง ร ได้ชัด 555) ส่วน "อาระกัน" คือคำที่ชาวตะวันตกเรียก

- รัคไคน์ อยู่ในสหภาพเมียนมาร์ แต่ไม่ใช่พม่า รัคไคน์ เป็นรัฐรัฐหนึ่ง ของชนชาติหนึ่ง ในเมียนมาร์ที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานมาก หลายพันปี

- รัคไคน์ตั้งอยู่ตะวันตกสุดของเมียนมาร์ติดคาบสมุทรเบงกอล


- ผู้คนที่นี่หลายคนหน้าตาคมคาย หลายคนค่อนไปทางแขก และโรฮิงญาจำนวนไม่น้อยก็มาจากที่นี่ (อพยบเข้ามาสมัยการนำเข้าแรงงานของกุราจากอินเดีย/บังคลาเทศ?)

- ตามตำนานเชื่อว่าพระพุทธองค์เคยเสด็จมาโปรดสัตว์ถึงดินแดนนี้ และประทานลมหายใจไว้ที่พระมหามัยมุนี พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่เคยเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองรัคไคน์ (แต่ตำนานก็คือสิ่งที่มีน้ำหนักหลักฐานยังไม่มากนักในเชิงวิชาการประวัติศาสตร์)

- ในสมัยโบราณ รัคไคน์ถือเป็นเมืองท่าสำคัญในคาบสมุทรเบงกอล ... ตามบันทึกของ Frey Sebastien Manrique นักเดินทางชาวโปรตุเกส ทำให้เชื่อได้ว่า รัคไคน์เคยเป็นรัฐที่มั่งคั่งและรุ่งเรื่องมาก ถึงขนาดพระราชวังประดับตกแต่งด้วยทองคำ แม้พื้นพระราชวังก็เป็นทองคำ (พวกบันทึกฝรั่งนี่ต้องมาตีความอีกทีนะว่าทองที่ฝรั่งเห็นเป็นทองทั้งแผ่น/หุ้มแผ่นทอง/ปิดทองคำเปลว แต่ยังไงก็คือทองคำอ่ะ)

- ด้วยปราการธรรมชาติ และชัยภูมิที่ยากต่อการตี ทำให้ยากต่อการเข้าตีเมือง จนถึงสมัยพระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์คองบองพระเจ้ากรุงอังวะ ก็เข้าตีเมืองรัคไคน์จนแตก เป็นอันปิดฉากอาณาจักรโบราณอันรุ่งเรือง

- จุดศูนย์กลางของอาณาจักร เริ่มต้นที่ ธัญวดี เมื่อหลายพันปีก่อน จากน้ันก็ย้ายมา เวสาลี (ร่วมสมัยกับพุทธกาล), เล-มโร เรื่อยมาถึงยุคทองที่เจริญถึงขีดสุดที่ มรัคอู (ราวๆ 500 กว่าปีก่อน ถึง ต้นกรุงรัตนโกสินทร์) และสุดท้ายหลังยุคอาณานิคมอังกฤษก็ย้ายศูนย์กลางมาอยู่ที่ ซิตเว จนถึงปัจจุบัน

- ยะไข่ที่จะถูกกล่าวถึงในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ก็เห็นจะเป็นคราวที่กองทัพยะไข่ชิงยกทัพมาปล้นเมืองและเผาพระราชวังบุเรงนอง ตัดหน้าพระนเรศของสยามเรา

- อ้อ และยะไข่หรือระไคน์ ก็ถูกบันทึกเป็นส่วนหนึ่งของประวัติรูปสำริดในตำนาน ที่วัดมหามัยมุนี : คือถ้าใครเคยไปวัดมหามัยมุนี หรือเคยอ่านรีวิวอ่านก่อนๆ เราจะพูดถึง รูปสำริดที่จัดแสดงข้างวิหารพระมหามัยมุนี ที่มีทั้งเทวรูป ช้างสามเศียร สิงห์ ซึ่งดูแล้วหน้าตาไม่เหมือนศิลปะพม่าเลย และออกจะคล้ายๆไทย และส่วนใหญ่ไกด์ก็จะบอกแค่ว่าเป็นของที่ได้มาตอนพระเจ้าบะยินนอวง์ยึดกรุงศรีฯได้ แต่จริงๆแล้วรูปสำริดเหล่านี้เดินทางแสนไกลและยาวนานกว่ามาก ... รูปสำริดเหล่านี้ เดิมเป็นของเขมรพระนคร แต่พอกรุงศรีตีพระนครหรือนครวัดแตกจนล่มสลายก็พารูปสำริดนี้กลับมาด้วย แต่พอพระเจ้าบะยินนอวง์ยึดกรงศรีได้ตอนเสียกรุง#1 ก็พาไปอยู่ด้วยที่หงสาวดี และพอหงสาวดีล่ม-ถูกกองทัพยะไข่เผากัมโพชธานีสิ้นจนเหลือแต่ตอ ก็ขนสมบัติมีค่าและรูปสำริดนี้ไปอยู่ที่มรัคอูด้วย จนสุดท้ายพอพระเจ้าปดุงแห่งอังวะตีมรัคอูแตกและเผาเมืองวอดก็อัญเชิญพระมหามัยมุนีมาอังวะพร้อมกับรูปสำริดเหล่านี้ด้วย ....ส่วนตัวรู้สึกว่า รูปสำริดเหล่านี้ คือ สัญลักษณ์ของอำนาจที่เปลี่ยนผ่าน และการแก่งแย่งชิงดีกันในดินแดนสุวรรณภูมิ -- น่าแปลกที่รูปสำริดแตกๆแหว่งๆเหล่านี้ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ทำไมถึงถูกลากยื้อไปมาพร้อมของมีค่า ทั้งๆที่ก็หนักไม่น้อยนะ รูปหล่อพวกนี้ต้องมีอะไรดีแน่ๆ


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่