วิเคราะห์ตัวละครสามก๊กฉบับคนเป็นกลาง : เกียงอุย ยอดนักรบคนสุดท้ายแห่งจ๊กก๊ก เก่งกาจและจงรักภักดีจริงหรือไม่?

ในฐานะที่เป็นแฟนพันธุ์แท้คนหนึ่งของสามก๊กจึงทำให้ผมต้องการที่จะลองตั้งกระทู้วิเคราะห์ตัวละครของสามก๊กในแบบของตนเองบ้างหลังจากที่ได้ติดตามอ่านกระทู้ของคนอื่น ๆ มานาน ซึ่งจากที่ผมได้อ่านบทวิเคราะห์ตัวละครในหลาย ๆ กระทู้ รวมทั้งในหนังสือบางเล่มนั้น โดยส่วนใหญ่มักจะมีลักษณะการวิเคราะห์ไปในทางเดียวนั่นคือถ้าไม่เป็นเชิงบวกที่ชื่นชมตัวละครตัวนั้นอย่างเลิศเลอก็จะเป็นไปในเชิงลบที่ต่อว่าตัวละครตัวนั้นว่าเป็นผู้ร้ายไปเสียแล้วก็นำหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ มาสนับสนุนการวิเคราะห์ของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิเคราะห์ตัวละครสามก๊กแบบฉบับคนเดินดินของ "เล่าชวนหัว" ที่มีการวิเคราะห์ตัวละครสามก๊กแต่ละตัวไปในทางเดียวอย่างน่าใจหาย ประหนึ่งว่าเป็นการฟันธงกำหนดไปเลยว่าตัวละครตัวนี้ดีและตัวละครตัวนี้ร้าย

ตามความเห็นของผม การวิเคราะห์ในลักษณะดังกล่าวนับว่าเป็นการวิเคราะห์โดยมีอคติและออกจะสุดขั้วจนเกินไป เพราะในความเป็นจริงมนุษย์นั้นก็มีทั้งด้านดีและด้านร้ายในตัวเอง ดังนั้นการที่จะวิเคราะห์ว่าคน ๆ นั้นเป็นคนดีหรือคนร้ายนั้นจึงควรมองจากทั้งสองด้านและค่อยวิเคราะห์ว่าคน ๆ นั้นมีด้านดีหรือด้านร้ายมากกว่ากัน มิใช่มองไปเฉพาะไปในด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น เพราะหากคุณมองไปในลักษณะนั้นแล้ว การวิเคราะห์ของคุณก็จะเป็นไปในลักษณะแบบมีอคติหรือสุดขั้วดังที่กล่าวไปในข้างต้น...

ตัวละครตัวแรกที่ผมจะวิเคราะห์ก็คือ "เกียงอุย" แม่ทัพใหญ่แห่งจ๊กก๊กก่อนที่อาณาจักรจะล่มสลาย ที่ผมเลือกจะวิเคราะห์ตัวละครตัวนี้ก่อนนั้นเพราะว่าเขาคือบุคคลสำคัญคนสุดท้ายที่อยู่ในยุคสมัยสามก๊ก เป็นคนที่มีบทบาทมากที่สุดก่อนที่สภาวะสามก๊กของจีนจะสิ้นสุดลงเหลือเพียงสองก๊ก เกียงอุยจึงเป็นบุคคลที่มักจะถูกตั้งคำถามว่า "เขาเป็นแม่ทัพที่เก่งกาจจริงหรือไม่?" รวมไปจนถึงคำถามที่ว่า "เขามีความจงรักภักดีต่ออาณาจักรอย่างแท้จริงรึเปล่า?" ซึ่งผมจะทำการวิเคราะห์ตัวละครตัวนี้แบบรอบด้านทั้งด้านดีและด้านร้ายของเขา และนำมาหาคำตอบของคำถามดังกล่าว

ประวัติของเกียงอุย
"เกียงอุย" หรือ "เจียงเว่ย" ในภาษาจีนกลาง มีชื่อรองว่า "โป๊ะเยียะ" เกิดเมื่อ ค.ศ.202 ที่เมืองเทียนซุยทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนซึ่งในขณะนั้นอยู่ในอาณาเขตของวุยก๊ก เขตอิทธิพลของโจโฉ เขาเป็นลูกผสมระหว่างชาวจีนและชาวเกี๋ยงซึ่งเป็นชนเผ่าเร่ร่อนในแถบนั้น บิดาของเขาเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก เขาจึงถูกเลี้ยงดูมาโดยแม่ของเขาเพียงลำพัง เมื่อเขาอายุได้ประมาณ 20 ปีก็เข้ารับราชการเป็นทหารของเมืองเทียนซุย ต่อมาเขาก็ได้มีโอกาสสร้างผลงานที่โดดเด่นจากการใช้กลศึกรบชนะจูล่งและขงเบ้ง แม่ทัพและเสนาธิการแห่งจ๊กก๊กซึ่งยกทัพมาโจมตีเมืองเทียนซุย อย่างไรก็ตามในภายหลังเขาก็ต้องกลศึกของขงเบ้งจนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่เนื่องจากขงเบ้งมองเห็นฝีมือจึงชักชวนเขามาเป็นพวก เขาจึงมาอยู่ฝ่ายจ๊กก๊กนับแต่นั้นโดยได้รับตำแหน่งเป็นแม่ทัพคู่ใจของขงเบ้ง คอยติดตามขงเบ้งไปรบในทุกที่และเรียนรู้กลศึกทั้งหลายจากขงเบ้ง กระทั่งเมื่อขงเบ้งเสียชีวิตเขาก็กลายเป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของขงเบ้ง ได้รับตำแหน่งแม่ทัพใหญ่แห่งจ๊กก๊ก บุกโจมตีวุยก๊ก ศัตรูคู่อาฆาตของจ๊กก๊กอยู่หลายครั้ง แต่ในที่สุดจ๊กก๊กก็ถูกวุยก๊กโจมตีกลับจนล่มสลายใน ค.ศ. 263 เกียงอุยยอมแพ้และเข้าร่วมกับวุยก๊ก โดยมาเป็นแม่ทัพคนสนิทของจงโฮย ซึ่งเป็นหนึ่งในสองแม่ทัพฝ่ายวุยก๊กที่มาโจมตีจ๊กก๊ก (แม่ทัพอีกคนนั้นคือ เตงงาย) เกียงอุยต้องการที่จะกอบกู้จ๊กก๊กจึงได้ยุยงให้จงโฮยคิดก่อกบฏต่อวุยก๊กแต่แผนการถูกล่วงรู้เสียก่อน เขาจึงจบชีวิตลงจากเหตุการณ์ในครั้งนี้โดยประวัติศาสตร์ไม่บ่งบอกการตายของเขาไว้ชัดเจน บ้างก็กล่าวว่าเขาถูกล้อมสังหาร บ้างก็กล่าวว่าเขาตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลง ซึ่งในขณะนั้นเขาอายุได้ 63 ปี

วิเคราะห์เกียงอุย
จากคำถามที่ว่า "เกียงอุยเป็นแม่ทัพที่เก่งกาจจริงหรือไม่?" นั้น ต่างก็มีการวิเคราะห์กันไปมากมาย โดยหากจะกล่าวถึงภาพลักษณ์โดยทั่วไปตามเนื้อเรื่องสามก๊กฉบับหลอกว้านจงและฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เกียงอุยเป็นแม่ทัพฝีมือฉกาจ มีความจงรักภักดี และมีความกตัญญู นับว่าภาพลักษณ์ของเขาเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์แบบจริง ๆ อย่างไรก็ตามนักประวัติศาสตร์หลายคนในปัจจุบันกลับวิเคราะห์ว่าเขามิใช่แม่ทัพที่เก่งกาจแต่อย่างใด และยังเป็นสาเหตุหลักของการทำให้จ๊กก๊กล่มสลายจากการดำเนินยุทธวิธีทางการทหารที่ผิดพลาด อีกทั้งยังตั้งข้อสงสัยในความจงรักภักดีของเขาว่าเขามีความจงรักภักดีต่อจ๊กก๊กจริงหรือไม่ โดยเหตุการณ์ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดก็คือเหตุการณ์ที่เขาไปเข้ากับฝ่ายวุยก๊กภายหลังจากจ๊กก๊กล่มสลายและได้ทำการยุยงจงโฮยให้คิดกบฏต่อวุยก๊กเพื่อหวังจะกอบกู้จ๊กก๊ก ตามเนื้อเรื่องสามก๊กฉบับหลอกว้านจงและฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) กล่าวว่าเกียงอุยต้องการกอบกู้จ๊กก๊กและนำพระเจ้าเล่าเสี้ยน บุตรของพระเจ้าเล่าปี่ผู้ก่อตั้งจ๊กก๊กกลับมาครองราชย์อีกครั้ง แต่นักประวัติศาสตร์บางคนได้ตั้งข้อสงสัยว่าในความเป็นจริงแล้วเขาต้องการทำเช่นนั้นจริงหรือไม่ หรือมีเจตนาที่จะตั้งตัวเป็นใหญ่เสียเอง

ผมจะทำการวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ของข้อสงสัยดังกล่าวอย่างรอบด้านเพื่อค้นหาคำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดซึ่งจะนำมาสรุปเป็นลักษณะนิสัยของตัวละครตัวนี้

เริ่มจากเรื่องราวสมัยหนุ่มเมื่อครั้งที่เขายังเป็นทหารของเทียนซุยและสร้างผลงานที่โดดเด่นผลงานแรกซึ่งทำให้ชื่อของเขาปรากฏขึ้นมาในหน้าประวัติศาสตร์ในฐานะบุคคลสำคัญคนหนึ่ง เขาได้ใช้กลศึกรบชนะจูล่งและขงเบ้งแห่งจ๊กก๊กซึ่งยกทัพมาโจมตีเทียนซุยได้ แต่ในภายหลังเมืองเทียนซุยก็พ่ายแพ้ต่อขงเบ้งและเกียงอุยก็มีอยู่กับขงเบ้งนับแต่นั้น ซึ่งในส่วนนี้ตามเนื้อเรื่องของสามก๊กบรรยายว่าเกียงอุยต้องกลศึกของขงเบ้งโดยขงเบ้งแสร้งยกทัพไปหมู่บ้านที่แม่ของเกียงอุยอาศัยอยู่ ทำให้เกียงอุยกังวลจนรีบยกทัพออกจากเมืองเพื่อไปช่วยแม่ของตน ขงเบ้งก็ฉวยโอกาสนั้นปล่อยข่าวออกไปว่าเกียงอุยได้มาเข้ากับฝ่ายตนแล้ว ทำให้เกียงอุยไม่อาจกลับไปยังเมืองเทียนซุยได้อีก เขาได้ถูกกองทัพของขงเบ้งล้อมเอาไว้และกำลังจะฆ่าตัวตาย แต่ขงเบ้งได้พาแม่ของเขามาเกลี่ยกล่อมจนเขายอมเปลี่ยนใจมาเข้าร่วมกับฝ่ายจ๊กก๊ก ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ไม่มีบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์จริง ๆ บันทึกไว้เพียงว่าเมืองเทียนซุยพ่ายแพ้และเกียงอุยก็ได้ยอมแพ้และสวามิภักดิ์ต่อจ๊กก๊กเท่านั้น ดังนั้น เรื่องราวที่ขงเบ้งใช้กลศึกหลอกล่อเกียงอุยและใช้แม่ของเขามาเกลี่ยกล่อมนั้นจึงยังไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่ถ้าหากว่าเป็นความจริงก็นับเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเกียงอุยมีความกตัญญูต่อมารดาจริง ๆ

อย่างไรก็ตามไม่ว่าเกียงอุยจะสวามิภักดิ์กับขงเบ้งด้วยวิธีการใด แต่การที่ขงเบ้งยอมไว้ชีวิตเขาและยังให้เป็นถึง "แม่ทัพคู่กาย" (เน้นว่าแม่ทัพคู่กาย ไม่ใช่แม่ทัพเฉย ๆ) แสดงให้เห็นว่าเกียงอุยไม่ใช่นักรบไร้ฝีมือและต้องเป็นคนที่น่าเชื่อถืออยู่พอสมควร  มิเช่นนั้นขงเบ้งคงไม่มีทางให้ขุนศึกที่เพิ่งย้ายข้างมาอยู่ฝ่ายตนซึ่งอาจทำเป็นแสร้งยอมแพ้เพื่อลอบสังหารหรือก่อการทรยศในภายหลังและยังเป็นแค่คนหนุ่มอายุเพียง 20 มาดำรงตำแหน่งสำคัญอย่างแม่ทัพคู่กายซึ่งต้องรับใช้ใกล้ชิดเขาเช่นนี้อย่างแน่นอน ดังนั้น นี่จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าเกียงอุยน่าจะเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ กตัญญู และไว้ใจได้ในระดับหนึ่ง

ต่อมาภายหลังจากที่ขงเบ้งเสียชีวิต เกียงอุยซึ่งเป็นคนสนิทที่ขงเบ้งไว้ใจที่สุดก็เข้ามาดำรงตำแหน่งแม่ทัพใหญ่และสืบทอดเจตนารมณ์ของขงเบ้งนั่นคือการบุกโจมตีวุยก๊ก โดยเกียงอุยได้ยกทัพไปจู่โจมวุยก๊กถึง 8 ครั้ง (บ้างก็ว่า 7 หรือ 9 ตามแต่บันทึกทางประวัติศาสตร์แต่ละฉบับ) ดังนี้

ครั้งที่ 1 (ค.ศ. 249) ในขณะนั้นวุยก๊กกำลังเกิดความวุ่นวายโดยสุมาอี้ได้ทำการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามคือโจซองและพรรคพวก แฮหัวป๋าซึ่งเป็นขุนศึกที่อยู่ฝ่ายโจซองหนีมาสวามิภักดิ์จ๊กก๊ก เกียงอุยจึงเห็นว่าเป็นโอกาสดีจึงนำกำลังบุกตีวุยก๊ก แต่ก็ต้องพ่ายแพ้เพราะชนเผ่าเกี๋ยงไม่มาตามนัด อีกทั้งทัพหน้าที่ส่งไปตั้งรับรอไว้ก่อนนั้นก็ไปตั้งค่ายอยู่บนเนินเขาและถูกกองทัพวุยก๊กล้อมเอาไว้ให้อดข้าวอดน้ำ เกียงอุยซึ่งตั้งทัพรอกองทัพของชาวเกี๋ยงอยู่ที่ฮันต๋งจึงตัดสินใจยกทัพไปช่วยแต่ก็ไม่อาจบุกฝ่าเข้าไปได้ จึงจำต้องถอยทัพกลับ

ครั้งที่ 2 (ค.ศ. 252) "สุมาอี้" แม่ทัพใหญ่ฝ่ายวุยก๊กซึ่งเป็นคู่ปรับคนสำคัญกับขงเบ้งเสียชีวิต "ซุนกวน" ผู้นำง่อก๊กก็เสียชีวิตเช่นกัน "ซุนเหลียง" ลูกชายของซุนกวนขึ้นเป็นผู้นำง่อก๊ก วุยก๊กเห็นเป็นโอกาสจึงบุกตีง่อก๊กแต่ต้องกลศึกของจูกัดเก๊ก แม่ทัพใหญ่ของง่อก๊กจนต้องพ่ายแพ้ไป จูกัดเก๊กจึงส่งสาสน์ไปยังจ๊กก๊กเพื่อขอให้จ๊กก๊กเป็นพันธมิตรร่วมกันโจมตีวุยก๊กที่เพิ่งพ่ายแพ้ไป ฝ่ายจ๊กก๊กเห็นเป็นโอกาส  จึงตอบรับและให้เกียงอุยคุมทัพบุกโจมตีวุยก๊ก เกียงอุยได้ชัยชนะอย่างต่อเนื่องจนสามารถขับไล่กองทัพของ "สุมาเจียว" แม่ทัพฝ่ายวุยก๊กซึ่งเป็นลูกชายคนที่สองของสุมาอี้หนีขึ้นไปบนเขาเทียดลองสันและทำการปิดล้อมภูเขาเพื่อให้กองทัพของสุมาเจียวอดตาย ทว่าการรบอีกด้านหนึ่งนั้น จูกัดเก๊กพ่ายแพ้หนีกลับง่อก๊ก ทางฝ่ายของเกียงอุยนั้นก็ถูกทรยศโดย "ปีต๋อง" ผู้นำเผ่าเกี๋ยงจนต้องพ่ายแพ้หนีกลับจ๊กก๊ก

ครั้งที่ 3 (ค.ศ. 255) "สุมาสู" แม่ทัพใหญ่ฝ่ายวุยก๊กซึ่งเป็นบุตรชายคนโตของสุมาอี้เสียชีวิต สุมาเจียวผู้เป็นน้องชายจึงขึ้นครองอำนาจต่อ "พระเจ้าโจฮอง" ฮ่องเต้แห่งวุยก๊กถูกปลด "พระเจ้าโจมอ" ขึ้นครองราชย์แทน เกียงอุยเห็นเป็นโอกาสจึงนำทัพบุกวุยก๊กอีกครั้ง รบชนะจนกองทัพวุยต้องล่าถอยเข้าไปในเมือง เกียงอุยพยายามจะบุกโจมตีเมืองแต่กองทัพหนุนของวุยก๊กยกมาช่วยไว้ได้ทัน เกียงอุยจึงต้องล่าถอยไป

ครั้งที่ 4 (ค.ศ. 256) เกียงอุยนัดหมายกับผู้นำเผ่าหูในการบุกโจมตีวุยก๊ก แต่ชนเผ่าหูไม่มาตามที่นัด เกียงอุยจึงถูกกองทัพวุยก๊กที่นำโดย "เตงงาย" ตีแตกพ่ายที่ต้วนกู่ และยังเสียดินแดนแถบหลงซานที่เคยยึดมาได้ตอนบุกวุยก๊กครั้งที่หนึ่งไป ผลจากการรบในครั้งนี้ทำให้เกียงอุยขอลดขั้นทางทหารของตนเองเพื่อรับผิดชอบ

ครั้งที่ 5 (ค.ศ. 257) เกิดสงครามกลางเมืองในวุยก๊กเมื่อ "จูกัดเอี๋ยน" แม่ทัพผู้จงรักภักดีต่อพระเจ้าโจมอได้ก่อการกบฏเพื่อล้มล้างสุมาเจียวที่กำเริบเสิบสานในอำนาจทำการลบหลู่พระเจ้าโจมอ เกียงอุยจึงฉวยโอกาสนี้บุกโจมตีวุยก๊กได้พบกับเตงงายศัตรูเก่าอีกครั้งที่เมืองเตียงเสีย เตงงายใช้วิธีตั้งรับอยู่แต่ในเมืองและรอกองทัพหนุนมาช่วยเหลือ ซึ่งเมื่อสุมาเจียวสามารถปราบกบฏจูกัดเอี๋ยนได้แล้วก็ได้ส่งกองทัพมาช่วยเหลือเตงงาย เกียงอุยจึงต้องถอยทัพกลับไป

ครั้งที่ 6 (ค.ศ. 258) สุมาเจียวกำลังจะยึดอำนาจในจากพระเจ้าโจมอ เกียงอุยจึงยกกองทัพบุกโจมตีวุยก๊กที่กิสาน รบชนะเตงงายจนล่าถอย แต่จำต้องยกทัพกลับเพราะ "พระเจ้าเล่าเสี้ยน" ฮ่องเต้แห่งจ๊กก๊กหลงเชื่อคำพูดของ "ฮุยโฮ" ขันทีคนสนิท (ซึ่งบ้างก็ว่าฮุยโฮแอบรับสินบนจากเตงงาย) ว่าเกียงอุยคิดทรยศไปเข้ากับวุยก๊ก จึงมีคำสั่งเรียกตัวเกียงอุยกลับมา หลังจากนั้นเกียงอุยก็พักรบ ทำการตั้งรับและบำรุงกองทัพอยู่ที่ฮั่นจง รอคอยจังหวะเหมาะที่จะบุกวุยก๊กอีกครั้ง

ครั้งที่ 7 (ค.ศ. 262) พระเจ้าโจมอถูกปลงพระชนม์ สุมาเจียวตั้ง "พระเจ้าโจฮวน" ขึ้นเป็นฮ่องเต้หุ่นเชิดของตน เกียงอุยจึงฉวยโอกาสบุกโจมตีวุยก๊กรบชนะเตงงายอีกครั้งแต่จำต้องยกทัพกลับเนื่องจากเสบียงหมด

ครั้งที่ 8 (ค.ศ. 263) เป็นครั้งสุดท้ายที่เกียงอุยบุกโจมตีวุยก๊กโดยตีเมืองเตียวเจี๋ยง แฮหัวป๋า แม่ทัพคู่กายเกียงอุยเสียชีวิตในสนามรบ การศึกในครั้งนี้มีการบันทึกที่แตกต่างกันไปตามบันทึกทางประวัติศาสตร์แต่ละฉบับ บ้างก็ว่าเกียงอุยรบชนะแต่ถูกพระเจ้าเล่าเสี้ยนซึ่งหวาดระแวงเกียงอุยตามคำยุยงของขันทีฮุยโฮส่งสาสน์มาเรียกตัวกลับถึง 3 ครั้งจึงจำต้องยกทัพกลับ บ้างก็ว่าเกียงอุยรบแพ้เตงงายจนต้องถอยทัพกลับ

หลังจากนั้นเกียงอุยก็ตั้งมั่นกองทัพอยู่ที่ฮันต๋ง ไม่ได้กลับไปยังนครเฉิงตู เมืองหลวงของจ๊กก๊กเพราะรู้ว่าตนเองจะต้องถูกขันทีฮุยโฮปองร้ายอย่างแน่นอน...

(มีต่อ......)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่