เริ่มต้น ม.ปลาย ม.4#1

ราวปี 2526 ผมเริ่มเข้าศึกษาในชั้น ม.4 ในโรงเรียนชายล้วนแห่งหนึ่ง ที่แวดล้อมไปด้วยโรงเรียนฝรั่งทั้งชายและหญิง เหมือนโดนล้อมเลย ความเปลี่นแปลงที่ตอนเรียน  ม.ต้น ไม่มีคือ การเข้าเรียนเป็นรอบ ปีที่ผมเข้าไปนั้น ยังต้องเข้าเรียนเป็นรอบครับ เนื่องจากห้องเรียนมีไม่พอ ประกอบกับมีการสร้างอาคารเรียนเพิ่ม เฉพาะ ม.ปลายเท่านั้นนะครับ ที่เรียนรอบบ่าย พวกน้องๆ ม.ต้น เรียนเช้าเหมือนเดิม มันก็แปลกๆ นะ จากการที่ต้องเข้าแถวตอนเช้า ก็เปลี่ยนมาเป็นเข้าแถวตอนบ่ายแทน อีกเรื่องที่เปลี่ยนไป คือ จากที่ตอน ม.ต้น เป็นโรงเรียน สหศึกษา มา ม.ปลายเป็นชายล้วนครับ มันก็ได้รสชาติอีกแบบนึงนะครับ สนุกกว่าตอนที่เรียนโรงเรียนสหศึกษาเยอะครับ ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ทั้งดี และไม่ดี
ความเปลี่ยนแปลง มันเริ่มแต่เช้าแล้วครับ จากที่ต้องตื่นนอนแต่เช้าเพื่อเตรียมตัวไปโรงเรียน ก็ตื่นได้สายหน่อย เพราะเวลาเข้าเรียนเปลี่ยนไป ถ้าจำไม่ผิด น่าจะราวๆ 10 โมงกว่าๆ ไปถึง 11 โมงกว่า แต่ละวันเข้าเรียนไม่เหมือนกันครับ แล้วแต่วิชา แค่เวลาออกจากบ้าน ก็แปลกๆ แล้วครับ เพราะตอนที่เรียนตอนเช้า ท้องถนน จะวุ่นวาย เพราะทุกคนต้องรีบไปทำงาน ไปเรียน แต่พอมาเรียนตอนสาย ถนนดูโล่งๆ ขึ้นรถเมล์ก็คนน้อย ดีครับ แปลกดี อย่าที่เคยเล่าไว้เมื่อตอนก่อนๆ
ขอเล่าประวัติโรงเรียนเก่าผมก่อนนะครับ โรงเรียนวัดราชาธิวาส ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2446 ปีที่ผมเข้ารับการศึกษา คือปี 2526 เป็นปีที่โรงเรียนมีอายุ 80 ปีพอดี ตอนที่ผผมเข้าไปมีตึกเรียนแค่ 3 ตึกเองครับ ตึกใหญ่ที่สุดก็คือ ตึกไชยันต์ ตึกนี้มีรูปร่างเป็นตัว L มี 6 ชั้นครับ ซึ่งตึกนี้จะเชื่อมกับตึก สมอราย ตึกนี้มีแค่ 4 ชั้น โดยชั้น 2-4 สามารถเดินเชื่อมระหว่างตึกทั้ง 2 ได้ แต่ถ้าจะเดินจากชั้น 4 ไปชั้น 6 จะเป็นบันไดปูนเล็กๆ ยาวสัก เมตรเศษๆได้ เป็นทางเดินไปยังชั้น 5 และ 6 ถัดไปด้านหลัง ติดคลองที่คั่นระหว่างโรงเรียนกับพื้นที่ของท่าวาสุกรี ก็คือที่ตั้งของตึกวาสุกรี ตึกนี้มีแค่ 3 ชั้นครับ โดยชั้นล่างจะเป็นห้องสมุด ชั้น 2-3 เป็นห้องเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ หน้าตึกวาสุกรี จะมีสนามเล็กๆ คั่น สนามนี่เป็นสนามเล่นกีฬา เช่น ฟุตบอลสนามเล็ก บาสเกตบอล สนามเล็กๆ นี่เป็นตัวคั่นระหว่างตึกไชยันต์ กับตึกวาสุกรี เมื่อหันหลังให้กับตึกวาสุกรี ด้านขวา ก็คือส่วนหนึ่งของตึกไชยันต์ ชั้นล่างจะเป็นโรงอาหาร ด้านบ้านตั้งแต่ชั้น 2-6 เป็นห้องเรียน เมื่อจากตึกวาสุกรี ลอดใต้ตึกไชยันต์ไปทางหน้าโรงเรียน ด้านขวามือ คือ ตึกสามพี่น้อง โดยชั้นบนสุดเป็นโรงยิม มีสนามบาส ตึกนี้สร้างเสร็จก็ราวๆตอนผมเรียนชั้น ม.5 โดยกายภาพของโรงเรียนแล้ว ช่องทางที่นักเรียนจะโดดเรียน แทบจะเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ ลองมาดูกันนะครับ โรงเรียนมีทางเข้าออกทางเดียวครับ คือ ด้านหน้า ที่มีถนนคั่นระหว่าง โรงเรียนกับวัดราชาธิวาส พอมองกลับเข้าไปในโรงเรียน ก็จะเจอกับตึกไชยันต์สูง 6 ชั้น สูงพอที่จะมองได้ว่า มีใครกระโดดออกจากรั้วโรงเรียนหรือไม่ ด้านซ้ายของโรงเรียน เป็นกำแพงสูง ติดเขตวัดอีกครับ ถ้าข้ามไป คนที่เรียนอยู่บนตึกนี้จะเห็น แถมได้ยินเสียงด้วย เพราะด้านนี้มีต้นไม้เยอะ แถมต้นไม้ที่ปลูก เป็นต้นไผ่ ใยไผ่แห้งๆ นี่ทำให้เกิดเสียงได้ดีนัก ด้านขวาของโรงเรียน หมดสิทธิ เพราะเป็นเรือนบ้านพักของนักการของโรงเรียน ด้านหลังของโรงเรียน คือตึกวาสุกรี ยิ่งหมดสิทธิ เพราะมีคลองเล็กๆ ถาจะออกด้านนี้ ต้องลุยน้ำอย่างเดียว
ดูแล้วการโดดเรียนแทบจะเป็นไปไม่ได้ เว้นแต่ จะไม่มาตั้งแต่เช้า แต่เชื่อเถอะ ยิ่งยาก ยิ่งอยากทำ เพราะทุกวันก็จะมีนักเรียนโดดเรียนทุกวัน ผมนะเหรอ ก็ต้องมีบ้าง ไอ้ผมมันไม่ใช่พวกนักเรียนดีเด่นซะด้วย เป็นแค่นักเรียนที่การเรียนอยู่ระดับกลางๆ ไม่ตก แต่ก็ไม่ได้เก่ง เพราะฉะนั้นเรื่องโดดเรียน เป็นเรื่องธรรมดา คงมีคำถามว่า เมื่อไม่เรียน โดดเรียนไปไหน ไปทำอะไร ขอบอกนะครับ สมัยผมเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ยาเสพติดที่แรงที่สุดคือ เฮโรอิน รองลงมาก็กัญชา ผงขาวนี่เด็กรุ่นผมไม่กล้าลองหรอกครับ และเท่าที่รู้เพื่อนๆ ก็ไม่มีใครเล่นผงขาวนะ แต่กัญชานี่ ผมว่า ผู้ชายอายุใกล้ๆ 50 ในเวลานี้ ตอนอายุใกล้ๆ 20 ผมว่า ส่วนใหญ่จะเคยลอง ผมก็เคยนะ เท่าที่จำได้ ไม่น่าจะเกิน 3 ครั้ง เวลาโดดเรียนเหตุผลส่วนใหญ่ คือเบื่อ ไม่อยากเรียน ก็เลยโดด แล้วไปไหน สมัยก่อนมันไม่ค่อยมีที่ไปหรอกครับ ถ้าโดด 2-3 คน ส่วนใหญ่ก็เข้าโรงหนังครับ ตีตั๋วครั้งเดียว ดูได้ทั้งวัน สมัยนั้นมันเป็นโรงหนังชั้นสอง ฉายวนทั้งวันครับ ค่าตั๋วก็น่าจะ 20 บาท ถือว่าแพงนะครับ กินข้าวได้จานนึงเลย ถ้าไม่ไปดูหนัง ก็ตีสนุ๊ก ไปมั่วสุ่มกันตามห้องซ้อมดนตรี สมัยนั้นน่าจะ ชั่วโมงละ 80 บาท ส่วนพวกที่ชอบแฟชั่น เวลาเลิกเรียนก็จะนัดกันไปเดินสยาม สยามกับผมนะเหรอ ไปแค่ไม่เกิน 2 ครั้งได้มั้ง ตอนที่ยังเรียน ม.ปลายนะครับ ผมชอบแบบมีอะไรทำมากกว่า ที่จะไปเดินดูเสื้อผ้าหรือแฟชั่น พอสัก ม.5-6 เริ่มมีสเก็ต เข้ามาแล้ว ตอนนั้น ที่วัยรุ่นชอบไปมากที่สุดก็เป็น เดอะสเก๊ต ที่เซนทรัลลาดพร้าว แต่วัยรุ่นอย่างผม เน้นสเก๊ตที่ จันทิมา ดีกว่า ไม่รู้จักสิ จันทิมา มันก็คือลานสเก็ตแห่งหนึ่งในสมัยนั้น อยู่แถวๆ ศรีย่านนี่แหล่ะ ที่ชอบไปเพราะ มันใกล้ โรงเรียนผม ไม่ค่อยมีเรื่องนักเรียนตีกัน ราคาไม่แพง น่าจะสัก 20 หรือ 40 นี่แหล่ะ ถ้าโดดเรียนไปดูหนังก็ไปโน่น สะพานความบ้าง จ.นนท์ บ้าง ข้ามไปฝั่งธนก็มี
แฟชั่นนักเรียนสมัยก่อน จะเป็น กางเกงขาสั้น ก็สั้นจริงๆ เหนือเขาขึ้นมาเยอะ ซึ่งมันผิดระเบียบ ถ้าตามระเบียบก็จะต้องเป็นแบบที่เด็กนักเรียนชายใส่ในตอนนี้ คือตัวใหญ่ๆ ยาวเลยเข่า ส่วนเสื้อก็ต้องตัวโคร่งๆ บางๆ เวลาสอดเสื้อก็จะสอดเฉพาะชายเสื้อเข้าไปนิดเดียว ที่เหลือปล่อยให้มันพองๆ รอบๆเอวนั่นแหล่ะ ถุงเท้าก็ไม่ดึงตึงจนถึงครึ่งแข้ง จะพับแทบจะเสมอตาตุ่ม หรือตำกว่า รองเท้าที่นิยมก็ต้องนันยาง หรือไม่ก็โฮเบิรด์ ปากกาก็ใช้ตราม้า สเตตเรอร์ ถ้าจะให้เป็นที่สะดุดตาก็ต้อง Rotting แล้วต้อง 0.2 นะ ที่ขอบสีเหลือง จะเท่ห์มาก เรียนที่วัดราชาฯ นี่ วิธีการนำหนังสือไปโรงเรียนมีหลายวิธี 1.ใส่กระเป๋านักเรียน 2.ใส่ถุงทะเลของโรงเรียน 3.ถือไปเรียน อันหลังนี่เท่ห์กว่า ส่วนใหญ่จะถือไปเรียน รวมทั้งผมด้วย วิชาเรียนส่วนใหญ่ก็จะเป็น ภาษาซะส่วนใหญ่ เพราะผมเรียนสาย ศิลป์-ภาษา วันๆ ก็จะเรียนวนไปวนมา ฝรั่งเศสบ้าง อังกฤษ บ้าง ที่เหลือ ก็ ภาษาไทย ศิลปะ วิทยาศาสตร์
ย้อนมาถึงเรื่องโดดเรียน ผมจะมีเพื่อนที่ร่วมโดดเรียนกันมาตลอด คือแค่มองตา หรือสะกิดก็รู้แล้ว ว่าคิดอะไร ไอ้นี่ชื่อ ด๊อง ทำไมชื่อด๊อง นั่นสิ ชื่อจริงมันชื่อ จัดรบ แค่ชื่อก็แปลกแล้ว แต่นามสกุลมันนี่สิ “จันทร์คณา” คุ้นๆ ไม๊ ใช่แล้ว มันเป็นลูกนักแต่งเพลง พ่อจงรัก จันทร์คณา ที่แต่งเพลงให้ดาวใจ ไพจิตร นั่นแหล่ะครับ ตอนแรกผมไม่รู้หรอก แต่พอเพลงของดาวใจดังๆ ก็ได้รู้ว่าคนแต่งเพลงชื่ออะไร นั่นก็คือพ่อไอ้ด๊องนั่นเอง การแต่งตัวของไอ้ด๊อง ผิดระเบียบตั้งแต่หัวจรดเท้า คือ ผมยาว เสื้อตัวใหญ่ และบาง กางเกงเสมอเป้า มันต้องหลบฝ่ายปกครองตลอด ในห้องมีหลายคนครับ ที่ผิดระเบียบตั้งแต่หัวจรดเท้า มี โอ้ แหย ณุ สร รัตน์ และอีกหลายคน เรื่องผิดระเบียบนี่ กลายเป็นถ้าใครทำ คนนั้นจะเป็นฮีโร่ของห้องเลย ก็คิดตามความคิดเด็กๆเนอะในตอนนั้น
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่