บทความ: ‘คาร์ล มาร์กซ์’จากมุมมองของมุสลิม

บทความ: ‘คาร์ล มาร์กซ์’จากมุมมองของมุสลิม

ผู้เขียน : อาจารย์บรรจง บินกาซัน ประธานโครงการอบรมผู้สนใจอิสลาม มูลนิธิสันติชน


ที่มา : คอลัมน์สันติธรรม หนังสือพิมพ์โลกวันนี้ ฉบับวันที่ 30 มิถุนายน 2557



ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สังคมมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การปกครองและวัฒนธรรม ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้มีคนพยายามจะอธิบายว่ามันเกิดขึ้นมาจากการต่อสู้ระหว่างชนชั้นผู้ปกครองและผู้มั่งคั่งกับชนชั้นคนยากจนที่ถูกผู้ปกครองและผู้มั่งคั่งกดขี่ขูดรีด

พูดง่ายๆก็คือ สังคมเปลี่ยนแปลงก็เพราะมนุษย์จำเป็นต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเอง ถ้าสังคมมีคนกลุ่มน้อยที่มั่งคั่งมีกินมีใช้อย่างเหลือเฟือในขณะที่คนยากจนเป็นคนกลุ่มใหญ่ คนยากจนจะหาหนทางเอาความมั่งคั่งของคนกลุ่มน้อยมากระจายในหมู่คนยากจนที่ถูกกดขี่ การต่อสู้ระหว่างชนชั้นนี้เองที่ทำให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลง

ความคิดดังกล่าวนี้เป็นต้นกำเนิดของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ถือว่าวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์มาจากความต้องการทางวัตถุล้วนๆ ไม่ได้มีเรื่องจิตวิญญาณเข้ามาเกี่ยวข้อง

คาร์ล มาร์กซ์ ผู้เป็นบิดาของลัทธิคอมมิวนิสต์ เกิดใน ค.ศ. 1818 ในสังคมแบบศักดินาที่พัฒนาเป็นลัทธิทุนนิยมแบบกดขี่ขูดรีดแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เขาจะถูกสภาพสังคมหล่อหลอมให้เขาคิดเช่นนั้น

คาร์ล มาร์กซ์ เป็นชาวยิวเยอรมัน และชาวยิวได้ชื่อว่าเป็นชนชาติที่มีความรู้ทางศาสนา นอกจากนี้แล้วเขายังได้เรียนรู้ปรัชญาของเฮเกลผู้ถือว่าโลกถูกสร้างขึ้นมาโดยอำนาจจิตอันยิ่งใหญ่ที่ครอบคลุมจักรวาล แต่มาร์กซ์ กลับปฏิเสธความคิดเรื่องจิตวิญญาณและถือว่าศาสนาเป็นยาเสพติด

ไม่มีชาวยิวคนใดที่ไม่รู้จักโมเสส ต่อให้โง่เพียงใดก็ตาม เพราะชาวยิวถือว่าโมเสสเป็นวีรบุรุษของพวกตน แต่มาร์กซ์ไม่รู้เลยหรือว่าการต่อสู้ระหว่างโมเสสกับฟาโรห์ทรราชแห่งอาณาจักรไอยคุปต์มิได้เป็นการต่อสู้ทางชนชั้นที่เกิดขึ้นจากความต้องการทางวัตถุแต่ประการใด หากแต่มันเป็นการต่อสู้ระหว่างอำนาจจิตวิญญาณที่มีโมเสสเป็นสัญลักษณ์กับอำนาจทางวัตถุที่มีฟาโรห์เป็นตัวแทน

โมเสสไม่ได้เป็นตัวแทนของลูกหลานอิสราเอลที่ถูกฟาโรห์กดขี่ขูดรีด แต่เขาเป็นตัวแทนของพระเจ้าที่ถูกส่งมายังฟาโรห์เพื่อบอกให้เขาเลิกเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองเป็นอวตารของพระเจ้าที่ผู้คนต้องเคารพสักการะ แต่ตัวฟาโรห์เองต่างหากที่ต้องเคารพสักการะพระเจ้าเหมือนกับมนุษย์คนอื่นๆเพราะเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน

โมเสสไม่ได้ปลุกระดมลูกหลานอิสราเอลที่ถูกกดขี่ขูดรีดให้ลุกขึ้นโค่นล้มทรราชฟาโรห์ผู้กดขี่ข่มเหงและช่วงชิงเอาความมั่งคั่งของฟาโรห์มาเป็นของตน แต่เขาขอร้องฟาโรห์ให้ปลดปล่อยลูกหลานอิสราเอลจากการเป็นทาสแรงงาน

โมเสสไม่ได้อิจฉาความมั่งคั่งร่ำรวยของฟาโรห์ แต่เขาเสนอนโยบายทางเศรษฐกิจที่อิงความเป็นจิตนิยมสมดุลกับความต้องการทางวัตถุ ในคัมภีร์กุรอานมีข้อความตอนหนึ่งบอกให้เรารู้ว่าโมเสสได้นำเสนอนโยบายเศรษฐกิจดังกล่าวแก่ฟาโรห์ดังนี้

“จงเอาปัจจัยที่พระเจ้ามอบให้ท่านในโลกนี้สร้างที่พำนักในโลกหน้า และจงอย่าลืมส่วนที่ท่านสมควรจะได้รับในโลกนี้ จงทำดีเหมือนกับที่พระเจ้าทรงทำดีต่อท่าน และจงอย่าสร้างความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน แท้จริง พระเจ้าไม่ทรงรักผู้สร้างความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน”

ข้อความดังกล่าวบอกให้รู้ว่าโมเสสมิได้เรียกร้องต้องการสิ่งใดเพื่อตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจหรือทรัพย์สิน เขาไม่ปฏิเสธที่ฟาโรห์จะมีความมั่งคั่งและไม่ได้ปลุกระดมลูกหลานอิสราเอลให้อิจฉาหรือชิงชังฟาโรห์ แต่เขาเสนอวิธีการบริหารความมั่งคั่งที่ชาญฉลาดแก่ฟาโรห์โดยบอกให้รู้ความจริงว่าความมั่งคั่งทั้งหลายที่เขามีอยู่นั้นเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานแก่เขา ถ้าเขาฉลาด เขาควรใช้ความมั่งคั่งที่มีอยู่สร้างที่พำนักของเขาในโลกหลังความตายตามที่เขาเชื่อด้วยการแจกจ่ายทรัพย์สินให้แก่คนยากจนเหมือนกับที่พระเจ้าให้แก่เขา และไม่ต้องให้ทุกสิ่งทุกอย่างจนหมด เขามีสิทธิที่จะมีอะไรก็ได้ตามสมควรแก่ฐานะในขณะที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้

แต่ฟาโรห์ต่างหากที่เข้าใจว่าโมเสสกำลังจะมาโค่นบัลลังก์อำนาจทางวัตถุของเขา ใครๆก็รู้ว่าอาณาจักรไอยคุปต์มิได้ถูกลูกหลานอิสราเอลโค่นล้ม แต่อาณาจักรอียิปต์ล่มสลายเพราะความฟอนเฟะทางศีลธรรมอันเนื่องมาจากความเชื่อผิดๆต่างหาก

สังคมไร้ขื่อแปทางกฎหมายของชนเผ่าอาหรับเปลี่ยนแปลงมาเป็นรัฐอิสลามในสมัยของท่านนบีมุฮัมมัดก็มิได้เป็นการต่อสู้ทางชนชั้น เพราะสิ่งที่ท่านนบีมุฮัมมัดเรียกร้องก็คือ การให้ทุกคนยอมรับอำนาจอธิปไตยของพระเจ้าและปฏิบัติตามคำบัญชาของพระองค์

แม้พวกผู้ปกครองเมืองมักก๊ะฮฺจะเอาผู้หญิง ทรัพย์สินและตำแหน่งมาติดสินบนเพื่อแลกกับการหยุดปฏิบัติภารกิจการสถาปนาอิสลาม แต่ท่านนบีมุฮัมมัดก็ปฏิเสธกลับไปอย่างไม่มีเยื่อใยว่า “แม้ท่านจะเอาดวงอาทิตย์มาวางไว้ในมือขวาและเอาดวงจันทรามาวางไว้ในมือซ้ายของฉัน ฉันก็จะไม่เลิกปฏิบัติภารกิจที่พระเจ้ามอบหมายมาให้ฉันเป็นอันขาด”

มาร์กซ์เกิดในสังคมยุโรปที่กำลังฟอนเฟะ เขาจึงมีอคติต่อศาสนา เพราะพฤติกรรมของบุคคลโดยเฉพาะคนในชนชั้นปกครองและนักบวช ประวัติศาสตร์ที่เขานำมาใช้ในการอธิบายวิวัฒนาการของสังคมก็เป็นประวัติศาสตร์ที่ตื้นเขิน และการที่เขาปฏิเสธว่าจิตวิญญาณไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงนั้น เขาลืมไปว่ามนุษย์มิได้มีความต้องการทางด้านวัตถุเท่านั้น แต่มนุษย์ยังมีวิญญาณที่ต้องการอะไรที่สูงส่งไปกว่าวัตถุด้วย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่