มากางเต็นท์นอนกันเถอะ ตอน ฟลายชีทของผม


สำหรับตัวผม ฟลายชีทเป็นของคู่กันกับเต็นท์ เหมือนปาท่องโก๋ 2 ข้างที่ติดกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้อื่นด้วย ผมขอรีวิวเรื่องนี้ โดยจะพยายามรำลึกถึงประสบการณ์ในการใช้ฟลายชีทในอดีตตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งถึงปัจจุบันครับ ค่อนข้างยาว ต้องขออภัยไว้ก่อนครับ

เริ่มต้นเมื่อประมาณยี่สิบกว่าปีที่แล้ว หลังจากผมเริ่มมีรถเป็นของตัวเอง ก็เริ่มกางเต็นท์เที่ยวตามที่ชอบ ซึ่งแรกๆ ไม่ค่อยสะดวก สบาย เพราะพอมีแดดร้อนๆ ก็ร้อนแดด เหงื่อไหลไคลย้อย หรือพอมีลม มีฝนตกลงมา ก็จะต้องมุดเข้าเต็นท์นั่งจับเจ่าเพียงอย่างเดียว หรือแม้แต่พอดึกๆ น้ำค้างเริ่มลง ก็จะเปียกหัว เปียกพื้นไปหมด จึงเริ่มมีความคิดที่อยากมีฟลายชีทขึ้นมา ค้นดูข้อมูลในเวบ ซึ่งสมัยนั้นมีทางเลือกน้อยมาก และก้อเริ่มเหมือนหลายๆ ท่านคือ เลือกผืนเล็กๆ คือ 2*3 ม.พอจะคลุมเต็นท์และเหลือนิดหน่อยก้อพอ (ถ้าใครเห็นผืนสีเขียวของผม นั่นแหละครับผืนแรกของผม ยังอยู่นะครับ)

คราวนี้ปัญหาก้อตามมาต่อคือ จะกางฟลายชีทอย่างไรดี เพราะหลายๆ ครั้งผมไปคนเดียว แรกๆ ก้อคิดว่า คงต้องหาเหล็กแหลมๆ มาปักเป็นหลักหรือเอาไม้ไผ่มาตอกเป็นหลัก แล้วมัดเสาเต็นท์ไว้ให้ตั้งอยู่ได้ แต่พอเอาเข้าจริง มันไม่ง่าย ยากจัง เลยแก้ปัญหาโดยการตอกสมอบกกับมุมฟลายชีทตามความยาวให้ติดพื้น โดยติดพื้นทางด้านหลังของตัวเต็นท์ แล้วดึงมาด้านหน้าเต็นท์เอาเสามาคล้อง เอาเชือกมาผูกกับปลายเสาโยงกับเชือกแล้วตอกสมอบก เออ! พอได้ๆ

พอใช้ไปสัก 2-3 ครั้ง เริ่มรู้สึกว่า ฟลายชีทเริ่มไม่ใหญ่พอ เพราะผืนมันแค่ 2*3 ม. ถ้าลมหรือฝนตกลงมา ซึ่งมันไม่ได้ทำมุม 90 องศาซะหน่อย ฟลายชีทผืนแค่นี้ มันไม่มีทางกันได้แน่นอน จึงเริ่มหาผืนใหญ่ขึ้น กลายเป็น 3*3 ม. ก็ยังไม่พอ จนกลายมาเป็น 3*4 ม. เออ! ค่อยพอหน่อย และค่อยๆ เริ่มหาอุปกรณ์ที่ต้องใช้ควบคู่ไปกับฟลายชีทเพิ่มขึ้น คือ


อันดับแรก เสาเต็นท์ ซึ่งเราคุ้นเคยกับแบบ 3 ท่อน แต่ก้อมีปัญหาที่สายยางยืดมักจะขาด (ซึ่งต่อมาอีกหลายปีถึงจะหาวิธีแก้ได้ โดยใช้เทปผ้าพันยางยืดตรงที่เป็นรอยต่อระหว่างท่อนให้แข็งแรง) จึงได้แบบมือหมุนสไลด์ยืดหดได้ เอ! มันก้อเข้าท่านี่หว่า เท่ด้วย เพราะไม่ต้องกลัวว่ายางยืดจะขาด แต่พอใช้ไปได้ซักหน่อยก็เริ่มรู้ปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาฝนตก เพราะจะมีแรงลมกดลงมาค่อนข้างมาก ยิ่งสไลด์ความยาวให้มากที่สุด จะรู้ว่ามันไม่มั่นคงที่จะรับแรงมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลมแรงๆ อย่างที่เขาแหลมหญ้า ทับเบิก พะเนินทุ่ง และใช้ไปซะหน่อย เกลียวจะเริ่มหวาน (ล็อตไม่อยู่) ซึ่งแก้โดยหาแหวนแบบรัดท่อน้ำในร้าน 20 บาทมารัดช่วย แต่ถ้าเก็บไม่ดี มันจะหลุดหาย  หรือแบบที่มีหางปลาหมุนล็อคช่วย หางปลาก้อดันมาหักซะอีก ต้องหาเหรียญบาทมาหมุนแทน วุ่นวายน่าดู



อันดับที่สองคือ สมอบก ซึ่งสมัยนั้น สมอบกหาได้ง่ายในห้างโลตัส แต่ความหนาของเหล็ก ไม่เยอะ บางอันก้อยาว บอบบาง และราคาแพง ยิ่งใช้ค้อนเหล็กแบบบ้านๆ ตอก โอ้ย! งอมาเยอะ จนไม่อยากซื้อสมอบกใหม่ เพราะตอนนั้นยังไม่มีความคิดที่จะใช้ค้อนยางตอกสมอบกเลย ในที่สุดก้อได้สมอบกเหล็กกลม หนาและยาวมาได้ และเจอค้อนยางจึงใช้แทนค้อนเหล็ก ทำให้สมอบกงอน้อยลง และได้ไอเดียที่จะใช้ค้อนดัดสมอบกที่มันงอขึ้นมา แทนที่จะซื้อใหม่ ตอนนี้ สมอบกแบบเก่าๆ ของผมจึงมีอยู่บานเบอะเลยครับ แฮร่! (แถมเก็บได้เพิ่มเกือบทุกที่ที่ไปเที่ยว เพราะงอและไม่ได้พันเทปสีสดๆ ที่หัว เพื่อสังเกตง่าย)



อันดับที่สามคือ เชือก ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่ถูกมองข้าม เพราะเราถูกให้คิดว่า เชือกที่ได้มากับเต็นท์หรือฟลายชีทก็ใช้ได้แล้ว ซึ่งแท้จริงแล้ว ส่วนใหญ่มันเล็กเกินไปคือประมาณ 1-2 มม.เท่านั้น นอกจากนั้นสีของมันก็สังเกตุได้ยากในตอนกลางคืน คือส่วนมากเป็นสีดำสลับขาวนิดหน่อย ทำให้เวลากลางคืนจะเดินสะดุดสายเชือกกันมาก จนบางครั้งถึงกับเชือกขาด หัวเกือบทิ่มเลยทีเดียวครับ เพื่อแก้ปัญหา บางท่านก็จะเอาถุงก๊อบแก๊บมาพันเชือก หรือบางท่านลงทุนซื้อเชือกเรืองแสงเลยทีเดียว ผมจึงขอเล่าอย่างละเอียดให้ฟังครับ

ซักสิบปีที่แล้ว ผมอยากหาซื้อเชือกเพิ่มก็เดินไปดูในห้าง มีเหมือนกันเป็นเชือกไนล่อนสีแดงที่มีไส้อีกที ซึ่งแข็งกระด้าง ม้วนเก็บลำบาก แต่ที่สำคัญ ใช้กับตัวรั้งเชือกยากหน่อย คือค่อนข้างใหญ่คับรู ยิ่งเป็นตัวรั้งแบบ 3 รูแทบยัดไม่เข้า ต้องใช้แบบ 2 รู แต่เวลาลมหรือฝนแรงๆ มันจะลื่น รั้งไม่ค่อยอยู่ ซึ่งจะเหมือนกับแบบสีเขียวครับ หรือปัจจุบันในร้าน 20 บาท ซึ่งมีแบบสีน้ำตาลก็ตาม เนื่องจากมันจะลื่นเหมือนกับตัวสีแดงนั่นแหละครับ นับเป็นเชือกรุ่นที่ 2 (รุ่น 1 คือติดมากับตัวเต็นท์)

ซัก 5-6 ปีก่อน เมื่อเดินที่คลองถม เริ่มเจอกับเชือกหลากหลายชนิดมากขึ้น ตั้งแต่เส้นเล็ก จนถึงเส้นนิ่มๆ ใหญ่ขึ้นเป็น 2 มม. ราคาไม่แพงจึงเริ่มใช้เชือกแบบนั้น ซึ่งมีหลากหลายสีตั้งแต่สีแดง ส้ม ชมพู เขียวอ่อน ซึ่งพอใช้งานได้ แต่ก็ยังแก้ปัญหาเดินสะดุดในเวลากลางคืนไม่ค่อยได้อยู่ดี โดยเฉพาะคืนเดือนมืด และค่อนข้างนิ่ม จึงไม่แข็งแรง มั่นคงมากนักเมื่อต้องใช้แรงดึงหรือรั้งมากๆ เช่น เวลาลมหรือฝนแรงๆ นับเป็นรุ่นที่ 3

จนกระทั่งซัก 4 ปีที่แล้ว จึงได้สีขาวมา ซึ่งแก้ปัญหาได้ และมีขนาดเชือก 3 มม.ซึ่งใหญ่เพียงพอที่จะดึงเต็นท์หรือฟลายชีท ให้พอที่จะสู้กับแรงลม หรือฝนได้ดีพอสมควร แถมราคาก็ไม่ค่อยแพงนัก นับเป็นรุ่นที่ 4 แต่เนื่องจากคลองถม แหล่งเชือกของผมหายไปแล้ว การแสวงหาเชือกจึงค่อนข้างลำบาก แต่ในที่สุดผมโชคดีที่เจอร้านที่ต้องการ และโชคดียิ่งขึ้น เพราะเชือกที่ได้นี้ เป็นเชือกฝ้าย 100% ซึ่งเหมาะมาก เพราะจะทำให้มันลื่นยากเมื่อมีแรงดึงสูงๆ ยิ่งใช้กับเงื่อนผูกรั้ง แทบไม่มีโอกาสลื่นเลยครับ และการทอค่อนข้างแน่นมากกว่ารุ่นเดิม จึงแข็งแรงกว่า นับเป็นเชือกรุ่นที่ 5 รุ่นปัจจุบันครับ



และเนื่องจากผมมีเชือกที่ใช้กางฟลายชีทและเต็นท์อยู่หลายสิบเส้น และมีความสั้นยาวไม่เท่ากัน จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้เทปผ้ามาพันเปนวงๆ ละ 1 เมตร จำนวนวงขึ้นกับความยาวของเชือก และใช้สีที่แตกต่างกัน ยิ่งทำให้ง่ายต่อการเลือกใช้ว่า เส้นนี้เปนของเสากลาง หรือเสามุม เปนต้น



และหากเป็นเมื่อก่อนก้อจะใช้วิธีม้วนทบหัวและปลายเชือกทบกันไปเรื่อยๆ แล้วเอามาจับมัดกัน เมื่อเวลาจะใช้ก้อแกะออกมาใช้งาน ซึ่งหากเชือกมีความยาวสัก 5 เมตรขึ้นไป บางครั้งก็อาจจะพันกันยุ่งเหยิงได้ จนกระทั่งวันหนึ่ง ได้เห็นคลิปหนึ่งในยูทูบของฝรั่ง เขาสาธิตวิธีม้วนเก็บเชือกแบบเลข 8 ซึ่งมันง่ายมากๆ เวลาจะใช้เชือกก้อแค่กระตุกเชือกเท่านั้น มันก้อคลายปมออกมาอย่างง่ายดาย และไม่พันกันนุงนังด้วย และยิ่งภูมิใจมากขึ้น เมื่อคิดประยุกต์วิธีม้วนเก็บเชือกขึ้นเอง ทำให้สวย และสามารถพันเชือกที่มีความยาวน้อยกว่า 3 ม.หรือหากยาวมากกว่า 5 เมตรได้ง่ายและสวยขึ้นกว่าเดิม จนทุกวันนี้ ได้แนะนำเพื่อนๆ ที่กางเต็นท์ไปแล้วเกือบ 70 คนแล้วมั้งครับ ตั้งแต่เด็ก 10 ขวบ จนกระทั่งอายุ 78 ปีเลยครับ



และเริ่มมาถึงปัญหาของอุปกรณ์ที่สำคัญอีกตัว ซึ่งหนักใจมากที่สุดคือ อันดับที่สี่ ตัวรั้งเชือก เพราะสมัยนั้น แบบ 3 รู หาไม่ได้ ไม่มีขาย มีติดมาเฉพาะที่เราซื้อเต็นท์เท่านั้น หาทั่วทุกเวบ ถึงมาได้แบบ 2 รู ก้อลองดู เอ! ทำไมมันรั้งไม่ค่อยอยู่หว่า ใช้ไม่ค่อยเวิร์ค (จนมาสังเกตเอาตอนนี้ได้จากที่เห็นในแบรนด์ดังๆ อ๋อ! เขาต้องใช้กับเชือกที่ค่อนข้างคับรู และไม่ลื่น เท่านั้นครับ เชือกที่ไม่เหมาะ ไม่มีทางรั้งอยู่ครับ) จนสุดท้ายมาถึงปี 2554 โชคดีที่มีนิตยสารเล่มหนึ่ง แถมวิธีผูกเงื่อนต่างๆ มาให้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เงื่อนผูกรั้ง ทดลองผูกตามแล้ว เออ! มันเวิร์คมากๆ เลย หลังจากนั้น ตัวรั้งเชือก แบบ 3 รู หรือ 2 รูก้อเป็นอนุสรณ์ไปเลย อิอิ และจนกระทั่งแนะนำไปแล้วเกือบ 70 กว่าคนแล้ว แต่ถ้าเชือกเขาเปียกแล้ว ควรจะตากแดดให้แห้งก่อนเก็บ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนานๆ จะใช้ซักครั้ง เพราะเชื้อราอาจจะทำลายเชือกได้ครับ


จนเที่ยวมาหลายๆ ทริป จนมาที่เขาแหลมหญ้า กางตรงมุมมหาชนคือ ด้านขวามือของสะพานท่าเทียบเรือ จนได้เรื่อง คือลมแรงจนกระทั่งหูฟลายชีทขาด เลยซื้อผืนใหม่ และอีกครั้งที่พะเนินทุ่ง คราวนี้สนุกสนานเลย เพราะฝนตกหนัก ลมก้อแรง พัดจนรูตาไก่ขาด ฟลายชีทล้มกลางสายฝน เปียกปอนไปหมด สนุกสนานปนเศร้า ต้องกลับไปให้ร้านอุปกรณ์เดินป่าชื่อดังซ่อมรูตาไก่ โดยเสริมหนังเทียมแล้วตอกตาไก่ให้ใหม่ ในใจคิดกระหยิ่ม ว้าว! คราวนี้แหละ ไม่ต้องกลัวลมฝนแล้ว ก้อไปอีก คราวนี้ไปมอหินขาว ซึ่งลมกำลังแรงทีเดียว ไม่กลัวหรอก เพราะตอกตาไก่บนหนังเทียมแล้ว จนกระทั่งวันรุ่งขึ้น โอ้ย! ฝาที่ตอกปิดตาไก่มันกำลังจะหลุดแล้ว เพราะปลายเสาและเชือกมันรั้งแรงมาก เนื่องจากลมมันพัดบนฟลายชีทแรงมากๆ กลายเป็นแรงกดมหาศาล จนเป็นที่มาปัจจุบันที่ใครสังเกตได้ เมื่อมาที่ฟลายชีทของผมคือ เย็บด้ายเสริมรอบรูตาไก่ รวมทั้งห่วงหรือหูของฟลายชีท
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่