ห้องเพลง**คนรากหญ้า** พักยกการเมือง มุมเสียงเพลง มุมนี้ไม่มีสี ไม่มีกลุ่ม............มีแต่เสียง 8/5/2016

กระทู้คำถาม


  ***สวัสดีค่ะเพื่อนๆ ห้องราชดำเนินทุกคน***
กระทู้นี้ เป็นมุมพักผ่อน มุมนี้ไม่มีสี  ไม่มีกลุ่ม.........แต่มีเสียง...................


ห้องเพลงคนรากหญ้าเปิดขึ้นมามีวัตถุประสงค์ เพื่อ

1. มีพื้นที่ให้เพื่อนๆ ได้มาพบปะ พูดคุยระหว่างกัน ในภาวะที่ต้องระมัดระวังการโพสการเมืองอย่างเคร่งครัด
2. เป็นพื้นที่ พักผ่อน ลดความเครียดทางการเมือง ให้เพื่อนๆ มีกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกัน
3. สร้างมิตรภาพและความปรองดอง ซึ่งเราหวังให้สังคมไทยเป็นเช่นนี้ แม้นคิดต่างกัน แต่เมื่อคุยกันแล้วก็เป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม

กระทู้ห้องเพลงเป็นกระทู้เปิด มิได้ปิดกั้นผู้หนึ่งผู้ใด "ขอให้มาดี เราคือเพื่อนกัน" ซึ่งก็เหมือนกับกระทู้ทั่วไป ที่เราไม่จำเป็นต้องทราบว่า User ท่านไหนเป็นใครมาจากไหน  ...ดังนั้น หากมีบุคคลใดที่มีการโพสสิ่งผิดกฎหมายและศีลธรรมอันดีของสังคมนั้น หรือสิ่งรบกวนใดๆ ในบอร์ด เป็นเรื่องส่วนบุคคล ทางห้องเพลงจึงขอแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น



วันที่ 8 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันกาชาดสากลค่ะ โดยใช้วันเกิดของ Henri Dunant ผู้ก่อตั้งเพื่อเป็นการให้เกียรติ
หลายคนคงไม่รู้จักเฮนรี่ไหน แต่ถ้าบอกว่าเขาคือ อังรี ดูนังต์ คงร้องอ๋อกันแล้ว ก็ชื่อถนนย่านปทุมวันที่สภากาชาดไทยตั้งอยู่นั่นเอง

ฌอง อังรี ดูนังต์ (Jean Henri Dunant 1828-1910) เกิดวันที่ 8 พฤษภาคม 2371 ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ครอบครัวเขาเป็นชนชั้นสูงที่เคร่งศาสนา ได้คอยพร่ำสอนดูนังต์ให้มีจิตอาสา มีมนุษยธรรม รักความยุติธรรม และเคารพผู้อื่น
เขามักจะติดตามแม่ไปคอยช่วยเหลือผู้ป่วยยากจนเป็นประจำ จนซึมซับความคิดในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์
เขาเคยเดินทางไปทั่วยุโรปเพื่อบรรยายถึงความชั่วร้ายเรื่องความเป็นทาส




ดูนังต์ เป็นนักธุรกิจการธนาคาร เขาได้เดินทางไปแสวงโชคในที่ต่างๆ จนครั้งหนึ่งเขาได้ซื้อน้ำตกแห่งหนึ่งแล้วโรงโม่แป้ง
แล้วเกิดเรื่องยุ่งยากกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เขาจึงตัดสินใจจะเข้าพบพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ด้วยตนเอง

ขณะที่ดูนังต์เดินทางไปที่หมู่บ้านซอลเฟริโน (Solferino) ภาคเหนือของอิตาลี ในเดือนมิถุนายน 2402 (อายุเพียง 31 ปี)
ตอนนั้นกองทัพฝรั่งเศสได้ช่วยอิตาลีรบกับออสเตรีย การรบที่ดุเดือดทำให้ทหาร 4 แสนคนที่ต่อสู้กัน มีทหาร 4 หมื่นคน
เสียชีวิตและบาดเจ็บทั่วสนามรบ ภาพอันสยดสยองนี้ทำให้ดูนังต์ลืมเรื่องราวที่จะร้องเรียนต่อพระเจ้านโปเลียนเสียสิ้น  
เขาจึงได้รวมบรรดาแพทย์และประชาชนในท้องถิ่นเข้าช่วยเหลือทหารที่ได้รับบาดเจ็บ โดยไม่คำนึงว่าเป็นมิตรหรือศัตรู




เมื่อเดินทางกลับมายังกรุงเจนีวา ดูนังต์ ได้เขียนหนังชื่อ “ความทรงจำที่ซอลเฟริโน” โดยมีใจความสำคัญท่อนหนึ่งว่า
“จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะจัดตั้งองค์กรอาสาสมัครสำหรับการช่วยเหลือผู้ที่บาดเจ็บและผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ”
อีกทั้งยังเสนอแนวทางเพิ่มเติมว่า ควรจะมีเครื่องมือในการดูแลรักษาและช่วยเหลือให้กับเหล่าทหารหรือ ผู้ประสบเหตุต่างๆ
ซึ่งอาสมัครเหล่านี้มีวัตถุประสงค์คือ เพื่อดูแลและบรรเทาทุกข์แก่คนทุกคน

หลังจากนั้น ก็ได้มีการจัดตั้งองค์สภากาชาดสากลขึ้น ณ ประเทศ สวิสเซอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. 2406 โดยมีผู้แทนจากประเทศต่างๆ
ถึง 16 ประเทศ ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกกว่า 74 ประเทศ  

หลายปีหลังจากนั้น ดูนังต์ได้ทำงานเพื่อสังคม เขาเขียนบทความเกี่ยวกับการปลดอาวุธและการตั้งศาลระหว่างประเทศ
เพื่อแก้ปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างประเทศ จนละเลยการงานส่วนตัวจนต้องตกเป็นหนี้สินและได้หายหน้าหายตาไป

เมื่อมีอายุ 73 ปี ดูนังต์ ได้รับรางวัลโนเบลประเภทสันติ (จัดเป็นครั้งแรก) ร่วมกับ เอฟ. ปาสสี ชาวฝรั่งเศสผู้เริ่มขบวนการสันติ
ดูนังต์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2453 ขณะมีอายุ 82 ปี

เมื่อเปิดพินัยกรรมปรากฎว่า ดูนังต์ไม่ได้ใช้จ่ายเงินรางวัลต่างๆ ที่ได้รับเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเลย คงเก็บเงินทั้งหมดไว้
และได้แบ่งส่วนยกให้สถาบันสาธารณสงเคราะห์ของสวิตเซอร์แลนด์และนอรเวย์หลายแห่ง


ปัจจุบันสัญลักษณ์กาชาดสากลมี 3 แบบ คือ...



กากบาทแดง (Red Cross) เป็นการให้เกียรติแก่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นที่กำเนิดกาชาด
ธงของประเทศสวิตเซอร์แลนต์เป็นกากบาทขาวบนพื้นแดง ส่วนกาชาดเป็นกากบาทแดงบนพื้นขาว

เสี้ยววงเดือนแดง (Red Crescent) อาจมีประชากรบางส่วนเข้าใจว่าเครื่องหมายกากบาทแดงนี้ เกี่ยวกับศาสนาคริสต์
ดังนั้นอนุสัญญาเจนีวาจึงอนุมัติให้ประชากรมุสลิมใช้เครื่องหมายเสี้ยววงเดือนแดงได้

เพชรสีแดง หรือแก้วเจียระไนสีแดง (Red Crystal) เพื่อไม่ให้สัญลักษณ์ถูกนำไปเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับศาสนาหรือวัฒนธรรมใดๆ
สุดท้ายจึงได้มีสัญลักษณ์เพชรสีแดงออกมา

สำหรับประเทศไทย เราได้เลือกใช้สัญลักษณ์กากบาทสีแดง ไม่ว่าจะเป็นสัญลักษณ์ใดก็ตาม...

เป้าหมายของกาชาดคือเพื่อคุ้มครองชีวิต สุขภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งสามารถนำพาไปสู่ความเข้าใจซึ่งกันและกัน
สัมพันธภาพ ความร่วมมือ และสันติสุขที่ยั่งยืนในหมู่มวลมนุษยชาติ





ขอบคุณแหล่งข้อมูลและภาพประกอบ
http://www.rajini.ac.th/group/uva/uva1.html
http://lifestyle.campus-star.com/knowledge/23077.html
https://pssjournal.biomedcentral.com/articles/10.1186/1754-9493-7-13
http://www.encyclopedia.com/topic/Jean_Henri_Dunant.aspx
http://www.icrc.or.th/principles
http://www.bbc.co.uk/thai/news/story/2005/09/050912_redcross_symbol_subgenre.shtml
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B9%87%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B5_%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%A7%E0%B9%8C%E0%B8%99%E0%B9%87%E0%B8%AD%E0%B8%87



...........................................................


อังรี ดูนังต์ ถึงแม้เกิดในตระกูลสูงแต่กลับมีใจช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ทุกข์ยากอย่างไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย

ก่อตั้งสภากาชาดสากลที่ยึดหลักมนุษยธรรม ซึ่งหมายถึงความเห็นอกเห็นใจ การยื่นมือเข้าช่วยเหลือและปกป้องผู้อื่น
โดยไม่คำนึงว่าเขาจะเป็นใครหรือทำอะไรมา

หลักการนี้เป็นเรื่องของการเชิดชูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนแม้กระทั่งผู้ที่ไม่เป็นที่ต้องการของสังคม


Henri Dunant e la Croce Rossa

https://www.youtube.com/watch?v=d-RPbAYXhl4
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 8
ก่อนสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสขึ้นไปห้องอาหาร Breeze ชั้น 52 ตึกเลอบัวส์อีกครั้ง
ต่อด้วย Sirocco ชั้น 64 ตึกเดียวกันครับ เลยเอาภาพจาก Breeze และ Sirocco มาฝาก
และแจมด้วยเพลง

"เล่นของสูง"
KLEAR


คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ.
.
ภาพจาก Breeze
.


.
ภาพจาก Sirocco
.


.
เพิ่มพาโนรามาที่ Breeze อีกสักหนึ่งใบครับ
ความคิดเห็นที่ 5
วันนี้ ขอนำเรื่อง บทอัศจรรย์ ในการเขียนกลอนมาฝากค่ะ
เมื่อเริ่มแต่งกลอน ไม่ทราบเลยว่า คำว่า บทอัศจรรย์ หมายถึงอะไร

  บทอัศจรรย์คือบทที่พระนางมีเพศสัมพันธ์กัน ซึ่งกวีแต่ละท่านจะมีลีลาในการนำเสนอ โดยใช้ภาษาและสิ่งสมมุติที่แตกต่างกัน บ้างก็ใช้ลักษณะของลมพายุ คลื่น ทะเล บ้างก็ใช้ผีเสื้อกับดอกไม้ ถือว่าเป็นการนำเสนอศิลปะอย่างหนึ่งของกวี เพราะกวีจะไม่นำเสนอแบบ
ตรงไปตรงมา ผู้อ่านไม่สามารถแปลความตามตัวอักษรได้ ต้องอาศัยจินตนาการในวรรณคดีไทยมักมีบทอัศจรรย์ แทรกอยู่ด้วย เรื่องความรักและเพศสัมพันธ์เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ในการพรรณนาฉากรักฉากพิศวาสของตัวละครหญิงชาย กวีไทยไม่นิยมกล่าวตรงไปตรงมา แต่จะกล่าวถึงโดยใช้กลวิธีการเปรียบเทียบหรือใช้ สัญลักษณ์แทนบทนี้เรียกว่า “บทอัศจรรย์” กล่าวคือกวีใช้ธรรมชาติเป็นสัญลักษณ์แทนการแสดงพฤติกรรมทางเพศ บทอัศจรรย์จึงเป็นบทที่ต้องใช้ความสามารถในการแต่ง เพื่อให้เป็นงานศิลปะมิใช่อนาจาร


[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ซึ่งตัวเอง ก็คิดว่า การเขียนวรรณศิลป์ ก็เหมือนงานศิลป แขนงอื่นๆ เช่น การวาดภาพ ถ่ายภาพ ที่ถ่ายทอดออกมา
มีเส้นกันบางๆ ระหว่าง อนาจาร กับ ภาพศิลป
ดังเช่น คำอธิบายไว้ในกระทู้นี้ เมื่อ เริ่มแต่งบทอัศจรรย์ ด้วยความเป็นผู้หญิง จึงต้องระวังอย่างยิ่งที่จะสื่อออกมาค่ะ

บทนี้ พรรณาไว้ยาวมาก ค่ะ และมีเพื่อนๆ มาร่วมแต่งตามสำนวนของตัวเองไว้หลายคนค่ะ ถ้าหากสนใจศึกษา
คลิกเข้าไป ตามลิงค์นี้ นะคะ http://pantip.com/topic/30824700

ส่วนบทอัศจรรย์ ประกอบเพลง ที่นำเสนอในวันนี้ ชื่อ


....... ขอพบในฝัน........

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

ราตรีทอดร่างเคลิ้ม...........คนึงหา
ใจล่องยามนิทรา.................หลับพริ้ม
สู่ห้วงนิมิตพา......................ดื่มด่ำ
ชื่นรสรติลิ้ม.......................คู่เคล้าเคียงพนอ

สองแขนสอดกอดคล้อง......เอวองค์
ชวนพิศผกาดง..................ดอกสล้าง
อรุณแรกสาดลง................ไล้อาบ โลมเอย
กลีบอ่อนคงน้ำค้าง.............หยาดชื้นรื่นริน

ชี้ชมเหล่าภู่ผึ้ง...................ว่อนบิน
โฉบร่อนซอนหากิน.............ดอกไม้
หอมหวานกรุ่นกลิ่นผิน..........ตอมไต่
บานคลี่เผยอไว้..................ยั่วเย้าเฝ้าเชิญ

ไล้เลาะเกาะแทรกซ้ำ...........ระรัว
ระริกรอบพันพัว..................ซุกซ้อน
ลมไหวโบกเนียนัว..............โอนอ่อน ก้านเอย
ราวเร่งเร้าเร่าร้อน................ระรี้ระเริง

เบาบางพลางยิ่งโน้ม............โหมลาม
สะบัดแหวกแยกล่วงตาม........ลีกล้ำ
รำเพยพัดพริ้วยาม................ไกวส่ง
คลึงสั่นครันพาน้ำ................คั่งค้างพรูพราว

ระกาขันกู่ก้อง.....................แว่วดัง
พลันตื่นจากภวังค์................สว่างแล้ว
เพียงฝันรักที่หวัง.................พอสุข ใจเอย
ขอรักอย่าคลาดแคล้ว...........จิตพร้อมยอมฝัน



***ผู้แต่ง มิได้มีเจตนา สื่อในด้านอนาจารเลยค่ะ ***

.......nana_tjj........
แต่งเมื่อ 5 กค. 56


ขอบคุณ เพลง จากยูทูป
ภาพ จากอินเทอร์เน็ต ค่ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่