ลี ชอง เหว่ย - ริโอฯ 2016 เป็นโอลิมปิกครั้งสุดท้ายของผม


ลี ชอง เหว่ย - ราชาผู้ไร้บัลลังก์ (ภาพจาก : http://xw.qq.com/2016/20160821004904/BCP2016082100490400)


เมื่อวานนี้(20-08-16) ในการแข่งขันชิงเหรียญทองโอลิมปิก กีฬาแบดมินตันประเภทชายเดี่ยวที่ริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ลี ชอง เหว่ยในวัย 33 ปีต้องพ่ายแพ้ให้กับเฉินหลง นักแบดหนุ่มวัย 27 ปี ส่งผลให้ลี ชอง เหว่ยได้เหรียญเงินโอลิมปิกเป็นสมัยที่ 3

ในการแข่งรอบรองชนะเลิศ ลี ชอง เหว่ยต้องเปิดศึกครั้งที่ 37 กับคู่ปรับตลอดกาลอย่างหลินตัน เขาไม่เคยเอาชนะหลินตันในการแข่งขันรายการใหญ่ ๆ ได้เลย แต่ครั้งนี้เขาทำได้สำเร็จ โดยสามารถพิชิตหลินตันไปได้ 2-1 เซท และผ่านเข้าไปพบกับเฉินหลงในรอบชิงชนะเลิศ ลี ชอง เหว่ยมั่นใจมากว่า ครั้งนี้เขาจะไม่พลาดเหรียญทองอีก เพราะก่อนหน้าโอลิมปิกที่ริโอฯ จะมาถึง เขาเอาชนะเฉินหลงได้ติดต่อกัน 4 ครั้งเข้าไปแล้ว



เฉือนชนะคู่รักคู่แค้นอย่างหลินตันในรอบรองชนะเลิศไปได้อย่างสุดมัน (ภาพจากอินเตอร์เน็ต)



4 ครั้งหลังสุดก่อนจะถึงโอลิมปิกที่ริโอฯ ลี ชอง เหว่ยเอาชนะเฉินหลงได้ทั้งหมด (ข้อมูลจาก : http://bwfbadminton.com/player/50152/lee-chong-wei/head-to-head-analysis?event=single&team2_player1=75787)


แต่อาจเป็นเพราะเขาสูญเสียเรี่ยวแรงไปมากในการแข่งกับหลินตัน นอกจากนี้เฉินหลงยังอ่อนกว่าเขาถึง 7 ปี ถึงแม้ลี ชอง เหว่ยจะพยายามตีอย่างสุดความสามารถ แต่ก็มิอาจต้านทานพลังของเด็กหนุ่มเฉินหลงได้ จำใจต้องยอมรับความพ่ายแพ้ ทำสถิติได้เหรียญเงินโอลิมปิกแบดมินตันชายเดี่ยว 3 ครั้งรวด

" ไม่ว่าจะอย่างไร ก็ต้องยอมรับมันครับ เพราะว่ามันไม่ใช่ผมตีไม่ดี แต่เป็นเพราะเฉินหลงตีได้ดีกว่าผม "

หลังจากที่ลี ชอง เหว่ยให้สัมภาษณ์กับสื่อต่าง ๆ ของประเทศมาเลเซียเสร็จแล้ว เขาก็ตรงมาให้สัมภาษณ์ด้วยภาษาจีนกลางกับสื่อของประเทศจีนต่อทันที

นักข่าวคนหนึ่งถามว่า เป็นไปได้ไหมว่า การที่มาเลเซียยังไม่เคยได้เหรียญทองโอลิมปิกมาก่อน ทำให้เขาต้องกดดันเป็นอย่างมาก เขาตอบว่า " เรื่องเหรียญทองแรกก็ทำให้กดดันครับ แต่เรื่องกดดัน นักกีฬาคนไหน ก็มีกันทั้งนั้น ถ้าผมจะเอามาเป็นข้ออ้างที่ทำให้แพ้ คงจะไม่ถูกต้อง "

” เสียใจไหม? ” นักข่าวถามต่อ

ลี ชอง เหว่ยยิ้มและนิ่งไปซักครู่ก่อนที่จะตอบว่า " เสียใจแน่ ๆ อยู่แล้วครับ เหรียญเงินสามสมัย…. "


เหน็ดเหนื่อยมามากพอแล้ว ถึงคราวต้องอำลาโอลิมปิก


ถ้าย้อนกลับไปดูเส้นทางนักกีฬาแบดมินตันของลี ชอง เหว่ย เราจะพบว่าเต็มไปด้วยความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ปี 2005 ลี ชอง เหว่ยในตอนนั้นเป็นนักแบดมืออันดับต้น ๆ ของโลกแล้ว ในปีนั้นเขาได้เหรียญทองแดงในการแข่งขันเวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ

ในปี 2006 เขาได้แชมป์รายการแข่งแบดมินตันต่าง ๆ ถึง 7 รายการติดต่อกัน ทำให้ขึ้นเป็นมือวางอันดับหนึ่งของโลกเป็นครั้งแรก

ปี 2007, ลี ชอง เหว่ยกับหลินตันกลายเป็นคู่ปรับที่ได้รับการจับตามองในเวทีการแข่งขันแบดมินตันระดับโลก

กีฬาแบดมินตันเป็นกีฬาที่ชาวมาเลเซียถนัดมากที่สุด แต่มีเพียงลี ชอง เหว่ยเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่พอจะเป็นความหวังในการคว้าแชมป์รายการต่าง ๆ ได้

" มาเลเซียยังไม่เคยได้เหรียญทองในกีฬาโอลิมปิกเลยซักครั้ง แชมป์โลกแบดมินตัน(เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ)ก็ยังไม่เคยได้ ดังนั้นผมจึงต้องพยายามอย่างเต็มที่ครับ " ลี ชอง เหว่ยกล่าว

แต่ความเป็นจริงนั้น ช่างโหดร้าย เหมือนโชคชะตาเล่นตลกกับเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงแม้ว่าตลอดการเป็นนักแบดอาชีพของลี ชอง เหว่ย เขาจะกวาดแชมป์ต่าง ๆ มาได้มากถึง 63 แชมป์ มากกว่าหลินตันอยู่ 1 ครั้ง แต่สิ่งที่คนมักจะจดจำลี ชอง เหว่ยได้ กลับกลายเป็นเรื่องที่ว่า เขายังไม่เคยได้แชมป์รายการใหญ่ ๆ เลยแม้แต่ครั้งเดียว

ปี2008 โอลิมปิกที่ปักกิ่ง แพ้หลินตัน 0-2 เซทในนัดชิงชนะเลิศ ได้เหรียญเงินโอลิมปิคเป็นเหรียญแรก

ปี2012 โอลิมปิกที่ลอนดอน ลี ชอง เหว่ยโคจรมาพบหลินตันในรอบชิงอีกครั้ง ในเซทตัดสิน(เซทที่3) ลี ชอง เหว่ยออกนำไปถึง 18-16 แต่กลับโดนหลินตันแซงเอาชนะไปได้ จำต้องขมขื่นรับเหรียญเงินไปอีกหนึ่งสมัย

นอกจากนี้เขายังพลาดแชมป์โลกแบบหวุดหวิดไปอีกถึง 4 สมัย (รองแชมป์ 3 ครั้ง ได้ที่สามอีก 1 ครั้ง)

แล้วยังมีเอเชี่ยนเกมส์, โธมัส คัพ เขาก็ยังได้แต่เหรียญเงิน จนมาถึงโอลิมปิก 2016 ที่ริโอฯ ก็เพิ่มประวัติการได้เหรียญเงินให้เขาอีก 1 เหรียญ



เหรียญเงิน 3 สมัยในโอลิมปิกของลี ชอง เหว่ย (ภาพจากอินเตอร์เน็ต)


เรียกได้ว่า ชีวิตนักกีฬาของลี ชอง เหว่ย ชุ่มฉ่ำไปด้วยคราบน้ำตาจากการพ่ายแพ้ในนัดชิงแชมป์ นอกจากนี้เขายังต้องประสบเคราะห์กรรมซ้ำเข้าไปอีกเมื่อถูกตรวจพบสารกระตุ้นในร่างกาย ส่งผลให้เขาต้องพักการแข่งขันไปถึง 8 เดือน จนทำให้อันดับนักแบดโลกร่วงไปอยู่ที่ 180

แต่ลี ชอง เหว่ยก็ไม่เคยคิดที่จะยอมแพ้ เขาค่อย ๆ ฝ่าฟันไต่อันดับมาเรื่อย ๆ จนกลับมาเป็นมือวางอันดับหนึ่งของโลกได้อีกครั้ง  ฟอร์มของเขาพีคสุดขีดในช่วงโอลิมปิกที่ริโอฯพอดี แต่ถึงแม้จะผ่านคู่ปรับตลอดกาลอย่างหลินตันไปได้ แต่สุดท้ายเขาก็ยังไม่ได้รับการใยดีจากเทพธิดาเหรียญทองเหมือนอย่างเคย

" จริง ๆ ผมกับหลินตันก็น่าจะสามารถยืนหยัดไปจนถึงโอลิมปิค2020 ที่โตเกียวได้ แต่คงยากลำบากอย่างหนัก ตอนนี้ผมคิดถึงลูกกับเมียของผมมากครับ ผมแน่ใจว่า นี่คงเป็นโอลิมปิกครั้งสุดท้ายของผม " ลี ชอง เหว่ยกล่าวปิดท้าย


ครอบครัวอันอบอุ่นของลี ชอง เหว่ย(ภาพจากhttp://www.straitstimes.com/sport/olympics-7-things-about-malaysias-iconic-shuttler-lee-chong-wei)


แปลและเรียบเรียงจาก: http://xw.qq.com/2016/20160821004904/BCP2016082100490400

ประวัติโดยละเอียดของลี ชอง เหว่ย : https://en.wikipedia.org/wiki/Lee_Chong_Wei

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่