งง หลักสูตรการเรียนแบบภาษาอังกฤษ ต่างกันยังไงครับ

กำลังหารร. ที่เน้นภาษาอังกฤษให้ลูกครับ แล้วก็ไปเจอหลักสูตรแต่ละรร. เรียกไม่เหมือนกัน แล้วที่จริงมันเหมือนหรือต่างกันมั้ยครับ
ถ้าไม่เหมือนแล้วต่างกันตรงไหน อันไหนที่เรียนภาษาอังกฤษเยอะ

*English Program
*Mini EP
*Intensive English Program
*Bilingual
*International Program - รร. ไทย
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 1
เอาบทความของ ดร.อัครเวช มาให้ดูครับ ลองศึกษาดูนะครับ


เครดิต Dr.Akaravech Chotinaruemol
ตอน: หลักสูตรการเรียนที่เหมาะสมกับลูกหลานเรา (1)

หาเวลาจะเขียนเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอนในบ้านเรามานาน ไม่ค่อยมีเวลา จนเห็นภาพนี้จึงเกิดแรงบันดาลใจ หลักสูตรประถม/มัธยมบ้านเรา ตามคำจำกัดความจองกระทรวงศึกษาธิการมี 3 แบบ

แบบแรก: แบบไทยๆ ที่เรียนกันโดยทั่วไป เรียนเป็นภาษาไทยทั้งหมด สวนกุหลาบ เทพศิรินทร์ เตรียมอุดม คือแบบนี้ครับ
แบบที่สอง: แบบอินเตอร์ เรียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด มีเนื้อหาของตัวเอง ไม่มีวิชาศีลธรรม ประวัติศาสตร์ชาติไทย โรงเรียนอินเตอร์ทั้งหลายเป็นแบบนี้ ไม่ว่า IB หรือ ICGSE
แบบที่สาม: แบบอีพี (English Programme) คือเอาหลักสูตรไทยๆนี่แหละ มา'แปล'บางวิชาเป็นภาษาอังกฤษ บางโรงเรียนหรือผู้ปกครองบางคนเข้าใจว่านี่คือหลักสูตร 'สองภาษา' หรือ 'Bilingual' ซึ่งแท้จริงแล้ว ไม่ใช่เลยครับ

Truely Bilingual คือการเรียนการสอนที่จัดสภาวะแวดล้อมให้เด็ก ได้คลุกเคล้าซึมซับ (Emersion) กับภาษาสากลและภาษาท้องถิ่นแบบธรรมชาติ คือไม่มีการแปล หันไปหน้าห้องครูฝรั่งสอนภาษาอังกฤษ หันกลับมาหลังห้องครูไทยสอนภาษาไทย วิชาเลขให้การบ้านโดยครูฝรั่ง วันรุ่งขึ้นครูไทยมาเฉลย แรกๆเด็กจะสับสน แต่ไม่นานก็จะเริ่มคุ้นเคยไม่ขัดเขิน เมื่อไม่มีการแปล การรับรู้ของเด็กจึงเป็นสองภาษาอย่างแท้จริง ไม่มี Translation Delay ทฤษฎีนี้อธิบายได้ด้วยคนที่เป็นลูกครึ่งพ่อพูดอังกฤษ แม่พูดไทย ลูกจะพูดได้ทั้งสองภาษาอย่างชัดเจน ไม่มี accent ไม่ต้องแปล 

สาธิตรังสิตสอนแบบ Truely Bilingual ซึ่งต้องใช้ครูอย่างน้อยถึงสองคนในห้องเดียว แต่เนื่องจากกระทรวงฯให้จดทะเบียนหลักสูตรได้เพียงสามแบบ จึงจำใจต้องรับใบอนุญาตเป็น EP ตอนนี้เท่าที่พยายามดูในไทย ยังไม่เห็นใครเป็น Bilingual เลยนอกจากสาธิตรังสิต ทั้งหมดที่สอนสองภาษาคือ EP ครับ

หากมีการแปล ก็จะช้าในการเปลี่ยนจากภาษาแม่เป็นภาษาเป็นสากล และอาจเกิดเหตุการณ์แบบในรูปข้างล่างครับ ตอนหน้าลองมาดูกันว่า ในสามหลักสูตรนี้ (ความจริงสี่หลักสูตร เพราะมี Bilingual ที่แฝงอยู่ใน EP ด้วย) เราควรส่งลูกเราเรียนหลักสูตรใดครับ

ตอน: หลักสูตรการเรียนที่เฟมาะสมกับลูกหลานเรา (2)

ตอนแรกผมได้อธิบายแล้วว่า หลักสูตร English Programme กับ Bilingual นั้นอาจดูคล้ายกัน แต่กระบวนการเรียนรู้ การสัมผัสกับภาษานั้นต่างกัน ต่างกันที่ EP คือการแปลแต่ Bilingual ต้องไม่แปล พูดแบบนี้พวกเราที่เรียนภาษาอังกฤษมาแบบแปล (รวมทั้งผมด้วย) อาจไม่เข้าใจ ก็ขอให้ไปถามพวกลูกครึ่งดู ว่าเขาแปลหรือเปล่า วิธีการสังเกตุง่ายๆว่าแปลหรือไม่คือ เวลาคุณจะพูดภาษาอังกฤษ คุณต้องคิดเป็นไทยก่อน แล้วแปลไปเป็นภาษาอังกฤษ หรือในทางกลับกันเวลาฟังภาษาอังกฤษ ต้องแปลกลับมาเป็นไทย ซึ่งจะมี Translation Delay พูดฟังนานๆเข้าก็จะเหนื่อยล้า ไม่เป็นธรรมชาติ ใช่ครับ...ผมกำลังเรียนว่า การเรียนการสอนแบบ Truely Bilingual นั้น กำลังสร้างบรรยากาศให้นักเรียนกลานเป็นลูกครึ่งนั่นเอง ดังนั้นครูฝรั่งต้องเป็น Native Speakers ไม่ใช่เอาครูไทย พม่า ฟิลิปปินส์ มาพูดฝรั่ง อย่างนั้นมันไม่ใช่ลูกครึ่งหละครับ มันกลายเป็นลูกผสม AEC

มาดูตัวอย่างกันนะครับ มีวันหนึ่งผมดูการ์ตูนทางทีวีกับทาร่า มีประโยคหนึ่งคือ 'I wish I could be a pilot' ผมก็ถามทาร่าว่าแปลว่าอะไร ทาร่าถามกลับว่า 'แปล' แปลว่าอะไร ผมต้องเปลี่ยนคำถามใหม่ว่า หากพูดภาษาไทยจะพูดว่าอะไร ทาร่าตอบว่า 'ฉันฝันอยากเป็นนักบิน' เห็นมั้ยครับ ว่าเด็กไม่ได้แปล wish หากแปลเปิด dict คือ 'ปรารถนา' แต่ประโยคนี้ทาร่าเข้าใจถูกต้องแล้ว การ์ตูนเขาหมายถึงอย่างนั้นจริงๆ

คราวนี้มาลองดูว่าหากต้องเลือกหลักสูตรให้ลูกเราจะเลือกหลักสูตรใด ระหว่าง 1.หลักสูตรไทย 2.หลักสูตรอินเตอร์ 3.หลักสูตร EP และ 4.หลักสูตร Bilingual ต้องขอบอกก่อนนะครับ สิ่งที่ผมจะกล่าวต่อไปนี้คือความคิดเห็นส่วนตัว อาจจะตรงหรือไม่ตรงกับคุณก็ได้ สำหรับผมหลักสูตรที่ผมจะเลือกให้ลูกเรียนเป็นลำดับสุดท้ายคือ 'หลักสูตรอินเตอร์' 

หลักสูตรอินเตอร์มีหลักๆสองแบบคือ International Baccalaureate (IB) และ International General Cerificate of Secondary Education (ICGSE) IB มีต้นกำเนิดจากอเมริกา และ ICGSE มีต้นกำเนิดจาก Cambridge อังกฤษ ทั้งสองอย่างคือหลักสูตรที่ทำมาเป็นมาตรฐานเหมือนกันทั่วโลก ข้อดีคือลูกคุณจะย้ายไปเรียนที่ไหนบนโลกนี้ ก็สามารถเรียนต่อเนื่องได้ไม่สะดุด จึงเหมาะกับพวกลูกทูต ลูกexpatที่ย้ายงานบ่อยๆ ไม่มีทางเลือกหลักสูตรอื่น แต่ด้วยความเป็นมาตรฐานของมันนั่นเอง ทำให้เกิดข้อเสียข้อจำกัดอย่างใหญ่หลวง ผมพูดถึงตรงนี้หลายคนคงพอนึกออก โดยเฉพาะผู้ปกครองที่ส่งลูกเรียนอินเตอร์อยู่ หรือเรียนจบมาแล้ว แต่หากไม่ awared ก็ไม่แปลกนะครับ เพราะผลการสำรวจบอกว่าผู้ปกครองกว่าร้อยละ 80 ไม่ทราบแท้จริงว่าหลักสูตรที่ส่งลูกเรียนนั้นคืออะไร!!! 

ครั้งหน้าเราจะมาวิพากษ์กันว่า หลักสูตรอินเตอร์นี้มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ตอนนี้ลองให้เรานึกภาพเดินไปซื้อเสื้อสำเร็จรูปใส่ อารมณ์ประมาณนั้นหละครับ ตอนนี้ผมขอไปช้อปปิ้ง Harley Davidson ที่ Orchard Road ก่อนครับ — ที่ Starbucks Clack Quay

ตอน: หลักสูตรการเรียนที่เหมาะสมกับลูกหลานเรา (3)

คราวนี้เราลองมาดูว่าทำไม ผมถึงเลือกหลักสูตร IB หรือ ICGSE เป็นตัวเลือกสุดท้ายให้ลูกผม หลักคิดเบื้องต้นคือผมไม่คิดว่าจะมีหลักสูตรใดที่จะดีสำหรับเด็กทุกคนในโลกนี้ เหมือนกับการเดินไปซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูป จะให้พอดีตัวกับทุกคนย่อมเป็นไปไม่ได้ สำหรับหลายคนหลักสูตรอินเตอร์นี้อาจจะดูโก้หรู แต่สำหรับผมกลับดูว่าเป็นของโหล ไม่มีการปรับให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น

ข้อเสียของหลักสูตรนี้จึงมากเหลือเกิน อย่างแรกคือภาษาแม่คือภาษาไทยที่ต้องเสียไป เพราะเขาไม่สอน ตลกแล้วครับคนไทยอ่านเขียนภาษาตัวเองไม่ได้ บางคนที่ส่งลูกเรียนอาจพูดแค่นๆว่า ไม่เห็นจำเป็นต้องรู้ภาษาไทย จริงครับภาษาไทยเป็นภาษาเล็กๆ ไม่จำเป็นต้องรู้ หากคุณไม่ใช่คนไทย ไม่วางแผนที่จะมีชีวิตอยู่ในเมืองไทย แต่หากคุณวางแผนให้ลูกเป็นคนไทยอยู่เมืองไทย ภาษาไทยไม่ใช่เพียงแค่รู้นะครับ ต้องถ่องแท้กระจ่างด้วย ผมเห็นเด็กอินเตอร์หลายคนมีปัญหา อ่านป้ายถนนไม่ออก ไลน์กับเพื่อนในกลุ่มก็ไม่ได้ เห็นแล้วผมรู้สึกเหมือนเขาพิการ เป็นคนไทยในเมืองไทยแต่อ่านไม่ออกเลย ลองนึกภาพเราไปประเทศแปลกๆที่เราอ่านป้ายต่างๆไม่ออก มันคงอึดอัดพิลึก น่าสงสารนะครับ เหมือนนกที่บินไม่ได้ แล้วก็บอกเพื่อนๆตอนเกาะขอนไม้นอนว่า นี่ไงเพื่อน...ไม่เห็นต้องบินเลย ตอนเย็นเราก็ต้องลงดินเกาะขอนไม้เหมือนกัน 

โลกของนกอยู่บนฟ้า คนไทยก็ควรต้องรู้กระจ่างภาษาไทย หรือไม่จริงครับ?? แล้วหลังเปิด AEC เด็กกลุ่มนี้จะเสียเปรียบเข้าไปอีก เพราะเป็นที่คาดการณ์ว่าภาษาที่สองของ AEC จะเป็นภาษาไทย ตอนนี้มีโรงเรียนสอนภาษาไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสิงคโปร์ เปิดสอนที่สิงคโปร์หลายแห่งแล้ว เขาเป็นคนต่างชาติแท้ๆยังหันมาเรียนไทยเสริม เราคนไทยกับทิ้งภาษาตัวเอง

ใครส่งลูกเรียนอินเตอร์ ก็สมควรที่จะรีบเสริมภาษาไทยให้ลูกโดยเร็วนะครับ พูดได้ฟังออกไม่พอนะครับ ต้องอ่านออกเขียนได้อย่างกระจ่างอีกด้วย หลายคนก็คิดแบบนี้คือส่งลูกเรียนอินเตอร์แล้วเสริมภาษาไทย แต่ปัญหามันไม่จบแค่นั้นสิครับ มันมีอีกหลายเรื่องตามมา ไว้ตอนหน้าเรามาวิเคราะห์กันต่อ แต่อยากให้รับรู้เพียงว่า...ทำไมต้องเลือกตัดภาษาแม่ ไปเอาภาษาอังกฤษ ทั้งๆที่เด็กรับรู้ภาษาได้พร้อมกันถึง 5-6 ภาษา ทำไมต้องเลือกครับ เหมือนกับว่าเด็กจะเรียนรู้เพียงภาษาเดียวอย่างนั้นแหละครับ เป็นความเข้าใจที่ผิดโดยสิ้นเชิง!!!

ตอน: หลักสูตรที่เหมาะสมกับลูกหลานเรา (4)

ตอนที่แล้วผมกล่าวถึงว่า หากใครส่งลูกไปเรียนอินเตอร์โดยคิดว่าอยากให้ลูกได้ภาษาอังกฤษ และยอมทิ้งภาษาไทย (หรือไม่ทราบด้วยซ้ำว่าลูกจะเสียภาษาไทย) แล้วแก้ไขปัญหานี้โดยมาติวภาษาไทยเพิ่มให้ลูก มันยังไม่ได้จบปัญหาเพียงแค่นั้นสิครับ

ปัญหาที่ตามต่อมาคือ หลักสูตรอินเตอร์ที่เรียนเหมือนกันทั่วโลกและไม่ได้สอดแทรกความรู้ท้องถิ่นเข้าไป ทำให้เด็กไม่ได้รับรู้อะไรหลายๆอย่างของเมืองไทย เอาหละ...เรื่องไม่เคารพธงชาติ หลายคนอาจมองเป็นเรื่องเล็ก (แต่ผมไม่คิดอย่างนั้นนะ) ถ้าอย่างนั้น เรื่องไม่สอนศีลธรรมหลักธรรมของพุทธ ที่ลูกๆเรานับถืออยู่นี่ ยังเป็นเรื่องเล็กอีกมั้ยครับ แล้วยังมีเรื่องประวัติศาสตร์ สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ ที่เด็กพวกนี้จะไม่เคยได้ยินเลย ไม่ทราบว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชประดิษฐ์อักษรไทย (ทำไมต้องทราบหละ ก็อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้อยู่แล้ว) พระนเรศวรมหาราชกอบกู้บ้านเมืองจากพม่า พระปิยะมหาราชทรงปฏิวัติสยามให้ก้าวหน้า แล้วสถาบันทั้งสามคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่เป็นแกนของสังคมไทย เด็กพวกนี้ทราบอะไรบ้างครับ ทั้งหมดนี้ ไม่สำคัญอย่างนั้นสิครับ? หากสถาบันสามหลักนี้ไม่สำคัญ ก็คงไม่มีอะไรสำคัญอีกแล้วครับ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องวัฒนธรรมไทย มารยาทไทย ศิลปะไทย ซึ่งเป็นองค์ประกอบอื่นๆของความเป็นไทย นอกเหนือจากสถาบันทั้งสาม ที่เด็กเหล่านี้จะไม่ได้มีโอกาสได้สัมผัสเลย ผมเห็นเด็กเหล่นี้บางคน ไหว้ไม่เป็น ไม่รู้จักธรรมเนียมไทยเรื่องอาวุโส ไม่ทราบว่าโขนดนตรีไทยคืออะไร ผมเห็นแล้วอดเป็นห่วงประเทศชาติไม่ได้ หากเยาวชนของเราไปเรียนหลักสูตร้หล่านี้มากๆเข้า ชาติเราจะอยู่อย่างไร อย่าลืมนะครับ ชาติที่ยิ่งใหญ่ ทุกชาติประชาชนเขาชาตินิยมทั้งนั้น ไทยไม่นิยมชาติ และชาติไทยจะยิ่งใหญ่ได้อย่างไร!!

สุดท้าย...เด็กเหล่านี้จะมีความรู้สึกต่อต้านอะไรก็ตามที่เป็นไทยๆ บางคนออกมาในแนวดูถูกว่าล้าหลัง เชย ก็โทษเขาไม่ได้ เราส่งเขาไปเรียนแบบฝรั่งเอง ที่เขาต่อต้านส่วนใหญ่ก็เพราะเขาไม่เข้าใจ ไม่เคยเรียนรู้ เรียนเองก็อ่านไม่ได้เขียนไม่ออก ก็เลยออกมาในแนวแอนตี้ หรือเอาความเป็นสากลมากลบความเป็นไทย แทนที่จะยอมรับว่าการไม่รู้จักไทยเป็นปมด้อย เด็กพวกนี้จะชดเชยด้วยการไม่ Give a Damn ความเป็นไทยมากกว่า นี่คือสิ่งที่ผมพบเห็นมานะครับ

นี่ไงครับ...คือสิ่งที่ผมบอกตัวเองว่า ลูกผมจะเลือกหลักสูตรอินเตอร์เป็นทางเลือกสุดท้าย หากไม่มีหลักสูตรไหนในโลกนี้แล้ว ถึงค่อยพิจารณาหลักสูตรนี้หละครับ ล่าสุดก็มีลูกของญาติย้ายจากอินเตอร์มา ผมก็ถามเขาว่าเพราะเหตุใด คุณพ่อตอบว่า ไม่เข้าใจว่าทำไมบัวคับให้เรียนไบเบิล แต่ไม่มีวิชาพุทธศาสนา ก็ยินดีด้วยกับหลานนะครับ ที่คุณพ่อได้ตัดสินใจถูกแล้ว 

อีกประการหนึ่งที่เป็นจุดอ่อนสำคัญของหลักสูตรนี้คือ การเรียนต่อขั้นมหาวิทยาลัยในประเทศ จะมีสาขาวิชาเลือกน้อยกว่า หมอท่านหนึ่งมาถามผมว่าข้อสอบเข้าหมอมีภาษาอังกฤษมั้ย ลูกเรียนอินเตอร์มา อยากให้เอนทรานซ์เข้าหมอ ผมเลยถามกลับว่า แล้วทำไมหมอถึงส่งลูกเรียนอินเตอร์จนอ่านข้อสอบไทยไม่ได้เล่า บางคนต้องไปเรียนต่อปริญญาตรีต่างประเทศ ชีวิตเขาเปลี่ยนไปเลยนะครับ เพื่อน สังคมที่เมืองเกิด มันห่างออกไปมาก

คิดให้ดีครับ...หากจะส่งลูกเรียนหลักสูตรนี้ เค้าออกแบบมาสำหรับลูกทูตลูก expat ที่ย้ายประเทศบ่อยๆ ไม่ใช่สำหรับครอบครัวไทยๆที่ปรารถนาให้ลูกเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ มีชีวิตในเมืองไทยอย่างคนไทยปกติ การศึกษาเป็นรากฐานของชีวิต กลัดกระดุมหากผิดเม็ดแรก เม็ดต่อๆไปก็ผิดทั้งหมด 

ต้องย้อนถามคุณพ่อคุณแม่ว่า ส่งลูกเรียนอินเตอร์นี่ทราบรึยังว่าหลักสูตรคืออะไร อนาคตของลูกจะเป็นอย่างไร หรือก็ไม่ Give a Damn!!!

เครดิต Dr.Akaravech Chotinaruemol
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่