พระโอวาท เนื่องในวันอาสาฬหบูชา พุทธศักราช ๒๕๖๐






เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระโอวาท เนื่องในวันอาสาฬหบูชา พุทธศักราช ๒๕๖๐ ความว่า

" สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นพระพุทธรัตนะ ได้ทรงแสดงปฐมเทศนาด้วยพระธรรมรัตนะ อันมีนามว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” โปรดปัญจวัคคีย์ ณ อิสิปตนมฤคทายวัน อันเป็นการเริ่มประกาศพระศาสนา กระทั่งบังเกิดมีพระอริยสงฆ์ ก่อกำเนิดพระสังฆรัตนะ ครบถ้วนพร้อมเป็น “พระรัตนตรัย” ณ ดิถีเพ็ญเดือนอาสาฬหะ เพราะฉะนั้น วันอาสาฬหบูชาจึงเป็นโอกาสสำคัญที่พุทธบริษัทจักได้น้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ย้ำเตือนจิตใจตนให้มุ่งประพฤติตามหนทางแห่งอริยมรรค ตามที่สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงแสดงไว้เป็นครั้งแรกในดิถีเช่นนี้

ท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธศาสนิกชน คงเคยปฏิญาณตนถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกกันมาแล้วทุกคน ด้วยถ้อยคำภาษาบาลีว่า พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ, ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ, สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ เป็นต้น

ณ โอกาสคล้ายวันบังเกิดพระรัตนตรัยครบองค์สาม จึงขอเชิญชวนทุกท่านทบทวนความหมายของคำปฏิญาณที่ประกาศตนอยู่เสมอ ว่าแท้จริงแล้วมีสาระลึกซึ้งมากกว่าเพียงแค่พิธีกรรม ถ้าท่านเป็นผู้มีพระไตรสรณคมน์คอยนำทางชีวิตอยู่ทุกขณะจิต ก็ย่อมมีความเคารพยำเกรงในคำสั่งสอนของพระศาสดา ย่อมมีความละอายชั่วกลัวบาป ไม่กล้าประพฤติล่วงละเมิด “ศีล” ซึ่งเป็นการปิดประตูสู่ความตกต่ำ และย่อมขวนขวายที่จะประพฤติ “ธรรม” ซึ่งเป็นการเปิดประตูสู่ความเจริญงอกงาม

ถ้าทำได้ตามนั้น ความศักดิ์สิทธิ์แห่งคุณพระรัตนตรัยย่อมมีอยู่จริง และย่อมดลบันดาลให้ท่านประสบความสุขความเจริญได้อย่างเห็นแจ้งประจักษ์จริง ด้วยผลจากความดีงามที่ท่านเพียรประพฤติตามพระพุทธธรรมนั่นเอง ไม่ใช่ด้วยอานุภาพลี้ลับซึ่งเหนือการพิสูจน์แต่อย่างใด ประเพณีการบูชาพิเศษในวันอาสาฬหบูชา บังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกเมื่อเกือบ ๖๐ ปีมาแล้ว บนผืนแผ่นดินไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมควรที่เราชาวไทยจะได้ภาคภูมิใจ และขอจงใช้โอกาสวันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษา เป็นปฐมฤกษ์แห่งการรักษาสัจจะต่อคำปฏิญาณ ในอันที่จะละเว้นจากบาป พร้อมเร่งบำเพ็ญคุณงามความดีให้เพิ่มพูน เพื่อสันติสุขอันไพบูลย์ในชีวิตของท่าน ครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติ และโลกนี้สืบต่อไป.
"
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  ศาสนาพุทธ ศาสนา วันอาสาฬหบูชา
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่