ประวัติศาสตร์พม่าตอนที่ 3 ราชอาณาจักรพม่า (ราชวงศ์คองบอง)

**เขียนผิดนะครับ ความจริงต้องเป็น "ประวัติศาสตร์พม่าตอนที่ 4 ราชอาณาจักรพม่า (ราชวงศ์คองบอง)"**

พระบาทสมเด็จพระมหาโพธิสัตว์เจ้า หรือ พระเจ้าอลองพญา เดิมเป็นผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านมอกโชโบหรือหมู่บ้านคองบองหรือเมืองชเวโบในปัจจุบัน เสด็จพระราชสมภพเมื่อ 24 กันยายน 1714 ที่หมู่บ้านมอกโชโบของพระราชบิดา ภายหลังการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าธนินท์ตเวแห่งราชวงศ์ตองอู 12 วัน พระนามเดิมคือ อองไจยะ เป็นบุตรชายคนรองของมินเนียวซอกับซอเนียนอู พระปิตุลาของพระองค์ กะยอชวาสิน หรือ สิทธาเมงยี เป็นนายอำเภอของอำเภอมู ทรงสืบเชื้อสายจากนายทหารม้าแห่งอาณาจักรอังวะในช่วงคริสตศตวรรษที่ 15 ผู้ซึ่งเป็นพระอนุชาแห่งกษัตริย์อังวะ ซึ่งหมายถึงทรงเป็นเชื้อสายราชวงศ์พุกามด้วย

ปี 1730 ทรงอภิเษกสมรสกับหยุนซาน ธิดาของศรีบกตละ ผู้ใหญ่บ้านข้างๆ มีพระราชบุตร 6 พระองค์ พระราชธิดา 3 พระองค์ แต่พระราชบุตรองค์ที่ 4 ทรงสิ้นพระชนม์แต่เยาว์วัย

ลักษณะของพระองค์มีความเป็นผู้นำสูงมาก ตามคำอธิบายของชาวอังกฤษกล่าวไว้ว่า พระวรกายสูง 5 ฟุต 11 นิ้ว และมีพระฉวีที่เข้มจากการตากแดด

เวลาช่วงนั้นราชวงศ์ตองอูเข้าสู่ภาวะเสื่อมอย่างหนัก ทั้งภาวะที่เมืองเชียงใหม่แยกตัวออกมาในสมัยเจ้านก การที่ถูกมณีปุระรุกราน รวมถึงปัญหาภายในราชวงศ์ แต่ช่วงนั้น หมู่บ้านมอกโชโบมีความเข้มแข็งผิดปกติจน ตองอูราชา ผู้บัญชาการทหารสูงสุดต้องเข้ามาตรวจสอบว่าอาจจะมีภัยต่อราชวงศ์ตองอูหรือไม่ เมื่อไม่มีปัญหาอะไร ตองอูราชาจึงทูลเกล้าถวายยศแก่อองไจยาเป็นพระนันทาเกียว มีหน้าที่เป็นคยีเกง คือเก็บภาษีและดูแลรักษาหมู่บ้าน

หลังจากนั้น ทหารมอญซึ่งมีทหารยุโรปด้วยได้ตีเมืองเข้าไปจับกุมกษัตริย์ตองอูได้และมอญขอร้องให้เจ้าเมือง,นายอำเภอ,ผู้ใหญ่บ้านในอาณาจักรตองอูยอมสวามิภักดิ์แต่โดยดี แต่อองไจยะต้องการจะต่อต้านอำนาจมอญอย่างสุดกำลัง

อองไจยะชักชวนนายบ้านในแถบลุ่มน้ำมู 46 หมู่บ้าน เข้าร่วมสงครามและมีคนจำนวนมากเข้าร่วมสู้ด้วย คืนพระจันทร์เต็มดวง 29 กุมภาพันธ์ 1752 อองไจยะปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์ใหม่ ทรงพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระมหาโพธิสัตว์เจ้า" (อลองพญา) หรือพระนามเต็มๆคือ "สิริภาวรา วิชัยนันทชาตะ มหาธรรมราชาธิราช อลุง มินธารคยี"

หลายๆคนไม่เชื่อว่าพระเจ้าอลองพญาจะสามารถขับไล่ทหารฝรั่งของชาวมอญไปได้ แม้แต่พระราชบิดายังส่งสาส์นบอกว่า ทหารที่มีอยู่ไม่มาก ปืนที่มีไม่กี่กระบอก เมื่อเทียบกับทหารฝรั่งในกรุงอังวะแล้ว ยากยิ่งที่จะทำลายป้อมปราการของอังวะได้ แต่พระเจ้าอลองพญาทรงตอบกลับไปว่า "เมื่อเราสู้เพื่ออาณาจักรของเรา ต่อให้มีทหารเพียงเล็กน้อย แต่มีใจจริงและแขนที่หนักแน่น ก็เพียงพอแล้ว" ทรงได้ทำการป้องกันหมู่บ้านโดยเริ่มจากการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านของพระองค์เป็นชเวโบ และขุดคูน้ำ หลุมและบ่อไว้ในป่านอกหมู่บ้าน รวมถึงสร้างกำแพงด้วย

ต่อมาพระองค์สามารถขับไล่ทหารมอญ ทหารเงี้ยว รวมถึงทหารยุโรปด้วย และทำการยึดเมืองหลายเมือง เช่น ย่างกุ้ง สิเรียม และล้อมเมืองพะโคนาน 14 เดือน จึงสามารถตีเมืองได้สำเร็จในวันที่ 6 พฤษภาคม 1757 ทหารพม่าได้ทำลายเมือง เผาเมือง เข่นฆ่าผู้คนจำนวนมาก ที่เหลืออยู่ก็ถูกจับเป็นทาส ส่วนกษัตริย์มอญ พระเจ้าพินนยา ดาลา หลบหนีได้ แต่ไม่นานก็ต้องออกมา ทรงได้รับการอภัยโทษจากพระเจ้าอลองพญา และช่วยทำงานให้กับทางรัฐมาส่วนหนึ่ง ก่อนที่ชาวมอญจะก่อกบฎ แล้วถูกพระเจ้ามังระทรงสั่งประหารชีวิตต่อหน้าประชาชนในเวลาต่อมา เนื่องจากถูกสงสัยว่าพระองค์จะทำการก่อกบฎ

หลังจากการทำลายอาณาจักรมอญ เมืองประเทศราชเช่น เชียงใหม่ ทวาย ยะไข่ ต่างยอมส่งเครื่องบรรณาการให้เพื่อแลกกับการที่ไม่ถูกรุกราน

ต่อมาพระองค์ส่งทหารไปที่ทางตอนเหนือของรัฐฉาน เพื่อทำการยึดเมืองคืนจากราชวงศ์ชิง และประสบความสำเร็จในการยึดเมืองคืนมาหลังจากนั้น ต่อมาพระองค์ได้ยึดแหลมเนกิสคืนจากอังกฤษในวันที่ 6 ตุลาคม 1759 หลังจากนั้น ทรงได้ยึดครองมณีปุระและทำสงครามกับอยุธยา แต่การบุกยึดอยุธยาไม่สำเร็จ เพราะตามประวัติศาสตร์พม่าระบุว่า พระองค์สวรรคตเพราะพระโรคบิด ขณะที่ประวัติศาสตร์ไทยระบุว่าพระองค์ทรงตรวจปืนใหญ่ แต่ปืนใหญ่เกิดระเบิดลั่นใส่พระองค์จนบาดเจ็บและสวรรคตในเวลาต่อมา แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามหลังจากนั้น ทหารพม่าได้ถอดกำลังออกจากอยุธยาในวันที่ 17 เมษายน 1760 มีเพียงแค่มินคลุงเนาวธา หรือ มังฆ้องนรธา ที่สามารถคุมกองพลจำนวน 6,000 นายกับทหารม้า 500 คน เป็นทัพหลัง แม้ว่ามีกองทัพอยุธยาเข้าโจมตี แต่ก็สามารถป้องกันได้ตลอดทางจนพ้นเขตอยุธยา

แม้ว่าพระองค์ไม่สามารถยึดอยุธยาได้ แต่พระองค์ก็ได้พื้นที่ทางตอนใต้ชายฝั่งอันดามันไปได้ แต่อยุธยาสามารถยึดคืนได้เพียงบางส่วน

สุสานของพระองค์ที่ชเวโบ

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่