งง!! กฎหมายไทย... ขับเร็วแค่ไหน ไม่ถูกจับ ??

ทุกวันนี้ก็ยังเกิดความสับสนของผู้ที่ขับขี่ยวดยานบนท้องถนนจากการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บางคันขับเร็วมากเช่น 120 กม./ชม. แต่ไม่ถูกจับ ขณะที่คนที่ขับด้วยความเร็ว 115 กม./ชม. กลับถูกจับ

วันนี้การใช้รถใช้ถนนต้องมีการจำกัด “ความเร็ว” เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและเป็นการลดการเกิดอุบัติเหตุที่เป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในเมืองกรุงที่มีปริมาณรถจำนวนมากเมื่อเกิดอุบัติเหตุยังจะเพิ่มภาระในเรื่องปัญหาการจราจรติดขัดเพิ่มเข้าไปอีก

แต่ทุกวันนี้ก็ยังเกิดความสับสนของผู้ที่ขับขี่ยวดยานบนท้องถนนจากการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บางคันขับเร็วมากเช่น 120 กม./ชม. แต่ไม่ถูกจับ ขณะที่คนที่ขับด้วยความเร็ว 115 กม./ชม. กลับถูกจับ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่อาจเกิดคำถามว่าแล้วความเร็วเท่าไหร่กันแน่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้บังคับใช้กฎหมายจะทำการออกใบสั่ง

คนส่วนใหญ่อาจรู้แล้วว่าการขับขี่รถตามความเร็วที่กฎหมายกำหนดนั้นปัจจุบันกำหนดไว้ต่ำมากเช่น ถนนในเขตเทศบาลสำหรับรถยนต์ทั่วไปใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 80 กม./ชม. ส่วนนอกเขตเทศบาลกำหนดที่ไม่เกิน 90 กม./ชม. ส่วนบนถนนที่เรียกว่าทางด่วนนั้นมีกฎหมายที่กำหนดความเร็วไว้เพียงทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์ เวย์) และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (ถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก) ที่กำหนดให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 120 กม./ชม. ดังนั้นทางด่วน ในพื้นที่กรุงเทพฯที่ไม่ใช่มอเตอร์เวย์และถนนวงแหวนฯ ต้องใช้ความเร็วตามกฎหมายอ้างอิงความเร็วในเขต/นอกเขตเทศบาลคือวิ่งได้ไม่เกิน 80 และ 90 กม./ชม. เท่านั้น ดังที่เราจะเห็นป้ายไฟตามทางด่วนที่จะระบุอัตราความเร็วดังกล่าวเพื่อเตือนผู้ขับขี่ให้เห็นได้ตลอดเส้นทาง ซึ่ง แม้ว่ากฎหมายจะระบุไว้ต่ำมากแต่ก็ใช่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีการออกใบสั่งตามระเบียบดังกล่าวเป๊ะ ๆ เพราะคงจะเป็นกระแสสังคมให้เกิดการต่อต้านแน่ ๆ หากไปจับรถที่วิ่งบนทางด่วนด้วยความเร็วเพียง 90 กม./ชม. ซึ่งปัจจุบันนี้บนทางด่วนโทลล์เวย์ ทางยกระดับหรือบนถนนวงแหวนฯมีการกำหนดอัตราความเร็วที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะจับกุมบังคับใช้ที่ประมาณ 120 กม./ชม. ขณะที่ในถนนพื้นราบในพื้นที่กรุงเทพฯนั้นแทบไม่มีการจับกุม จะมีก็ในส่วนของตำรวจทางหลวงที่มีการจับกุมผู้ที่ขับขี่รถในถนนทางหลวงระหว่างจังหวัดซึ่งส่วนใหญ่ก็จะจับที่ความเร็วเกิน 100 กม./ชม. ขึ้นไป

การระบุอัตราความเร็วดังกล่าวเป็น กฎหมายที่มีการประกาศใช้ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งใช้มานานกว่า 30 ปีแล้ว แต่ก็ไม่มีใครหรือหน่วยงานใดที่จะออกมาปรับปรุงแก้ไขให้สอดรับกับความเป็นจริงหรือเพื่อลดความคับข้องใจกรณีที่การจับกุมโดยใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่แตกต่างกันทำให้เกิดความลักลั่นในการบังคับใช้กฎหมายซึ่งผู้ที่ใช้รถอยู่ไม่น้อยเห็นว่าปัจจุบันทั้ง สมรรถนะของรถและกายภาพของถนน มีการออกแบบและปรับปรุงด้านวิศวกรรมจราจรให้รถสามารถใช้ความเร็วเพิ่มขึ้นได้อย่างปลอดภัยแต่ทั้งนี้ก็มีความคิดเห็นอีกด้านหนึ่งที่สะท้อนจากผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ความเร็วตามที่ระบุในกฎหมายนั้นเป็นเกณฑ์การขับขี่ที่สามารถหยุดรถหรือลดความสูญเสียลงได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดเหตุการณ์คับขันบนท้องถนนซึ่งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของทั้งผู้ที่ขับขี่และผู้ที่เดินรวมถึงสิ่งที่อยู่ใกล้เคียงเขตทางถนน

จากข้อมูลของ หน่วยเฝ้าระวังและสะท้อนสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน (Thailand Road Safety Observatory, TRSO) ระบุถึงการใช้ความเร็วมีความสัมพันธ์กับโอกาสการเกิดอุบัติเหตุและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในทุกมิติ ยิ่งขับรถเร็วยิ่งหยุดยาก หากเจอเหตุต้องเบรกรถกะทันหัน เช่น เมื่อเพิ่มความเร็วจาก 32 กม./ชม. เป็น 112 กม./ชม. หรือ 3.5 เท่า จะต้องใช้ระยะทางในการหยุดรถเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า ยิ่งขับเร็วยิ่งเจ็บหนักเมื่อความเร็วมากกว่า 80 กม./ชม. ขึ้นไปถ้าชนกันจะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าการชนกันที่ความเร็ว 40 กม./ชม. ถึง 15 เท่า และความเร็วเพิ่มทุกร้อยละ 10 จะเพิ่มแรงปะทะร้อยละ 21 และเพิ่มความรุนแรงของอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 46 และคนที่เดินถนนจะมีโอกาสเสียชีวิตเพียงร้อยละ 5 หากถูกชนที่ความเร็ว 32 กม./ชม. แต่จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 45 หากถูกชนที่ความเร็ว 48 กม./ชม. และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 85 หากถูกชนที่ความเร็ว 64 กม./ชม.

ด้าน พ.ต.อ.ภูษิต วิเศษคามินทร์ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร (บก. จร.) กล่าวว่า “ไม่อยากให้มองว่ากฎหมายที่ระบุเกณฑ์ไว้ต่ำเกินไปนั้นเป็นความล้าสมัยไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะแม้กฎหมายจะระบุไว้ให้ใช้ความเร็วได้น้อย แต่การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ใช้ตามเกณฑ์ดังกล่าว อย่างเทียบกับกรณีการจับผู้ที่เมาแล้วขับ หากมีแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่าเมา ซึ่ง เจ้าหน้าที่ก็ไม่เคยจับคนที่วัดแอลกอฮอล์ได้ที่ 51 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เป็นต้น บังคับใช้กฎหมาย ที่ใช้ดุลพินิจตามความเหมาะสมนั้นก็มีการผ่อนปรนยืดหยุ่นมาโดยตลอด ซึ่งหากไปแก้กฎหมายให้ปรับเพิ่มเกณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ขึ้นไปอีกก็จะเป็นการไปส่งเสริมให้ขับเร็วมากขึ้นเสี่ยงอุบัติเหตุมากขึ้น อันที่จริงแล้วอยากให้ประชาชนตระหนักในเรื่องการขับขี่ให้เกิดความปลอดภัยมากกว่าคิดเรื่องว่าจะถูกจับหรือไม่เพราะกฎหมายที่บังคับใช้ก็เพื่อความปกติสุขของสังคมส่วนรวม”

คิดสะระตะแล้วผู้ที่นิยมขับรถเร็วก็พึงต้องสังวรและระแวดระวังไว้ว่าแม้จะมั่นใจในฝีมือและสมรรถนะของรถของตนเองเพียงใดแต่ท้องถนนนี้เป็นของคนทุกคน ถามว่าคนที่ขับอยู่ใกล้ ๆ หรือคนที่เดินอยู่ริมถนนอยากจะเสี่ยงอันตรายจากการขับขี่ของเราหรือไม่ เมื่อ “อุบัติเหตุ” เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง ดังนั้นคาถา “ขับรถถูกกฎ”นอกจากจะช่วยลดอุบัติเหตุแล้วยังไม่ต้องเสี่ยงเสียค่าปรับจากใบสั่งที่ส่งตามมาภายหลังด้วย.

พัชรินทร์ ธรรมรส : รายงาน http://www.dailynews.co.th/bangkok/317179

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่