มารู้จักผู้บริหาร JMT

คุณปิยะ พงษ์อัชฌาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน)  (JMT)


“ทุกวิกฤต มีโอกาสรออยู่เสมอ”

            
                                                                  

               ในช่วงนี้ต้องยอมรับว่ากระแสหุ้นไอพีโอมาแรงจริงๆ มีหลายบริษัทที่เข้ามาเป็นสมาชิคน้องใหม่ในตลาดหุ้นไทย และได้รับการต้อนรับจากนักลงทุนอย่างมาก หนึ่งในนั้นคือหุ้นไอพีโอที่เข้ามาสร้างสีสันในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาอย่างบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน)  หรือ JMT ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้ บริหารหนี้ด้อยคุณภาพ และให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสองระดับแนวหน้าของไทย และยังเป็นบริษัทลูกของ บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) (JMART) อีกด้วย...

                Management's Lifestyle จึงขออาสาพาทุกท่านมาร่วมเปิดมุมมองไปพร้อมๆ กัน เพื่อทำความรู้จักกับธุรกิจที่ถือได้ว่าแปลกใหม่ในวงการตลาดหุ้น และเรียกได้ว่าเป็นเบอร์หนึ่ง และเบอร์เดียวในธุรกิจให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้ และธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ โดยมีผู้บริหารคนสำคัญ “ปิยะ พงษ์อัชฌา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทฯ  พร้อมเปิดใจถึงเคล็ดลับความสำเร็จในวันนี้

****ทำความรู้จักกับ “ปิยะ พงษ์อัชฌา”

         จุดเริ่มต้นของผมในการทำงานที่  JMT เริ่มตั้งแต่ปี 2533 ผมมาทำงานในฝ่ายขายของบริษัท JMART ซึ่งในขณะนั้น JMART ขายเครื่องใช้ไฟฟ้า และยังทำธุรกิจในลักษณะของครอบครัวอยู่ คือ มีพนักงานแค่ประมาณ 20 – 30 คนเท่านั้น  เมื่อผมทำงานได้ประมาณ 1 ปี ทาง  JMART ขาดพนักงานเรียกเก็บเงิน ผมเองก็เป็นเซลล์อยู่ และรู้จักลูกค้าเป็นอย่างดีอยู่แล้ว จึงรับหน้าที่ไปเก็บเงินลูกค้า ซึ่งลูกค้าก็ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี

         ทำงานในส่วนของการเก็บเงินลูกค้าได้ซักประมาณ1ปี ก็ย้ายแผนกจากฝ่ายขายมาอยู่แผนกเก็บเงินของJMART ด้วยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญมากขึ้น ก็ได้รับการโปรโมทให้เป็นหัวหน้าฝ่ายเก็บเงิน จากนั้น ก็เริ่มมีลูกค้าที่เป็นหนี้เสีย ผมจึงได้รับมอบหมายให้ดูแลบัญชีลูกหนี้เสีย ไปเก็บหนี้ เร่งรัดหนี้สิน ทำอย่างนี้อยู่อีกประมาณ 2-3 ปี ก็ขยับมาดูแลงานทางด้านกฎหมายด้วย

         เรียกได้ว่าจากจุดเริ่มต้นการจัดเก็บหนี้ให้กับ JMART  จนถึงปัจจุบันนี้ ผมก็ยังทำงานทุกอย่างเหมือนเดิม แต่ทำอยู่บนบริษัทลูก ชื่อ บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) เท่านั้นเอง

****เปิดฉากธุรกิจของ JMT


                ต้องขอบอกก่อนว่า เดิมที JMT เอง เป็นหน่วยงานเล็กๆ ของบริษัท JMART ซึ่งทำหน้าที่จัดเก็บหนี้ให้ JMART เท่านั้น จนกระทั่งปี 2540 JMT ขยายธุรกิจ มารับติดตามหนี้ให้สถาบันการเงิน และกลุ่ม Non Bank เพิ่มขึ้น  ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างดี หลังจากนั้น ในปี 2549 ได้ขยายธุรกิจในการซื้อหนี้มาบริหาร และในปลายปี 2554 ก็ได้ขยายธุรกิจในการให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ภายใต้การบริหารงานของ บริษัทลูก เจ เอ็ม ที พลัส

“JMT ในช่วงเริ่มต้นนั้น เป็นช่วงที่ JMART  เกิดวิกฤต และในตอนนั้นเองผมเรียนรู้ว่าต้องสร้างวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยมีแนวคิด คือ เราจะทำอย่างไรให้อยู่ภายใต้ความเชี่ยวชาญ ความถนัดที่เรามี และก่อให้เกิดรายได้  ก็เริ่มที่จะเข้าไปคุยกับบริษัทสถาบันการเงิน คุยกับบริษัทคู่ค้าของทางเจมาร์ทเอง ซึ่งผมจำได้ว่าตอนนั้น พอร์ตที่เราได้รับมาคือคู่ค้าของเจมาร์ท คือ เอไอเอส (บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)) และ AEONTS (บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน))   โดยลักษณะการดำเนินธุรกิจก็คือ รับหนี้ที่ค้างชำระมาเป็นระยะเวลาเกิน 6 เดือน มาทำ และ กินส่วนแบ่งผลประโยชน์ หรือค่าคอมมิชชั่น ยกตัวอย่างว่า ผมเก็บเงินมาได้ 100 บาท  ส่วนแบ่งผลประโยชน์ก็ประมาณ 25 บาท เก็บไม่ได้ก็ไม่ได้คิดค่าบริการอะไร และจากวันนั้นเรามีพอร์ตเริ่มต้นซักประมาณ 1,000 เรคคอร์ดเท่านั้น  การดำเนินธุรกิจเติบโตมาเรื่อยๆ จนพอร์ตปัจจุบันในด้านการติดตามเร่งรัดหนี้ มีถึง 6 แสนกว่าเรคคอร์ด คิดเป็นคนที่มาใช้งานปัจจุบันก็ 20 กว่าเจ้าด้วยกัน

โดยหนี้ก้อนแรกจาก เอไอเอส  และ AEONTS   ในครั้งนั้น มูลค่าประมาณหลักล้านเท่านั้นเอง แต่หากถามถึงวันนี้  สำหรับหนี้ก้อนโตที่สุดของ JMT แบ่งออกเป็น 2 ก้อน ก้อนแรกคือจากการให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้มูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้าน ส่วนหนี้ที่ JMT ซื้อมาบริหารเองมีประมาณ 2 หมื่นล้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งส่วนตัวผมเอง และ JMT ก็สะสมประสบการณ์ด้านนี้มานานกว่า 18 ปี”

****วิธีติดตามหนี้สไตล์ JMT ที่เข้าถึงเข้าใจ

เป้าหมายหลักของ JMT คือการจัดเก็บหนี้ เพราะฉะนั้นกลยุทธ์ที่นำมาใช้จะเป็นลักษณะของการเชิญชวน การหาทางออกให้ลูกค้า เรียกได้ว่าเป็นการแก้ไขหนี้ หรือประณีประนอมหนี้ ในลักษณะของการแบ่งลูกค้าออกเป็นกลุ่ม เพราะลูกค้าแต่ละรายมีปัจจัยพื้นฐานหนี้ที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงต้องวิเคราะห์ลูกค้าก่อนเป็นอันดับแรกว่าลูกค้ามีลักษณะแบบไหน อันดับต่อมาต้องดูว่าลูกค้าเหมาะสมกับโปรแกรมอะไร เพื่อเป็นการช่วยลูกค้าอีกทางหนึ่งในการชำระหนี้ได้มากขึ้น เช่น การให้ส่วนลดปิดบัญชี การแบ่งจ่ายเป็นรายงวดระยะสั้น-ยาว ซึ่งแต่ละรายจะแตกต่างกันไป  

****พัฒนาการของการติดตามหนี้

สำหรับการติดตามหนี้ของ JMT แบ่งเป็น 2 ยุค ยุคแรก เป็นยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศยังไม่ครอบคลุม JMT ใช้วิธี ให้พนักงานติดตามหนี้ออกภาคสนาม ในลักษณะเคาะประตูบ้าน เพื่อเข้าไปเจรจากับลูกค้า ลูกค้าก็จะเปิดเผยข้อมูลรายได้และค่าใช้จ่าย เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับค่างวดที่ค้างอยู่ ในส่วนของ JMT เอง ก็จะเข้ามาช่วยแก้ไขหนี้ว่าจะเป็นแนวทางไหนได้บ้าง  เพราะลูกค้าส่วนใหญ่มีปัญหาทางการเงิน วิธีการของลูกค้าจึงไม่ใช่การจ่ายหนี้ได้ทันทันใด และวิธีการของ JMT เอง ก็ไม่ได้ต้องการเร่งรัดหนี้ให้ได้เงินเร็วที่สุด แต่เป็นการร่วมกันหาทางออกระหว่างลูกค้า และ JMT จึงไม่น่าแปลกใจที่  JMT มักจะได้รับคำชมจากลูกค้าอยู่เสมอ ว่าเมื่อไหร่ที่มี ก็อยากจ่ายให้กับ JMT เป็นรายแรก เพราะเมื่อลูกค้ามีปัญหา ก็มี JMT นี่แหละ ที่เข้าไปคุย และให้โอกาส

****รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ


               ด้วยการทำงานอย่างมืออาชีพ โดยเลือกใช้วิธีการประนีประนอม พูดคุย เพื่อที่จะแก้ไขหนี้นั้น ทำให้ลูกค้าต่างพากันชื่นชมในการทำงานของ JMT และนำมาซึ่งรางวัลที่การันตีคุณภาพของบริษัทฯ มากมาย ได้แก่ รางวัลการจัดเก็บหนี้ดีเด่นทั่วประเทศ ประจำปี 2007 จาก ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), รางวัล The Best performance  จากการจัดเก็บหนี้ดีเด่นทั่วประเทศประจำปี 2010 และ 2011 อย่างต่อเนื่อง  และรางวัล The Best Execution จากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเกิดจาก การพัฒนาคุณภาพและเทคโนโลยีในการติดตามหนี้

                นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลจัดเก็บหนี้ดีเด่นทั่วประเทศ ประจำปี 2007 ในการจัดเก็บหนี้ดีเด่น ประเภทหนี้ภาคปกติ จากธนาคาร ซิตี้แบงค์  และต่อมาในปี 2008 ก็ได้ร่วมมือกับ ธนาคาร ซิตี้แบงค์ ในการเปิดสำนักงานย่อยเพื่อเร่งรัดและบริหารหนี้สินในภาคตะวันออก

                รวมไปถึงรางวัล " บริษัทติดตามหนี้ดีเด่นทั่วประเทศไทย ประจำปี 2545 " จากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) โดยพิจารณาจาก ผลงานการติดตามหนี้ทั่วประเทศไทย และ เจ เอ็ม ที ฯ ได้รับรางวัลนี้ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 อีกด้วย

****หลักในการบริหารงาน


                ผมเองอยู่ที่นี่มาตั้งแต่แรก สิ่งที่ผมเอามาเล่าให้พนักงานฟังก็คือ ประสบการณ์ ซึ่งประสบการณ์ที่ผมได้รับและมีค่ามาก คือช่วงวิกฤตในปี 2540  ซึ่งถือเป็นช่วงที่วิกฤตที่สุดตั้งแต่ทำงานมา แต่ในตอนนั้นเอง ผมก็ได้รับโอกาสจากทางบริษัทฯ ให้ไปดูแลงานหลายๆ ส่วน ซึ่งก็ทำให้ผมได้เรียนรู้ทั้งงานทางด้านปฏิบัติการ ด้านการตลาด และการควบคุมค่าใช้จ่าย

                งานด้านการตลาด ทำให้ผมเห็นว่าในช่วงที่เป็นวิกฤต ก็สามารถมีโอกาสได้เสมอ  อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ผมทำธุรกิจรับจ้างติดตามหนี้ให้เจมาร์ทแต่เพียงผู้เดียว จนกระทั่งมีโอกาสไปรับจ้างติดตามหนี้บุคคลภายนอกเพิ่มขึ้น ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องของโอกาส ขณะที่เรื่องของการควบคุมค่าใช้จ่าย ก็ทำให้รู้ว่าที่ผ่านมา นอกจากการเก็บหนี้ที่ดี ทำรายได้ให้บริษัทฯ แล้วนั้น  การก่อให้เกิดกำไร ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งกำไรที่ดีนั้น ก็มาจากการควบคุมค่าใช้จ่าย และทำให้รู้จักการดำเนินธุรกิจด้วยความไม่ประมาท

****หลักการในดูแลลูกน้อง

                ปัจจุบัน JMT มีพนักงานทั้งสิ้น 530 คน ซึ่งต้องยอมรับว่างานของ JMT ต้องให้ความสำคัญกับคนเป็นหลักเพราะใช้กำลังคนในการคุยกับลูกค้า การทำงานจึงเป็นลักษณะของการทำงานไป เรียนรู้ไป โดยมีทีมงานเทรนนิ่งเข้ามาสอนในแต่ละโพรดักส์ที่ตนเชี่ยวชาญ และหลังจากเทรนนิ่งเสร็จ พนักงานจะถูกส่งไปที่โต๊ะทำงานโดยมีผู้จัดการดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้พนักงานมีความรู้ในการติดตามหนี้อย่างต่อเนื่อง

                ในส่วนของการดูแลพนักงาน JMT ก็มีการโปรโมทตำแหน่งให้อย่างต่อเนื่องตามอายุงาน และความสามารถ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับสวัสดิการพนักงานในการมีทรัพย์สินเป็นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการมีบ้านและรถ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยให้ในอัตราสุดแสนจะพิเศษอีกด้วย

****เมื่อถูกถามถึงความประทับใจ

                ความประทับใจของผมแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ก็คือช่วงที่สามารถผ่านปัญหาต่างๆ ในเหตุการณ์ตอนปี 2540 มาได้ ซึ่งทำให้ผมได้รู้จักคำว่าประมาท กับคำว่าสู้ โดยสู้นั้น คือสู้และต้องสำเร็จ และจากการได้เรียนรู้ในครั้งนั้น ทำให้ผมสามารถถ่ายทอดแง่คิดดีๆ และสอนให้คนรุ่นหลังฟัง

                อีกช่วงหนึ่งคือ ช่วงที่บริษัทฯ กำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ความภูมิใจของผม คือการได้เห็นการเติบโตจากธุรกิจติดตามหนี้เล็กๆ จนขยายตัว นำพาพนักงานให้เติบโต นำพาธุรกิจให้เป็นที่รู้จัก และเป็นที่ยอมรับต่อบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ ซึ่งถือว่าเป็นก้าวที่สำคัญ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่