[Preview] Kung Fu Yoga - ตำนานฟัดกลับมาอีกครั้งละนายจ๋า

ถือว่าเป็นเดือนของเฉินหลง เพราะเฉพาะเดือนนี้ (ม.ค. 2560) มีหนังของเฉินหลงเข้าฉายในไทยในช่วงไล่เลี่ยกันถึง 2 เรื่อง คือ "Railroad Tigers" หรือ "ใหญ่-ปล้น-ฟัด" และที่กำลังจะเข้าฉายคือ "Kung-Fu Yoga" หรือ "โยคะสู้ฟัด" ซึ่งเรื่องหลังนี่พิเศษตรงที่เป็นการลงฉายในช่วงตรุษจีน ซึ่งเป็นธรรมเนียมมาหลายปีแล้วว่า พอถึงช่วงตรุษจีนในไทย มักจะมีหนังเฉินหลงเข้ามาฉาย ความพิเศษอีกประการนี่คือการรวมกลุ่มของทีมงานวิ่งสู้ฟัด และครั้งนี้ไม่ได้ฟัดกันแค่ในจีน แต่พากันไปฟัดถึงอินเดียอีกด้วย




เฉินหลง - สแตนลีย์ ตง : ตำนานฟัด


ปัจจุบันเฉินหลงมีผลงานในลิสต์แล้วกว่า 200 เรื่อง จากการกำกับของผู้กำกับมากมาย ซึ่งหนึ่งในผู้กำกับคู่บุญของเฉินหลงคงหนีไม่พ้น "สแตนลีย์ ตง" (Stanley Tong) โดยผลงานแรกที่สแตนลีย์ ตง ได้ร่วมงานกับเฉินหลงในฐานะผู้กำกับก็คือ "Police Story 3: Super Cop" หรือ "วิ่งสู้ฟัดภาค 3" เมื่อปี 1992 ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม รวมถึงผลงาน "Rumble in the Bronx" หรือ "ใหญ่สู้ฟัด" เมื่อปี 1995 ก็กลายเป็นหนังที่ทำให้เฉินหลงได้รับความนิยมในอเมริกาเป็นอันมาก จนถึงตอนนี้สแตนลีย์ ตง กำกับหนังให้เฉินหลงไปแล้ว 7 เรื่อง คือ

    1. Police Story 3: Super Cop หรือ วิ่งสู้ฟัด 3 (1992)
    2. Rumble in the Bronx หรือ ใหญ่ฟัดโลก (1995)
    3. Police Story 4: First Strike หรือ ใหญ่ฟัดโลก 2 (1996) [ในไทยใช้ชื่อว่าใหญ่ฟัดโลก 2 แทนที่จะเป็นวิ่งสู้ฟัด 4 เพราะใหญ่ฟัดโลกดันดังมากในไทยตอนนั้น]
    4. China Strike Force หรือ เหิรเกินนรก (2000)
    5. The Myth หรือ ดาบทะลุฟ้า ฟัดทะลุเวลา (2005)
    6. Chinese Zodiac หรือ วิ่ง ปล้น ฟัด (2012)
    7. Kung Fu Yoga หรือ โยคะสู้ฟัด (2017)




ทำไมต้อง 'ฟัด'


อาจเป็นที่สงสัยว่าทำไมหนังของเฉินหลง ต้องมีชื่อไทยว่า 'ฟัด' หรือไม่ก็ 'ใหญ่' อยู่ในชื่อเรื่องเสมอ อย่าง Kung Fu Yoga ก็เช่นกัน ที่ใช้ชื่อไทยว่า "โยคะสู้ฟัด" แม้ว่าคำว่าฟัดจะไม่ค่อยตรงกับความหมายชื่อเรื่องดั้งเดิมก็ตาม เหตุผลก็เพราะตามธรรมเนียมการตั้งชื่อไทยสมัยก่อน ถ้านัดแสดงดังจากเรื่องใดแล้ว เรื่องต่อไปที่เข้าฉายในไทย ก็จะมีคำคีย์เวิร์ดจากเรื่องก่อนมาประกอบเสมอ

สำหรับเฉินหลง ก่อนที่จะมาเป็น'ฟัด' นั้น ชื่อไทยประจำตัวของเฉินหลงคือ "ไอ้หนุ่ม" โดยเรื่องแรกที่ใช้ชื่อไทยชื่อนี้คือ "Half a Loaf of Kung Fu" หรือ "ไอ้หนุ่มหมัดคัน" และมาโด่งดังสุดๆ กับ "Drunken Master" หรือที่ไทยรู้จักกันในชื่อ "ไอ้หนุ่มหมัดเมา" เมื่อปี 1978

ต่อมาเฉินหลงเปลี่ยนจากการเล่นหนังกังฟูอย่างเดียว มาเล่นพวกหนัง Action ยุคปัจจุบันมากขึ้น ซึ่ง "Police Story" เมื่อปี 1985 เป็นหนึ่งในผลงานอันโด่งดังของเฉินหลง โดยเรื่องนี้ใช้ชื่อไทยว่า "วิ่งสู้ฟัด" ถือเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่าฟัด ในชื่อไทยของหนังเฉินหลง อย่างไรก็ตาม นอกจากคำว่าฟัดแล้ว ในตอนนั้นก็ยังมีคำว่า "ใหญ่" ที่เป็นที่นิยมในการตั้งชื่อหนังเฉินหลงไม่แพ้กัน โดยมีที่มาจากเรื่อง "Armour of God" หรือ "ใหญ่สั่งมาเกิด" ซึ่งออกฉายในปี 1986 ในยุค 90's หนังส่วนใหญ่ของเฉินหลงจึงใช้ทั้งคำว่า ฟัดและใหญ่ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ใหญ่ฟัดโลก ใหญ่เต็มฟัด คู่ใหญ่ฟัดเต็มสปีด คู่ใหญ่ฟัดข้ามโลก ฯลฯ

กระทั่งช่วงปี 2000 เป็นต้นมา ชื่อไทยของหนังเฉินหลงเริ่มกลับมามีแค่คำว่า "ฟัด" อย่างเดียว อาจเพราะช่วงนั้น เฉินหลงกลับมาเล่นหนังสเกลระดับในประเทศอีกครั้ง จากที่ก่อนหน้านั้นโกอินเตอร์ไปหลายเรื่อง รวมถึงการกลับมาของ "Police Story 5" ที่กลับมาใช้ชื่อว่า "วิ่งสู้ฟัด 5" (หลังจากที่ภาค 4 ไปใช้ชื่อว่าใหญ่ฟัดโลก 2 แทน) ทำให้ 'ฟัด' กลายเป็นคำหลักเพียงคำเดียวไป ส่วนคำว่าใหญ่ นานๆ ที่ถึงจะมีการนำมาตั้งชื่อ

ด้วยเหตุนี้ ที่กล่าวกันว่า Kung Fu Yoga คือการกลับมาของตำนานฟัด ก็เนื่องจากสแตนลีย์ ตง และเฉินหลง เคยสร้างวิ่งสู้ฟัดให้โด่งดังด้วยกัน เมื่อทั้ง 2 มาทำงานร่วมกันอีกครั้ง จึงเป็นการกลับมาของตำนานฟัด




จาก "The Myth" ถึง "Kung Fu Yoga"


"Kung Fu Yoga" เป็นเรื่องราวของ "แจ๊ค" (เฉินหลง) ศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีชื่อดังแห่งพิพิธภัณฑ์นักรบดินเผาแห่งเมืองซีอาจ ประเทศจีน ที่ได้รับการร้องขอจาก ดร.แอชมิตา (ดิชา พาตานี) นักโบราณคดีสาวชาวอินเดีย ให้ช่วยตามหาสมบัติอาณาจักรโบราณที่สาบสูญ กลายเป็นการผจญภัยตามหาสมบัติ พาไปฟัดกันในหลายประเทศ ไม่ว่าจะจีน อินเดีย สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตต์ ไปจนถึงไอซ์แลนด์

จากตัวอย่างและเรื่องย่อแล้ว มีหลายอย่างชวนให้นึกถึง "The Myth" อันเป็นหนึ่งในงานที่สนุกของหนังเฉินหลง ทั้งชื่อและอาชีพของพระเอกที่เหมือนกัน การมีไปผจญภัยในอินเดีย เรื่องราวเกี่ยวกับการตามหาสมบัติโบราณ รวมไปถึงผู้กำกับยังคนเดียวกันคือ สแตนลีย์ ตง แต่ทั้ง 2 เรื่องจะถือว่าอยู่ในจักรวาลเดียวกันหรือไม่ คงต้องไปพิสูจน์กันในโรง




ดาวรุ่งพุ่งแรงจากจีน


นอกเหนือจากเฉินหลงแล้ว Kung Fu Yoga ยังมีความน่าสนใจตรงที่มีนักแสดงดาวรุ่งพุ่งแรงจากจีนมาร่วมฟัดด้วย คนแรกก็คือ "หลี่จื่อถิง" ที่รับบทเป็น "โจนส์" นักล่าสมบัติ ที่ลูกชายเพื่อนสนิทของแจ๊ค (เฉินหลง) สำหรับหลีจื้อถิงเข้าวงการจากการเป็นนักร้อง ก่อนเข้าสู่วงการแสดง มีผลงานที่คนไทยรู้จัก เช่น Cold War และซีรีส์บูเช็คเทียน ที่เล่นร่วมกับฟ่านปิงปิง จนมีข่าวกิ๊กกั๊กกันนอกจอ



ดาวรุ่งอีกคนในเรื่องก็คือ "เลย์ จาง" หรือ "จางอี้ชิง" สมาชิกวง EXO ที่ช่วงหลังหันมารับงานแสดงในบ้านเกิดมากขึ้น โดยใน Kung Fu Yoga เลย์รับบทเป็นนักศึกษาปริญญาโทสาขาโบราณคดี ที่ให้ความเคารพแจ็คมาก จนกลายเป็นหนึ่งผู้ช่วยของเขา



ป.ล. นอกจากเลย์แล้ว ในเดือนนี้ยังมีหนังของอดีตสมาชิก EXO เข้าฉายถึง 3 เรื่อง คือ เทา ใน Railrald Tigers (เรื่องนี้นำแสดงโดย เฉินหลง เช่นกัน), ลู่หาน ใน Time Raiders (และอาจนับรวม The Great Wall ที่เข้าฉายช่วงปลายปีก่อนด้วยก็ได้) และ คริส ใน xXx 3 เท่ากับว่า เดือนนี้ สมาชิกและอดีตสมาชิกชาวจีนของ EXO ต่างมีผลงานหนังออกมาด้วยกันทุกคน


ตะลุยแดนภารตะ


นอกจากนักแสดงชาวจีนแล้ว Kung Fu Yoga ยังได้นักแสดงจากอินเดียมาเสริมทัพ นำโดย "ดิชา พาตานี" รองชนะเลิศมิสอินเดียปี 2013 ที่หันมารับจ๊อบงานแสดง โดยในเรื่องนี้ ดิชา รับบทเป็น "แอชมิตา" ศาสตราจารย์สาวชาวอินเดียที่ช่วยแจ๊คตามหาสมบัติของอาณาจักรที่สูญหาย



อีกคนคือ "โซนู ซูด" นักแสดงและโปรดิวเซอร์ชาวอินเดีย ที่มีผลงานในวงการบอลลีวู้ดมากว่า 17 ปี ซึ่งเรื่องนี้รับบทเป็น "แรนดัลล์" ผู้สืบทอดเชื้อสายจากผู้นำกบฏอาณาจักรที่สาบสูญ




Kung Fu Yoga เข้าฉาย 26 มกราคมนี้ ต้อนรับตรุษจีน ใครชอบหนังเฉินหลงไม่ควรพลาดครับ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่