คุณธรรมของผู้ใหญ่ (สมเด็จพระญาณสังวร)




" .. ธรรมะเป็นเครื่องอยู่ของพรหม ซึ่งโดยตรงเป็นเทพผู้ใหญ่
ซึ่งท่านแสดงว่า เพราะอำนาจของการเจริญคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้
จนจิตใจได้ "อัปปนาสมาธิ"  สมาธิที่แนบแน่น จึงนำให้บังเกิดในพรหมโลก

แต่เมื่อแสดงเทียบลงมาถึงมนุษย์ ก็หมายถึงมนุษย์ซึ่งเป็นผู้ใหญ่
มีจิตใจอันสงบดีงาม ซึ่งมีความหมายว่า มนุษย์ผู้ใหญ่ดังกล่าวนี้ไม่เลือกว่าจะเป็นสตรีบุรุษ
ไม่เลือกว่าจะเป็นผู้มีอายุเท่าไหร่ จะมีอายุน้อยเป็นเด็ก หรือมีอายุมากที่เรียกว่าเป็นผู้ใหญ่ก็ตาม
เมื่อจิตใจประกอบด้วยพรหมวิหารธรรมดั่งนี้แล้ว ก็ชื่อว่าเป็นพรหมได้

คือเป็นผู้ใหญ่ซึ่งมีจิตใจเป็นพรหม มีจิตใจที่สงบและงดงาม
เพราะฉะนั้น "พรหมวิหาร" แต่ละข้อล้วนเป็นเครื่องดับรำงับกิเลสได้ทั้งนั้น

- "เมตตาก็เป็นเครื่องดับพยาบาท"
- "กรุณาก็เป็นเครื่องดับวิหิงสา"
- "มุทิตา ก็เป็นเครื่องดับอิสสา คือความริษยา อรติความไม่ยินดีด้วย"
- "อุเบกขา ก็เป็นเครื่องดับราคะความยินดี ปฏิฆะความยินร้าย หรือความติดใจชอบใจ
ความไม่ชอบใจ อันทำจิตใจให้ลำเอียงไป" เช่น ฉันทาคติบ้าง โทสาคติบ้าง เป็นต้น
แต่เมื่อมีอุเบกขาแล้ว จิตใจจะไม่เป็นอคติ คือไม่ลำเอียงไปเพราะชอบหรือเพราะชังเป็นต้น
จะมัธยัสถ์เป็นกลาง ด้วยมุ่งพิจารณาถึงกรรมเป็นใหญ่ ทำกรรมดีได้รับผลดี ทำกรรมชั่วได้รับผลชั่ว .. "

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่