คอคอดกระ ความคอดกิ่วของความเจริญรุดหน้าของประเทศไทย (เกิน3บรรทัดไปไกลมาก)

กระทู้คำถาม
.....เมื่อเช้า บังเอิญผมได้ไปแสดงความเห็นของเพื่อนสมาชิกท่านหนึ่ง ที่ตั้งกะทู้ถามว่า ทำไมประเทศไทยไม่ขุดคอคอดกระ http://pantip.com/topic/33597960 กะทู้นี้ ซึ่งก็ตอบไปตามความเห็นส่วนตัวแบบที่ไม่ต้องอ้างอิงประวัติศาสตร์ใดๆแต่ก็นั้นแหละความรู้สึกสงสัยมันยังไม่จางหายไปจากใจ ในกะทู้นั้นก็ไม่มีผู้ใดมาให้ความกระจ่าง

     แม้ตัวผมเองจะเคยอ่านหนังสือเจอสาเหตุมาบ้าง แต่ก็จำได้เพียงคร่าวๆ ซึ่งข้อมูลเพียงแค่นั้นมันไม่พอให้คิดวิเคราะห์ต่อได้ จึงต้องกลับมานั่งรื้อหาตำราอ่านว่าทำไมประเทศเราไม่ขุดคอคอดกระสักที ทั้งๆที่คิดเรื่องนี้กันมาเป็นร้อยปีแล้ว ซึ่งผมพูดจริงๆไม่ได้ประชด เพราะแนวคิดขุดคอคอดกระครั้งแรก ปรากฏในพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท เรื่องนิราศเสด็จไปตีเมืองพม่า (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท หรือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระนามเดิม บุญมา เป็นพระราชอนุชาร่วมพระราชชนกชนนีกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ทรงมีพระราชดำริ ให้ขุดคลองที่บริเวณกระบุรี ด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์

     ต่อมามีชาวตะวันตกหลายคน เสนอให้ขุดคลองผ่านคอคอดกระ พ.ศ.2399 กัปตันริชาร์ด ชาวอังกฤษ ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทย สมัยรัชกาลที่ 4 ให้สำรวจคอคอดกระ โดยให้เหตุผลเสริมว่า กองทัพเรืออังกฤษในน่านน้ำจีน จะแล่นผ่านคลองกระมาอินเดียได้ทันท่วงที ในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน แต่โครงการนี้ก็เดินหน้าต่อไม่ได้ เหตุผลแรกไม่มีเงินทุน เหตุผลต่อมา ถ้าขุดคอคอดกระจะกระทบต่อสิงคโปร์ อาณานิคมสำคัญของ อังกฤษเอง

     ปลายรัชกาลที่ 4 ฝรั่งเศสเสนอขอสัมปทานขุดคอคอดกระ แต่รัฐบาลไทยไม่อนุญาต เพราะเกรงกระทบต่ออำนาจอธิปไตยของไทย

     ในสมัยรัชกาลที่ 5 ฝรั่งเศสเข้ามาเกลี้ยกล่อมสยาม ในปี ค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2424) อ้างว่าเป็นตัวแทนของนายเดอเลสเซปที่เคยขุดคลองสุเอซ สำเร็จมาแล้ว และพูดจาหว่านล้อมจนสยามยอมเชื่อถือโดยรัชกาลที่ 5 ทรงอนุญาตให้นายเดอลองก์ วิศวกรชาวฝรั่งเศสสำรวจและทำแผนที่คอคอดกระขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนั้นนั่นเอง

     แต่มันมีเบื้องลึกซับซ้อน เพราะก่อนหน้านั้นไม่นาน นายเจมส์ แมคคาร์ธี  เจ้ากรมแผนที่ชาวอังกฤษของรัชกาลที่ 5 ได้รับการแต่งตั้งและมอบหมายอย่างเป็นทางการให้เขียนแผนที่และสำรวจประเทศสยาม และนั้นอาจเป็นผลพวงจากการปกป้องประเทศจากการแย่งชิงอาณานิคมของประเทศตะวันตก ของรัชกาลที่ 5

ซึ่งตรงนี้ต้องขอย้อนความไปดูความเป็นมาของเหล่าประเทศล่าอาณานิคมในเอเชียกันสักนิด

     การปฏิวัติอุตสาหกรรมในทวีปยุโรป ซึ่งเริ่มต้นระหว่างปี ค.ศ.1760-1830 (พ.ศ. 2303-2373) โดยเริ่มในอังกฤษ ก่อน เป็นปัจจัยสำคัญส่งเสริมให้อังกฤษเกิดความทะเยอทะยาน และขวนขวายที่สร้างฐานอำนาจของตนนอกทวีปยุโรป เอเชียเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติขนาดใหญ่ และสมบูรณ์ที่สุดในโลก  อังกฤษจึงต้องการสร้างความได้เปรียบโดยครอบครองแหล่งทรัพยากรดังกล่าว  เพื่อประโยชน์ในการผลิต  การขายสินค้า และแสวงหาตลาด
อังกฤษ ตามด้วยฝรั่งเศส เยอรมนี และรัสเซียพากันเดินทางโดยเรือเข้ามายังเอเชียโดยมีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่เมืองจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลาง ของทวีป อังกฤษต้องการเปิดเสรีการค้าในจีนแต่ไม่สำเร็จ จึงก่อสงครามฝิ่น (วันหลังจะเล่าเรื่องประวัติศาสตร์สงครามฝิ่นให้ฟัง อันนี้ก็สนุกอย่าบอกใคร) ขึ้นเพื่อเอาชนะจีน เมื่อชนะแล้วก็ได้ครอบครองตลาดการค้าขนาดใหญ่สมใจปรารถนา

     การเดินทางติดต่อกับเอเชียในอดีตกาล ต้องใช้เรือสำเภาหรือเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่รอนแรมมาไม่ต่ำกว่า 2 เดือน และต้องแวะจอดพักตามเมืองท่าภาคบังคับของอังกฤษที่อินเดีย ปีนัง และสิงค์โปร์เป็นหลัก อังกฤษจึงเป็นอิทธิพลมากที่สุดครอบครองเส้นทางหลักสายนี้ตลอดมา

     ทว่าใน ปี พ.ศ. 2412 ฝรั่งเศสซึ่งเป็นคู่แข่งอันดับหนึ่งของอังกฤษก็ประสบความสำเร็จในการขุดคลองลัดเชื่อมยุโรปกับมหาสมุทรอินเดียสำเร็จก่อนใคร เรียกว่าคลองสุเอซ ชื่อเสียงของวิศวกรชาวฝรั่งเศสคือ นายเดอเลสเซป (M. Ferdinand de Lessep) จึงเป็นที่กล่าวขวัญไปทั่ว เขาทำให้การเดินทางติดต่อสื่อสารของคนทั่วโลกใกล้ชิด และสะดวกยิ่งขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ประจวบกับการที่ฝรั่งเศสยึดเวียดนามได้อย่างเด็ดขาด (เวียดนามอยู่บนคาบสมุทรอินโดจีน หรือทางผ่านไปสู่เมืองจีน - ผู้เขียน) ในปี พ.ศ. 2426 ฝรั่งเศสเลยลำพองใจที่จะขุดคลองลัดเชื่อมมหาสมุทรอินเดียเข้ากับทะเลจีนใต้ เพื่อจะได้เดินทางมายังเมืองขึ้นของตนในอินโดจีนสะดวกขึ้น โดยไม่ต้องผ่านเส้นทางทางผูกขาดของอังกฤษอ้อมแหลมมลายู

     และ 2 ชาติตัวแสบที่เข้ามาเกี่ยวกับการขุดคอคอดกระในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 คือ อังกฤษและฝรั่งเศสทั้ง 2 ชาตินี้ เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตั้งแต่ตอนที่จะตัดหน้ากันให้ได้มาซึ่งสัมปทานในการขุดคลองสุเอซ ในอียิปต์ ที่ทั้งคู่ต่างใช้สารพัดวิธีที่จะทำให้ตนเป็นผู้ได้รับสัมปทาน

     แม้ว่าฝรั่งเศสจะมีภาษีดีกว่าในการขอสัมปทาน เพราะนายเดอเลสเซป หัวหน้าโครงการนั้นมีเส้นสาย หรือ connection อยู่กับท่าน  Sa-Id Pasha เจ้าเมืองอียิปต์ แต่อังกฤษก็พยายามขัดขวางฝรั่งเศสทุกวิถีทาง ด้วยการเสนอรัฐบาลอียิปต์ให้อังกฤษตัดทางรถไฟคร่อมคอคอดแม่น้ำไนล์แทนการขุดคลองแต่เส้นทางรถไฟก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากทางการอียิปต์  ซึ่งไม่ต้องการผูกขาดกับอังกฤษอีกต่อไป เนื่องจากอยู่ภายใต้การปกครองและอิทธิพลของอังกฤษมานาน จึงต้องการหันไปหาฝรั่งเศส

     พอรู้ตัวว่าจะสู้ฝรั่งเศสไม่ได้   อังกฤษก็ปลุกระดมมวลชนที่เป็นแรงงานต่างด้าว ให้ลุกฮือขึ้นก่อความไม่สงบจนเกิดการจลาจลย่อยๆ  ขึ้นที่กรุงไคโร เป็นเหตุให้ทางการต้องส่งกำลังทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ และระงับเหตุวุ่นวายจนการขุดคลองดำเนินต่อไปได้ความผิดหวังของอังกฤษ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจควบคู่กับจักรวรรดินิยมระหว่าง 2 มหาอำนาจนี้ในส่วนต่างๆ ของโลกบ่อยขึ้น

     ในสยามตอนนั้น มีความพยายามจากพ่อค้าและนักการเมืองฝรั่งเศสที่กดดันรัฐบาลของตนให้ขุดคดคอดกระขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อการเดินเรือของฝรั่งเศสไปยังเวียดนาม แต่อังกฤษทราบเรื่อง นาย อี.บี.โกลด์ (E.B. Gould) กงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพฯ จึงได้แจ้งข่าวเรื่องคนฝรั่งเศสเสนอโครงการขุดคลองกระไปยังลอนดอน และในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2424  ลอร์ดแกรนวีล  รมต. ต่างประเทศอังกฤษได้ออกคำสั่งให้กงสุลของตนพยายามยับยั้งมิให้สยามให้สัมปทานแก่ฝรั่งเศส  กงสุลอังกฤษจึงเปิดการเจรจาปัญหานี้กับรัฐบาลสยาม   แต่ปรากฏว่าได้รับคำตอบจากไทยอย่างคลุมเครือและไม่น่าพอใจ

     สันนิษฐานว่าเนื่องมาจากเสนาบดีว่า การกรมท่าและกลาโหม   ซึ่งมีอำนาจในการปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ในเวลานั้น  ซึ่งล้วนเป็นคนในตระกูลบุนนาค จะสนับสนุนให้ขุดคลองนี้ในเขตปกครองของตน เพราะหวังจะได้ประโยชน์ส่วนตัวจากการให้สัมปทานแก่ฝรั่งเศส

     และแรงสนับสนุนของขุนนางในตระกูลบุนนาค ส่งเสริมให้ทีมงานชาวฝรั่งเศส ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว และดูเหมือนว่าโครงการขุดคอคอดกระ ที่มีฝรั่งเศสผลักดันอยู่นั้น จะได้รับความเห็นชอบ และเห็นดีเห็นงามไปด้วยอย่างผิดสังเกต สิ่งเดียวที่รัชกาลที่ 5 จะทรงหน่วงเหนี่ยวไว้ได้ก็คือ การ ให้ฝรั่งเศสสำรวจให้แน่ใจก่อนว่า จะเป็นประโยชน์ต่อแผ่นดินและราษฎรเพียงใด เพราะที่บริเวณนั้นมีบ่อแร่ที่สำคัญอยู่หลายแห่ง

     แม้นว่ารัชกาลที่ 5 จะทรงเกรงใจทางอังกฤษมากขนาดไหนก็ตามแต่การคะยั้นคะยอของพวกฝรั่งเศสที่สนับสนุน และให้ท้ายโดยขุนนางตระกูลบุนนาค ก็กดดันพระองค์ทรงเห็นชอบให้ทีมงานของนายเดอลองก์สำรวจพื้นที่ และทำแผนที่ขึ้นโดยไม่แยแสต่อความรู้สึกของรัฐบาลอังกฤษ มีความในพระทัยที่พบในพระราชหัตถเลขาอีก 3 ฉบับชี้ให้เห็นความสองจิตสองใจของสยาม ที่ถึงแม้จะมีนัยยะว่าทรงเกรงใจอังกฤษ แต่กลับกลายเป็นว่าไม่ทรงต้องการจะผูกขาดกับอังกฤษเท่านั้น การที่ทรงอนุญาตให้ทีมงานฝรั่งเศสสำรวจคอคอดกระ ยังหมายถึง การเอาใจกลุ่มขุนนางในตระกูลบุนนาค และหมายถึงการจับเสือมือเปล่า เพราะเท่ากับแสวงหาประโยชน์โดยสยามเองไม่ต้องลงทุน

ขุนนางในสกุลบุนนาคมีความเป็นมาอย่างไรถึงได้มีบทบาทถึงเพียงนี้

     ตระกูล "บุนนาค" เป็นตระกูลเก่าแก่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ท่านเฉกอะหมัด พ่อค้าชาวเปอร์เซียและคณะ ได้เข้ามาทำการค้าขายและต่อมาได้รับราชการในกรมพระคลัง วงศ์เฉกอะหมัดได้สืบตระกูลต่อเนื่องกันมา ๖ ชั้น จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ.2310
หม่อมบุนนาคหรือนายบุนนาค ผู้สืบวงศ์เฉกอะหมัดลำดับชั้นที่ 6 เข้ารับราชการและเป็นขุนนางที่ได้รับใช้ใกล้ชิดด้วยความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้สมรสกับเจ้าคุณนวล พระกนิษฐภคินี ของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยว ดองกับพระองค์ท่าน หม่อมบุนนาครับราชการสนองพระเดชพระคุณมีความดีความชอบมากมาย ทรงโปรด เกล้าฯ เลื่อนตำแหน่งและตั้งให้เป็นเจ้าพระยามหาเสนาที่สมุหพระกลาโหม แล้วเป็นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา ท่านผู้นี้เป็นต้นสกุล "บุนนาค" นับเป็นชั้นที่ 1

     เสนาบดีสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ที่มาจากตระกูล ณ บางช้าง ซึ่งเป็นพระญาติทางฝ่ายพระบรมราชชนนีเป็นส่วนใหญ่ เสนาบดีในสมัยรัชกาลที่ 3 จะเป็นขุนนางที่รับราชการในกรมวังมานาน และเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับพระองค์ท่านมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ได้แก่ เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) อัครมหาเสนา บดีมหาดไทย ส่วนตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีกลาโหม จะเป็นบุตรหลานในสกุลบุนนาค
คณะเสนาบดีเข้าเฝ้ารับเสด็จฯ ตามยศและตามตำแหน่ง ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ

     เสนาบดีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ส่วนใหญ่มีตำแหน่งสำคัญๆ อยู่ในกรมมหาดเล็กหลวง มีเสนาบดี 7 คน เป็นบุตรหลานโดยตรง ของตระกูลบุนนาค ได้แก่ บุตรของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) 2 ท่าน คือ ท่านดิศ และท่านทัต ได้เข้ารับราชการมาตั้งแต่แผ่นดินรัชกาลที่ 1 เป็นผู้ที่มีบทบาทในการช่วยบริหารประเทศ ในแผ่นดินรัชกาลที่ 4 ท่านทั้งสองได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงสุดเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ) ผู้สำเร็จราชการทั่วพระราชอาณาจักร และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต) ผู้สำเร็จราชการพระนคร ตามลำดับ บุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ) คือ เจ้าคุณช่วง ซึ่งรับราชการตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ต่อมา
     
     ตลอดระยะเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2325 ถึง พ.ศ. 2416 เสนาบดีจากตระกูลบุนนาคมีบทบาทในการบริหารประเทศมากกว่าเสนาบดีในตระกูลอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 และต้นรัชกาล ที่ 5 (พ.ศ. 2367 - 2416)

ความรุ่งเรืองของตระกูลบุนนาคอาจจะเกิดจากสาเหตุ ใหญ่ๆ 4 ประการ ได้แก่
ประการแรก มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับองค์พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีอย่างมิตรและอย่างญาติ
ประการที่สอง นโยบายของรัชกาลที่ 2 อันเกี่ยวกับพระอุตสาหะวิริยะที่จะจัดการกับอำนาจของขุนนาง
ประการที่สาม การเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจของบ้านเมืองซึ่งมีผลต่อขุนนาง
ประการที่สี่ การตัดสินใจที่จะลดอำนาจเจ้านายลง และประการสุดท้าย ความสามารถของคนในตระกูลบุนนาคที่แต่ละคนจะแสวงหาความรู้ที่จำเป็นในเวลานั้นโดยเฉพาะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่