[CR] ลุงกับป้าแบ็คแพ็ครอบโลก ตะลุยสหรัฐ เม็กฯ เมกากลาง เมกาใต้ อัฟริกา 26ประเทศ74วัน ตอน21 พิรามิดTazumal Santa Ana El Salvad

ลุงกับป้าแบ็คแพ็ครอบโลก ตะลุยสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก อเมริกากลาง อเมริกาใต้ และอัฟริกา 26 ประเทศ 74 วัน ตอนที่ 21 พิรามิด Tazumal และ เมืองอาณานิคม Santa Ana, El Salvador
(ตอนอยู่ตปท. ภาพนิ่งล้นไอโฟน จึงลบออกหลังโพสต์เพจแล้ว ส่วนพันทิปโหลดหน้ารีวิวไม่ได้ ต้องกลับมาทำใทย ตอนนี้ขอให้ชมยูทูปไปก่อน ถ้ารีบชมภาพนิ่ง ให้ไปที่เพจ ลุงกับป้าแบ็คแพ็ครอบโลก)

https://www.youtube.com/watch?v=S3KmPBKxg2Q&list=PLNNEpgjidh3oCKG68o2D1556PUm4cZ-IN&index=32

อาทิตย์ที่ 3 ก.ค. ออกจากห้องเจอเจ้าของโรงแรมพอดี เขาพูดเก่ง และแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวได้ จากเป้าหมายเดิมจะไปปิรามิดที่อยู่ใกล้ๆ เขาแนะนำให้ไปปิรามิดใหญ่ ในแผนที่มีชื่อ Chalchuapa อยู่ใกล้เมือง Santa Ana บ้านเกิดของเขา ที่นั่นเป็นเมืองใหญ่มีอะไรให้ดูมากมาย
แต่ปิรามิดเล็กถึงแม้แผนที่จะดูใกล้ แต่รถวิ่งวน ใช้เวลานาน พอไปถึงก็ไม่มีอะไรให้ดู นอกจากปิรามิด เขาเขียนตัวเลข และชื่อสถานที่ ให้ไปขึ้นรถสาย 4 ที่โรงพยาบาล โรซาเลส (Hospital Rosales) ไปที่ Terminal de Occidente เพื่อต่อสาย 202 ไปปิรามิด
เราไปตามที่เขาบอก ยืนรออยู่นานมาก เห็นแม่ค้าขายน้ำเป็นถุง วิ่งเอาขึ้นไปให้คนขับรถเมล์ ที่มาชะลอจอดรอกลางถนน เพราะเข้าป้ายไม่ได้ มีรถต้นทางจอดขวางอยู่ ดูว่า เปิดร้านมาขายให้คนขับรถโดยเฉพาะ ไม่รู้ว่า ถุงละเท่าไร ไม่น่าจะต่ำกว่า 10 เซ็นต์ และไม่ควรจะเกิน 25 เพราะเทียบเป็นเงินไทยก็ 3.50-9 บาท แค่น้ำใส่ถุงกัดดูด ไม่มีหลอดให้
สรุป เรายืนรอผิดป้าย ถาม แต่ละคน ได้คำตอบที่แตกต่าง เดินไปไกล จนลุงท้อ ต้องนั่งรอเป็นจุดๆ ให้ป้าวิ่งไปถาม คนขับรถสาย C-3 น่ารักมาก เขาบอกเราไปผิดที่ พอเขาผ่านป้ายที่เราอยู่ เขาจอดเรียกป้าขึ้นไปบนรถ แล้วเขียนให้ใหม่ ยกมือไหว้ด้วย....ป้ารับมาอ่าน ไม่เข้าใจหรอก แต่กลัวเขาเสียน้ำใจ ก็บอกว่า เข้าใจ ขอบคุณ แล้วเดินลงจากรถ

พอดีมีนางกับนายพยาบาลเดินข้ามถนนมาจากรพ.มหาวิทยาลัยฝั่งตรงข้าม พวกเขาก็พูดไม่ได้หรอก แต่เขียนตัวเลข 4 Hospital Rosales ---Terminal Occidente ....202 ----- Chalchuapa & Santa Ana เป็นอันเข้าใจ เขาพูดบอกทางพร้อมภาษามือ ลุงจะไม่ยอมไป บอกว่า เราก็ไปยืนรออยู่นั่นตั้งนาน ไปก็ไม่ใช่ ป้าบอกว่า เราเชื่อแม่ค้า แค่คนเดียว แต่คนที่บอกให้เราไปทางนั้นมีหลายคน ย่านนั้นเป็นย่านโรงพยาบาล และมหาวิทยาลัย เราอาจจะไปยังไม่ถึงป้าย....แล้วก็เป็นตามนั้น คนบอก คิดว่าเรา ฉลาด 🙂 พอเราเห็นซ้ายก็รพ. ขวาก็ รพ. หน้าก็ใช่ หลังก็ใช่ เราก็คิดว่ามันใช่....ความจริงต้องเดินข้ามถนน ไปอีกถนนหนึ่ง ซึ่งเป็นด้านหน้าของโรงพยาบาล ที่ปิดประตูรั้ว มีรปภ.ยืนถือปืน ดูพิรุธคน ก่อนเข้า ออก 😣

รถ R-4 จอดรออยู่ที่ป้ายแล้ว...ป้าเอาสิ่งที่เขียนไว้ให้ดู เขาพยักหน้า ค่ารถคนละ $.25 นั่งไปแค่ 10 นาที ก็ถึงแล้ว แต่ต้องเดินเข้าไปในโพรงตลาด ซึ่งมีประตูเหล็ก ที่น่าจะเปิดเฉพาะตอนกลางวัน มีรปภ. ถือปืนยืนอยู่ตรงทางเข้า เดินทะลุไปเป็นท่ารถ ป้าเอากระดาษใบเดิมให้คนที่ยืนอยู่ข้างรถดู เขาชี้ไปที่ช่องขายตั๋ว ได้ตั๋วแล้วเขาชี้ให้ขึ้นรถ คันนั้นแหละ คนที่ชี้ให้ไปซื้อตั๋ว คือ คนขับรถ กว่ารถจะออกก็กิน Popusas ที่แม่ค้าเรียกว่า ปู้ซัส 3 แผ่น $ 1 หมดพอดี เวลา 09.30 น. รถค่อยๆ คลานออกจากท่า ขอบอกว่า เหมือนนั่งเรือที่คนพายขี้เกียจ น่าจะวิ่งด้วยความเร็ว 10 กม. ต่อ ชั่วโมง
ลุงบอกว่า เป็นรถเมล์ที่วิ่งช้าที่สุดในโลก คงกลัวถึงเร็ว วิ่งถ่วงเวลาเพิ่อเก็บผู้โดยสาร วิ่งเร็วก็ไปใกล้คันที่ออกก่อน และเก็บผู้โดยสารล่วงหน้าไปแล้วไม่ได้ วิ่งช้าเป็นการถ่วงเวลาเพื่อให้ได้ผู้โดยสารเยอะๆ ดีกว่า 😞

เวลาผ่านไป 45 นาทีเพิ่งจะเลี้ยวขวาเปลี่ยนถนน ไม่รู้กี่ชม. จะถึง มองดูรอบตัว เหมือนวิ่งอยู่แถวๆ ทางเข้าพนัสนิคม ชลบุรี ไม่มีอะไรสะดุดตา ศิลเปอะตามกำแพงหน้าบ้านและร้านค้า เกินกว่าที่จะเรียกว่า แกร็ฟฟิตตี้ รถจอดทุกป้าย มีคนขึ้นมาขายของเกือบทุกป้าย
เขาขายเนื้อมะพร้าวปอกเหลือแต่เนื้อขาวๆ ใส่ถุงพลาสติก ถุงละ 1 ลูก แถมพริกเกลือ กับ มะนาว ใครอยากได้มะเขือเทศสับเพิ่ม ก็ขอได้ต่างหาก ส่วนกล้วยดิบทอดกรอบ เขาไม่ได้ฉาบ พอมีคนซื้อเขาก็กรีดปากถุง ตักมะเขือเทศสับราด โรยเกลือ กับแป้งขาวๆ บางคนก็ขอให้บีบมะนาวด้วย. คนที่มีครอบครัวแล้ว ทั้งชายและหญิงเกิน 80% อุ้มท้องล้ำหน้า....สืบเนื่องจากอาหารที่ทอด และมะพร้าว กับ ของมันๆ แม้จะแก้เลี่ยนด้วยมะนาว ก็ไม่สามารถสลายไขมันได้... ยกเว้น ตำรวจ ทหาร รปภ. ที่คงจะถูกกำหนดโดยอาชีพ ไม่ให้พุงล้ำหน้า😎

คนส่วนใหญ่หน้าตาสวย หล่อ เพราะจมูกโด่งได้สัดส่วน ตาคมโต รูปหน้าเป๊ะ ออกฝรั่งแต่ตาสีเข้ม ไม่มีตาน้ำข้าว ส่วนใหญ่ตอนอายุน้อยรูปร่างสมส่วน ดูดี สวย หล่อ สดใส เมื่อวัยเพิ่มขึ้นผู้หญิงเพิ่มอก พุง สะโพก ขา แต่ความสูงเท่าเดิมและเท้ายังคงเล็ก จึงดูแบกน้ำหนัก และไม่สมส่วน ความสูงเฉลี่ยของชายและหญิงพอๆ กับคนไทย ผิวก็ใกล้เคียง แม้หน้าจะออกฝรั่ง หรือแบบกัวเตมาลา ประเทศเพื่อนบ้าน
ผู้หญิงเมืองนี้ไม่หวงหน้าอก ชอบใส่เสื้อตัวเล็ก คว้านอกลึก แต่ข้างล่างค่อนข้างจะมิดชิด โดยเฉพาะผู้สูงวัย นิยมใส่กระโปรง คาดทับด้วยผ้ากันเปื้อนผ้า เป็นผ้าลูกไม้ จับจีบรอบ แต่ไม่สวยเท่าอันติ๊กั้ว กับ กัวเตมาลาซิตี้ แต่ชายและหญิงส่วนใหญ่ใส่กางเกงยีนส์ ผู้หญิงใส่กางเกงยืดรัดรูปก็มีเยอะเหมือนกัน โดยเฉพาะแม่บ้านมีอายุ เห็นรูปร่างหมดทั้งข้างบนและข้างล่าง เพราะยืดรัดรูปทั้งตัว พอเขาเห็นป้าแต่งตัวพรางรูปร่าง ไม่ต้องดูหน้าตา ก็รู้ว่า มาจากที่อื่นแน่นอน ส่วนทรงผมสตรีนิยมผมยาว มัดบ้าง เปียบ้าง ไม่ค่อยมีคนปล่อยผม ชายหนุ่มไถด้านข้างออก ที่เหลือใส่เจล หวีไปรวมกันเป็นสันไว้ตรงกลางกระหม่อม
เวลาผ่านไป 1 ชม. รถออกนอกเมือง มีลมเข้ามาในรถ เพราะใช้ความเร็วปกติ รู้สึกหายใจโล่ง😅 ยิ่งออกนอกเมืองไปไกล ความเร็วก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนน่าจะเกิน 100 กม./ ชม. ....

ตอนที่เห็นป้าย ชาจัวป้า ลุงบอกให้ป้า ไปบอกคนขับรถว่าเราจะลงที่ ชาจัวป้า ป้าบอกว่า เขารู้แล้ว เพราะเขาเป็นคนชี้ให้ป้าไปซื้อตั๋วเอง และเจ้าของโรงแรมก็บอกว่า รถไปสุดสายที่ชาจัวป้า พอไปถึงป้ายเลี้ยวขวาเข้าชาจัวป้า รถเลี้ยวลง แล้วเลี้ยวขึ้น ป้าก็ชล่าใจ คิดว่า รถพาไปวน
เวลา 14.00 น. จึงถึงท่ารถ ถามคนขับ คนขับบอกว่า เลยมาไกล ต้องนั่งรถกลับไป 😞

เพราะไม่ได้ลุกไปถามคนขับ ตอนที่ลุงบอก แต่มันลุกลำบาก ลุงนั่งข้างนอก ป้านั่งข้างใน 😞 😞 😞 เดินไปซื้อตั๋วใหม่ นั่งสาย 202 ย้อนกลับไป รถออก 14
.15 น. มีคนมาขอนั่งด้วย เราให้เขานั่งติดหน้าต่าง ป้าเอาชื่อให้เขาดู เขาพยักหน้า เพราะป้าทำแผนที่หาย สั่งให้ป้าวาดรูปปิรามิด ป้าไม่ได้วาด ถ้าลงผิดอีก คงเจอพายุใหญ่อีกลูก 😞
รถเมล์ในเอลซัลวาดอร์ ไม่ติดแอร์ เพราะเก็บไม่แพง นั่งไปเกือบ 3 ชม. 40 บาท สภาพบ้านเรือนชานกรุงซาน ซัลวาดอร์ กับเมืองอื่นๆ ดูไม่ต่างกัน เป็นบ้านปูนบ้าง อิฐบ้าง แต่นอกเมืองไม่ฉาบปูน ทาสีเฉพาะด้านหน้า นิยมสีเขียว เหลืองจำปา และส้ม . เวลา 13.00 น. ถึง ชาจัวป้า มีแม่ ลูกและยาย พาเราลงรถ ป้าทำมือเป็นรูปปิรามิด พวกเธอร้องอ๋อ แล้วพาเดินไปที่ปิรามิด ชื่อว่า El Tazumal มีร้านขายของที่ระลึกอยู่เต็มหน้าทางเข้า จนมองไม่เห็นว่า ทางเข้าอยู่ไหน

ปิรามิดยอดกุด อยู่ในรั้วที่มีตะแกรงเหล็กโปร่ง ล้อมรอบ มองเข้าไปข้างในได้ โดยไม่ต้องเดินเข้าไป ผจญกับความร้อนแรงของแสงอาทิตย์
แค่ยืนหน้ารูปปั้น เช กูวาร่า (Che Guevara) นักต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ที่เคยไปเยือนในปี 1954 ก็พอแล้วสำหรับเรา😆 วันนี้มีแม่ชีสูงวัยเยอะเลย เราสังเกตว่า ผู้ชายแต่งตัวไปโบสถ์ โดย ใส่เสื้อเชิ้ต แขนยาว สีขาว ผูกไทแดง สวมรองเท้าหนังสีดำ ส่วนผู้หญิงใส่กระโปรง
มีคนยิ้มทักทาย เราก็แค่ ทักทายตอบ เดินมาที่ป้าย ลุงเดินไปทางที่เห็นเป็นป่า เพื่อยิงกระต่าย แล้วหันกลับมาตะโกนเรียกป้า ... มีห้องน้ำอยู่ข้างนอกทางออก โล่งไปได้ 😅

กลับไปที่ป้ายรถเมล์ ขึ้นรถไปซานต้า อะนา ตามป้ายหน้ารถ เวลา 13.30 น. ไม่รู้ว่า ค่ารถเท่าไร ให้ไป $.50 บอกว่าไม่พอ ให้ไปอีก $1 ทอนมา $.85
ถนนทุกสายของประเทศนี้ มีความเขียวขนาบข้าง เป็นพืชใหญ่บ้าง เล็กบ้าง วัชพืชบ้าง พืชมีประโยชน์บ้าง หญ้าคาใบใหญ่ งามมาก แต่ไม่ค่อยเห็นใช้มุงหลังคา ซานต้า อะนาเป็นเมืองเก่า หลังคาเก่าแก่อายุเกิน 100 ปี มักเป็นกระเบื้องลอนใหญ่ เป็นบ้านอิฐ หรือ ปูนชั้นเดียว แต่ถึงจะเก่าแก่อย่างไร ก็ไม่เท่าทางไปบุโรพุทโธ ที่ย้อคยากาต้าร์ อินโดนีเซีย ที่มีกระเบื้องร่วง และทรุดให้เห็นทั่วไป

เมืองนี้มีร่องรอย ความเจริญมาก่อน เพราะถูกสเปนยึด ได้อิสรภาพก่อนปี 1900 แต่ก็ถูกสหรัฐอเมริกายึดอีก ปี 2001 จึงใช้เงินดอลล่าร์สหรัฐอย่างเป็นทางการ มีโรงแรม สถานศึกษาทุกระดับ สถาบันกวดวิชา สถานที่สอนภาษาจีนกลาง และภาษาอังกฤษ

รถจอดทุกป้าย แต่ผู้คนไม่พลุกพล่าน คงเป็นเพราะเป็นวันอาทิตย์ตอนบ่าย แต่พอมองไปสุดถนน มีผู้คนมากมาย เหมือนเป็นตลาด แต่รถไม่ตรงไป เลี้ยวซ้ายออกไปอีกถนนหนึ่ง ประมาณ 5 นาที ก็ผ่านจุดที่ป้าคลับคล้าย คลับคลา ว่า ผ่านไปแล้ว แต่ลุงบอกว่า ไม่ใช่ เราไม่เคยผ่านจุดนั้น

พูดยังไม่ทันจบ กระเป๋าก็แบมือ ขอเก็บค่าโดยสารใหม่ ป้าส่งใบที่เขียนว่า Terminal de Occidente ให้ดู เขาส่ายหน้า แล้วชี้กลับไปที่เดิม ไม่ยอมเก็บเงิน ป้าบอกลุง แต่ลุงไม่เชื่อ จะนั่งไปจนกว่า จะเจอป้ายที่มีรถไปซานซัลวาดอร์วิ่งสวน

ทันใดนั้น ป้าก็เห็นท่ารถ 201 เป็นท่ารถที่จะไปปิรามิดเล็ก ที่ได้ข้อมูลจากเจ้าของโรงแรมในตอนเช้า
ป้าชวนลุงลง ลุงจะไม่ยอมลง รถเข้าป้ายเพราะมีคนโบก ป้านั่งด้านในบนเบาะหน้าสุด ลุกขึ้นยืน ข้ามขาลุง ลงบันได ลุงลงตาม ป้าข้ามถนน ใกล้ถึงท่ารถ มีรถออกนำหน้าไปคันหนึ่ง ป้าเอาใบเดิมไปถามรปภ. 2 คน ที่ถือปืนยืนอยู่หน้าประตูเหล็ก ที่มีรถเมล์จอดอยู่ข้างในหลายสิบคัน
พวกเขาชี้รถที่จอดอยู่ รถพร้อมจะออก พอขึ้นรถ ป้าเอาใบให้คนขับดู เขาพยักหน้า พร้อมออกรถ ป้าเบี่ยงตัวให้ลุงขึ้นก่อน เพื่อคนขับจะได้ปิดประตูรถ จ่ายค่ารถ คนละ $.85 ลุงให้ป้าไปนั่งข้างหลัง บอกว่า จะนั่งหน้าเพื่อ ถ่ายวิดีโอ ที่นั่งได้ 3 คน แต่มีคนนั่งอยู่ก่อน 1 คน 🙂 เขาไม่ยอมเลื่อนเข้าไปนั่งข้างหน้าต่าง เพราะคุยติดพันอยู่กับคนขับ

ตอนที่รถออกเวลา 14.30 น. รถวิ่งเร็วมาก พอนั่งแยกจากลุงป้าก็ไม่มีน้ำดื่ม เพราะเสบียงอยู่ที่ลุง นึกได้ว่า มีคนเอาของขึ้นมาขายตลอด จึงรอซื้อน้ำ เลยได้รู้ราคาว่าน้ำถุงละ $.15 ประมาณ 5 บาทกว่า มีผู้ชายใส่หมวกแดงมานั่งกับป้า ด้านที่ป้านั่งเป็นเบาะ 2 ที่นั่ง ป้าไม่ได้หันไปผูกไมตรี เพราะท่าทางจะพูดแล้วเหนื่อยเปล่า จึงนั่งง่วนอยู่กับหน้าจอ จนแดดส่องเข้ามาแบบเต็มๆ จึงเอาผ้าแดงขึ้นมาคลุมหัว หลบแดด

รถสาย 201 วิ่งผ่านทุ่งข้าวโพด บนที่ราบแคบๆ แต่เป็นแนวยาวตลอดสองข้างถนน มีแอ่งน้ำที่ดูเหมือนว่า จะใช้ปลูกข้าว ก็ได้ แต่พวกเขาก็ไม่ทำ ข้าวโพดต้นใหญ่ อวบอ้วน มีโรงงานแปรรูปอาหาร และมีป้ายโฆษณา ฝักข้าวโพดที่มีเมล็ดแน่น และถั่วแดงเมล็ดสวย เหมือนที่เราเห็นใส่กะละมังใบใหญ่ ขายอยู่ทุกตลาด ดูเหมือนว่า ถั่วแดงก็เป็นอาหารหลัก อีกอย่างหนึ่ง

เท่าที่สังเกตดู พวกเขาก็ชอบกินข้าว เหมือนกัน เพราะแม้แต่ อาหารที่เป็นแผ่นแป้ง เขาจะโรยข้าวผัดเกลือเล็กน้อย เหมือนเพิ่มมูลค่าด้วยของที่หายาก และมีคนเอาข้าวสารถุงเล็กมาก ขึ้นมาขายบนรถ ในราคาถุงละ $1 เพราะข้าวแพง พวกเขาจึงกินข้าวโพด กับมัน และถั่วที่ปลูกในประเทศ เป็นอาหารหลัก
รถวิ่งเร็วมาก ถึง Terminal de Occidente เวลา 15.45 น. เราเกินออกไปขึ้นรถ R-4 ที่ป้ายเดิม เพราะรถวิ่งวน ป้าเอาชื่อ Hospital Rosales ให้คนขับอ่าน เขาอ่านเสียงดัง พอใกล้ถึงโรงพยาบาล มีคนบอกเราหลายคน พวกเขาคงคิดว่า เราจะไปเยี่ยมใคร จึงบอกให้เราข้ามถนนไปที่ทางเข้าโรงพยาบาล
เวลา 16.00 น. ลงรถฝั่งตรงข้ามกับป้ายที่ขึ้นตอนเช้า ปรากฏว่า มันเป็นถนนคนเดิน ที่มีอาคารสวยงามอยู่รอบๆ และถ้าเดินย้อนไปที่ทางแยก ขวามือ เป็นสวนสาธารณะใหญ่
(ยังมีต่อ)
ชื่อสินค้า:   พิรามิด Tazumal และ เมืองอาณานิคม Santa Ana, El Salvador
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่