ด้วยพระบารมีแม่แห่งแผ่นดินผู้พลิกฟื้นคืนชีวิตป่าต้นน้ำ

กระทู้ข่าว

     สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินาถในรัชกาลที่ ๙ พระนามเดิมหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็นพระธิดาองค์ใหญ่ของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล (ภายหลังได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๔๗๕ ได้รับพระราชทานนามจาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า “สิริกิติ์” มีความหมายว่า “ ผู้เป็นศรี แห่งกิติยากร”
     เมื่อหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ มีอายุได้ ๔ ชันษา ได้เข้ารับการศึกษาครั้งแรกในชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี จบชั้นมัธยมศึกษาจากธรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนด์ ระหว่างการศึกษา หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้เรียนเปียโน ซึ่งเรียนได้ดี และเร็วเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ยังได้ศึกษา ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสด้วย
ครั้นเมื่อปี ๒๔๘๙ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ มีอายุ ได้ ๑๓ ปีเศษ ได้ย้ายตามหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ซึ่งต้องเดินทางไปดำรงตำแหน่งรัฐทูตวิสามัญและอัครราชทูต ผู้มีอำนาจเต็มประจำสำนักเซนต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ ขณะที่อยู่ในประเทศอังกฤษ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้ศึกษาต่อทั้งวิชาภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศส และวิชาเปียโนกับครูพิเศษ หลังจากนั้นไม่นาน ขณะที่ พระบิดาย้ายไปเดนมาร์กและฝรั่งเศส ตามลำดับ ขณะที่ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ก็ยังคงเรียนเปียโน และตั้งใจจะศึกษาต่อในวิทยาลัยการดนตรี ที่มีชื่อเสียงของกรุงปารีส ระหว่างที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้มีโอกาสรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (ขณะนั้นทรงศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์) ในระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินมายังกรุงปารีส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดการดนตรีเป็นพิเศษ ขณะที่ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ก็สนใจศิลปะเช่นกัน จึงเกิดการต้องพระอัธยาศัย
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ อยู่ถวายอภิบาล ในระหว่างนั้นได้เข้าการศึกษาในโรงเรียน Pensionnat Riante Rive ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งของโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กระทั่ง พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทย ภายหลังเข้าพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนา หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น “สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์” พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ในการนี้ด้วย


    ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี และปี พ.ศ. ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ผนวช ต่อมาในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ปีเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการประกาศว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ในระหว่างที่ทรงผนวช และได้ปฏิบัติพระราชภารกิจแทนพระองค์ด้วยพระปรีชาสามารถ สนองพระราชประสงค์เป็นที่เรียบร้อย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีว่า “ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” นับว่าทรงเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระองค์ ที่ ๒ ของประเทศไทย โดยพระองค์แรก คือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง)


    สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถผู้ทรงเป็น “พระแม่ของแผ่นดินไทย” ที่ตลอดระยะเวลาแห่งการดำรงพระอิสริยยศ ทรงเป็นต้นแบบอันงดงามของความเป็น “พระมารดา” ทรงอภิบาลรัชทายาทอย่างใกล้ชิดทั้งยังทรงงานหนักเพื่อประชาชน พระองค์ทรงเสียสละความเป็นส่วนพระองค์เพื่อคนทั้งประเทศ ตลอดจนสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของคนในสังคม เพื่อให้สังคมเกิดความร่มเย็นเป็นสุข พระองค์ทรงตรากตรำอย่างหนังในพระราชกรณียกิจอันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองไม่ว่าจะเป็นโครงการในพระราชดำริเกี่ยวกับการส่งเสริมศิลปาชีพ อันเป็นการสร้างอาชีพสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้รู้จักการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น โครงการธนาคารข้าว ขณะเดียวกันยังอนุรักษ์และส่งเสริมงานศิลปะพื้นบ้านที่มีความงดงาม หลายสาขา เช่น การปั้น การทอ การจักสานไม่ให้สูญหายไป
นอกจากนี้ พระองค์ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับพระราชกรณียกิจด้านสิ่งแวดล้อม ทรงมีพระราชเสาวนีย์ต่องานด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการป่ารักษ์น้ำ บ้านเล็กในป่าใหญ่ ซึ่งเป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ต่อพสกนิกรอย่างมาก
     ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๓ พลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา ผู้บัญชาการทหารบก เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์ฯ ได้สนองตอบราชเสาวนีย์ของพระองค์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของการปลูกป่าทดแทนบริเวณ รอบศูนย์ปางตอง การทำกำลังพลกองพันทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์ ฯ ปลูกไผ่ตง และ ควบคุมไม่ให้มีการตัดต้นไผ่ที่มีอยู่เดิมออกเพื่อสร้างความชุ่มชื่นให้ยังผลแก่การอนุรักษ์ และขยายผลในด้านการปลูกไผ่ให้มาก ทั้งนี้ยังเป็นกำลังสำคัญในการสร้างฝ่ายทดน้ำแม่ปางใน ก่อสร้างระบบส่งน้ำเพิ่มเติมทั้งสองฝั่งลำห้วยแม่ปาง ก่อสร้างฝายเก็บกักน้ำในห้วยขี้หมา และห้วยป่าแซง รวมทั้งการขยายพันธุ์การปลูกหม่อนและการเลี้ยงไหม ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ตลอดระยะเวลากว่า ๖๐ ปี ในฐานะ “แม่แห่งแผ่นดินไทย” เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีความห่วงใยในสภาพแวดล้อมรวมถึงให้ความสำคัญในปัญหาการขาดแคลนอาหารความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งน้ำ ทรงมีพระราชประสงค์ให้มีการเกษตรกรรมแบบหลากหลาย และให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ประเทศไทย ด้วยพระองค์ทรงห่วงใยในพสกนิกรชาวไทยอยู่ทุกขณะ
จึงนับเป็นบุญของพสกนิกรชาวไทย เพราะไม่ว่าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถจะเสด็จพระราชดำเนินไปในท้องที่ใด จังหวัดใดก็ตามเมื่อทรงพบและทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ยาก หรือความเดือดร้อนของราษฎร พระองค์จะมีพระราชดำริให้ความช่วยเหลือ สมกับที่พระองค์ทรงเป็น “แม่ของแผ่นดิน” ผู้ทรงให้และสร้างทางชีวิตแก่ลูกทั้งแผ่นดิน ผู้ทรงให้และสร้างทางชีวิตแก่ลูกทั้งแผ่นดิน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่