การ์ตูน จิตตกรรมเล่าเรื่องจิตตนคร พระนิพนธ์ “สมเด็จพระสังฆราช”





คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น



    
เปิดตัวหนังสือพุทธการ์ตูน “จิตตกรรมเล่าเรื่องจิตตนคร” พระนิพนธ์สมเด็จพระสังฆราช เล่มแรกของประเทศไทย เทิดพระเกียรติ 100 ชันษา 3 ตุลาคม 2556 แจกประชาชนในงานฉลองพระชันษาวัดบวรนิเวศวิหาร สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ระบุขอต้นฉบับไปพิมพ์แจกประชาชนได้
       
       วันนี้ (25 ก.ย.) ที่ ห้องประชุมชั้น 6 บริษัท ไทยนครพัฒนา จ.นนทบุรี กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมกับสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 และมูลนิธิวีระภุชงค์ เปิดตัว “หนังสือจิตตกรรมเล่าเรื่องจิตตนคร” เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในโอกาสเจริญพระชันษา 100 ปี 3 ตุลาคม 2556 โดยมี นายสนธยา คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม (วธ.) พระดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ กรรมการมูลนิธิวีระภุชงค์ และพระธีรโพธิภิกขุ หรือพระอาจารย์ธีระพันธุ์ ลอไพบูลย์ ประธานชมรมธุลีไท ร่วมแถลงข่าว
       
       พระ ดร.อนิลมาน กล่าวว่า เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชันษา 100 ปี 3 ตุลาคม 2556 รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมใจจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน ระหว่างวันที่ 1-7 ตุลาคม 2556 ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในการบำเพ็ญพระราชกุศล เป็นกรณีพิเศษ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระสังฆราช ในวันที่ 3 ตุลาคม โดยมีการนิมนต์พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ สวดเจริญพระพุทธมนต์ ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน และสมเด็จพระสังฆราช เป็น สังฆราช ที่มีพระชันษายืนยาวที่สุดในโลกด้วย
       
       ในการอัญเชิญพระนิพนธ์ จิตตนคร ซึ่งเป็นผลงานพระนิพนธ์ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้นิพนธ์ไว้เมื่อ ปี 2513 มาจัดทำเป็นหนังสือพุทธการ์ตูนเล่มแรกของสมเด็จพระสังฆราช ที่เรียกว่า หนังสือจิตตกรรมเล่าเรื่องจิตตนคร ขึ้น นับเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา โดยได้ถอดเรื่องราวจากหนังสือ จิตตนคร ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ได้นำหลักพระธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา เรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆ มาผูกเป็นเรื่องราวในทำนองบุคลาธิษฐาน ถือว่าเป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาชิ้นเอกของโลก เนื่องจากในประเทศพระพุทธศาสนาอย่าง พม่า ศรีลังกา ที่สร้างวรรณกรรมไว้อย่างมากมาย ก็ยังไม่มีวรรณกรรมที่ลึกซึ้งทางพระพุทธศาสนาเช่นนี้ ที่ให้ผู้อ่านเข้าใจในเรื่องจิตและการปฏิบัติทางจิต โดยสมเด็จพระสังฆราช ได้ถอดความมาจาก พุทธสุภาษิต ที่ว่า อยากให้รักษาจิตเหมือนกับนคร คำเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากหน่วยไหนสนใจสามารถนำไปจัดพิมพ์ เพื่อใช้แจกให้ประชาชนได้เรียนรู้ได้ด้วย
       
       นายสนธยา กล่าวว่า สวธ.ได้ร่วมกับสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 และมูลนิธิวีระภุชงค์ ให้การสนับสนุนการจัดพิมพ์หนังสือจิตกรรมเล่าเรื่องจิตตนคร จำนวน 15,000 เล่ม เพื่อถวายเป็นสักการบูชา และถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระสังฆราช อีกทั้งเล็งเห็นในคุณค่าของหนังสือ “จิตตกรรมเล่าเรื่องจิตตนคร” ว่าสามารถเผยแผ่พระธรรมคำสอนให้เข้าถึงประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนไทยได้ง่ายขึ้น ซึ่งไม่เฉพาะแต่ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่เป็นหลักปฏิบัติอย่างสากล ถือเป็นหนังสือแห่งยุคที่เชื่อว่าจะสามารถพัฒนาไปสู่รูปแบบอื่นได้อีก เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมโลกต่อไป
       
       ด้าน พระธีรโพธิ ภิกขุ หรือพระอาจารย์ธีระพันธุ์ ลอไพบูลย์ ประธานชมรมธุลีไท กล่าวว่า ได้อ่านหนังสือเรื่อง “จิตตนคร” จึงเกิดแรงบันดาลใจในการคิดแปลงเนื้อหาธรรมในเรื่องจิตตนครออกมาเป็นภาพการ์ตูน เพื่อให้ผู้อ่านทั่วไปโดยเฉพาะเยาวชนได้รับความรู้ ความซาบซึ้งในพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยอาศัยภาพเป็นสื่อ “จิตตกรรมเล่าเรื่องจิตตนคร” จึงถือกำเนิดขึ้นโดยการนอบน้อมต่อทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์อย่างแท้จริง
       
       “ผลงานในครั้งนี้แม้จะทำออกมาในรูปแบบของนิยายภาพ เรียกว่า “จิตตกรรม” มากกว่า เพื่อให้สอดคล้องกับคำว่า “จิตตนคร” ที่พระสังฆราชได้พระนิพนธ์เอาไว้ เพราะครั้งนี้ไม่ใช่การวาดรูปปกติ แต่เป็นการวาดรูปโดยใช้ภาวะจิตในการตีความบทธรรมคำสอนในเรื่องให้ออกมาเป็นภาพที่สื่อความหมายไม่ผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับเดิม ที่สมเด็จพระสังฆราช ทรงอุปมา “กาย” ของมนุษย์เป็นเมืองหนึ่งชื่อว่า “จิตตนคร” โดยมี “จิต” เป็นเจ้าเมือง มีบริวารคนสนิทอยู่ 2 คน คนแรกฝ่ายขาวชื่อว่า “คู่บารมี” คอยห้ามปรามตักเตือนเจ้าเมืองไม่ให้ทำสิ่งไม่ดี บริวารอีกคนชื่อ “สมุทัย (ต้นเหตุแห่งทุกข์)” ด้านดำที่หนุนให้เจ้าเมืองทำตามกิเลสในทางไม่ดีตาม โลโภ โมโห และโทโส ที่เป็นลูกน้องของสมุทัยอีกทีหนึ่ง ซึ่งเนื้อเรื่องสนุกน่าติดตาม และสิ่งสำคัญคือเนื้อหาที่ทรงพระนิพนธ์ไว้ตั้งแต่ปี 2513 ไม่ได้ล้าสมัยแม้แต่น้อย” พระธีรโพธิกล่าว
       
       ในวันเดียวกันที่กรมการศาสนา สมเด็จพระวันรัต กรรมการมหาเถรสมาคม คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน ในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมปฎิบัติธรรม สังฆราชบูชา ตลอดพรรษกาล 2556 ฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 3 ตุลาคม 2556 เพื่อเทิดพระเกียรติ และถวายเป็นพระกุศล ในฐานะที่ทรงมีคุณูปการต่อพุทธศาสนิกชนและประเทศชาติโดยมี นายสุระ เตชะทัต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายปรีชา กันธิยะ อธิบดีกรมการศาสนา พร้อมด้วยวัฒนธรรมจังหวัด 76 ทั่วประเทศร่วมกิจกรรม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่