การทำผิดทั้งที่รู้ว่าผิด กับ การทำผิดโดยที่ไม่รู้ว่าผิด แบบไหนผิดมากกว่ากัน

ตามหัวข้อเลยครับ  จะอ้างอิง หลักกฎหมายหรือหลักศาสนา หลักวิทยาศาสตร์  อะไรก็ได้. ผมเคยเชื่อว่า ทำผิดทั้งรู้ว่าผิด ตามความคิดผมน่าจะผิดมากกว่า แต่เคยมีคนแย้งผมว่า คนทำผิดโดยไม่รู้ตัวว่าผิด ผิดมากกว่า  ใครช่วยอธิบายทีว่า ความจริงแล้วเป็นยังไง

ขอบคุณครับ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 8
ไปเรียนปรัชญามาหรือครับ ประโยคนี้ผมได้ยินครั้งแรกตอนเรียนปรัชญา แล้วก็เถียงกันอุตลุด

ความจริงคือ คำว่า "ผิด" ในที่นี้ อาจจะมี 2 ความหมาย และแต่ละคนอาจตีความไม่เหมือนกัน

ความหมายที่ 1) หมายถึง "ก่อผลเสีย"
ความหมายที่ 2) หมายถึง "เป็นคนไม่ดี"

ถ้าโดยความหมายที่ 1) คนทำผิดโดยที่ไม่รู้ตัวว่าผิด ผิดมากกว่า - เพราะหมายถึง สามารถ "ก่อผลเสีย" ได้มากกว่า เพราะจะทำไปเรื่อยไม่มีการหยุดระวังยับยั้งชั่งใจแต่อย่างใด เปรียบดังนิทานเรื่องหนึ่ง พระราชาถามเณรเจ้าปัญญาว่า "การทำผิดทั้งที่รู้ว่าผิด กับ การทำผิดโดยที่ไม่รู้ว่าผิด แบบไหนผิดมากกว่ากัน" เณรถามย้อนกลับว่า "เวลาคนเอามือไปจับเหล็กร้อนๆ คนที่รู้ว่ามันร้อน กับคนที่ไม่รู้ว่ามันร้อน คนไหนจับเต็มมือกว่ากัน"

ถ้าโดยความหมายที่ 2) คนทำผิดโดยที่รู้ตัวว่าผิด ผิดมากกว่า - เพราะรู้ทั้งรู้ ยังคิดกระทำ เหมือนเรามองในมุมกลับ มันถึงได้มีสำนวน ผู้ไม่รู้ย่อมไม่ผิด

เปรียบเทียบแล้ว
ความหมายที่ 1) เป็นการคำนึงถึง "ผลของการกระทำ"
ความหมายที่ 2) เป็นการคำนึงถึง "เจตนาของการกระทำ"

ตามหลักกฎหมายไทย เข้าใจว่าดูควบคู่ทั้งผล และเจตนามั้ง แต่ผมไม่ค่อยรู้เรื่องกฎหมาย

แต่โดยความเห็นส่วนตัว ถ้าต้องการพูดในเรื่องของการลงโทษ มันมีประเด็นซับซ้อนไปอีกคือ "ลงโทษไปเพื่ออะไร"
- ให้คนกลัวไม่กล้าทำผิด
- ป้องกันไม่ให้คนที่จะกระทำผิดได้มีโอกาสทำความผิด (ขัง ประหาร)
- ให้คนชดเชยความผิด
- ล้างแค้นให้ผู้เสียหาย

แต่ละคน มองการลงโทษไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะไม่รู้ตัวตัวซ้ำว่าตัวเองกำลังคิดอะไร แต่ตัดสินการลงโทษไปด้วยอารมณ์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่