ความสุขของมนุษย์เงินเดือน ตอน ทุกข์จากงานเกิดจากความกลัว ep 2




“เพราะกลัว ถึงต้องรู้จักความกลัว”
.................................................

(ต่อ)

โลกธุรกิจผลักดันให้คนทำงานด้วยความกลัว

ปรมาจารย์ด้านจิตวิทยา อับราฮัม มาสโลว์ บอกว่าหลังจากที่มนุษย์ ได้รับการตอบสนองทางกายภาพ เช่น มีอาหารและน้ำที่สะอาด  มีอากาศบริสุทธิ์ให้หายใจ มีเครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรคแล้ว  สิ่งที่คนต้องการลำดับถัดไปคือ “ความมั่นคง”

สาเหตุหลักที่คนเลือกทำงานออฟฟิสเพราะกลัวความไม่มั่นคง เรากลัวการเปลี่ยนแปลงถึงต้องวิ่งหาความมั่นคง เรากลัวรายได้จะไม่แน่นอน จะไม่พอกินพอใช้ จะไม่สามารถผ่อนจ่ายซื้อสิ่งของได้ กลัวจะไม่มีเงินเก็บพอสำหรับอนาคต เราถึงต้องวิ่งหาเส้นทางที่ปลอดภัย

เมื่อจุดเริ่มต้นของการทำงานในออฟฟิสคือ ความกลัว มันจึงง่ายที่เราจะถูกครอบงำด้วยความกลัวตลอดการทำงาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกธุรกิจทุนนิยมเชื่อว่า “การแข่งขัน” จะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งทรัพยากรมนุษย์  เขาจึงสร้างกฏเกณฑ์ให้คนแข่งขันกัน บริษัทส่วนใหญ่จึงประเมินค่าของคนจากตัวชี้วัดประสิทธิภาพ (KPI) เป็น “ตัวเลข”  เช่น ยอดขาย ค่าใช้จ่าย ส่วนแบ่งตลาด เป็นการประเมินเชิงเปรียบเทียบระหว่างพนักงานกับพนักงานมากกว่าตัวตนของพนักงานจริงๆ และไม่สนใจคุณค่าด้านในของคนเช่น ความคิดสร้างสรรค์ มนุษย์สัมพันธ์ ความมีน้ำใจ ความซื่อตรง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ประเมินเป็นตัวเลขไม่ได้

การแข่งขันสร้างจากฐานคิดของความกลัว

เมื่อคุณค่าของคนถูกตีออกมาเป็นตัวเลข คนที่ทำงานจึงทำไปด้วยความกลัว นับตั้งแต่ CEO  ที่อยู่กับความกลัวว่าจะสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นตามเป้ามั๊ย เหล่าหัวหน้าแผนกที่ทำงานด้วยความกลัว ต้องแข่งกันทำกำไรให้มากกว่าแผนกอื่นจนถึงขั้นสร้างการเมืองในองค์กรเพื่อรักษาอำนาจ พนักงานอย่างเราๆที่ต้องแข่งกับเพื่อนร่วมงาน ทุกอย่างเป็นเรื่องเร่งด่วนหมด ต้องออกจากออฟฟิสหลังหัวหน้าออกแทนที่จะหลังทำงานเสร็จ เพราะกลัวจะไม่ได้ขึ้นเงินเดือน ต้องทำงานเสาร์อาทิตย์เพราะกลัวจะถูกลดตำแหน่ง หรือไม่ก็ถูกไล่ออก ยังไม่นับผู้ถือหุ้นที่กลัวมูลค่าหุ้นจะตก

โลกที่ประเมินค่าของคนด้วยตัวเลข เป็นโลกแห่งความกลัว
.
.
.
เข้าใจความกลัว คือ ทางออก

ผมเคยคิดว่าอยากจะหายกลัวก็ต้อง “กล้า” เหมือนกับตอนเด็กๆที่ผมแก้โรคกลัวขี่จักรยานล้ม ด้วยการ “กล้า” ที่จะขี่จักรยานออกถนน แต่ “ความกล้า” ใช้ไม่ได้ผลเสมอไป  พอเราโตขึ้น ความกลัวของเราซับซ้อนเกินกว่าจะรับมือง่ายๆแค่ดึงความกล้าออกมา
เหมือนกับที่เราต้องทำงานอย่างหนักเพราะกลัวจะไม่ได้ขึ้นเงินเดือน เรามีคอนโดที่ต้องผ่อน มีครอบครัวที่ต้องดูแล ปัญหาซับซ้อนเกินกว่าจะแค่ “กล้า” ที่จะไม่ทำงานหามรุ่งหามค่ำ

ความกลัวไม่ได้จัดการได้ด้วย “ความกล้า” แต่เป็น “ปัญญา” เราต้องรู้จักความกลัว ต้องเดินเข้าไปในความกลัว ต้องวิเคราะห์มันแล้วเราจะคิดหาทางรับมือมันได้

1: ทำความรู้จักกับความกลัว
ผมเคยทำงานถึงดึกเพราะกลัวหัวหน้าจะไม่พอใจ กลัวหัวหน้าจะเห็นเราไม่ขยัน จนเมื่อผมลองคุยกับหัวหน้าและบอกเขาตรงๆว่าผมไม่สะดวกทำงานถึงดึกเพราะอยากมีเวลาเรียนวาดรูป แต่ผมจะทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จอย่างดี หัวหน้าผมไม่เพียงให้ผมกลับบ้านเร็วแต่ยังสนับสนุนด้วย

ผมเข้าไปคุยกับหัวหน้าไม่ใช่เพราะผมกล้า แต่เป็นเพราะผมได้ “ทำความรู้จักความกลัว” ผมรู้ตัวว่าผมกลัวหัวหน้าจะไม่พอใจถ้าผมจะกลับบ้านเร็ว ผมจึงหารูปแบบทำงานในแบบที่ผมและหัวหน้าพอใจทั้งคู่ จากนั้นก็เสนอเขา

ในหนังสื่อ “Fear” โอโช (OSHO) ผู้นำจิตวิญญาณชื่อดังกล่าวว่าความกลัวเกิดจาก “ความไม่รู้”  เรากลัวที่จะทำตามฝันเพราะ “ไม่รู้” ว่ามันจะมั่นคงมั๊ย เรากลัวที่จะอกหักเพราะ “ไม่รู้” ว่าเขาจริงจังแค่ไหน เรากลัวที่จะไม่ผ่านช่วงทดลองงานเพราะ “ไม่รู้” ว่าต้องทำงานอย่างไรถึงจะพ้นโปรเบชั่น

เมื่อไม่รู้ เราถึงรู้สึกไม่มั่นคง รู้สึกไม่ปลอดภัย รู้สึกกลัว แต่เมื่อกลัวแล้วเรามักที่จะมองไปข้างนอกแทนที่จะทำความรู้จักมัน เราเลือกทำงานออฟฟิสที่มั่นคงแทนที่จะหาทางทำให้งานในฝันเลี้ยงตัวเราได้ เราเลือกที่จะคบกับเขาแบบผิวเผินแทนที่จะคบเพื่อดูนิสัยเขาอย่างลึกซึ้ง
เราเลือกที่จะทำงานหนักอดหลับอดนอนแทนที่จะเคลียกับหัวหน้างานให้ชัดจนว่าต้องส่งมอบงานอะไรบ้าง คุณภาพแบบไหนถึงจะผ่านทดลองงาน

วิธีจัดการความกลัวได้ดีที่สุด คือทำความรู้จักกับมัน หลังจากที่ผมคุยกับหัวหน้าแล้วรู้ว่าเขาสนใจผลงานมากกว่าใครจะกลับบ้านดึกไม่ดึก ผมเลิกงานตรงเวลาอย่างสบายใจ ความกลัวคืออะไร ความกลัวเกิดจากอะไร มองลึกเข้าไปในความกลัว ไม่ต้องรังเกียจมัน แล้วเราจะเข้าใจความกลัว ความเข้าใจจะทำให้เราเลิกกลัว

2: จัดการความกลัว หลังจากที่รู้ว่าความกลัวเกิดจากอะไร เราจะจัดการความกลัวได้ตรงจุดและง่ายขึ้น ผมเคยกลัวที่จะพรีเซนท์งานต่อหน้าคนมากๆ ตอนทำงานใหม่ๆก็ยังพอหาทางเลี่ยงได้ แต่พอเป็นผู้จัดการและผู้อำนวยการแผนกแล้วผมก็หนีไม่ได้อีกต่อไป ผมเลยต้องทำความรู้จักกับความกลัวจนรู้ว่าที่กังวลเป็นเพราะผม “ไม่รู้” ว่าคนอื่นจะสนใจที่ผมพูดหรือเปล่า ผมฝึกซ้อมวิธีพรีเซนท์ เซิชยูทูปหาคนที่พรีเซนท์ได้น่าสนใจและดูจะเข้ากับสไตล์ของผม สังเกตวิธีของเขา ฝึกฝนหน้ากระจกจนคล่อง  ผมประหม่าน้อยลง และถึงวันนี้มีหลายคนบอกผมว่าผมเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจที่ดีคนหนึ่ง

3: อย่ารู้สึกผิดที่จะกลัว อย่ากดความกลัว อย่าแกล้งที่จะไม่กลัว อย่าพยายามทำให้ความกลัวหายไปจากชีวิต ความกลัวคือความรู้สึกอย่างหนึ่งไม่ต่างจากความสุขหรือความเสียใจ ความกลัวช่วยเตือนให้เรารู้ว่าเรากำลังอยู่ในสถานการณ์หรือกำลังเจอเรื่องที่เราไม่รู้มาก่อน ทำให้เราเตรียมรับมือได้ดียิ่งขึ้น อย่าอายที่จะเล่าความกลัวให้เพื่อนหรือคนสนิทฟังเพราะเขาอาจช่วยหาวิธีแก้ดีๆให้เราได้

4: ความกลัวทำให้ฉลาดขึ้น ความกลัวไม่ใช่สิ่งเลวร้าย มันให้สิ่งดีๆกับเรามากมาย ทุกครั้งที่เรากลัวอะไรบางอย่าง นั่นคือโอกาสของการเรียนรู้ ความกลัวเกิดจากความไม่รู้ เมื่อเรารู้แล้วเราจะไม่กลัว เราจะเกิดปัญญา ศักยภาพในตัวเราจะขยายขึ้น เติบโตขึ้น

พื้นที่ปลอดภัย (Comfort Zone) ทำให้เรารู้สึกมั่นคงก็จริงแต่มันก็ขังอิสระและทำให้เราไม่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และจริงๆแล้วความมั่นคงไม่มีอยู่ในโลก ทุกสิ่งในจักรวาลเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ปีหน้าเศรษฐกิจอาจตกต่ำ ลูกค้ารายใหญ่อาจถอนแอคเคาท์ คุณก็อาจถูกเลย์ออฟออกจากงานที่คุณทำมันได้ดี ความมั่นคงไม่มีอยู่จริง มีเพียงการเปลี่ยนแปลง พื้นที่ปลอดภัยของคุณเมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง

ที่ไหนมีความกลัว ที่นั่นมีปัญญารอคุณอยู่ เดินเข้าไปหามัน ทำความรู้จักมัน และมันจะหายไป

..........................................

ความกลัวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคุณ มันรอให้คุณรู้จักมัน รับฟังมัน เรียนรู้จากมัน

มีแต่คุณเท่านั้นที่จะรับมือความกลัวของคุณได้ มีแต่คุณเท่านั้นที่จะเปลี่ยนความไม่รู้เป็นปัญญา เปลี่ยนความไม่กล้าเป็นการเติบโต

ความกลัวแพ้ความตั้งใจของคุณ

.............................................
ความสุขของมนุษย์เงินเดือน
ตอนที่ 5: ทุกข์จากงานเกิดจากความกลัว ep 2
ยอดรักเขียน
facebook.com/yodwriter
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่