พันท้ายนรสิงห์ในตำนานที่เรียนๆกันมานี่ตรงกับเรื่องจริงแค่ใหนครับ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


เคยได้ยินมาว่ามีการเเต่งเพิ่มในยุคกรุงรัตนโกสินทร์มีการเสริมแต่งอีกพอสมควร

โจรที่จะมาดักทำร้ายพระเจ้าเสือไม่มีจริง ตัวละครแม่นวลก็มาจากละครเวที

แต่ในปัจจุบันดันมีศาลของแม่นวลด้วย...
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 3
พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติช มิวเซียม ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า

“ลุศักราชได้ ๑๐๖๖ ปีวอก ฉศก ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสด็จด้วยเรือพระที่นั่งเอกชัย จะไปประพาสทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสาครบุรี ครั้นเรือพระที่นั่งไปถึงตำบลโคกขาม และครองที่นั้นคดเคี้ยวนัก และพันท้ายนรสิงห์ซึ่งถือท้ายเรือพระที่นั่งคัดแก้ไขมิทันที และศีรษะเรือพระที่นั่งนั้นโดนกระทบกิ่งไม้อันใหญ่เข้า ก็หักตกลงในน้ำ พันท้ายนรสิงห์เห็นดังนั้นก็ตกใจ จึ่งโดดขึ้นเสียจากเรือพระที่นั่ง และขึ้นอยู่บนฝั่งแล้วร้องกราบทูลพระกรุณาว่า ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้า พระราชอาญาเป็นล้นเกล้า ขอจงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ทำศาลขึ้นที่นี้สูงประมาณเพียงตา แล้วจงตัดเอาศีรษะข้าพระพุทธเจ้ากับศีรษะเรือพระที่นั่งซึ่งหักตกน้ำลงไปนั้น ขึ้นบวงสรวงไว้ด้วยกันที่นี้ ตามพระราชกำหนดในบทพระอัยการเถิด

จึ่งมีพระราชโองการตรัสว่า ไอ้พันท้ายซึ่งโทษเอ็งนั้นถึงตายก็ชอบอยู่แล้ว แต่ทว่าบัดนี้กูจะยกโทษเสีย ไม่เอาโทษเอ็งแล้ว เอ็งจงคืนมาลงเรือไปด้วยกูเถิด ซึ่งศีรษะเรือที่หักนั้น กูจะทำต่อเอาใหม่ แล้วเอ็งอย่าวิตกเลย พันท้ายนรสิงห์จึ่งกราบทูลว่า ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดมิให้เอาโทษข้าพระพุทธเจ้านั้น พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ แต่ทว่าจะเสียขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดกฎหมายไป และซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมาละพระราชกำหนดสำหรับแผ่นดินเสียดงนี้ ดูมิควรยิ่งนัก นานไปภายหน้าเห็นว่าคนทั้งปวงจะล่วงครหาติเตียนดูหมิ่นได้ และพระเจ้าอยู่หัวอย่าทรงพระอาลัยแก่ข้าพระพุทธเจ้าผู้ถึงแก่มรณโทษเลย จงทรงพระอาลัยถึงพระราชประเพณี อย่าให้เสียขนบธรรมเนียมไปนั้นดีกว่า อันพระราชกำหนดมีมาแต่บุราณนั้นว่า ถ้าและพันท้ายผู้ใดถือท้ายเรือพระที่นั่ง ให้ศีรษะเรือพระที่นั่งนั้นหัก ท่านว่าพันท้ายผู้นั้นถึงมรณโทษ ให้ตัดศีรษะเสีย และพระเจ้าอยู่หัวจงทรงพระกรุณาโปรดให้ตัดศีรษะข้าพระพุทธเจ้าเสีย ตามโบราณราชกำหนดนั้นเถิด จึ่งมีพระราชดำรัสสั่งให้ฝีพายทั้งปวง ปั้นมูลดินเป็นรูปพันท้ายนรสิงห์ขึ้น แล้วก็ให้ตัดศีรษะรูปดินนั้นเสีย แล้วดำรัสว่าไอ้พันท้าย ซึ่งโทษเอ็งถึงตายนั้น กูจะประหารชีวิตเอ็งเสีย พอเป็นเหตุแทนตัวแล้ว เอ็งอย่าตายเลย จงกลับมาลงเรือไปด้วยกับกูเถิด

พันท้ายนรสิงห์เห็นดังนั้น ก็มีความละอายนัก ด้วยกลัวว่าจะเสียพระราชกำหนดโดยธรรมเนียมโบราณไป เกรงคนทั้งปวงจะครหาติเตียนดูหมิ่นในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งตนได้ สู้เสียสละชีวิตของตัวมิได้อาลัย จึ่งกราบทูลไปว่าขอพระราชทานซึ่งทรงพระกรุณาโปรดข้าพระพุทธเจ้าทั้งนี้ พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ แต่ทว่าซึ่งตัดศีรษะรูปดินแทนตัวข้าพระพุทธเจ้าดังนี้ ดูเป็นทำเล่นไป คนทั้งหลายจะล่วงครหาติเตียนได้ ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาโปรดตัดศีรษะข้าพระพุทธเจ้าเสียโดยฉันจริงเถิด อย่าให้เสียขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดไปเลยข้าพระพุทธเจ้าจะขอกราบทูลฝากบุตรภรรยาแล้ว ก็จะกราบถวายบังคมลาตายไปโดยลักษณยถาโทษอันกราบทูลไว้นั้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินตรัสได้ทรงฟังดังนั้น ก็ดำรัสวิงวอนไปเป็นหลายครั้ง พันท้ายนรสิงห์ก็มิยอมอยู่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาภาพแก่พันท้ายนรสิงห์เป็นอันมาก จนกลั้นน้ำพระเนตรนั้นไว้มิได้ จำเป็นจำทำตามพระราชกำหนด จึ่งดำรัสสั่งนายเพชฌฆาตให้ประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์เสีย แล้วให้ทำศาลขึ้นสูงเพียงตา และให้เอาศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับศีรษะเรือพระที่นั่งซึ่งหักนั้น ขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาลนั้น แล้วให้ออกเรือพระที่นั่งไปประพาสทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสาครบุรี แล้วเสด็จกลับยังพระมหานคร และศาลเทพารักษ์ที่ตำบลโคกขามนั้น ก็มีปรากฎมาตราบเท่าทุกวันนี้

จึ่งพระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชดำริว่า ณ คลองโคกขามนั้นคดเคี้ยวนัก คนทั้งปวงจะเดินเรือเข้าออกก็ยาก ต้องอ้อมวงไปไกลกันดารนัก ควรเราจะให้ขุดลัดตัดเสียให้ตรงจึ่งจะชอบ อนึ่งพันท้ายนรสิงห์ซึ่งตายเสียนั้น เป็นคนสัตย์ซื่อมั่นคงนัก สู้เสียชีวิตมิได้อาลัย กลัวว่าเราจะเสียพระราชประเพณีไป เรามีความเสียดายนัก ด้วยเป็นข้าหลวงเดิมมาแต่ก่อน อันจะหาผู้ซึ่งรักใคร่ ซื่อตรงต่อเจ้า เหมือนพันท้ายนรสิงห์นี้ยากนัก แล้วดำรัสให้เอากเฬวรพันท้ายนรสิงห์นั้น มาแต่งการฌาปนกิจพระราชทานเพลิง และบุตรภรรยานั้นก็พระราชทานเงินทอง สิ่งของเป็นอันมาก”

---------------------------------------

ในพงศาวดารที่ค้นคว้ากันมานั้นมีข้อความประมาณเท่านี้ และมีการกล่าวถึงบุตรภรรยาด้วย ส่วนเนื้อเรื่องที่เป็นหนังเป็นละครมานั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ทรงนิพนธ์เป็นบทละครเวทีก่อน และหลังจากนั้นก็มีการใช้พลอตในแนวเดียวกันเรื่อยมา

ตัวละคร นวล นั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ทรงนิพนธ์ขึ้นเอง รวมทั้งพลอตเรื่องทั้งหมดที่กล่าวถึงสาเหตุที่พันท้านรสิงห์คัดหัวเรือให้ชนต้นไม้หักด้วย ศาลของแม่นวลนั้นสร้างขึ้นมาในยุคหลัง หลังการสร้างละครเวทีครั้งที่สองในปี พ.ศ.2508 แน่นอน เพราะมีรูปถ่ายยืนยันในสมัยดังกล่าวว่ามีเพียงศาลเดียวมาก่อน



ภาพเรือตำรวจน้ำ นำคณะผู้สร้างผู้แสดงละครพันท้ายนรสิงห์ไปบวงสรวงศาลพันท้าย ในปีพุทธศักราช 2508 ซึ่งในยุคนั้นยังไม่มีเส้นทางรถยนต์ไปถึงได้ ต้องไปทางเรือเท่านั้น



ภาพขณะทำการบวงสรวงศาลพันท้ายนรสิงห์ ซึ่งในเวลานั้นมีศาลเดียวเท่านั้น ผู้ที่กำลังสัการะอยู่บนศาลคือ ชาติ (สักกะ) จารุจินดา บิดาของ ดวงดาว จารุจินดา นักแสดงและนักพากษ์อาวุโสที่ยังคงแสดงละครอยู่จนทุกวันนี้



ในภาพ วันบวงสรวงศาลพันท้ายนรสิงห์ที่สมุทรสาคร พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลทรงยืนถือกล้องอยู่ ขณะที่ อำนวย กลัสนิมิ หรือ ครูเนรมิต กำลังช่วย กำธร สุวรรณปิยะศิริ แต่งตัวในชุดพันท้าย ในภาพจะเห็น จำรูญ หนวดจิ๋ม (จำรูญ น้อยทิพย์ ยืนกุมมือถือม้วนกระดาษ) กำลังดูการแต่งตัวอยู่ และบนศาลาหม่อมปริม หม่อมในพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล สวมแว่นตาดำยืนอยู่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่