อาชีพช่างเขียนแบบ (Draftsman) คืออะไร และสามารถแบ่งออกได้เป็นกี่สายอาชีพ

สวัสดีครับทุกท่าน ผมก็เป็นอีกคนหนึ่งครับ ที่เริ่มงานจากการเป็นช่างเขียนแบบมาก่อนที่จะมาเริ่มงานเป็น Technical Support บทความครั้งนี้ผมจะมาเล่าถึง อาชีพช่างเขียนแบบในงานวิศวกรรมที่ผมทำมามากกว่า 10ปี ครับ แต่ต้องขอบอกก่อนว่า ผมเล่าจากมุมมองของผมนะครับ ซึ่งผมจะเริ่มต้นด้วย
ช่างเขียนแบบคืออะไร..?
ช่างเขียนแบบ หรือที่มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า Draftsman นั้น เขาจะมีหน้าที่ในการวาดแบบ ตามข้อมูลที่วิศวกร หรือผู้ว่าจ้างให้มา โดยส่วนมากจะใช้โปรแกรมประเภท CAD (Computer aided design) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การออกแบบ และเขียนแบบนั้น มีความสวย เป็นระเบียบเรียบร้อย ง่ายต่อการแก้ไข ส่วนก่อนหน้าที่จะมีโปรแกรมประเภท CAD มาช่วยเหลือ เขาเขียนแบบกันยังไง ก็เขียนด้วยมือสิครับ ในยุคนี้อาจจะพอมีเหลือให้เห็นอยู่บ้าง แต่นี้ก็เหลือน้อยแล้วล่ะครับ กับการเขียนแบบด้วยมือที่ใช้ปากกา Rotting เขียนลงในกระดาษไข โดยส่วนตัวผมชอบดูงานเขียนแบบเดิมนะครับ ดูมีสเนห์ดี พอได้มองทีไร ผมก็รู้สึกเหมือนมีมนต์ขลัง ทึ่งกับความละเอียดในการวาด และลายเส้นที่คมกริบ แต่ปัจจุบันโปรแกรมประเภท CAD ทำแทนได้หมดแล้ว ซึ่งทำได้ง่ายและเร็วกว่า จัดเก็บง่าย และสะดวกในการส่งไปยังผู้รับท่านอื่น งานเขียนแบบเดิมจึงค่อยๆหายไปตามกาละเวลาครับ


หน้าที่และลักษณะงานของช่างเขียนแบบโดยทั่วไป
หน้าที่หลักๆของช่างเขียนแบบโดยส่วนใหญ่ ก็คงจะเป็นงานตามสั่ง อย่างเช่น มีแบบจากลูกค้ามาให้แก้ไข หรือใช้แบบเก่าที่มีอยู่มาอ้างอิงเพื่อแก้ไขดัดแปลงให้ตรงกับความต้องการ โดยลักษณะงานจะเป็นงานที่ค่อนข้างนั่งกับโต๊ะเป็นเวลานาน ซึ่งอาจจะมากกว่า 8ชั่วโมงต่อวัน (เพราะทำงานไม่เสร็จ หรือต่อโอที) ไอ้ที่เดินไปเดินมาก็คือไปคุยเรื่องแบบ ว่ามีตรงไหนต้องแก้อีกมั้ย วันไหนได้ออกไปที่หน้างาน (Site) ก็จะกระดี๋กระด๋าเป็นพิเศษ แหมก็ล่ะครับ การได้ออกไปดูโลกภายนอก ได้สัมผัสงานจริงได้มองเห็นด้วยตา อะไรมันจะดีไปกว่านี้ล่ะครับ พอกลับมาออฟฟิศก็ได้แนวคิดจากหน้างานนำมาปรับใช้ในงานเขียนแบบให้ดูเทพมากขึ้น สื่อสารได้ง่ายขึ้น และคนเขียนเองก็มีความมั่นใจมากขึ้นครับ
ช่างเขียนแบบรายได้งามมั้ย...!
งามครับ แต่สำหรับผู้ที่ท่องยุทธจักรมานานนะครับ หากถามผมว่าต้องนานเท่าไหร่ล่ะ ประมาณ 5ปีขึ้นไปครับ ประสบการณ์สูง ราคาค่าจ้างก็สูงตามไปด้วยเป็นธรรมดา เพราะทางผู้ว่าจ้างท่านก็คงหวังว่ารับมาแล้วคงไม่ต้องสอนงานอะไรมาก และคงช่วยให้งานเขียนแบบลื่นไหลมากยิ่งขึ้น โดยอาศัยประสบการณ์และความช่ำชองของผู้ทำแบบนั่นเอง แต่เรื่องนี้ ผมขอเว้นไว้เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลนะครับ  และมันก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดในแต่ละสาขาของงานแบบด้วย บางท่านเขียนมานานจนได้เป็น Senior หรือผู้อาวุโสในงานนั่นแหล่ะ อาจจะเฉียดแสนกันเลยนะครับ ส่วนอีกด้านหนึ่งสำหรับมือใหม่ มาตรฐานรายได้ก็ตามค่าแรงขั้นต่ำครับ เพราะฝ่ายนายจ้างอาจถือว่าประสบการณ์ยังน้อย คำแนะนำของผมคือ ถ้าเกิดรักที่จะทำงานสายนี้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ทำไปก่อนครับ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้เยอะๆ ทั้งเรื่อง CAD และเรื่องการจัดการในงาน ความรู้ด้านงานเขียนแบบในแต่ละสายงาย สำรวจหน้างาน ยันงาน IT กันเลยทีเดียว สิ่งที่เราทำจะกลายเป็นความรู้ติดตัวตลอดไป และยิ่งนานวัน มันก็จะยิ่งเพิ่มมูลค่าครับ
งานเขียนแบบสามารถแบ่งได้เป็นกี่สายอาชีพ
ตรงนี้ผมขอระบุเท่าที่ผมได้ทราบ และได้มีโอกาสร่วมงานด้วยนะครับ ซึ่งต้องบอกตามตรงว่า ภาษาและสัญลักษญ์ที่ใช้ในเขียนแบบแต่ละสาขานั้นมีความแตกต่างกันพอสมควรเลยครับ มันจึงไม่ง่ายที่จะข้ามสายในการเขียนแบบจากสายที่คุณอยู่ไปยังอีกสายนึง แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถแน่นอนครับ
งานเขียนแบบสามารถแบ่งได้เป็นสายอาชีพได้ดังนี้ครับ (เท่าที่ผมนึกออกนะครับ)
1.เขียนแบบเครื่องกล
2.เขียนแบบงานโยธา และก่อสร้าง
3.เขียนแบบไฟฟ้า
4.เขียนแบบงานสถาปัตยกรรม
5.เขียนแบบงานเฟอนิเจอร์
6.เขียนแบบงานอิเลคทรอนิกส์
7.เขียนแบบโครงสร้างงานเหล็ก
8.เขียนแบบงานท่ออุตสาหกรรม
ก็น่าจะมีสัก 8 อย่างนี่ล่ะครับเท่าที่ผมนึกออก ขาดตกหล่นตรงไหนก็รบกวนช่วยเสริมให้ด้วยนะครับ
และสุดท้ายขอบคุณที่อ่านบทความจนจบครับ
ขอบคุณครับ ^^
ปล.ขออนุญาต tag ห้อง มนุษย์เงินเดือน, Freelance, กราฟิกดีไซน์ (Graphic Design)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่