วิสูตร พูลวรลักษณ์ แง้มสูตรหนัง 300 ล้าน พี่มาก...พระโขนง

จากประชาชาติธุรกิจออนไลน์

"วินาทีแรกที่ได้ยินโปรเจ็กต์หนังเรื่อง "พี่มาก...พระโขนง" จากปากของลูกชาย ผมก็ไลน์ไปหาโต้ง (บรรจง ปิสัญธนะกุล : ผู้กำกับ) ทันทีเลยว่า รวยแน่นอน เพราะทั้งชื่อหนังกับคอนเซ็ปต์มันตอบทุกโจทย์ของหนังทำเงิน และที่สำคัญมันโดนใจผมมาก ๆ"

"วิสูตร พูลวรลักษณ์" ประธานกรรมการบริหารแห่งค่ายหนังอารมณ์ดี "จีทีเอช" เปิดใจกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มร่าเริงชนิดที่ไม่เคยแสดงให้เห็นที่ไหนมาก่อน ในวันฉลองความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง "พี่มาก...พระโขนง" ที่ทำรายได้ทะลุ 170 ล้านบาท ภายในระยะเวลาเพียงแค่สัปดาห์เดียวเท่านั้น

หัวเรือใหญ่ของค่ายจีทีเอช เจ้าของสถิติทำหนังเกี่ยวกับตำนานแม่นาค ทะลุ 100 ล้านบาทมาแล้วถึง 2 ครั้ง (ครั้งแรกคือ "นางนาก" กำกับโดย "อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร" ทำเงินไป 150 ล้านบาท) เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนเคยมีผู้ใหญ่ในวงการพูดกับตนเองอยู่บ่อย ๆ ว่า ใครก็ตามที่ทำหนังเรื่อง แม่นาค ให้ออกมาถูกเนื้อเรื่อง จริงใจ ไม่ลบหลู่ ส่วนใหญ่มักจะทำเงินได้เยอะอยู่เสมอ

"แม้ว่าพี่มากของโต้งจะเป็นหนังตลก แต่ก็ไม่ได้ละเลยข้อมูลพื้นฐานของตำนาน แม่นาค ยังคงมีชอตสำคัญ ๆ อยู่ครบถ้วน เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการนำเสนอให้สดใหม่น่าสนใจยิ่งขึ้น จนอาจจะทำให้ชื่อของผมได้รับการจดบันทึกเอาไว้ด้วยนะว่า เป็นคนที่ทำแม่นาค 2 เวอร์ชั่นแล้วได้รับเงินถึง 450 ล้าน (หัวเราะ)"

จากตัวเลขรายได้ 2 เวอร์ชั่น 450 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมของวิสูตรว่า พี่มาก...พระโขนง จะต้องสามารถทำรายได้สูงถึง 300 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ

"ถ้าถามใจผมตอนนี้ คิดว่ามันน่าจะทำได้ เพราะตอนนี้มันเร็วมากชนิดที่ผมไม่เคยเห็นตัวเลขแบบนี้มาก่อน 7 วัน 170 ล้าน ผมยังไม่เคยเห็น มันจึงเป็นการทุบหมดเลยทุกสถิติ"

ในเวอร์ชั่นของ "โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกุล" เป็นการหยิบตำนานแม่นาค มาเล่าใหม่ผ่านความรู้สึกของพี่มาก แทนรูปแบบเดิม ๆ เหมือนที่เคยทำกันมาทั้ง 22 เวอร์ชั่นก่อนหน้า พร้อมใส่ 4 ตัวละครสร้างสีสันสุดฮาจากเรื่อง "คนกลาง" และ "คนกอง" ลงไป

อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าตัวเลขรายได้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ จนแซงหน้า "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ทั้ง 3 ภาคของ "หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล" ขึ้นไปติดอันดับ 1 ใน 2 หนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลของเมืองไทย

ย้อนกลับไปเมื่อ 16 ปีก่อน วิสูตรเคยพูดเอาไว้ในงานเลี้ยงฉลองของหนังเรื่อง "2499 อันธพาลครองเมือง" ที่สามารถทำเงินได้สูงที่สุด ณ ขณะนั้น ด้วยจำนวน 75 ล้านบาท ว่า ในอนาคตจะต้องมีหนังเรื่องใหม่เกิดขึ้นมาเพื่อลบสถิติที่ 2499 ได้สร้างเอาไว้ เพราะ "สถิติมีไว้เพื่อทำลาย ฟังได้แต่อย่าเชื่อ"

"หลังจาก 2499 สร้างสถิติไปได้เพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น หนังเรื่องนางนากก็ถูกสร้างขึ้นมาทำลายสถิติดังกล่าว ด้วยการทำเงินเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมถึงหนึ่งเท่าตัว ถัดมาอีกไม่กี่ปีเท่านั้นก็มีหนังระดับ 200-300 ล้านบาทเกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ ฉะนั้น ตัวเลข 4 วันแรก 100 ล้าน ในอนาคตมันอาจจะมีหนังที่ทำได้เร็วกว่านี้อีก"

ขณะเดียวกัน บอสใหญ่จีทีเอชยังมองว่า ปรากฏการณ์ของพี่มาก...พระโขนง จะทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมีความมั่นใจในการพัฒนา "คอนเซ็ปต์" ให้มีความสดใหม่มากยิ่งขึ้น

ถ้าตลาดจ๋ามากจนเกินไป อาจจะมีชะตากรรมแบบเดียวกับ "Last Action Hero" ที่ถูกกล่าวขานว่าเป็นหนังเวรี่เวรี่ไฮคอนเซ็ปต์ แต่ไม่สามารถทำเงินได้ เพราะเป็นแนวทางที่ซ้ำซากจำเจ คนดูเบื่อ

"ผมเคยพูดเอาไว้ตอนเปิดจีทีเอชใหม่ ๆ ว่า หนังถ้าขาดความสดใหม่ คุณไม่มีทางจะเป็นหนังที่ทำเงินที่ดีได้เด็ดขาด แต่นอกเหนือจากคอนเซ็ปต์แล้ว คุณภาพก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะถึงงานของคุณมีจุดขายแข็งแรง คอนเซ็ปต์ดี มีความสดใหม่ แต่โปรดักชั่นทำแบบถูก ๆ ลวก ๆ ก็ไปไม่ถึงดวงดาวอยู่ดี"

แน่นอนว่าในเรื่องคุณภาพงาน คงไม่จำเป็นต้องหาคำตอบหรือพิสูจน์จากจีทีเอชกันอีกแล้ว เพียงแต่ที่น่าสนใจคือ "การทำตลาด"

ของค่ายหนังอารมณ์ดีที่มีความแข็งแกร่งมาก จนสามารถพาหนังทำรายได้ทะลุ 100 ล้านไปแล้วถึง 8 เรื่อง ในรอบ 10 ปี

วิสูตรเผยว่า สิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ในการทำหนังของจีทีเอช คือ ทำรายการ "Do" และ "Don′t" ว่าควรทำและไม่ควรทำอะไรบ้างในกระบวนการสร้างหนังแต่ละเรื่อง เพื่อเป็นการคุมโทนหนังไม่หลุดเกินไปจนเสียราคา หรือลดระดับหนังของตัวเองอย่างไม่ได้ตั้งใจ อีกทั้งยังเป็นการเซฟตัวเองได้เป็นอย่างดี

ส่วนสำคัญในการทำตลาดของพี่มาก...พระโขนง คือ การทำให้คนดูเข้าใจอย่างชัดเจนว่า "คอนเซ็ปต์" กับ "หน้าหนัง" เป็นอย่างไร และจะพบอะไรกับ "เนื้อใน" บ้าง ไม่เช่นนั้นคนดูอาจจะเกิดความเข้าใจผิดในตัวหนัง จนพานไม่ยอมตีตั๋วเข้ามาดูในโรงภาพยนตร์ ทำให้รายได้ดำดิ่งตกลงเหวแบบประเมินไม่ได้

จึงเห็นได้ว่าตัว "เทรเลอร์" ของพี่มากทุกตัวจึงเต็มไปด้วยอารมณ์ของความรัก ความน่ากลัว และความตลก พร้อมทั้งเคลียร์จุดบอดที่อาจก่อให้เกิดคำถามและข้อสงสัยต่าง ๆ จนคนดูเข้าใจ เช่น พี่มาร์ก-พี่มาก หรือสาเหตุการใช้ภาษาวัยรุ่นในหนัง เป็นต้น

"หนังก่อนฉายมันจะเดินไปได้ด้วยหน้าหนัง คนจะตัดสินใจดูไม่ดูอยู่ที่หน้าหนัง กระแส เทรเลอร์ คีย์อาร์ต ว่าน่าดูหรือเปล่า แต่เข้าฉายมันจะเดินด้วยปากต่อปาก นอกจากนี้ ผลพวงของโซเชียลเน็ตเวิร์กต่อหนังมันรุนแรงมาก เพราะถ้าเสียงออกมาบวกมันจะบวก ๆ

แต่ถ้าลบมันจะลบ ๆ ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้แล้วก็ยากที่เราจะแก้เกมอะไรได้ทัน และยิ่งถ้าหนังเนื้อในออกมาห่วย ไม่โดน ตัวเลขมันจะทรุดลงอย่างรวดเร็ว คุณไม่สามารถแก้เกมอะไรได้เลยนอกจากจองวัดล่วงหน้า"

เมื่อถามว่าหนังแบบไหนปลอดภัยที่สุดสำหรับคนทำหนังวิสูตรที่มักจะใช้เวลาว่างลงไปสำรวจตลาดด้วยตัวเองตามโรงหนังอยู่บ่อย ๆ อธิบายว่า พฤติกรรมการเลือกดูหนังของคนไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมสักเท่าไรนัก ยังคงเลือกดูหนังที่ให้ความบันเทิง ไม่นิยมดูหนังอาหารสมองชนิดที่ต้องคิดให้เครียดหลังดูจบ

ดังนั้น หนังที่ทำแล้วมีโอกาสเจ๊งน้อยที่สุด และมีแววทำรายได้เข้าข่ายสูงที่สุดในเมืองไทย จึงอยู่ในตระกูลตลก, ผี และบู๊ล้างผลาญเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม วิสูตรมองว่าหนังไทยไม่ควรเอาแต่ยึดอยู่กับสูตรสำเร็จเดิม ๆ เพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้วงการหนังไทยจะไม่เดินหน้าไปไหน ควรจะลองใส่อะไรใหม่ ๆ ลงไปบ้าง เพื่อให้ฐานการรับรู้ของหนังกว้างขึ้น ไม่อย่างนั้นในอนาคตเราจะไม่มีหน้าหนังอะไรให้ทำ นอกจากหนังตลก หนังบู๊ หนังผี และหนังรัก

"ถ้าวันหนึ่งคนดูเริ่มรู้สึกอินกับหนังแนวอื่น ๆ เมื่อไร วงการหนังไทยก็มีโอกาสจะเป็นแบบเกาหลีที่มีแนวหนังมากขึ้น และสามารถทำหนังแนวไหนก็ได้ เพราะมีฐานคนดูรองรับ" หัวเรือใหญ่แห่งค่ายจีทีเอชปิดท้ายด้วยรอยยิ้ม

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่