กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มแห่ลงทุนเพื่อนบ้านกว่า 1 พันเมกะวัตต์

credit : thanonline.com
------
      กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม แห่ลงทุนเพื่อนบ้านกว่า 1 พันเมกะวัตต์ หลังรัฐบาลไม่เปิดรับให้ซื้อขายไฟฟ้า ไล่ตั้งแต่ เอสพีซีจี เอ็กโก โซลาร์ตรอน ราชบุรีโฮลดิ้งและพลังงานเพื่อโลกสีเขียว เฮลงเมียนมาร์ ยึดแหล่งเศรษฐกิจป้อนไฟฟ้าขาดแคลน ด้าน"วันดี"เผย 5 ปีทุ่ม 5 หมื่นล้านบาท นำร่องในเมียนมาร์ก่อนปีหน้า ขณะที่เอ็กโกเจรจาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2 หมื่นล้นบาทลุยใน 3 ประเทศ

      จากกรณีที่กระทรวงพลังงานได้หยุดการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์ฟาร์มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 เป็นต้นมา เนื่องจากปริมาณการเสนอขายเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 2 พันเมกะวัตต์ ส่งผลให้ผู้ที่ดำเนินธุรกิจด้านนี้ไม่สามารถขยายการลงทุนต่อไปได้ นอกเหนือจากการรับงานติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่อยู่อาศัยและอาคารธุรกิจ 200 เมกะวัตต์ รวมถึงโรงไฟฟ้าชุมชนอีก 800 เมกะวัตต์ ที่ท้องถิ่นเป็นผู้ลงทุน ทำให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าต่างๆ เริ่มหันไปลงทุนยังต่างประเทศมากขึ้น  เท่าที่สำรวจพบว่ามีปริมาณกว่า 1 พันเมกะวัตต์แล้ว

      นางวันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด(มหาชน) ผู้ดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์ฟาร์ม)รายใหญ่ของประเทศ เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมแผนระยะเวลา 5 ปี(2557-2561)ที่จะเข้าไปลงทุนทำโซลาร์ฟาร์มยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยมองไว้ 2 ประเทศได้แก่ เมียนมาร์และอินโดนีเซีย กำลังผลิตประเทศละประมาณ 250 เมกะวัตต์ หรือรวมประมาณ 500 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนราว 4-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป็นการร่วมลงทุนกับพันธมิตรในท้องถิ่น

      "ในปีหน้าบริษัทจะเริ่มดำเนินการลงทุนในเมียนมาร์ ที่เมืองมัณฑะเลย์จำนวน 2 โครงการโครงการละ 1 เมกะวัตต์ นำร่องก่อน ด้วยเงินลงทุนแห่งละ 80-100 ล้านบาท เพื่อประเมินถึงโอกาสความสำเร็จที่จะขยายการลงทุนในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป เนื่องจากเมียนมาร์ยังขาดสายส่งไฟฟ้าที่จะรองรับ จึงต้องตั้งงบลงทุนในส่วนนี้ไว้ด้วย"นางวันดี กล่าวและว่า

      ทั้งนี้ เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศนี้ ยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าอีกมาก โดยเฉพาะที่เมืองมัณฑะเลย์ผลิตไฟฟ้าป้อนอีก 1 พันเมกะวัตต์ ก็ยังไม่เพียงพอ ประกอบกับเป็นโอกาสทางธุรกิจที่จะขยายการลงทุนออกไป เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี เพราะมองว่าโอกาสการลงทุนไม่ได้จำกัดอยู่ภายในประเทศเท่านั้น ประกอบกับกระทรวงพลังงานไม่ได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์ม ทำให้การเติบโตทางธุรกิจค่อนข้างยาก บริษัทต้องเข้าไปศึกษาลู่ทางการลงทุนของทุกประเทศไว้

      "การจะออกไปลงทุนต่างประเทศนั้น ทางสถาบันการเงินขอให้บริษัทดำเนินโครงการโซลาร์ฟาร์มจำนวน 36 โครงการ รวมกำลังผลิตประมาณ 260 เมกะวัตต์ ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ก่อนที่จะขยายการลงทุนออกไป จึงทำให้ไม่เป็นห่วงด้านเงินลงทุนที่ธนาคารจะให้การสนับสนุนการกู้เงินมาลงทุน"  

      ขณะที่นางปัทมา วงษ์ถ้วยทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผย ว่า บริษัทมีแผนร่วมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์(โซลาร์ฟาร์ม) ขนาด 40-50 เมกะวัตต์ ในสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรที่มีใบอนุญาตก่อสร้างแล้วหลายราย โดยสนใจลงทุนในเมืองย่างกุ้งก่อน เพราะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเติบโตสูงมาก ขณะที่การผลิตไฟฟ้าในเมียนมาร์เองก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นโครงการโซลาร์ฟาร์มจะเป็นไฟฟ้าเสริมในระบบเพื่อลดปัญหาไฟฟ้าตกหรือดับได้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ และจะได้เห็นโครงการฯ ก่อนเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ในปี 2558 อย่างแน่นอน

      นอกจากนี้โซลาร์ตรอนยังสนใจลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มในเมืองต่างๆของเมียนมาร์อีกหลายพื้นที่ เพราะเห็นว่านโยบายของเมียนมาร์ค่อนข้างเปิดกว้างเกี่ยวกับพลังงานทดแทน และเปิดสัมปทานจำนวนมาก ซึ่งจะสามารถเข้าไปเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของเมียนมาร์ด้วย ส่วนเงินลงทุนคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 60 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ หรือประมาณ 2-3 พันล้านบาทต่อโครงการ ซึ่งบริษัทตั้งเป้าถือหุ้นในโครงการดังกล่าวไม่เกิน 49% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด

      ขณะเดียวกันบริษัทยังสนใจลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มในกัมพูชาด้วย เนื่องจากพบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศนี้ยังเติบโตค่อนข้างมาก จากการเร่งพัฒนาประเทศ และเมื่อเปิดเออีซีแล้วจะทำให้บริษัทมีโอกาสขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยโซลาร์ตรอนมีจุดแข็งทั้งด้านการผลิตและติดตั้ง เพราะมีโรงงานผลิตแผงเซลล์ และประกอบแผงเอง รวมทั้งมีวิศวกรที่มีความรู้ความสามารถในการผลิต ออกแบบ และติดตั้งแผงเซลล์ ซึ่งต่างจากบริษัทรับติดตั้งแผงเซลล์ทั่วไป ที่จะสั่งซื้อสินค้าและจ้างผู้รับเหมาติดตั้งอีกทอดหนึ่ง ทำให้การควบคุมคุณภาพสินค้าเป็นไปได้ยาก

      ด้านนายสิทธิพร รัตโนภาส อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในฐานะที่ปรึกษาบริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว(ประเทศไทย)จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาค่าไฟฟ้าของโซลาร์ฟาร์มกับรัฐบาลเมียนมาร์ ที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้ โดยบริษัทได้ร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่นในจังหวัดมินบู เขตเมเกว นครหลวงเนย์ปิตอว์ ด้วยกำลังการผลิต 230 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 9 พันล้านบาท แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ซึ่งเฟสแรกคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ประมาณต้นปีหน้า หลังจากลงนามซื้อขายไฟฟ้าแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดประมาณไตรมาสที่ 2 หรือ 3 ของปี 2558

      ส่วนแหล่งข่าวจากบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) หรือเอ็กโก ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มอยู่ในมือแล้ว 95 เมกะวัตต์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เตรียมแผน 5 ปี (2557-2561) เพื่อที่จะออกไปลงทุนโซลาร์ฟาร์มยังประเทศเมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชาแล้ว รวมกำลังผลิตกว่า 200 เมกะวัตต์ คาดใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะการลงทุนในเมียนมาร์คาดว่าไม่ต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์ จึงไม่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะด้านเงินลงทุนที่ขณะนี้ได้มีการหารือกับองค์กรสากลให้สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำสำหรับการลงทุนพลังงานสะอาดแล้ว

      นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทสนใจลงทุนโซลาร์ฟาร์ม ในเมียนมาร์ ขนาด 50-100 เมกะวัตต์ คาดว่าเงินลงทุนจะอยู่ที่ 60-70 ล้านบาท เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในเมียนมาร์ยังเติบโตสูง ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า 30-40% ส่วนที่เหลืออีก 60-70% ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ และหากจะรอไฟฟ้าในระบบก็ยังช้าและกระจายไม่ทั่วถึง ซึ่งความชัดเจนในการลงทุนน่าจะได้เห็นในช่วงปีหน้า ขณะที่ประเทศเวียดนามนั้นก็มีความสนใจเพียงแต่อยู่ขั้นศึกษาเท่านั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,896  วันที่  14 - 16  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2556

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่