สำรวจ'ข่าวลือ-ข่าวจริง' ปัจจัยขย่มหุ้นไทย

กระทู้ข่าว
สำรวจ'ข่าวลือ-ข่าวจริง' ปัจจัยขย่มหุ้นไทย
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยร่วงหนัก 50.55 จุด หรือ 3.3% ดัชนีอยู่ที่ 1,478.97 จุด โดยปรับลดลงมาตั้งแต่เปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ที่ 18 มี.ค.

หากเทียบกับช่วงปิดตลาดในสัปดาห์ก่อนหน้า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ดิ่งลงถึง 7.46%
ทั้งนี้ มีปัจจัยลบสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยและเอเชีย คือ กรณีของไซปรัส
หลังจากที่รัฐสภาไซปรัสลงมติปฏิเสธข้อเสนอ ในการเก็บภาษีเงินฝากธนาคาร ซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งในข้อตกลงความช่วยเหลือทางการเงิน 1.0 หมื่นล้านยูโรของยุโรป เมื่อวันที่ 16 มี.ค.

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความกังวลว่า เสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลไซปรัส และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะล้มละลายในภาคธนาคาร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบยูโรโซนโดยรวม
เป็นส่วนหนึ่งของวิกฤติยูโร ที่ตามหลอกหลอนเศรษฐกิจโลกมายาวนานหลายปี
แต่นอกเหนือจากกรณี "ไซปรัส" ตลาดหุ้นไทยยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่เรียกว่า "ปัจจัยภายในประเทศ"
แต่คำถามคือปัจจัยภายในประเทศส่งผลกระทบ "รุนแรง" จริงหรือไม่ เพราะบรรดานักวิเคราะห์หลายคนก็ออกอาการ "งงๆ" ว่า เหตุใดหุ้นจึงร่วงรุนแรง ทั้งๆ ที่ปัจจัยพื้นฐานไม่เปลี่ยนแปลง

วิธีการอธิบายที่ดีที่สุด คือ ตลาดหุ้นไทย "ปรับฐาน"
แต่การปรับฐานข้างต้น มีสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญ นั่นคือ "ข่าวลือ" ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่คู่ตลาดหุ้นไทยมาอย่างยาวนาน แม้บางครั้ง "ข่าวลือ" ทำงานไม่ได้ผล แต่บางจังหวะก็ได้ผลเกินคาดการณ์

"กรุงเทพธุรกิจ" ประมวลข่าวลือที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะข่าวลือที่เกิดขึ้นในวันที่ 22 มี.ค. ที่นอกเหนือจากกรณี "ไซปรัส" ดังนี้

1. ลือว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกมาตรการคุมเงินทุน เนื่องจากมีเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่องและส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปี ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์แข็งค่าแล้วราว 5% ซึ่งนักลงทุนเกรงว่าจะส่งผลกระทบเหมือนในอดีต ที่ทำให้หุ้นร่วงลงอย่างหนัก จนต้องยกเลิกมาตรการคุมเงินทุน
แต่ข่าวนี้ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. รวมทั้ง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ออกมาปฏิเสธหลายครั้ง แต่ไม่มีใครเชื่อ จนกลายเป็น "ข่าวลือ" ในตลาดหุ้น

2. ลือกันว่า จากแรงเทขายอย่างหนักระหว่างวัน ทำให้จะเกิดปรากฏการณ์การบังคับขายตามเกณฑ์ หรือ ฟอร์ซ เซล (Force Sell) ส่งผลให้มีแรง "บังคับขาย" ออกมามาก
ข่าวนี้ได้รับการยืนยัน ภายหลังว่าตลาดปิดทำการซื้อขายเมื่อวันศุกร์ที่ 22 มี.ค. ว่า ไม่เกิดปรากฏการณ์ลักษณะดังกล่าวขึ้น เป็นเพียงข่าวจากบรรดาโบรกเกอร์คาดการณ์เท่านั้น

3. ข่าวลือว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงการเมือง จากกรณีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังพิจารณาเรื่องการซุกหนี้ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจส่งผลต่อตำแหน่ง รวมทั้งการเชื่อมโยงถึงการเตรียมการให้ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน หากมีอันต้องพ้นจากตำแหน่งจริงๆ
กรณีนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของ ป.ป.ช. แต่ถือเป็นประเด็น "การเมือง" ที่ยังต้องรอเวลา กว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้น แต่ก็น่าแปลกเมื่อเปรียบเทียบในอดีตที่เกิดจลาจลในปี 2553 ตลาดหุ้นแทบไม่ได้รับผลกระทบเลย

4. การตั้งโปรแกรมเทรดดิ้ง เพื่อกำหนดราคาซื้อขายด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งหลังจากหุ้นร่วงระหว่างวัน จนถึงระดับที่นักลงทุนที่ใช้ "โปรแกรมเทรดดิ้ง" ซื้อขาย ทำให้มีแรงเทขายออกมามาก
โบรกเกอร์บางรายประเมินว่าเป็นปัจจัยหนึ่ง เพราะปัจจุบันนักลงทุนกลุ่มนี้มีมูลค่าการซื้อขายถึง 15-20%

5. นักลงทุนกังวลการออกมาตรการการวางหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มขึ้นเป็น 20% จากเดิม 15% เพราะเกรงว่าจะส่งต่อสภาพคล่องในตลาด ซึ่งทำให้หุ้นมีโอกาสลดลง หากมาตรการเริ่มนำมาบังคับใช้ และโอกาสที่หุ้นจะยืนเหนือระดับ 1,500-1,600 จุด เป็นไปได้ยาก
โบรกเกอร์หลายคน มองว่า เป็นปัจจัยหนึ่ง บางรายมองว่าเป็นปัจจัยหลัก แต่บางรายมองว่าไม่เกี่ยว เพราะการปรับเพิ่มขึ้นเพียง 5% ไม่น่าจะส่งผลกระทบมากนัก

6. ลือว่า มี "ขาใหญ่" ทุบหุ้น ซึ่งข่าวลือกลุ่มนี้รวมถึงนักการเมืองด้วย เพราะนักลงทุนในตลาดเชื่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้วว่า "หุ้น" มี"เจ้าภาพ" และ "เจ้าภาพ" ที่สร้างสถานการณ์ได้อย่างผิดคาดการณ์ ก็มักจะเอี่ยวกับบรรดานักการเมือง
ข่าวลือนี้ ยังไม่ได้รับการพิสูจน์จากฝ่ายใด แต่บรรดานักลงทุน โดยเฉพาะรายย่อย ต่างก็เชื่อว่า "มีจริง"

แต่นอกจากข่าวลือที่เป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดความกังวลแล้ว หากมาพิจารณาภาวะตลาดหุ้นไทยในรอบปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่า "ขึ้นยาว" มาโดยตลอด ไม่มีการ "พักฐาน" หรือ ปรับลดลง กล่าวคือ ขาขึ้นมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
ดังนั้น จึงมีคำอธิบายอย่างใช้ "เหตุผล" ถึงสาเหตุของการปรับลดลง ดังนี้

- ปัจจุบันโครงสร้างตลาดหุ้นไทย เนื่องจากมีนักลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้นเป็น 70% ส่วนอีก 30% เป็นนักลงทุนสถาบันในประเทศ นักลงทุนต่างประเทศ และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งแตกต่างจากโครงสร้างเดิมที่มีสัดส่วนของนักลงทุนรายย่อย 50% ส่วนอีก 50% มาจากอีก 3 กลุ่มนักลงทุน

เมื่อรายย่อยมีบทบาทในการซื้อขายในตลาด ส่งผลให้ตลาดมีความผันผวนเหมือนในอดีตช่วงฟองสบู่ โดยสะท้อนจากจำนวนบัญชีมาร์จินเพิ่มขึ้นถึง 130,000 บัญชี หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 50-60% ต่อเดือน

- ตลาดหุ้นไทย "ไม่ถูก" หลังจากปรับขึ้นมานาน และจะเห็นว่าแรงซื้อต่างชาติเริ่มลดลง ทั้งๆ ที่เงินไหลเข้าต่อเนื่อง แต่ไหลเข้าไปซื้อพันธบัตร โดยดูจากค่าพีอีในช่วงต้นสัปดาห์อยู่ที่ 17.86 เท่า (นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าระดับ 20 เท่า ถือว่าร้อนแรงเกินไป แต่บางคนเห็นว่ายังไปได้) และหลังจากหุ้นร่วงหนักทั้งสัปดาห์ ค่าพีอีลดลงมาอยู่ที่ระดับ 17.26 เท่า
- จากหุ้นไทยปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการเทขายทำกำไรของนักลงทุน ซึ่งถือเป็นเรื่อง "ปกติ" ของตลาดหุ้น

ไม่ว่า การร่วงลงอย่างหนักครั้งนี้ จะเกิดจากสาเหตุใด แต่ที่บรรดานักวิเคราะห์และผู้ดูแลนโยบายด้านเศรษฐกิจ ซึ่งก็รู้สึก "งงๆ" เช่นเดียวกัน ต่างเห็นตรงกันว่าขณะนี้พื้นฐานด้านเศรษฐกิจไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จนส่งผลต่อราคาหุ้น และยังมองแนวโน้มเศรษฐกิจแข็งแกร่งในประชาคมอาเซียน

แต่...ความผันผวน ดูเหมือนว่า จะเป็นของคู่กันในแวดวงตลาดเงิน ตลาดทุน เป็นความเสี่ยงที่ต้องยอมรับในโลกยุคปัจจุบัน
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  หุ้น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่