[Loser Voice] Run All Night : เรื่อง “เรียล เรียล” (Real Real) ของวิถีชีวิต “นักเลง-อันธพาล” [อาจมีสปอยบ้าง]

[Loser Voice] Run All Night : เรื่อง “เรียล เรียล” (Real Real) ของวิถีชีวิต “นักเลง-อันธพาล” [อาจมีสปอยบ้าง]
.
.
By : TonyMao_NK51
E-Mail : tonymao_nk51@hotmail.com
Facebook Page : TonyMao_NK51
.
“ทำไมถึงอยากเป็นนักเลงกันนัก..เป็นแล้วมันได้อะไร ไม่เจ็บ ตาย พิการ ก็ติดคุก”
.
หากย้อนกลับไปเมื่อครั้งเราๆ ท่านๆ ยังเป็นวัยรุ่น และได้ซึมซับเรื่องราวของ “นักเลง” , “อันธพาล” , “เสือ” , “เจ้าพ่อ” , “มาเฟีย” ฯลฯ ไม่ว่าจะจากหนังสืออัตชีวประวัติที่มีผู้บันทึกไว้ เรื่องเล่าลือแบบปากต่อปาก ตลอดจนสื่ออื่นๆ เช่น นวนิยาย ละครและภาพยนตร์ ผมเชื่อว่าเด็กหนุ่มหลายคน คงอยากเป็นแบบนั้น เพราะคนที่ถูกจัดประเภทไว้ในกลุ่มข้างต้นนี้ ภาพที่คนทั่วไปเห็น ดูแล้วมันช่าง “เจ๋ง” เสียเหลือเกิน ชีวิตที่โลดโผน เก่งกาจเรื่องต่อยตีทะเลาะวิวาท ปรากฏตัวพร้อมรถมอเตอร์ไซค์บ้าง รถยนต์บ้างในท่าทางเท่ๆ มีลูกน้อง-เพื่อนฝูงซูฮก ให้ความเคารพนับถือ และมีหญิงสาวมาใกล้ชิดแบบไม่ซ้ำหน้า
.
แน่นอนว่าคนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง คงไม่สบายใจที่เห็นบุตรหลานเริ่มคิดเช่นนั้น บ่อยครั้งก็จะตัดพ้อ มีเรื่องโต้เถียงกันด้วยถ้อยคำข้างต้นนั่นแหละครับ ซึ่งก็จะไร้ผลเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะธรรมชาติของวัยรุ่น เป็นพวก “รักเพื่อนและบูชารุ่นพี่” มากกว่าผู้ใหญ่ที่ให้กำเนิดและเลี้ยงดูเป็นธรรมดา และแม้กระทั่งเรื่องราวในสื่อต่างๆ หลายครั้งในท้ายที่สุดมักฉายภาพให้เห็นจุดจบที่ไม่สวยนักของ “วิถีลูกผู้ชาย” เหล่านี้ รวมถึงเรื่องเล่าจากอดีตนักเลงอันธพาล ที่รอดชีวิตมาได้และเลิกราจากวงการแล้ว มักจะเตือนเด็กๆ น้องๆ รุ่นหลังเสมอว่าอย่าหลงเข้าไปเดินทางนั้นเป็นอันขาด เพราะชีวิตจริงไม่ได้สวยงามหรือเท่อย่างที่ปรากฏบนจอแต่อย่างใด
.
แต่เยาวชนอีกมาก ก็ยังหวังว่าจะได้ฝากชื่อไว้ในวงการบ้าง แล้วก็ยกคนแบบนี้เป็นฮีโร่ อยากทำตาม อยากเลียนแบบ
.
กล่าวไป 2 ย่อหน้า ท่านผู้อ่านอาจจะงงว่ามันเกี่ยวอะไรกับ “Run All Night” ( คืนวิ่งทะลวงเดือด ) หนังที่ผมจะพูดถึงในครั้งนี้ด้วย เกี่ยวแน่นอนครับ แม้ตัวอย่างที่ตัดมาจะเน้น Action ของลุง “เลียม นีสัน” (Liam Neeson) ที่หลายคนบ่นว่าเริ่มเอียนแล้ว หลังเห็นแกบู๊แหลกใน Taken มาถึง 3 ภาค แต่เมื่อไปดูจริงๆ ตัวหนังมีอะไรที่มากกว่านั้นครับ
.
นั่นคือคำถามที่ว่า “จะมีนักเลงสักกี่คน ที่ได้ใช้ชีวิตสงบสุขยันลมหายใจสุดท้ายของชีวิต?”
.
หนังบอกเล่าเรื่องราวของ “จิมมี่ คอลลอน” (Liam Neeson) กับ “ฌอน แม็กไกวร์” (เอ็ด แฮร์ริส-Ed Harris) 2 นักเลงแห่งนิวยอร์ค ทั้งคู่เริ่มตั้งแก๊งกันในยุค 1970’s ทำธุรกิจผิดกฎหมายหลายอย่าง ฌอนเป็นหัวหน้าหรือนายใหญ่ของแก๊ง ขณะที่จิมมี่เป็นมือสังหาร รับหน้าที่กำจัดใครก็ตามที่ขวางทางแก๊ง แต่ฐานะของจิมมี่ในแก๊งไม่ใช่ลูกน้องฌอน หากเป็น “เพื่อนแท้-เพื่อนตาย” ที่ผ่านอะไรมาด้วยกัน และทั้งคู่ยังมีสิ่งที่เหมือนกัน นั่นคือต่างคนต่างมี “ลูกชาย” เพียงคนเดียว
.
และการที่มี “ลูกชายคนเดียว” นี่แหละครับ..เป็นจุดเริ่มต้นของการ “หักกัน” ระหว่างเพื่อนเก่าเพื่อนแก่ 2 คนนี้ และกลายเป็นการไล่ล่ากันตลอดคืนจนถึงเช้า
.
หนังสะท้อนปัญหาครอบครัวที่มี “พ่อ” เป็นนักเลง ทั้งครอบครัวของจิมมี่ ที่ต้องบ้านแตกสาแหรกขาด ถูกลูกชายอย่าง “ไมค์” รังเกียจขนาดที่ไม่อยากเจอหน้า ไม่อยากให้เข้าบ้าน ( หากใช้บรรทัดฐานสังคมแบบไทยๆ คำพูดที่ไมค์ด่าจิมมี่นั้นต้องบอกว่า “แรง” มากๆ คนไทยคงยอมรับไม่ได้ ไม่ว่าพ่อแม่จะเลวแค่ไหนคนเป็นลูกก็ไม่มีสิทธิ์พูดแบบนั้น ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าสังคมอเมริกันเขาจะคิดเหมือนกันหรือเปล่า? ) และครอบครัวของฌอน ที่แม้จะ “ล้างมือจากวงการ” หันมาทำธุรกิจถูกกฎหมายได้สักพักใหญ่แล้ว แต่ก็เป็น “แดนนี่” ลูกชายคนเดียวของฌอน ที่เกิดและเติบโตมาในช่วงที่ฌอนยังทำธุรกิจผิดกฎหมาย ซึมซับบุคลิกความเป็นอันธพาล-มาเฟีย จากฌอนมาเต็มที่ ที่หาเรื่องเดือดร้อนมาให้พ่อของเขา จนทำให้นักเลงใหญ่ทั้ง 2 ของแก๊ง ต้องกลายเป็นศัตรูคู่แค้นกัน
.
ใครที่ไปดูเรื่องนี้แล้วคิดว่าลุงเลียมเราจะโชว์เทพ ตบผู้ร้ายแบบนิ่มๆ ด้วยทักษะการฆ่าแบบเหนือชั้นใน Taken คงจะต้องบอกว่าผิดหวังแน่ๆ เพราะตัวละครจิมมี่ ถูกออกแบบมาให้ดูเป็น “กุ๊ยข้างถนน” ของแท้ มีคำพูดแบบบุคลิกแบบกักขฬะ ( นานๆ จะเห็นลุงแกในบทที่ต้องพูดจาเกี่ยวกับเรื่องใต้สะดือแบบหยาบคายบ้าง ) และการต่อสู้ก็ไม่มีแบบแผน ไม่มีท่วงท่า อาศัยสัญชาตญาณดิบในการวิวาทเพื่อเอาตัวรอดล้วนๆ หาความเท่ไม่ได้เลย ถ้าเทียบกับสมุนอีกคนของฌอนที่ถูกส่งมาตามฆ่า จิมมี่ยังบอกเองว่าหมอนั่นเป็น “นักฆ่าอาชีพ” และตัวละครนี้ถูกออกแบบให้ต่างจากจิมมี่ คือมาพร้อมกับปืนพกติดศูนย์เลเซอร์ , แว่นมองในที่มืด และทักษะการเปลี่ยนแม็กกระสุนปืนที่ชัดเจนว่าถูกฝึกมาโดยเฉพาะ ( หรือก็เหมือนกับ “ไบรอัน มิลล์” ตัวละครที่ลุงเลียมแกสวมบทบาทใน Taken นั่นแหละครับ )
.
ขณะที่เอ็ด แฮร์ริส ในบทบาทฌอน หัวหน้าแก๊งมาเฟีย ต้องถือว่าทีมผู้สร้างหานักแสดงที่เทียบเคียงกันได้ เพราะลุงเลียมไม่ได้มีดีแค่การบู๊ แต่บทดรามาหนักๆ เครียดๆ แกก็ทำได้ดีเช่นกัน ดังนั้นเมื่อบทหนังให้ 2 ตัวละครนี้เป็นตัวดำเนินเรื่อง ก็ต้องหานักแสดงที่ฝีมือเยี่ยมพอกันมาสวมบทบาท ซึ่งเอ็ด แฮร์ริส ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง จะว่าฌอนเป็นตัวละครที่โหดเ-ยมสมกับเป็นหัวหน้าแก๊งก็ได้ แต่ขณะเดียวกันก็ดูมีแววตาเศร้าๆ เหมือนกัน เวลาที่ดุด่าลูกชาย และตอนที่เสียลูกชายไป
.
แม้ Run All Night จะเป็นหนังว่าด้วยชีวิตนักเลงอันธพาล แถมยังได้นักแสดงแนวแอ็คชั่นที่ดูมีมาดมารับบทนำ แต่เป็นหนังที่ไม่ทำให้รู้สึกว่าชีวิตแบบนี้มันเท่ มันเจ๋งแต่อย่างใด ชีวิตสมาชิกของแก๊งที่บางทีก็ถูกฆ่าอย่างไร้เหตุผล เพื่อนที่พร้อมจะหักหลังได้ทุกเมื่อหากจำเป็น คนใกล้ตัวที่หาเรื่องวุ่นวายมาให้ บ้านแตกสาแหรกขาด และตำรวจที่คอยจับตามอง หากวันไหนพลาดก็พร้อมที่จะเข้าจับกุมทันที
.
สรุปง่ายๆ ก็เหมือนคำถามข้างต้นแหละครับ.. “จะมีนักเลงสักกี่คน ที่ได้ใช้ชีวิตสงบสุขยันลมหายใจสุดท้ายของชีวิต?” แน่นอนเราๆ ท่านๆ คงรู้ว่ามันก็มีอยู่ แต่เชื่อเถอะมันเป็นส่วนน้อย เมื่อเทียบอีกเป็นจำนวนมาก ที่ต้องตาย พิการ หรือติดคุกตะรางตั้งแต่ยังไม่มีชื่อเสียงในวงการ และอีกหลายคนที่แม้มีชื่อเสียงแล้ว แต่ก็มาถูกจับกุม ถูกวิสามัญ หรือแม้แต่ฆ่ากันเองในแก๊งเมื่อขัดผลประโยชน์..ก็ไม่รู้มันคุ้มหรือเปล่า? ที่คนคนหนึ่งจะเข้าไปเสี่ยง เพื่อหวังจะได้มีทั้งเงิน อำนาจ ชื่อเสียง และหวังว่าใครๆ จะเคารพยำเกรง
.
นี่คือสาระที่ผมได้จากหนังเรื่องนี้ครับ
.
แล้วพบกันใหม่โอกาสหน้า..สวัสดีครับ
.
----------------------------

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่