ชมเจดีย์เมืองสรรค์

เมืองสรรค์หรือเมืองแพรกเป็นเมืองดั้งเดิมของชัยนาท สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ยุคสุโขทัย ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีการตั้งชุมชนใหม่ไม่ไกลจากเมืองสรรค์ แล้วในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ย้ายเมืองใหม่นั้นมาตั้งบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้คนส่วนใหญ่อพยพมาอยู่ที่เมืองใหม่ที่เรียกว่า ชัยนาท ปัจจุบันเมืองสรรค์เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชัยนาท ในชื่อ อำเภอสรรคบุรี (แต่ก่อนออกเสียงกันว่า สัน-บุ-รี แต่ต่อมีการเปลี่ยนการเรียกชื่ออำเภอให้ถูกต้องตามตัวสะกด ปัจจุบันเรียกว่า สัน-คะ-บุ-รี) จากประวัติความเป็นมาของเมืองที่ยาวนาน สรรคบุรีจึงมีวัดวาอารามและเจดีย์เก่าแก่ให้ได้ชม ได้แก่

วัดพระแก้ว เป็นที่ตั้งของ “ราชินีแห่งเจดีย์ทั้งมวลในเอเชียอาคเนย์” ซึ่งมีลักษณะผสมผสานของศิลปะที่หลากหลายแต่ลงตัว ไม่มีที่ใดเหมือน องค์เจดีย์มีฐานสี่เหลี่ยม เป็นเจดีย์แบบละโว้ทรงสูงผสมกับทวารวดีตอนปลาย ฐานเรือนธาตุแบบลดท้องไม้ เป็นศิลปะสมัยสุโขทัยผสมกับศรีวิชัย
ผู้ที่ตั้งสมญานามราชินีแห่งเจดีย์ให้กับองค์พระเจดีย์ที่วัดพระแก้วคือ น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฏะ) ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ. ศ. 2535 เมื่อคราวที่เดินทางมาเที่ยวชมศิลปะที่สรรคบุรีราว 40 ปีก่อน







วิหารด้านหน้าเจดีย์เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อฉาย” พระพุทธรูปหินทรายปิดทอง ด้านหน้ามีลักษณะเหมือนพระพุทธรูปทั่วไป แต่ด้านหลังมีทับหลังรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณในเรือนแก้วฝังอยู่ในองค์พระ ในลักษณะกลับหัว ทับหลังนี้เป็นศิลปะขอม มีอายุกว่าพันปี เป็นการนำโบราณวัตถุมาสร้างเป็นองค์พระพุทธรูป ทับหลังที่กลับหัวนั้นมีการตีความตามปริศนาธรรมว่า “ผู้ที่ต้องการความสำเร็จสูงสุดเช่นพุทธองค์ จะต้องรู้จักปฏิบัติทวนกระแสแห่ง โลภะ โทสะ โมหะ ถึงจะพบความสุขในชีวิต”





วัดมหาธาตุ เดิมเรียกวัดหัวเมือง หรือวัดศีรษะเมือง สร้างในสมัยอู่ทอง และมีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
ภายในวัดมีปรางค์กลีบมะเฟือง 3 องค์ มีฐานแปดเหลี่ยม ย่อมุมไม้ยี่สิบ เป็นศิลปะสมัยลพบุรีที่หาดูได้เฉพาะที่นี่และวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี เท่านั้น



มีกลุ่มเจดีย์รายเป็นแถว มียอดทรงปราสาท ซุ้มบนองค์เจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ รอบด้าน









ถัดจากกลุ่มเจดีย์เป็นซากวิหาร มีพระประธานปูนปั้นเด่นตระหง่านอยู่กลางแจ้ง ทั้งเจดีย์และองค์พระมีร่องรอยผ่านการบูรณะ แต่ยังคงมีลักษณะศิลปะแบบโบราณ









วัดพระยาแพรก เป็นวัดร้าง ตั้งอยู่ในซอยริมรั้วด้านเหนือของวัดมหาธาตุ มีโบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ก่ออิฐถือปูนรูปแปดเหลี่ยมทรงสูง สมัยอยุธยาตอนต้น กรมศิลปากรได้บูรณปฏิสังขรณ์ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ เป็นเจดีย์ที่งดงามมากองค์หนึ่ง



วัดสองพี่น้อง “เจ้าอ้าย เจ้ายี่ และเจ้าสาม ลูกเจ้าเมืองเป็นพี่น้องกัน 3 คน เมื่อเจ้าเมืองถึงแก่กรรม เจ้าสามได้ยุยงให้เจ้าอ้ายและเจ้ายี่รบกันเพื่อแย่งราชสมบัติ เจ้าอ้ายและเจ้ายี่เสียชีวิตทั้งคู่ เจ้าสามจึงได้ครองเมือง แล้วสร้างปรางค์องค์ใหญ่ให้เจ้าอ้าย สร้างเจดีย์แปดเหลี่ยมองค์เล็กให้เจ้ายี่”
ข้อความดังกล่าวเป็นตำนานเกี่ยวกับเจดีย์ 2 องค์ ในวัดสองพี่น้อง ซึ่งคล้ายกับพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่ว่า



ในสมัยของพระนครอินทร์ (พระอินทราชาธิราชที่ 1) นั้น พระองค์ได้ส่งโอรส 3 องค์ไปครองเมืองต่างๆ รอบอาณาจักร คือ เจ้าอ้าย โอรสองค์โตไปครองสุพรรณบุรี เจ้ายี่ โอรสองค์รองไปครองเมืองแพรก (อ. สรรคบุรี จ. ชัยนาทในปัจจุบัน) เจ้าสามพระยาโอรสองค์ที่ 3ไปครองเมืองชัยนาท (สันนิษฐานว่าเมืองชัยนาทเดิมอยู่ในเขต จ.พิษณุโลกในปัจจุบัน) เมื่อพระนครอินทร์สวรรคต โอรสทั้งสามก็แย่งราชสมบัติกัน โดยที่เจ้าอ้ายและเจ้ายี่ทำการชนช้างกันและสิ้นพระชนม์ทั้งคู่ ตรงบริเวณที่เรียกว่าสะพานถ่านด้านหน้าของวัดราชบูรณะและวัดมหาธาตุที่อยุธยา เจ้าสามพระยาเลยได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า พระบรมราชาธิราชที่ 2 กษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งอยุธยา

วัดโตนดหลาย ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับวัดสองพี่น้อง มีเจดีย์ทรงดอกบัวตูม หรือที่เรียกว่า ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ศิลปะแบบสุโขทัย เป็นหลักฐานยืนยันว่า สุโขทัยเคยมีอำนาจบนแผ่นดินนี้ ซึ่งเจดีย์ทรงนี้ส่วนใหญ่แล้วจะพบได้ในสุโขทัยและเขตใกล้เคียงเท่านั้น






สำหรับผู้ที่ชื่นชอบวัดวาอารามและเจดีย์เก่าแก่ สรรคบุรีเป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่น่าแวะชม โดยอำเภอสรรคบุรี อยู่บนทางหลวงหมายเลข 340 ช่วงสุพรรณบุรี – ชัยนาท อยู่ห่างจากอำเภอเมืองชัยนาท 20 กิโลเมตร
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่