วิธีการเก็บรักษาน้ำนมแม่สำหรับคุณแม่ที่ไม่สามารถให้น้ำนมบุตรโดยดูดจากเต้าโดยตรง

กระทู้สนทนา
วิธีการเก็บรักษาน้ำนมแม่นั้นมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน ขึ้นอยู่กับว่าคุณแม่ต้องการเก็บน้ำนมสำรองไว้ใช้นานแค่ไหน เช่น
          •  ที่อุณหภูมิห้อง (อุณหภูมิต้องไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส) เก็บได้นานประมาณ 6 ชั่วโมง
          •  ในกล่องเก็บความเย็นและใส่ ice pack ไว้ในกล่องด้วย เก็บได้นานประมาณ 24 ชั่วโมง
          •  ในตู้เย็น (อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียสขึ้นไป) เก็บได้นานประมาณ 5 วัน
          •  บนช่องฟรีสในตู้เย็น เก็บได้นานประมาณ 2 สัปดาห์
          •  ในตู้แช่แข็ง (อุณหภูมิต่ำกว่า -18 เซลเซียส) เก็บได้นานประมาณ 6 เดือน
จะเห็นได้ว่าอุณหภูมิที่แตกต่างกันจะทำให้ระยะเวลาการเก็บรักษาน้ำนมนั้นแตกต่างกันตามไปด้วย กรณีที่คุณแม่วางแผนไว้ว่าจะใช้น้ำนมภายใน 2-3 วัน การแช่เย็นนั้นเหมาะกว่าการแช่แข็ง เพราะการแช่แข็งนั้นจะทำลายสารที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อที่มีอยู่ในน้ำนมได้ค่ะ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสารบางอย่างในน้ำนมอาจถูกทำลายจากการแช่แข็ง แต่การให้ลูกน้อยกินน้ำนมแม่ที่ผ่านการแช่แข็งแล้วก็ยังมีประโยชน์และมีสารอาหารที่จำเป็นมากกว่านมผสม

การเก็บรักษาน้ำนมแม่ในตู้เย็นหรือตู้แช่แข็งควรทำดังนี้
          •  ใช้ภาชนะที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว แนะนำให้ใช้เป็นขวดพลาสติกหรือถุงเก็บน้ำนมโดยเฉพาะ ไม่ควรใช้ภาชนะที่เป็นแก้ว เพราะเซลล์เม็ดเลือดขาวในน้ำนมแม่ที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันการติดเชื้ออาจติดอยู่กับแก้วที่ใช้เป็นภาชนะได้
          •  ติดฉลากที่ขวดหรือที่ถุงเก็บน้ำนมทุกชิ้น บนฉลากควรบันทึกวันที่ที่บรรจุ และควรเริ่มใช้ตามลำดับโดยดูจากวันที่ที่อยู่บนฉลาก หรือเรียกง่ายๆ ว่าการใช้แบบ “เข้าก่อนออกก่อน” (First in, First out)
          •  หลังจากปั๊มน้ำนมเสร็จแล้ว ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ปั๊มน้ำนมด้วยน้ำร้อนผสมน้ำสบู่และล้างให้สะอาด ก่อนนำไปผ่านการฆ่าเชื้อทุกครั้ง
          •  ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนการปั๊มน้ำนม และพยายามให้อุปกรณ์ทุกอย่างสะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้มีแบคทีเรียต่างๆ ที่อาจปนเปื้อนเข้าไปเจริญเติบโตในน้ำนมได้

กรณีที่คุณแม่ต้องการเพิ่มปริมาณน้ำนมเข้าไปในน้ำนมที่ถูก ‘แช่เย็น’ อยู่แล้ว คุณแม่สามารถทำได้ แต่นมที่ปั๊มเพิ่มเข้าไปนั้นก็จะมีอายุการเก็บรักษาเท่ากับน้ำนมเดิมที่อยู่ในถุงนั้น แต่หากคุณแม่ต้องการเพิ่มน้ำนมเข้าไปในน้ำนมเดิมที่ถูก ‘แช่แข็ง’ อยู่ คุณแม่ต้องแน่ใจว่าน้ำนมที่จะใส่เพิ่มเข้าไปใหม่นั้นต้องผ่านการแช่เย็นมาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง และปริมาณของน้ำนมที่จะเพิ่มเข้าไปก็ต้องไม่มากกว่าปริมาณน้ำนมเดิม
ที่มีอยู่ บางทีการเก็บน้ำนมไว้ในช่วงเวลาหนึ่ง คุณแม่อาจจะเห็นว่าน้ำนมแยกตัวออกจากกันเป็นส่วนของน้ำและไขที่ลอยอยู่
ด้านบน ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ เพียงเขย่าน้ำนมให้เข้ากัน ก็สามารถนำมาใช้ได้แล้ว ถ้าคุณแม่ต้องการแช่แข็งน้ำนมที่ปั๊ม ควรทำทันทีหลังจากที่ปั๊มเสร็จ และไม่ควรปั๊มจนเต็มภาชนะ ควรเหลือที่ว่างไว้ด้วยเพราะเมื่อแช่แข็งนั้นน้ำนมจะขยายตัวขึ้น ถ้าคุณแม่ใช้ถุงสำหรับเก็บน้ำนม อย่าลืมดูรอบถุงว่ามีรูรั่วหรือไม่ เมื่อนำออกมาละลายก็ควรระวังถุงล้มลงมาเมื่อน้ำนมละลาย นมที่ถูกแช่แข็งควรนำมาละลายโดยการใส่ไว้ในช่องแช่เย็น โดยจะสามารถเก็บได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง และห้ามนำกลับไปแช่แข็งอีก ทั้งนี้ คุณแม่ไม่ควรละลายน้ำนมในไมโครเวฟ ถ้าต้องการให้น้ำนมละลายเร็วๆ ให้ใช้การแช่ภาชนะที่บรรจุน้ำนมในน้ำเย็น จากนั้นนำไปแช่ในน้ำอุ่น และสุดท้ายปล่อยให้น้ำก๊อกไหลผ่าน และอย่าลืมเช็ดรอบภาชนะที่ใส่ให้แห้งก่อนจะเปิดใช้

ปล.เราสงสารคนที่ผ่าตัดมะเร็งเต้านมโดยการตัดเต้านมทิ้งทั้งสองข้าง แล้วไม่มีนมให้ลูกกินค่ะ

ที่มา : http://www.nestlebaby.com/th/parenting/family_life/storing_breast_milk/
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่