เตียวหยุน จูล่ง จากหงสาจอมราชัน ข้อแตกต่างของนิยายและประวัติศาสตร์ที่เฉินเหมาจุดประกายในการค้นคว้าจากจดหมายเหตุสามก๊ก

ข้อแตกต่างหลายจุดจากจดมายเหตุสามก๊กของเฉินโซ่ว และนิยายสามก๊กของหลอกว้นจง
         

         ควันหลงจากหงสาจอมราชันเล่ม 48 และ "ส่วนหนึ่งที่จะอยู่ในหนังสือชุดจดหมายเหตุสามก๊ก"

         ในนิยายสามก๊ก มีตัวละครหลายคนที่ถูกดัดแปลงเรื่องราว บทบาท หรือเสริมเติมวีรกรรมเข้าไปหลายจุดจากในประวัติศาสตร์เพื่อความบันเทิงหรือแฝงนัยยะบางอย่างไว้ สิ่งที่พบคือ จูล่งเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์สามก๊ก ซึ่งได้รับการเสริมเรื่องราวเข้ามาค่อนข้างมากหากเปรียบเทียบจากจดหมายเหตุสามก๊กของเฉินโซ่ว ชีวประวัติของจูล่ง มีการบันทึกเรื่องราวไว้ไม่มากนัก ซึ่งคนแรกที่ค้นคว้าเรื่องราวของจูล่งเพิ่มเติมแล้วแทรกการอธิบายรายละเอียดเข้าไปเพิ่มด้วยบทอรรถาธิบายต่างๆก็คือเผยซงจือ และเนื้อหาที่ถูกอธิบายเพิ่มเข้ามานี้เอง น่าจะเป็นส่วนที่หลอก้วนจงนำมาขยายเพิ่มในนิยายสามก๊ก

         บันทึกประวัติศาสตร์สามก๊ก มีบันทึกเรื่องราวของจูล่งที่แตกต่างจากในนิยายหลายจุด เช่น ในประวัติศาสตร์นั้นจูล่งไม่เคยเป็นทหารของอ้วนเสี้ยว แต่อยู่กับกองซุนจ้านมาตั้งแต่แรก และจูล่งก็เข้ามาอยู่ในกองทัพของเล่าปี่หลังจากได้พบกันไม่นาน แต่จูล่งก็ยังเป็นเพียงทหารชั้นผู้น้อย ไม่ได้มีตำแหน่งเป็นระดับขุนพลสำคัญตั้งแต่เข้าร่วมทีแรกดังที่เข้าใจ วีรกรรมฝ่าทัพรับอาเต๊า ซึ่งจูล่งเข้าช่วยเหลืออาเต๊าที่ทุ่งเตียงปันนั้นเป็นเหตุการณ์ที่มีบันทึกไว้จริง โดยในประวัติศาสตร์ จูล่งกลายเป็นที่รู้จัก มีชื่อเสียงโด่งดัง และก้าวขึ้นมาเป็นขุนพลใหญ่ในกองทัพของเล่าปี่ได้มาจากศึกครั้งนี้

         แต่เหตุการณ์ที่เขาแย่งชิงอาเต๊ากลับมาจากซุนฮูหยินนั้น มีความคลาดเคลื่อนหลายจุด ในนิยายนั้นกล่าวว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเล่าปี่เข้าไปเสฉวนแล้ว ปรากฏว่านางซุนฮูหยินต้องการอาเต๊ากลับไปง่อก๊กด้วย จูล่งจึงดักขึ้นเรือเพื่อชิงตัวกลับมาโดยมีเตียวหุยนำเรือเข้าไปช่วย แต่ในประวัติศาสตร์กลับบันทึกต่างออกไป โดยเฉินโซ่วไม่ได้บันทึกเหตุการณ์นี้ไว้เลย จนมีการวิเคราะห์ว่าไม่น่าเกิดเรื่องขึ้นจริง เพราะตอนที่นางซุนฮูหยินกลับไปง่อก๊กนั้น จูล่งและเตียวหุยนำกองทัพติดตามเล่าปี่เข้าไปช่วยตีเสฉวนแล้ว ส่วนเผยซงจือก็อธิบายเสริมไว้ในจดหมายเหตุแตกต่างออกไปอีก โดยเขาเชื่อว่าเล่าปี่และนางซุนฮูหยินไม่ได้ไปแต่งงานและอยู่กินที่ง่อก๊กเป็นปี แต่นางตามเล่าปี่มาอยู่เกงจิ๋วแต่แรก และจูล่งได้รับหน้าที่ให้เป็นพ่อบ้านดูแลกิจธุระภายในครอบครัวเล่าปี่ทุกอย่าง เพราะเขาเป็นผู้ที่มีบุคลิกจริงจังและสามารถทำให้เหล่าทหารองครักษ์ของนางซุนฮูหยินที่ติดตามมายอมเชื่อฟังได้ ส่วนเหตุการณ์ชิงตัวอาเต๊ากลับมานั้นก็เกิดขึ้นจริง โดยเชื่อว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนจูล่งและเตียวหุยจะนำกองทัพติดตามเล่าปี่ไปช่วยตีเสฉวน

จูล่งมีบุตรชาย 2 คน ซึ่งปรากฏตัวออกมาในตอนที่มาแจ้งข่าวแก่ขงเบ้งว่าจูล่งถึงแก่ความตายแล้วก็ไม่ปรากฏบทบาทใดๆอีก นอกจากกล่าวว่าบุตรคนโตคือเตียวต๋งได้รับตำแหน่งของจูล่งต่อมา ส่วนบุตรคนรองคือเตียวกองได้เป็นแม่ทัพคอยติดตามเกียงอุยออกศึก และเสียชีวิตในศึกสุดท้ายร่วมกับเกียงอุยในครั้งที่จ๊กก๊กถูกเตงงายตีแตก อีกทั้งไม่ได้มีการกล่าวถึงแน่ชัดว่าจูล่งมีบุตรตั้งแต่เมื่อใด แต่ก็ไม่น่าเป็นปัญหาหลัก เพราะตัวละครอื่นๆในสามก๊กก็แทบไม่มีบันทึกเรื่องราวเหล่านี้อย่างชัดเจน แม้กระทั่งเล่าปี่เอง ในจดหมายเหตุชีวประวัติชีซีก็ยังมีจุดที่แสดงว่าเล่าปี่เคยมีบุตรมาก่อนอาเต๊าอยู่หลายคน แต่นิยายกลับไม่ได้กล่าวถึงเลย

เกี่ยวกับภรรยาของจูล่ง เหตุที่ได้รับความสนใจกันมากนอกเหนือจากเพราะการปรากฏตัวของบุตรชายทั้งสองคนซึ่งออกมาหลังจากจูล่งสิ้นแล้วนั้น ยังอาจเพราะมีนิยายสามก๊กในฉบับของ โจวต้าหวง (Zhou Dahuang) ซึ่งมีชื่อว่า “ฟ่านซานกั๋วเหยียนอี้” (Fan Sanguo Yanyi) เป็นการเสริมเติมฉบับของหลอก้วนจง โดยมีปรากฏบทบาทของภรรยาจูล่ง นามว่า นางม้าหยุนลู่ (Ma Yunlu) นางเป็นบุตรีของม้าเท้งและเป็นน้องสาวของม้าเฉียว ซึ่งมีความเก่งกล้าสามารถในการรบไม่แพ้พ่อและพี่ชาย โดยกล่าวว่าด้วยความเก่งกล้าและห้าวหาญในการรบและขี่ม้าของเธอทำให้บิดารู้สึกกังวลว่าเธอจะไม่อาจหาสามีที่คู่ควรได้ จนกระทั่งนางอายุ 22 ปีจึงได้พบกับจูล่ง แล้วจึงแต่งงานกันโดยมีเล่าปี่เป็นพยานและขงเบ้งกับหวดเจ้งเป็นพ่อสื่อให้ จากนั้นเธอก็ช่วยเหลือสามีทำงานรับใช้เล่าปี่และจ๊กก๊กอย่างเต็มกำลัง

จูล่งตัวจริงในประวัติศาสตร์มีตำแหน่งทางทหารยศต่ำสุดในบรรดา 5 ทหารเสือ ซึ่ง 5 ทหารเสือนี้เป็นเพียงการยกย่องของเล่าปี่ต่อขุนพลทั้ง 5 ของตนเองว่ามีความเก่งกล้าสามารถอย่างสูง แต่ไม่ได้เป็นตำแหน่งทางทหารอย่างเป็นทางการ โดยจูล่งควบตำแหน่งองครักษ์ของเล่าเสี้ยนด้วย ซึ่งตำแหน่งทางทหารของจูล่งหลังจากได้รับการยกย่องเป็น 5 ทหารเสือคือ นายพลผู้พิทักษ์ดินแดน (General Guardian of Distant) จากนั้นก่อนหน้าที่ขงเบ้งจะทำศึกปราบภาคเหนือ จูล่งได้รับการเลื่อนตำแหน่งในยศนายพลเรื่อยๆ เข้าใจว่าตำแหน่งทางทหารสูงสุดที่จูล่งได้รับคือ “เจิ้นจวุนเจียงจวุน” หรือ นายพลผู้พิทักษ์ตะวันออก (Zhenjun Jiangjun) ซึ่งเป็นการแต่งตั้งเพื่อให้จูล่งป้องกันแนวรบทางตะวันออกและเผชิญหน้ากับง่อก๊กของซุนกวน ซึ่งในขณะนั้นยังไม่สามารถฟื้นฟูพันธมิตรให้กลับมาได้หลังจากเล่าปี่เสียชีวิต

ต่อเมื่อภายหลังจากขงเบ้งพ่ายศึกที่เขากิสาน จึงถูกลดยศลงมา กระทั่งหลังจากจูล่งเสียชีวิตไปแล้ว จึงได้รับการเลื่อนยศอีกครั้งเป็น “ซุ่นผิงโหว” (Marquis of Shunping) ในฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แปลชื่อยศว่า “พระยาสามัญนิยม” ซึ่งเฉินโซ่วบันทึกว่าระหว่างเล่าปี่มีชีวิตอยู่ มีเพียงหวดเจ้งคนเดียวเท่านั้นที่ได้รับการอวยยศย้อนหลัง ส่วนจูล่งกว่าจะได้รับการอวยยศจากเล่าเสี้ยนก็คือในปีค.ศ.261 แต่ในนิยายสามก๊กกล่าวว่าเล่าเสี้ยนอวยยศย้อนหลังให้หลังจากจูล่งเสียชีวิตไม่นาน

         มีการวิจารณ์ว่าในประวัติศาสตร์นั้น จูล่งไม่ได้รับการอวยยศให้ขึ้นสู่ตำแหน่งทางทหารระดับสูงหรือเป็นขุนนาง หลังจากกวนอูและเตียวหุยตายไป ซึ่งข้อวิจารณ์เช่นนี้อาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะหากลองพิจารณาจากที่บันทึกไว้ในจดหมายเหตุสามก๊ก และหลอก้วนจงเองก็มีกล่าวถึงในนิยายสามก๊กแล้ว จะพบว่าตำแหน่งทางทหารของจูล่งได้รับการเลื่อนยศขึ้นเรื่อยมานับตั้งแต่สร้างวีรกรรมที่เนินเตียงปันแล้ว อีกทั้งจูล่งยังได้รับการแต่งตั้งยศจากเล่าปี่ให้เป็นขุนนางชั้นพระยา “หย่งชางถิงโหว” ในปีค.ศ.222 ซึ่งเป็นช่วงเวลา 1 ปีก่อนหน้าที่เล่าปี่จะเสียชีวิต ดังนั้นจึงอาจถือได้ว่านอกจากจูล่งจะเป็นคนสนิทใกล้ชิดเล่าปี่ที่ได้รับความไว้ใจให้คอยทำหน้าที่ปกป้องตนเองและครอบครัวแล้ว จูล่งยังได้รับตำแหน่งทางทหารและขุนนางในระดับสูงอีกด้วย เพียงแต่หากเปรียบเทียบกับ กวนอู เตียวหุย ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมสาบานของเล่าปี่แล้ว ก็ไม่แปลกที่จะมีตำแหน่งด้อยกว่าแต่อย่างใด  

         โดยภาพรวมแล้ว อาจถือได้ว่าจูล่งเป็นบุคคลในเรื่องสามก๊กที่ถูกเสริมเติมรายละเอียดและดัดแปลงเรื่องราวยิบย่อยไปค่อนข้างมาก แต่โดยแก่นหลักของเรื่องแล้วก็ค่อนข้างจะมีมูลเหตุทางประวัติศาสตร์ และเป็นที่น่าเชื่อถือได้มากพอสมควร เพราะเรื่องราวของจูล่งก็ไม่ได้ถึงกับถูกดัดแปลงเรื่องราวหรือบทบาทไปอีกทางเลย เฉกเช่นตัวละครอื่นซึ่งถูกดัดแปลงบทบาทไปชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ
        
......................................................................

จากการนำเสนอเรื่องของจูล่ง ในบทบาทใหม่ และประเด็นต่างๆที่เฉินเหมาตั้งคำถาม เมื่อค้นคว้าและสามารถเข้าถึงข้อมูลในเชิงประวัติศาสตร์จากหลายมุม จึงพบสิ่งที่น่าสนใจเหล่านี้ แต่ที่เขียนมานี้ก็เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้น และถือโอกาสโปรโมทหนังสือชุด "จดหมายเหตุสามก๊ก" ที่ใกล้จะออกมาวางแผงแล้ว หลังจากผมใช้เวลาเรียบเรียงและค้นคว้าอยู่หลายปี ซึ่งที่นำมาลงนี้ก็เป็นเพียงส่วนเล็กๆส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์เสริมของ "ชีวประวัติจูล่ง" เท่านั้น ซึ่งเป็นตัวละครคนแรกที่เขียนถึงใน 8 คนแรก ก่อนที่จะลุยต่ออีกหลายสิบคนหลังจากนี้

ตอนนี้ก็คงได้แต่รอดูการนำเสนอของเฉินเหมาในหงสาจอมราชันต่อไป กับวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ เตียวหยุน จูล่ง ซึ่งไม่เคยปรากฏเช่นนี้มาก่อนในสามก๊กและในประวัติศาสตร์ ซึ่งคงต้องขอคารวะ...

"จูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊า"
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่