อยากทราบว่า อิตาลี ฝรั่งเศส เค้ามีมาตรการอะไรในการกำจัดโจรปล้นนักท่องเที่ยวเอเชียบ้างมั้ยครับ หรือเค้าไม่สนใจในปัญหานี้

อยากทราบว่า อิตาลี ฝรั่งเศส เค้ามีมาตรการอะไรในการกำจัดโจรปล้นนักท่องเที่ยวเอเชียบ้างมั้ยครับ หรือเค้าไม่สนใจในปัญหานี้เลย เพราะพวกเค้าไม่โดน เลยคิดว่า "ไม่ใช่ปัญหาของฉัน ฉันจะไม่ยุ่ง" ก็ปล่อยให้พวกนี้ได้ขโมยกระเป๋า เงิน ทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวชาวเอเชียต่อไป โดยไม่สนใจว่าจะกระทบกับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศรึป่าว เพราะประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส ก็มีนักท่องเที่ยวเยอะแยะมากมายอยู่แล้ว คนเอเชียไม่มาเที่ยวก็ไม่เป็นไร ??? เลยไม่สนใจจะแก้ปัญหา เพราะมันก็มีมาหลายปีแล้ว หรือเค้าหามาตรการแก้ปัญหาอยู่ แต่แก้ไม่ได้ครับ (อย่างแรก ผมว่า แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เรื่องการกีดกัน ไม่ให้มีผู้อพยพ เข้ามาอยู่อาศัยในประเทศก่อนดีมั้ย อันนั้นน่าจะเป็นต้นเหตุสำคัญเลยด้วยซ้ำ อพยพเข้ามาทำให้ภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย แล้วอิตาลี ฝรั่งเศส ได้ประโยชน์อะไรกับผู้อพยพเหล่านี้ครับ ?)

ปล เพื่อนผม ไปเที่ยว หอเอนเมืองปิซ่า ที่อิตาลี คนเดียว ตอนลงรถเมล์ มีคนเข้ามาล้วงกระเป๋ากางเกง ตอนเพื่อนผมลงมาจากรถเมล์ แล้วรู้สึกว่า พาสปอร์ตตก ซึ่งปกติ มันจะอยู่แน่นมาก เลยรู้เลยว่าถูกขโมยแน่ๆ เลยมองหาคนที่ขโมย ก็มีนักท่องเที่ยวอิตาลีหลายคนชี้ไปที่ โจร เพื่อนผม ไม่รอช้า สาวหมัดใส่ทันที ทั้งเตะ ทั้งต่อย ตามสไตล์แม่ไม้มวยไทย โจร ก็สะบักสะบอมหนีไป แต่ผู้หญิงอีกคนที่มากับโจรด้วย โดยเพื่อนผมจับแขนลากส่งตำรวจไป มีพยานชาวอิตาลีตามมาช่วยเพียบ 55555 บอกวันนี้มีคนโดนไป 7 เคสแล้ว แต่ปล่อยไปหมด ดีที่เพื่อนผม มันไม่ยอม

คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 20
คุณ tottui  ตั้งประเด็นกระทู้ได้ตรงกับเหตุการณ์ปัจจุบันซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของอิตาลี    และถ้ารัฐบาลแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้มีการคาดการณ์กันไว้ว่า   อิตาลีจะเข้าสู่ยุคแห่งความโกลาหล      วันนี้ผมจึงจะกล่าวจำเพาะถึงอิตาลีเท่านั้นก่อน

ปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลอิตาลียังจัดการไม่ได้คือ   ผู้อพยพ  และ  มาเฟีย

ในขณะที่ตอนนี้คลื่นผู้อพยพเส้นทางผ่านทางตุรกีและกรีซได้ถูกหยุดลงอย่างได้ผลชะงัดนั้น     ผู้อพยพจึงมองหาเส้นทางใหม่หรือจะเรียกว่าเส้นทางเดิมที่เคยใช้คือเส้นทางจากอัฟริกาเหนือประเทศลิเบียโดยล่องเรือในทะเลเมดิเตอเรเนียนเข้าสู่อิตาลีที่เกาะ ลัมเปดูซา ของอิตาลีซึ่งเป็นเกาะที่อยู่ใกล้ที่สุด     สาเหตุที่เลิกใช้ไปเนื่องจากในระหว่างฤดูหนาวอากาศแปรปรวนและไม่ปลอดภัยเป็นอย่างมาก    ทำให้เรือผู้อพยพล่มและเสียชีวิตกันมาแล้วโดยรวมนับพันคน

เมื่อเส้นทางผ่านกรีซได้ถูกยุติลง    ผู้อพยพจึงกลับไปใช้เส้นทางเดิมจากลิเบียซึ่งขณะนี้นั้นคาดกันว่ามีกลุ่มผู้อพยพรอการข้ามทะเลอยู่แล้วกว่า 2 แสนคน     และนั่นจึงเป็นสาเหตุให้  "ออสเตรีย"  โดยรัฐบาลใหม่ขวาจัดแก้ไขกฏหมายเกี่ยวกับผู้อพยพใหม่และประกาศตั้งด่านตรวจผู้สัญจรระหว่างออสเตรียและอิตาลีที่เมืองชายแดนสำคัญคือ  Brenner  และการตรวจตราผู้เข้าเมืองทางรถไฟระหว่าง Verona กับ Innsbruck

นโยบายของออสเตรียล่าสุดนี้ทำให้นายกอิตาลี Matteo Renzi  ออกมาโวยวายประท้วงอย่างรุนแรงถึงกับใช้การเปรียบเทียบว่าเป็น   "สงครามเย็นครั้งใหม่"        ด้วยสาเหตุที่ว่าอิตาลีนั้นไม่มีความสามารถที่จะป้องกันน่านน้ำที่ยาวไกลของตนจากการหลั่งไหลของผู้อพยพผิดกฏหมายได้    และเมื่อคาดการณ์กันว่าจะมีผู้อพยพหลั่งไหลเข้ามาในอนาคตอันใกล้อีกเป็นแสนคน     ถ้าผู้อพยพเหล่านี้ไม่สามารถผ่านขึ้นไปยังยุโรปเหนือได้ก็จะตกค้างเป็นภาระหนักแก่อิตาลีเช่นเดียวกับที่เกิดกับกรีซอยู่ในขณะนี้

อิตาลีนั้นเป็นประเทศยุโรปที่ยังไม่มีระบบสวัสดิการระดับพื้นฐานเทียบเท่ากับยุโรปพัฒนาแล้วอื่นๆ    ผู้อพยพที่สามารถเดินทางต่อไปได้ก็จะพยายามเดินทางต่อไปยังยุโรปเหนือ      ทั้งๆ ที่โดยสัญญาที่ตกลงกันใน อียู นั้นประเทศที่ผู้อพยพเข้าไปเเหยียบพื้นดินประเทศแรกจะต้องรับและดูแลผู้อพยพไว้ทั้งหมด    ห้ามปล่อยผู้อพยพเดินทางต่อไปยังประเทศสมาชิกอื่น      การถกปัญหาในเรื่องกฏข้อตกลงนี้กำลังพิจารณาอยู่ใน อียู  เพื่อแก้ไขปรับปรุงให้เข้ากับสถานะการณ์ปัจจุบัน

แต่ในความเป็นเจริงแล้ว   อิตาลีกระทำเช่นเดียวกับกรีซคือปล่อยให้ผู้อพยพเดินทางต่อไปยังประเทศยุโรปเหนือโดยผ่านออสเตรียมาตลอด    โดยการออกเอกสารและแม้แต่เงินช่วยเหลืออึกต่างหาก       แต่ในอดีตที่ยุโรปเหนือยังไม่มีปัญหาการรับผู้อพยพจำนวนมากจึงไม่มีประเทศใดออกมาร้องเรียนโวยวายกับอิตาลีอย่างจริงจัง        

แต่ปัจจุบันนั้นสถานะการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว    เมื่อผู้อพยพเห็นว่าประเทศยุโรปเหนือเปิดรับผู้อพยพกลายเป็นการเชิญชวนดึงดูดให้ผู้อพยพยิ่งเดินทางเข้าสู่ยุโรปมากยึ่งขึ้นจนยุโรปรับไม่ไหวอีกต่อไป

ประเด็นสำคัญนั้นอยู่ที่ว่า     ผู้อพยพที่เดินทางเข้ามาส่วนใหญ่ราว 70%  นั้นเป็นผู้อพยพลี้ภัยทางเศรษฐกิจไม่ใช่ต้องการหนีภัยสงคราม     ซึ่งเท่ากับว่าจุดประสงค์ในการช่วยเหลือผู้อพยพถูกใช้ไปในทางที่ผิด

สำหรับอิตาลีนั้น    รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยถือปฏิบัติเหมือนกันมาโดยตลอดด้วยการเมินเฉยไม่รับรู้และหย่อนยานที่จะเอาจริงเอาจังกับผู้อพยพส่วนใหญ่ที่ก่ออาชญากรรมในการเลี้ยงชีพ    ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรมฉกชิงวิ่งราวอย่างที่นักท่องเที่ยวประสบรายวัน    หรือ   การค้ายาเสพติด   การค้าหญิงบริการ      เป็นบริวารของกลุ่มมาเฟีย    การค้าขายสินค้าปลอมแปลงบนถนน   และ  แม้แต่การขอทานที่เห็นเกลี่อนกลาดอยู่ทั่วไป    เพราะปัญหานี้นั้นเกิดอยู่ก่อนแล้วโดยมาเฟียอิตาเลียนเอง  ชาวอิตาเลียนเองซึ่งตำรวจก็จัดการให้เด็ดขาดยังไม่ได้จนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันการนั่งดื่มกาแฟในมิลาน   ฟลอเรนซ   เป็นไปได้ยากที่จะไม่โดนขอทานเข้ามารบกวนหลายครั้ง       การนั่งพักผ่อนชายทะเลในอิตาลีจะต้องยอมรับการเข้ามารบเร้าขายของจากผู้อพยพอัฟริกันคนแล้วคนเล่าอยางหาความสงบไม่ได้อีกต่อไป    ใครที่ไปเที่ยวในเวนิสหรือโรมก็จะต้องเจอปัญหาสินค้าปลอมแปลงทุกชนิด        ในขณะที่คนงานก่อสร้างและงานแรงงานทำความสะอาดในบ้าน  หรือ การทำงานเก็บผลไม้ในสวนทั้งหมดนั้นเป็นแรงงานผู้อพยพทั้งสิ้น

และที่สำคัญที่สุด    งานของผู้อพยพทั้งหลายแหล่ที่กล่าวมานี้เป็นการทำงานที่ผิดกฏหมายทั้งหมด      และทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ในอิตาลีซึ่งเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม G7    แต่เป็นประเทศที่ไม่มีเงินประกันสำหรับผู้ตกงานระยะยาว    ไม่มีเงินสวัสดิการค่าที่อยู่อาศัย     แม้แต่ปัญหาอาชญากรรมการฉกชิงวิ่งราวก็เกิดในแหล่งท่องเที่ยวมาดั้งเดิมก่อนผู้อพยพเข้ามาเสียอีก     ก็เป็นอาชญากรอิตาเลี่ยนนั่นเองที่รัฐบาลไม่เคยแก้ไขปัญหาได้    กลุ่มผู้อพยพยิ่งมาซ้ำเติมทำให้ปัญหาอาชญากรรมในอิตาลีเลวร้ายยิ่งขึ้น     คนเหล่านี้ที่มาจากประเทศยากจน  บังคลาเทศ  ยุโรปตะวันออก บุลกาเรียและโรมาเนีย   ประเทศอัฟริกาทั้งหลายแหล่ซึ่งเข้าสู่การเป็นอาขญากรได้อย่างง่ายดาย

ในโรมนั้นกลุ่มมาเฟียได้เข้าควบคุมกิจการการดูแลผู้อพยพไว้ได้อย่างหมดจนโดยการคอรับชั่นกับเจ้าหน้าที่    มาเฟียกลุ่มนี้จะเก็บเงินจำนวนเล็กน้อยที่รัฐบาลอิตาลีให้แก่ผู้อพยพจำนวน 2.50 ยูโรต่อวัน     และจัดการหาที่อยู่อาศัยชนิดแค่หลังคาคุ้มหัวและอาหารพอประทังชีพแต่ละมื้อ
เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวว่ามาเฟียในเมือง Palermo  ยิงผู้อพยพชาวแกมเบียอายุ 21 ปีเสียชีวิตเนื่องจากไม่ยอมเชื่อฟังคำสั่ง     บางเมืองเช่น Kalabrien  นั้นผู้อพยพชาวอัฟริกันที่ตกค้างที่นั่นไม่มีโอกาสที่จะได้ทำงานแม้แต่เล็กๆ น้อยๆ   เนื่องจากชาวอิตาเลี่ยนเองยังตกงานถึง 60%

ฉะนั้นจึงไม่เป็นเรื่องที่ต้องสงสัยว่า   ถ้าจะมีคลื่นอพยพรุ่นใหม่เข้ามาสมทบและอิตาลีไม่สามารถปล่อยผ่านระบายไปยังประเทศยุโรปเหนือแล้ว   รัฐบาลอิตาลีไม่สามารถรับมือจัดการปัญหาใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อีกต่อไป

ผู้ที่ต้องประสบกับสภาวะความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอย่างที่ปรากฏเป็นประจักษ์อยู่นั้นก็ตกอยู่กับประชาชนภายในประเทศทั้งหมด   ไม่ว่าจะเป็นชาวอิตาเลียนเอง   ผู้อพยพ   และนักท่องเที่ยว นั่นเอง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่