หนังสือ "โอดะ โนบุนางะ" พลิกวิถีผู้นำญี่ปุ่น หนึ่งในสามจอมคนแห่งยุคเซ็นโกคุ

มาแจ้งข่าวและรีวิวเล็กน้อยว่า หนังสือชุด "โอดะ โนบุนางะ" พลิกวิถีผู้นำญี่ปุ่น กำลังจะออกมาแล้วที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ในเดือนมีนาคมนี้นะครับ วางขายที่สนพ.แสงดาว



ผลงานชุดนี้มาจากการแปล เรียบเรียง และค้นคว้าในเชิงลึกทั้งจากประวัติศาสตร์ ตำนาน ที่บันทึกโดยนักเขียนชาวญี่ปุ่นและของนักเขียนตะวันตก ทั้งในส่วนของบันทึกประวัติศาสตร์และเกร็ดตำนานต่างๆ โดยมุ่งเจาะเรื่องชีวประวัติเส้นทางการสร้างตัวของโนบุนางะนับตั้งแต่เกิด และได้รับฉายาว่าเป็น "เจ้าโง่เง่าแห่งโอวาริ" (Owari the Fool) ต่อสู้แย่งชิงอำนาจกับพี่น้อง จนผงาดขึ้นมาเป็นผู้ครองแคว้นโอวาริ แล้วต่อสู้กับเหล่าขุนศึกชั้นแนวหน้าที่ต่างครอบครองแคว้นน้อยใหญ่ในยุคสมัยเซ็นโกคุ แล้วในที่สุดก็พบจุดจบที่วัดฮอโนจิ อันเป็นฉากที่ดังที่สุดหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น


“ถ้านกแก้วไม่ร้องเพลง ข้าจะฆ่ามัน” กล่าวโดย โอดะ โนบุนางะ
“ถ้านกแก้วไม่ร้องเพลง ข้าจะบังคับให้มันร้อง” กล่าวโดย โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ
“ถ้านกแก้วไม่ร้องเพลง ข้าจะรอจนกว่ามันจะร้อง” กล่าวโดย โตกุกาวะ อิเอยาสึ





“โอดะ โนบุนางะ” (Oda Nobunaga) มีฉายาว่า “ดังโจโนะชู” มีนามเดิมในวัยเยาว์คือ “คิปโปชิ” เกิดปี ค.ศ.1534 ที่ปราสาทนาโกย่า ในแคว้นโอวาริ เขาเป็นบุตรชายคนรองของ โอดะ โนบุฮิเดะ (Oda Nobuhide) ไดเมียวผู้ครองแคว้นโอวาริ ส่วนมารดาคือ นางสึชิดะ โกเซ็น

เดิมทีแล้วตระกูลโอดะเป็นตระกูลซามูไรขนาดเล็กในแคว้นโอวาริ แต่เพราะความสามารถในฐานะผู้นำตระกูลในเวลานั้นของ โอดะ โนบุฮิเดะ จึงทำให้ตระกูลโอดะค่อยๆสั่งสมอิทธิพลทั้งกำลังเงินและกำลังทหาร จนกระทั่งสามารถผงาดขึ้นมาปกครองแคว้นโอวาริที่มีอาณาบริเวณอยู่ในบริเวณภาคกลางของประเทศญี่ปุ่นได้สำเร็จ โนบุฮิเดะยังเป็นไดเมียวผู้มีฐานะมั่งคั่งในภาคกลางอย่างมาก




แต่ในยุคสมัยเซ็นโกคุนั้น แคว้นโอวาริกลับโดนรายรอบไปด้วยบรรดาขุนศึกจากแคว้นน้อยใหญ่ที่หมายจะเปิดศึกเพื่อเข้ารุกรานเพื่อแย่งชิงดินแดนเช่นกัน โนบุนางะซึ่งเป็นบุตรชายคนรองของโนบุฮิเดะ จึงได้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางบรรยากาศของการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ ทั้งจากภายในตระกูลโอดะเอง และจากภายนอกคือเหล่าไดเมียวผู้ครองแคว้นทั้งน้อยใหญ่ที่อยู่โดยรอบทั้งหลาย

เมื่อวัยเยาว์ โนบุนางะได้แสดงแววของความเป็นผู้มีสติปัญญาปราดเปรื่องและจิตใจที่กว้างขวางเหนือใคร โนบุนางะชื่นชอบการเล่นเกมโยนก้อนหินร่วมกับเด็กๆวัยไล่เลี่ยกันราว 40-50 คน ซึ่งเรียกว่า “อินจิวชิ” โดยเกมนี้จะแบ่งออกเป็นสองข้างเสมือนการทำศึกสงคราม เป็นเกมที่เด็กๆชื่นชอบมาก ครั้งหนึ่ง มารดาของโนบุนางะเคยมอบของขวัญให้กับเขาเป็นหมึกฝนกระดาษ ขนมญี่ปุ่น และข้าวปั้น แต่โนบุนางะไม่รับของเหล่านั้นเอาไว้คนเดียว เขาจะเอาของเหล่านั้นมาตั้งเป็นรางวัล แล้วมอบให้กับเหล่าเด็กๆที่ร่วมกันเล่มเกมนี้ว่า หากใครเล่นได้ดีก็จะได้รับเป็นรางวัลไปโดยไม่เกี่ยงงอนและไม่สนใจชาติตระกูล ขอเพียงมีความสามารถพอที่จะเอาชนะเกมเท่านั้น

ด้วยความเป็นเด็กหนุ่มที่มีจิตใจกว้างขวางและไม่สนใจพื้นเพหรือชาติกำเนิดของคนอื่นเช่นนี้เอง จึงทำให้โนบุนางะในวัยเยาว์สามารถเอาชนะใจของบรรดาเด็กหนุ่มในวัยไล่เลี่ยกันได้อย่างมาก แม้แต่บรรดาผู้คนที่ได้พบเห็นเหตุการณ์นี้ก็พากันโจษขานแล้วกล่าวยกย่องว่า

“ในวันหน้า เจ้าเด็กคนนี้จะได้กลายเป็นไดเมียวและจอมทัพผู้ยิ่งใหญ่ได้อย่างแน่นอน”


มีบันทึกว่า ครั้งหนึ่ง โนบุนางะในวัยเยาว์ได้ออกมาเดินเล่นที่สวนในปราสาท ก็ปรากฏงูตัวเล็กออกมาที่สวน เมื่อโนบุนางะเห็น จึงคว้าคองูตัวนั้นขึ้นมาพลางถามผู้ติดตามว่า “เจ้าเรียกการกระทำของข้าว่าเป็นความกล้าหาญหรือไม่” แต่ผู้ติดตามกลับกล่าวว่า “การคว้างูตัวเล็กเช่นนี้จะเรียกว่าความกล้าหาญได้อย่างไรกัน”

แต่โนบุนางะได้แสดงเชาว์ปัญญาออกมาด้วยการตอบกลับว่า

“ขนาดของงูนั้นไม่ได้เป็นตัวที่จะบ่งบอกว่าพิษในตัวของมันมีความร้ายกาจแค่ไหนหรอก หากตัวเจ้าไม่ได้หวาดกลัวเพียงเพราะเห็นว่ามันเป็นงูตัวเล็กแล้ว เช่นนั้นก็แสดงว่าเจ้าเองก้กำลังดูถูกที่ตัวข้ายังเป็นเพียงเด็กอายุน้อยสินะ”

ผู้ติดตามคนนั้นได้ฟังคำตอบของโนบุนางะแล้วก็มีความละอายใจเป็นอย่างมาก ยิ่งแสดงให้เห็นถึงไหวพริบและเชาว์ปัญญาที่เหนือกว่าเด็กหนุ่มทั่วไป
โนบุนางะยังได้รับการศึกษาครบครันทั้งด้านบุ๋นและบู๊เป็นอย่างดี บรรดานักประวัติศาสตร์ นักวิชาการ และนักเขียนในยุคสมัยหลังส่วนมากมีความเชื่อว่า โนบุนางะเป็นผู้ที่มีความสามารถรอบด้านอย่างสูงล้ำ ไม่ว่าจะความแตกฉานในหลักพิชัยสงคราม การบัญชาทหาร การปกครอง ไปจนถึงด้านศิลปะ อักษรศาสตร์ พิธีชงชา ซึ่งโนบุนางะมีความสามารถรอบด้านเหล่านี้มาตั้งแต่วัยเยาว์และได้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆเมื่อเริ่มเข้าวัยหนุ่ม



ภาพของ โอดะ โนบุนางะ ในวัยหนุ่ม จากภาพยนตร์เรื่อง Oda Nobunaga (1989) นำแสดงโดย เคน วาตานาเบ้ ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นนักแสดงชั้นนำของญี่ปุ่นในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด


แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ไม่แน่ชัดนัก ความสามารถเหล่านั้นของโนบุนางะกลับโดนเก็บงำเอาไว้ตั้งแต่ช่วงวัยเยาว์จนถึงช่วงที่เข้าวัยหนุ่ม โนบุนางะแทบจะไม่ได้แสดงความสามารถในด้านต่างๆออกมาให้ผู้คนทั่วไปหรือเหล่าขุนนางอาวุโสในตระกูลโอดะให้ได้เห็นกันอย่างเด่นชัดมากนัก สิ่งที่ผู้คนส่วนมากเห็นก็คือ โนบุนางะเป็นคนหนุ่มที่ชอบทำตัวบ้าบอ แหกคอก ผิดวิสัยไปจากผู้คนทั่วไป เป็นที่น่าคิดว่า โนบุนางอาจจะเลือกเก็บงำความสามารถของตนไว้ก็เป็นได้ ซึ่งเหตุผลนั้นไม่ว่าจะเป็นเพราะมาจากคำแนะนำของผู้ใหญ่คนใด หรือเพราะเป็นความคิดของตัวเขาเองก็ตาม แต่นั่นก็อาจเพื่อป้องกันตนเองจากการโดนลอบทำร้ายของเหล่าไดเมียวจากแคว้นอื่น หรืออาจเพื่อป้องกันตัวเองจากภายในตระกูลโอดะด้วยก็ได้ เพราะในตระกูลโอดะเองก็มีการแก่งแย่งชิงตำแหน่งผู้สืบทอดอย่างรุนแรงเช่นกัน

ซึ่งผลก็คือ ทำให้โนบุนางะตั้งแต่เล็กจนถึงวัยหนุ่ม กลายเป็นผู้ที่มีภาพลักษณ์ว่าเป็นคนนอกคอกในสังคม และเป็นเจ้าโง่ที่ไม่น่าจะสามารถเอาชีวิตรอดอยู่ในยุคสงครามนองเลือดได้เลย



เมื่อโนบุนางะเริ่มย่างเข้าวัยหนุ่ม ก็เริ่มรวบรวมผู้คนที่มีความสามารถให้มาติดตามอยู่รอบตัว เมื่อโนบุนางะจะกระทำการสิ่งใดล้วนมองที่เป้าหมายหรือผลลัพธ์เป็นสำคัญที่สุดโดยไม่สนใจรายละเอียดปลีกย่อย โนบุนางะจะให้ผู้ติดตามฝึกฝนการขี่ม้า การยิงธนู ว่ายน้ำ ศิลปะต่อสู้ แล้วโนบุนางะยังให้เหล่าผู้ติดตามนำไม้ไผ่มาจัดทำเป็นทวนที่มีความยาวมากกว่า 20 ฟุต ภายใต้แนวความคิดว่า อาวุธที่ยิ่งมีความยาวก็ยิ่งใช้งานได้ดี เพราะมีระยะโจมตีที่ยาวกว่าปกติ   

อย่างไรก็ตาม ชื่อเสียงในทางลบของโนบุนางะก็ยิ่งดังกระฉ่อนไปทั่ว กลายเป็นที่กล่าวขวัญไปจนถึงแคว้นอื่นที่อยู่รายรอบว่าเป็นชายหนุ่มที่มีนิสัยบ้าบิ่น ชอบทำตามอำเภอใจ ไม่อยู่ในกรอบจารีตประเพณี ไม่เคารพผู้อาวุโส และเป็นคนโง่งมที่ชาตินี้คงไม่อาจทำงานใหญ่ได้สำเร็จแน่ พฤติกรรมโดยทั่วไปของโนบุนางะในวัยหนุ่มนับว่าเข้าข่ายเดียวกับกลุ่มคนที่สังคมญี่ปุ่นเรียกกันว่าเป็นพวก “คาบุกิ” (Kabuki) โดยทั่วไปแล้วหมายความถึง กลุ่มคนหนุ่มที่มักกระทำตัวแหกคอกหรือเป็นขบถต่อขนบประเพณีและจารีตทั่วไปในสังคม คนพวกนี้นิยมแต่งกายหรือห้อยเครื่องประดับที่มีสีสันฉูดฉาด กระทำสิ่งต่างๆตามอำเภอใจ สัมผัสได้ถึงความอันตรายอยู่รอบตัว ไม่ค่อยเคารพผู้อาวุโส เรื่องเหล่านี้จึงนับว่าเป็นการขัดต่อขนบธรรมเนียมและจารีตของสังคมญี่ปุ่นซึ่งมีลักษณะเป็นสังคมที่ปิดตัวเองอย่างรุนแรงมาก

ด้วยเหตุนี้ ผู้คนในแคว้นโอวาริและแว่นแคว้นข้างเคียงจึงพาให้ฉายาแก่โนบุนางะในวัยหนุ่มว่า “โอวาริ โนะ โออุสึเกะ” หรือ “เจ้าโง่เง่าแห่งโอวาริ” (Fool of Owari)




อันนี้เพียงยกส่วนต้นเรื่องมาเล่าสู่กันฟังเท่านั้น หวังว่าผู้ที่สนใจเรื่องของโนบุนางะจะได้รับสาระเต็มที่นะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่