มีเงินเข้าบัญชีปีละ 2.4ล้าน แต่รายได้จริงๆตกเดือนละ25000-30000จะต้องเสียภาษีอย่างไร

สวัสดีครับ ผมมีเรื่องกวนใจนิดหน่อย ไปถามคนรอบตัว ก็ให้คำตอบที่ไม่ชัดเจน จึงอยากทราบคำแนะนำของเพื่อนๆใน pantip หน่อยนะครับ....

ผมนั้นเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ทำเกี่ยวกับการออกแบบ มีเงินเดือนประจำอยู่ที่ 15000 และมีรายได้พิเศษเพิ่มเติม ตามจำนวนของชิ้นงาน ซึ่งปัจุบันชิ้นงานนั้นมีเพิ่มมากขึ้นซึ่งผมนั้นทำคนเดียวไม่ไหว จึงได้จ้างนักศึกษา8คนมาช่วยทำงาน เป็นเด็ก Part-time (ไม่มีสลิปเงินเดือนให้จ่ายเป็นรายอาทิตย์)
รายได้ที่จะได้รับ มีดังนี้
ผม 25000-30000
น้องนักศึกษา 15000-20000*8
เบี้ยเลี้ยง 20000 (ค่าอาหาร+ขนมของทุกคน)
จึงอยากจะถามว่า แต่ละเดือนมีเงินเข้าออกในบัญชี 180000-200000 จะต้องเสียภาษีตามจำนวนเงินที่เข้าบัญชีหรือไม่.....!!!
เพื่อนคิดว่ายังไง ช่วยๆกับแสดงความคิดเห็นด้วยนะครับ ขอบคุณู ^^
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 3
อมยิ้ม04..มันไม่ใช่เรื่องว่าเราจะคิดเองยังไงค่ะ .."หลักการ" มันมีอยู่นะคะ ..

จะคิดภาษีเงินได้ยังไง แนะนำให้ดูที่ "หลักฐานการรับเงิน" ก่อนค่ะ

สมมุติลูกค้า จ่ายเงินให้คุณคนเดียว สมมุติเดือนละ 2 แสน ..มีหลักฐานที่บริษัทลูกค้า หัก 3% ณ ที่จ่าย
..ออกใบ 50 ทวิ ในนามคุณแต่เพียงผู้เดียว ..และเค้านำส่งสรรพากรไปตามนั้น

..รายได้ทั้ง 2 แสนของเดือนนั้น ก็ตกเป็นเงินได้ของคุณแต่เพียงผู้เดียว ที่ต้องนำไปคำนวณภาษีค่ะ
โดยต้องใช้แบบ ภงด.90 ( คนที่เงินได้จากเงินเดือนประจำอย่างเดียว ..เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1) ยื่น ภงด.91
แต่คุณรับจ๊อบ ..ต้องเข้าไปดูว่าอยู่ในรายได้หมวดไหน ..อาจจะเข้าหมวดจ้างทำของ 40(7) หรือ (8) ..ลองไปอ่านเพิ่มดูนะคะ
keyword เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท )
..พวกน้องๆ ที่มาช่วยงาน ..ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา เพราะไม่เคยมีชื่อเค้าปรากฎในระบบเงินได้นี้เลย

แต่สรรพากรก็ไม่ได้โหด จนคำนวณภาษีจากเงินทั้ง 2 แสนนั้น เพราะเค้าก็รู้ว่าเรามี "ต้นทุน"
..ซึ่งถ้าเราไม่มีบิลค่าใช้จ่ายมาแสดงได้ ..ก็ใช้วิธี "เหมา" ต้นทุน ..ต้องเข้าไปดูในรายละเอียด ว่าคุณทำอะไร
เหมาต้นทุนได้เท่าไหร่ ..โดยถามอากู๋ได้อีกเช่นเดิมค่ะ

ยกตัวอย่าง งานประเภทเย็บ ปัก ถัก ร้อย งานฝีมือ..หักเหมาต้นทุนได้ 70%
.. รับเงินลูกค้ามา 200,000 ..หักเหมาต้นทุนได้ 140,000 เหลือ 60,000 ..ไว้คำนวณภาษี

ติ๊งต่างตลอดปี รับ 2 แสน x 12 = 2,400,000 .. มีหลักฐานนำส่งสรรพากร มาโดยตลอด
หักเหมาต้นทุน 70% .. 1,680,000 บ.  จะเหลือ 720,000 บ.
+ เงินเดือนประจำของคุณ 15,000 x 12 = 180,000  = คุณมีเงินได้พึงประเมิน 900,000  
หักลดหย่อนประดามี 60,000 + 30,000 + ตามสิทธิของคุณ ..เบี้ยประกันชีวิต / ดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน /
ลูก - เมียที่ไม่มีเงินได้ - พ่อแม่ พ่อตาแม่ยาย ที่อายุเกิน 60 และมีเงินได้ปีละไม่เกิน 30,000 / เงินบริจาค / LTF - RMF /
ประกันสังคม - กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / ฯลฯ .. ( ถ้าคุณมีอะไรมาลดหย่อนน้อย ..คุณก็เหลือเงินได้สุทธิเยอะ )

เหลือเป็นเงินได้สุทธิเท่าไหร่ ค่อยนำมาคำนวณภาษี โดย 150,000 แรก ได้รับการยกเว้น
แล้วไล่ไปตามขั้นบันได 5 - 10 - 15 - 20 - 25 - 30 - สูงสุด 35% .. เป็นไปตามช่วงของเงินได้ ..

คำนวณออกมาได้เท่าไหร่ ..ก็ไปดูว่าเราถูกหักภาษีนำส่งไว้แล้วเท่าไหร่ ..
ก็จะได้ส่วนต่างผลลัพธ์ ..ถ้าคำนวณได้มากกว่าที่ถูกหักนำส่งไว้แล้ว ..ก็จ่ายเพิ่ม
ถ้าจ่ายไว้เกิน ..ก็ได้ภาษีคืน

..พี่ลองเคาะเล่นๆ ..จากตัวเลขสมมุติข้างต้น ที่ 900,000 บ. สมมุติคุณเป็นคนโสด ไม่มีอะไรมาลดหย่อนมากนัก
หักได้แต่ตัวเอง กับประกันสังคม ..ตีกลมๆ หักไป 100,000
คุณเหลือ 800,000 บ. มาคำนวณภาษี ..150,000 แรกยกเว้น เหลือ 650,000
..พี่คำนวณภาษีที่คุณต้องจ่ายได้ 75,000 บ.

ลำพังเงินเดือน 15,000 บ. อยู่ในเกณฑ์ไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว ..คุณคงไม่ถูกหักภาษีนำส่งไว้
..จึงเหลือเงินจากรับจ๊อบ ..หากลูกค้าหัก 3% ของ 2.4 ล้านนั้นไว้ = 72,000 บ.
คุณก็ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม 3,000 บ. ค่ะ

ประเด็นคือ คุณรับมา 200,000 ..คุณจ่ายค่าแรงน้องที่มาช่วยงานไป เท่าที่บอกมาข้างบน คือมันมากกว่า 70% ที่เหมาจ่ายได้นะ
..เพราะคุณเหลือส่วนของตัวเอง 25,000 - 30,000 คือแค่ 12.5 - 15% เอง..
ทำให้คุณรับภาระภาษีไปเต็มๆ และมากกว่าความเป็นจริง

..อีกสิ่งที่ควรตระหนัก คือ คุณมีรายได้เกิน 1.8 ล้าน เฉพาะรับจ๊อบเนี่ยค่ะ ..
ซึ่งมันเข้าเกณฑ์ที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ..ซึ่งถ้าทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ..ขอบอกเลยว่า เราไม่อาจอ้าง "ความไม่รู้" มาแก้ตัวได้นะจ๊ะ
เค้าโดนภาษีย้อนหลังกันมาเยอะแล้ว .. ให้ระวังด้วย

..ทางแก้คือ ต้องแบ่งให้น้องๆ คนอื่นที่มาช่วยงานน่ะค่ะ ..เป็นผู้รับเงินจากลูกค้าบ้าง
หากคุณยังไม่พร้อมถึงขั้นจะจริงจังกับการทำกิจการนี้ อย่างเป็นล่ำเป็นสัน หรือคิดจะจดจัดตั้งนิติบุคคลขึ้นมารับงานซะเลย

เพราะนั่นก็ควรคิดให้รอบคอบ เพราะแม้นิติบุคคล จะมีฐานคำนวณภาษีที่ต่างจากบุคคลธรรมดา
เช่น เงินได้สุทธิ 300,000 แรก ได้รับการยกเว้น และสูงสุดคิดภาษี 20% ( บุคคลธรรมดา สูงสุด 35% )
และคุณสามารถลงรายการต้นทุนการผลิตได้ตามจริง ..โดยมีหลักฐานการจ่ายเงินให้ถูกต้อง
เช่น น้องๆ นักศึกษารับเงินไป ก็ต้องเอาสำเนาบัตรประชาชนน้องมาแนบใบเสร็จ .. ซื้อของก็เก็บบิล เป็นต้น

แถมคุณยังมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ..มีตำแหน่งใหญ่โตในนามบัตร
เช่น เป็นถึง "กรรมการผู้จัดการ" บริษัท ... จำกัด แต่ทั้งบริษัทมีเราคนเดียว อีก 2 ชื่อ ยืมชื่อพ่อกับแม่มาจดบริษัท T___T

..แต่เมื่อเป็นนิติบุคคล ก็จะมี "หน้าที่" ขึ้นมา..
และที่ยังไงก็ต้องเสียตังค์จ้างแน่นอน คือการปิดงบดุล งบกำไรขาดทุน งบการเงิน เซ็นรับรองงบฯ ค่ะ

..ทุกเรื่องมีข้อดี - ข้อเสียค่ะ ..และไม่มีใครจะประเมินสถานการณ์ได้ดีเท่าตัวเราเอง
ก็ลองไปไตร่ตรองดูเองนะคะ ..

ทั้งหมดที่พี่คุยให้ฟังข้างต้น ..มาจากความรู้ด้านภาษี ในระดับประชาชนของพี่นะคะ
แต่จากประสบการณ์ที่พี่เป็นลูกจ้าง กินเงินเดือนอยู่ร่วม 10 ปี
..เป็นเจ้าของกิจการ จดจัดตั้งนิติบุคคล ตั้งแต่ปี 51 ..จด vat เมื่อยอดขายแตะ 1.8 ล้าน
..ดูแลเรื่องการจ่ายภาษีของคุณสามีและตัวพี่เองมาตั้งแต่ปี 2000
และยังมี สนง.บัญชี คอยดูแลให้คำปรึกษา เพื่อจะได้ไม่ทำอะไรผิดพลาด ต้องมาตามแก้ให้ปวดหัว หรือเสียค่าปรับโดยใช่เหตุ

..แต่หากมีขาดตกบกพร่องหรือผิดพลาดยังไง ...ก็ขออภัยไว้ล่วงหน้าค่ะ
และขออภัยที่มันย๊าวยาวค่ะ ..ขยันอ่านหน่อยนะ ..

สุขสันต์วันเด็กค่ะ ดอกไม้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่