บ้านแม่แมะ อ.เชียงดาว ดูรวมๆแล้วมีเสน่ห์

สวัสดีครับวันนี้ผมจะพาทุกคนไปรู้จักกับหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งใน ต.แม่นะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ที่มีชื่อว่า "บ้านแม่แมะ" ครับ บ้านแม่แมะห่างจากตัว อ.เชียงดาวประมาณ 17 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านเล็กๆที่แฝงตัวอยู่กลางหุบเขาและรายล้อมไปด้วยต้นไม้ที่เป็นธรรมชาติจริงๆครับ มีลำธารไหลผ่านหมู่บ้านเรียกว่า "แม่น้ำแมะ" ซึ่งเป็นที่มาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านนั่นเองละครับ บ้านแม่แมะมีวัด มีโรงเรียน มีบ้านคนประมาณ 100 หลังคาเรือน มีชนเผ่าลาหู่อาศัยอยู่ด้วยในเขตของหมู่บ้าน อาชีพหลักของคนที่นี่คือการเก็บใบชาขาย(ยอดใบอ่อนจะเรียกใบชา ส่วนใบแก่จะเรียกใบเมี่ยง) ซึ่งใบชาที่เก็บส่วนใหญ่จะเป็นชาที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ก็มีบางส่วนที่ทางภาครัฐนำมาให้ปลูกเพื่อเป็นการส่งเสริมการเกษตร และอีกอาชีพก็คือการเลี้ยงวัวครับ การเป็นอยู่ของคนที่นี่เรียกได้ว่าเป็นการใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติจริงๆครับ และนอกจากอาชีพการเกษตรแล้วชาวบ้านที่นี่ยังเปิดบ้านรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะมาสัมผัสชีวิตแบบใกล้ชิดธรรมชาติจริงๆอีกด้วย ที่นี่จะมีบ้านพักแบบโฮมสเตย์เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ชาวต่างชาติส่วนใหญ่จะชอบมาแบบเป็นทัวร์มากกว่า ส่วนคนไทยจะเอารถส่วนตัวมาเป็นครอบครัว สำหรับบ้านแม่แมะมีคลื่นโทรศัพท์เฉพาะของ AIS เท่านั้นนะครับ ได้ข่าวว่าทางค่ายเพิ่งมาตั้งเมื่อเดือน พฤจิกายน 2558 ที่ผ่านมานี่เองครับ

                                การเดินทางนะครับ สำหรับบ้านแม่แมะไม่มีรถประจำทางวิ่งผ่านหมู่บ้านนะครับ ใครที่จะมาแต่ยังไม่เคยมา ผมมีหลายทางเลือกให้นะครับ สำหรับคนที่ไม่ได้นำรถส่วนตัวมาเอง หรือไม่ได้มากับทัวร์นะครับ
1. ทางเลือกแรกเป็นวิธีที่ผมใช้เดินทางมาที่นี่ครับ คือการนั่งรถทัวร์จากกรุงเทพฯ มาลงที่ บขส.อาเขต เชียงใหม่ แล้วต่อรถแดงมาที่ บขส.ช้างเผือก แล้ว  ต่อรถประจำทางไปที่ตัว อ.เชียงดาว อีกประมาณ 60 กิโล ครับ ส่วนรถประจำทางที่ว่านี่ก็มีทั้ง รถบัส รถสองแถวสีส้ม รถตู้ เลือกได้เลย แล้วแต่ชอบครับ
2.วิธีนี้ค่อนข้างไฮโซหน่อยนะครับ คือการนั่งเครื่องมาลงที่เชียงใหม่แล้วต่อรถแดงมาที่ บขส.ช้างเผือก แล้วต่อรถประจำทางไปที่ตัว อ.เชียงดาว ครับ
3.ถ้ามาจากรุงเทพฯ นะครับ จะมีรถทัวร์ที่วิ่งผ่าน อ.เชียงดาว คือสาย กรุงเทพฯ - บ้านท่าตอน ครับ ให้ตีตั๋วลงที่เชียงดาวได้เลยครับ สำหรับคนที่ไม่อยากต่อรถบ่อยก็นั่งรถสายนี้ได้เลยครับ
                 ทั้ง 3 วิธีนี้ น่าจะเป็นข้อมูลสำหรับใครหลายคนไม่มากก็น้อยนะครับ ซึ่งทั้ง 3 ทางเลือกนี้เมื่อเรานั่งรถมาถึง อ.เชียงดาว แล้วการเข้าไปที่หมู่บ้านนั้นถ้าไม่ได้มากับทัวร์หรือไม่มีรถส่วนตัวผมมีให้ 2 ทางเลือกครับ
1.เหมารถจากตัว อ.เชียงดาวเข้าไปที่หมู่บ้าน ราคา 600 บาท เฉพาะขาไปเที่ยวเดียวนะครับ ทางเลือกนี้ค่อนข้างแพง ไม่แนะนำครับ
2.โทรนัดให้รถที่หมู่บ้านมารับครับ ปกติแล้วคนที่มารับจะเป็นพ่อหลวงวงศ์ (ผู้ใหญ่วงศ์ แก้วใจมา โทร. 085-7082648) เป็นผู้ใหญ่บ้านแม่แมะครับ ราคาก็ ทั้งรับและส่งรวมแล้วก็ 600 บาท ซึงผมก็ใช้วิธีนี้ในการเดินทางเข้าไปในหมู่บ้านครับ ควรจะโทรนัดล่วงหน้านะครับ เพราะบางทีพ่อหลวงแกติดธุระจะได้ให้คนอื่นมารับแทนได้

          ผมนั่งรอพ่อหลวงสักพักไม่นานพ่อหลวงก็มาพร้อมกับศรีภรรยาของท่านครับ พ่อหลวงและภรรยาเป็นคนคุยเก่งมากครับ ตั้งแต่ขึ้นรถจนถึงหมู่บ้านแกอธิบายภาพที่เห็น 2 ข้างทางไม่มีหยุดครับ เรียกได้ว่าเป็นไกด์รุ่นเก๋าเลยก็ว่าได้ ทางเข้าไปหมู่บ้านแม่แมะเป็นถนนคอนกรีตไต่ไปตามไหล่เขาครับ กว้าง 4 เมตร รถยนต์และรถกระบะสามารถสวนกันได้ แต่ลำบากหน่อย และจะมีถนนลูกรังคั้นระหว่างทางที่ก่อนจะถึงหมู่บ้านยาวประมาณ 60 เมตร พ่อหลวงเล่าให้ฟังว่างบประมาณหมดพอดีเลยทำได้แค่นี้ รองบครั้งหน้าคงจะเชื่อมถึงกันหมดพอดีครับ
        พอถึงหมู่บ้านพ่อหลวงก็พาเดินเลาะไปตามลำธารเพื่อพาผมไปที่พักครับ ที่พั
กที่ผมจะนอนคืนนี้ก็คือ บ้านพักลองสเตย์ ตั้งอยู่ติดกับลำธารเลยครับ เป็นบ้านพักของชุมชนที่ร่วมมือกันบริหารจัดการเพื่อสร้างรายได้ในชุมชน มีแม่บ้านทั้งหมด 11 คน คอยผลัดเปลี่ยนกันจัดเวรมาดูแล ทุกคนอัธยาศัยดีครับ ยิ้มเก่ง คุยเก่ง มาถึงบ้านพักได้สักพักแม่ๆก็ทำอาหารให้ทานครับ เป็นแกงหน่อไม้ป่าใส่เห็ดครับ เรียกว่าเก็บมาสดๆกันเลยทีเดียวเพราะพึ่งบอกแกตอนมาถึงนี่เองว่าอยากทาน และอีกอย่างช่วงนี้เป็นช่วงน่าฝน หน่อไม้ขึ้นเองตามธรรมชาติครับ พ่อหลวงเล่าว่าเขตป่าของหมู่บ้านจะห้ามคนภายนอกหมู่บ้านเข้ามาหาอาหารป่าไปขาย ก็เลยทำให้คนที่นี่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารการกินแบบนี้ไงละครับ

พอกินข้าวเสร็จก็ออกเดินสำรวจรอบๆหมู่บ้านครับ ที่นี่เงียบสงบจริงๆ ได้ยินแต่เสียงน้ำไหลจากลำธาร ถ้าจะบอกว่าที่นี่คือหมู่บ้านแห่งความเงียบสงบก็คงไม่ผิดครับ


และนี่คือนายแบบสุดหล่อของผม พี่แกยืนให้ถ่ายโดยที่ไม่ยอมหนีไปไหนเลย 55

    น้องหมาที่นี่มีหลายตัวมากครับ น่ารักทั้งนั้นเลย
และนี่คือพระเอกของที่นี่ครับ พี่ปีเตอร์ ฉายา ปีเตอร์หน้ากล้อง พี่แกชอบถ่ายรูปครับ


เย็นแล้วอากาศที่นี่เย็นและเงียบจริงๆครับ ความจริงแล้วผมอาบน้ำในลำธารนะวันนี้ น้ำเย็นมากๆ อาบน้ำเสร็จแม่ๆก็ทำอาหารเสร็จพอดี
เมนูเย็นนี้ทีเด็ดที่ผมชอบเลยก็คือผัดผักกรูดน้ำมันหอย ใครมาที่นี่แนะนำเลยนะครับ ผักกรูดก็เก็บกันสดๆแถวข้างลำธารนั่นแหละครับ อร่อยมากๆ
รับประทานอาหารเสร็จก็นั่งจิบเบียร์ข้างๆลำธารสักหน่อย ฟังเสียงน้ำไหล ทำให้รู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูกเลย


เช้าวันนี้มีฝนตกลงมานิดหน่อยครับ แต่ไม่ถึงกับหนักมาก อากาศกำลังเย็นสบายดี อาบน้ำแต่งตัวเสร็จก็มีอาหารเช้าจากแม่ๆมาตั้งรอเรียบร้อยเป็นข้าวต้ม ไข่ดาว และมีเมนูทีเด็ดเช้านี้ผมขอแนะนำ ยำใบชาปลากระป๋องครับ เมื่อคืนนี้ผมบอกแม่ๆว่าผมอยากกิน เช้านี้เลยจัดให้เลยว่างั้น


ทานข้าวเสร็จเดี๋ยวผมจะพาเดินทัวร์รอบๆหมู่บ้านกันครับ
ปกติแล้วถ้าใครมาเที่ยวที่บ้านแม่แมะ ก็จะมีกิจกรรมที่นอกเหนือจากการเดินเล่นถ่ายรูปในหมู่บ้าน ได้แก่ นวดแผนไทย อาบสมุนไพรโดยเตาอบภูมิปัญญาชาวบ้าน กิจกรรมเดินป่า ศึกษาธรรมชาติ และในป่าจะมีน้ำตกอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 4 กิโลเมตร ต้องใช้เวลาเดินทางไปกลับประมาณ 2 ชม. และช่วงนี้น่าฝนทางค่อนข้างลำบากครับ



และนี่คือยอดใบชาที่ชาวบ้านเก็บไปขายหารายได้และยังนำไปปรุงอาหารทางเป็นอาหารท้องถิ่นอีกครับ

ดูๆไปแล้ว ภาพความเขียวขจีของที่นี่ก็สามารถบอกได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ได้เป็นอย่างดีเลยนะครับ ขนาดหลังคาบ้านยังมีมอสและพืชขึ้นบนหลังคาแบบนี้ให้เห็นหลายๆหลัง


นี่เป็นอีกหนึ่งอาชีพของคนที่นี่ครับ การเลี้ยงวัว และที่เห็นขับมอไซด์ นั่นละครับ พ่อหลวงวงศ์ กับมอไซด์คู่ใจของพ่อหลวง พ่อหลวงบอกซื้อตั้งแต่ปี 2532 ถ้ารับอายุตอนนี้ก็ครบ 27 ปีเต็ม ตอนนี้ยังใช้งานปกติและใช้งานทุกวันครับ


วัดที่นี่ปัจจุบันมีพระจำวัดอยู่รูปเดียวครับ




ส่วนที่พักอีกที่ที่วิวสวยมากๆสำหรับที่นี่คือ "บ้านต้นไม้" เป็นบ้านพักโฮมสเตย์บนต้นไม้ครับ เป็นของลุงสุขกับปัาผง ครับ ป้าผงนี่เป็นน้องสาวแท้ๆของพ่อหลวงวงศ์ ครับ บ้านต้นไม้จะสามารถมองวิวมุมสูงได้ครับ ส่วนใหญ่ชาวต่างชาติจะชอบมาพักที่นี่หรือไม่ก็มากับทัวร์เลยครับ  บรรยากาศดีมากครับ อาหารอร่อย ที่พักราคา 350 ต่อคนต่อคืน ครับ ถ้าใครจะมาพักที่นี่แนะนำให้จองล่วงหน้าได้นานเท่าไหร่ยิ่งดีครับ ถ้าอยากจะได้ที่พักที่มุมสูงวิวสวยๆแบบนี้
เบอร์โทรติดต่อลุงสุข-ป้าผง 081-111-5154

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่